xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน :อายตนะหก (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธรรมที่เป็นศาสนธรรมที่กำลังแสดงอยู่ ก็คือ ตั้งสติตามดูตามรู้ตามเห็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และสังโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัจจะ คือเป็นข้อที่มีอยู่เป็นไปอยู่จริง ทางกายและทางจิตใจของบุคคลทุกๆคน และในการที่จะฟังและนำมาปฏิบัติก็เป็นการไม่ยาก ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจ ธรรมคือเรื่องของเรื่องเหล่านั้น และตั้งสติกำหนดให้รู้จักสังโยชน์คือความ ผูกของจิต อาศัยอายตนะภายในภายนอกที่เป็นคู่กันเหล่านั้น กับทั้งให้รู้จักประการหรือทางที่สังโยชน์เกิดขึ้น ให้รู้จักประการหรือทางละสังโยชน์ ให้รู้จักประการหรือทางที่สังโยชน์ที่ละได้จะไม่บังเกิดขึ้นอีก
ในการตั้งสติกำหนดให้รู้จักนี้ก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการ คือปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย คือให้รู้ถึงทางเป็นไปโดยเหตุและผล อันเป็นสภาพธรรมดาที่เป็นไปตามเหตุและผล และสภาพธรรมดาที่เป็นสามัญลักษณะดังที่กล่าว ในการใช้โยนิโสมนสิการก็ต้องรู้จักคิดให้รู้จักสภาพทั้งสองนั้นและอาจจะใช้วิธีเทียบเคียงดังที่ได้กล่าวแล้ว เช่นว่าเมื่อตากับรูป หูกับเสียงประจวบกัน เป็นต้น ในบางสิ่งบางอย่างก็เกิดความชอบหรือความชัง ความยินดี หรือความยินร้าย ในบางอย่างก็ไม่เกิด เพราะอะไร ก็ให้พิจารณา หาเหตุผล และในการพิจารณาหาเหตุผลนี้ บางอย่างก็ อาจจะคิดไม่ออก หรืออาจจะไม่ถูกต้อง ก็อาจที่จะถามพระพุทธเจ้าได้ ดังเช่นในข้อที่กำลังแสดงนี้จากอายตนปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยอายตนะในพระสูตรสติปัฎฐาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสเฉลยไว้แล้วว่า ให้รู้จักสังโยชน์คือความผูก ก็เป็นอันพระองค์ได้ตรัสเฉลยคือตอบเอาไว้แล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวมานั้น คือเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันในสิ่งที่เกิดความชอบหรือความชัง ความยินดีหรือความยินร้าย ก็เพราะมีสังโยชน์คือความผูก แต่เมื่อไม่มีสังโยชน์คือความผูก ก็จะไม่เกิดความชอบหรือความชัง ความยินดีหรือความยินร้าย

ศาสนธรรมและโยนิโสมนสิการ
อันที่จริงศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นคำเฉลยปัญหาต่างๆ อยู่อย่างสมบูรณ์ แต่ว่าบุคลเป็นอันมากนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็มักไม่คิดจะถามพระพุทธเจ้าหรือบางทีก็มิได้ใช้โยนิโสมนสิการ ก็ไม่พบประเด็นของปัญหาที่พึงถาม เพราะเมื่อไม่ใช้โยนิโสมนสิการก็มักหลงเข้าใจผิดไปต่างๆ คว้าผิดคว้าถูกในเรื่องทั้งหลาย จึงไม่พบประเด็นของปัญหาที่จะพึงถาม หรือว่าเมื่อพบก็ไม่ได้นึกถึงพระพุทธเจ้า ไม่ได้นึกที่จะถามพระพุทธเจ้า แต่ว่ามุ่งแก้ปัญหากันไปในที่อื่น วิ่งไปแสวงหาไต่ถามบุคลอื่นเพื่อที่จะแก้ปัญหานั้นๆ ก็จับผิดบ้างจับถูกบ้าง เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อประสบปัญหา หากได้นึกถึงพระพุทธเจ้า และไต่ถามพระพุทธเจ้าก็จะได้คำตอบอันถูกต้อง แต่ก็จะต้องใช้โยนิโสมนสิการ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่สนใจถึงคำตอบของพระพุทธเจ้า ไม่พยายามที่จะเข้าใจคำตอบของพระพุทธเจ้า และไม่รับคำตอบของพระพุทธเจ้า
