xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา : ปางปฐมบัญญัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับ(นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้างตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาบัญญัติพระวินัยเพื่อรักษาพระศาสนาให้ดำรงอยู่นาน
ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีอยู่ว่า
มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อสุทินได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็เกิดความเลื่อมใสทูลขออุปสมบท ครั้นบวชแล้วประพฤติมั่นอยู่ในธุดงค์คุณถึง ๔ ประการ หลีกออกบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า แต่มารดาบิดาอยากให้สึกมาดูแลสมบัติของตระกูล เพราะไม่มีทายาทรับมรดก และหากไม่ มีผู้สืบสกุล ทรัพย์สินจะถูกยึดตามธรรมเนียม แต่พระสุทินยังยินดีในพรหมจรรย์ ไม่ยอมสึก มารดาบิดาพระสุทินหมดหวัง จึงขอร้องเป็นครั้งสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้พระสุทินสร้างทายาทไว้ให้สืบตระกูลต่อไป โดยให้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่า พระสุทินจึงได้ทำตามคำร้องขอ เพราะไม่มีสิกขาบทห้ามไว้ กระทั่งได้บุตรชายคนหนึ่ง ต่อมาท่านรู้สึกเสียใจว่าตนประพฤติไม่ดีงามเช่นภิกษุอื่น จึงเฝ้าแต่ตรอมใจจนร่างกายซูบผอม ครั้นเพื่อนภิกษุเห็นเช่นนั้นก็ไต่ถาม พระสุทินก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงติเตียนพระสุทิน ที่กระทำเรื่องไม่เหมาะควรแก่เพศสมณะ
จากนั้นจึงทรงรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อการรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจักบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑”
แล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่าภิกษุใดเสพเมถุน ต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที นับเป็น ปฐมบัญญัติ คือ บัญญัติข้อแรกในพระวินัยของพระภิกษุ

(จาก ธรรมลีลา ฉบับที่ 104 กรกฎาคม 2552 โดยกานต์ธีรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น