xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา : ปางป่าลิไลยก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์ หรือที่นิยมเรียกว่าปางป่าเลไลยก์ เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับ(นั่ง) ห้อยพระบาททั้งสอง พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ(เข่า) พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุ เป็นกิริยาทรงรับ
ตามประวัติที่มาของปางนี้ กล่าวไว้ว่า
ครั้งหนึ่งขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ในโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี พระภิกษุในอารามได้เกิดทะเลาะวิวาทแบ่งกันเป็นฝักฝ่าย ประพฤติตนเป็นผู้ว่านอนสอนยาก แม้พระพุทธองค์จะทรงตักเตือนก็ไม่เป็นผล จึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ ในเวลานั้นมีพญาช้างเชือกหนึ่งชื่อปาลิไลยกะ ได้หนีออกจากโขลง เพื่อหาความสุขโดยลำพัง และได้มาพบพระพุทธเจ้า จึงเกิดความเสื่อมใส ขออยู่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า วันหนึ่งพญาลิงตัวหนึ่งแลเห็นพญาช้างปฏิบัติพระพุทธเจ้า ก็อยากจะเข้าไปปฏิบัติบ้าง จึงไปเก็บรวงผึ้งถวายพระพุทธเจ้า ครั้นเห็นพระพุทธองค์เสวยน้ำผึ้งรวงจากรวงผึ้งนั้น ก็มีเบิกบานใจ
เมื่อชาวเมืองโกสัมพีทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ในป่า ด้วยสาเหตุดังกล่าว ก็ไม่พอใจบรรดาพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น ต่างพากันไม่ทำบุญสนับสนุนเหมือนเช่นเคย ทำให้เหล่าภิกษุสงฆ์เดือดร้อนและเล็งเห็นโทษของการที่ไม่อยู่ในพระโอวาท
ครั้นออกพรรษา พระอานนท์พร้อมด้วยคณะพระภิกษุจากชนบทได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พญาช้างร้องไห้เสียใจเป็นอันมาก และเมื่อพระศาสดาลับสายตาไป พญาช้างก็ล้มลงขาดใจตาย ด้วยกุศลแห่งความเลื่อมใสในพระ- ศาสดา ปาลิไลยกะก็ได้บังเกิดเป็นเทพบุตรในสรวงสวรรค์มีนามว่า “ปาลิไลยกะเทพบุตร”
ส่วนบรรดาพระภิกษุผู้ว่ายาก เมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหา วิหาร ก็รีบเดินทางมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอานิสงส์ของการเป็นผู้ว่าง่าย การอยู่ในโอวาท โดยยกเรื่องพระเจ้าทีฆาวุ ที่ทรงมั่นอยู่ในพระโอวาทของพระชนก ภายหลังได้เป็นกษัตริย์ปกครองราชสมบัติทั้งสองแว่นแคว้น
พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์เป็นพระพุทธรูปประจำผู้เกิดวันพุธกลางคืน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 105 สิงหาคม 2552)
กำลังโหลดความคิดเห็น