การที่จะถามพระพุทธเจ้านั้นก็คือฟังธรรมที่เป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ที่แสดงคำสั่งสอนของพระองค์ ดังเช่นในอายตนะปัพพะนี้ก็ได้ตรัสชี้ให้รู้จักสังโยชน์ ซึ่งสังโยชน์คือความผูกนี้ทำให้ยินดี ทำให้ยินร้าย ทำให้ ชอบ ทำให้ชัง เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้สติพิจารณาให้รู้จัก สังโยชน์ที่บังเกิดขึ้น และก็พิจารณาให้รู้จักทางเกิดทางดับของสังโยชน์ตามที่ได้เคยสั่งสอนเอาไว้ และเมื่อแก้ สังโยชน์คือป้องกันและดับเสียได้ ก็ดับความยินดียินร้าย ป้องกันความยินดียินร้ายมิให้เกิดขึ้นในสิ่งทั้งหลายที่ประสบพานทางอายตนะนี้ได้
ฉะนั้น การหัดที่จะเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยการตั้งใจฟังธรรม และตั้งใจใช้ธรรมไปแก้ปัญหาต่างๆ ให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก สามารถจะจับเหตุจับผลได้โดยถูกต้อง แต่ก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการ ต้องมีความเข้าใจ คราวนี้ก็ควรจะใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาด้วยอีกว่า สังโยชน์คือความผูกดังกล่าวนี้ทำไมจึงไปผูกในบางอย่าง เช่นว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั่วๆไป แม้เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ที่บังเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความทุกข์ร้อน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วมดังที่กล่าวมาแล้ว ทำไมจึงไม่เกิดความชอบหรือความชังในดินน้ำไฟลมเหล่านั้น ส่วนสิ่งอื่นๆ ทำไมจึงเกิดความชอบหรือความชัง บางทีสิ่งอื่นๆเหล่านั้นก็มิได้อำนวยคุณอำนวยโทษให้เท่าใดนัก แต่ก็เกิดความชอบหรือความชัง แต่ว่าดินน้ำไฟลมดังกล่าวนั้นบางทีอำนวยคุณอำนวยโทษให้มากมาย แต่ก็ไม่เกิดความชอบหรือความชังอย่างใด แสดงถึงว่ามิได้มีสังโยชน์คือความผูก คิดเทียบเคียงดูดั่งนี้ ศึกษาเข้าใจไปให้รู้จักอีกขั้นหนึ่งว่าทำไม เมื่อพิจารณาดั่งนี้โดยอาศัยศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ ไม่ต้องไปศึกษาจากอาจารย์อื่น อาจารย์พระพุทธเจ้านี้แหละ ที่ได้ทรงแสดงเอาไว้ นำเข้ามาพิจารณา
อันดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ไม่ค่อยจะเกิดสังโยชน์ คือความ ผูกใจดังกล่าวหรือไม่เกิดเลยนั้น ก็เพราะว่าสักแต่ว่าเป็นดิน สักแต่ว่าเป็นน้ำ สักแต่ว่าเป็นไฟ สักแต่ว่าเป็นลม คนโดยมากมักมิได้คิดว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นนั่นเป็นนี่ นอกจากเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม ซึ่งเป็นโลกธาตุเท่านั้น แต่ว่าสิ่งอื่นๆนั้นคนเรามีความยึดถือว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เช่นเป็นบุคคล เป็นสัตว์เดียรัจฉาน และเป็นบุคคล ก็ยังเป็นบุคคลนั้นเป็นบุคคลนี้ เป็นเราเป็นเขา และยังมีเป็นของเราเป็นของเขาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั่วไป ที่ไม่เกิดสังโยชน์คือความผูกพันนั้นก็ต้องหมายถึง ว่า ดิน น้ำ ไฟ ลมที่เป็นโลกธาตุ โดยที่ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ดังเช่นน้ำที่มาท่วม ไฟที่มาไหม้ ก็ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา แต่ถ้าเป็นดินเป็นน้ำของเราขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดสังโยชน์ขึ้นมาเหมือนกัน เช่นว่าเป็นที่ดินของเรา เป็นที่ดินของเขา เป็นนาของเรา เป็นนาของเขา เป็นไร่ของเรา เป็นไร่ของเขา เป็นน้ำในตุ่มของเรา เป็นน้ำในตุ่มของเขา เกิดเป็นเราเป็นเขาขึ้นมา ก็มีสังโยชน์ คือความผูกเหมือนกัน
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 103 มิ.ย. 52 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น