xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ดอกลำดวน 5 แผ่นดิน ที่ยังสดใส ม.จ.อรอำไพ เกษมสันต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความสุขของมนุษย์นั้น ไม่ได้อยู่ที่ การมีชื่อเสียงหรือเงินทองมหาศาล แต่การมีชีวิตที่แข็งแรงและสงบสุขในบั้นปลายชีวิตต่างหากที่เป็นยอดปรารถนาของทุกคน
ดังเช่นชีวิตของ ม.จ.อรอำไพ (โกมารกุล ณ นคร) เกษมสันต์ ซึ่งมีอายุยืนยาว มาถึง 5 แผ่นดินแล้ว (ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน) และลูกหลานเพิ่งจัด งานฉลองวันเกิด อายุครบ 99 ปีของท่าน ไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ท่านหญิงยังคงมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนวัยเพิ่งจะ 60 แถมยังสามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ม.จ.อรอำไพในวัยใกล้หนึ่งศตวรรษ ได้เล่าย้อนถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาถึง 5 แผ่นดินด้วยสมองที่ยังจดจำเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดีว่า ‘ท่านหญิง’ เป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ (เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 26 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ กับเจ้าจอมมารดาแพ) กับหม่อมทองสุก และเป็นต้นราชสกุล ‘เกษมสันต์’
ในยุคสมัยนั้น ถ้าครอบครัวเจ้าขุน-มูลนายคนไหนมีลูกสาว ก็จะนิยมพาเข้าไป รับใช้เจ้านายอยู่ในวัง เพื่อให้ฝึกหัดเรียนรู้เรื่องงานบ้านงานเรือน แม้ท่านหญิงเองจะเป็นสาวชาววัง แต่ก็เป็นชาววังในช่วงรอยต่อของสาวชาววังสมัยใหม่และสมัยเก่า ฉะนั้น ท่านหญิงจึงไม่ต้องมาฝึกหัดเรื่องการเรือนเย็บปักถักร้อย เหมือนสาวชาววังในอดีต แต่กลับมาเน้นในเรื่องของการศึกษา และฝึกกิริยามารยาทตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแทน
“ชีวิตในวัยเด็กของดิฉันตอนนั้นไม่มีพิธีโกนจุกแล้ว ไม่ต้องมานั่งร้อยดอกไม้ เพียงแค่ฝึกในเรื่องของกิริยามารยาท อย่างการฝึกหัดหมอบคลาน หัดกราบ และเรียน หนังสือเท่านั้น”
ด้วยความที่ท่านหญิงเกิดมาในครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกอยู่ในรั้วเดียวกันกว่า ร้อยชีวิต และท่านเองก็เป็นลูกสาวคนเล็ก จึงต้องอยู่ในความดูแลของบรรดาเจ้าพี่อาวุโสทั้งหลาย
ดังนั้นเส้นทางการศึกษาของท่านหญิงในวัยเยาว์จึงต้องเข้าๆ ออกๆ โรงเรียนอยู่ หลายแห่ง เพราะต้องติดตาม ม.จ.จันทร-จำรัส เกษมสันต์ ซึ่งเป็นเจ้าพี่หญิงที่มีอายุห่างกันถึง 20 ปี
“ตอนที่ดิฉันเป็นเด็ก ท่านแม่ไม่ค่อยสบาย จึงต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าพี่ ไม่ว่าเจ้าพี่จะอยู่ที่ไหนเราก็ต้องอยู่ที่นั้นด้วย อย่างตอนที่เจ้าพี่เข้าไปรับใช้สมเด็จ-พระพันวสาฯ ที่วังสระปทุม ท่านก็รับดิฉันเข้าไปอยู่ในวังนั้นด้วย จึงมีโอกาสได้เข้าเรียนที่โรงเรียนราชินี เพราะเด็กทุกคนที่อยู่ ในความดูแลของสมเด็จพระพันวสา ต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้ทุกคน
แต่เรายังเรียนที่โรงเรียนราชินีไม่ทันครบเทอม เจ้าพี่ก็ได้รับทุนจากสมเด็จพระพันวสาให้ไปเรียนการพยาบาลที่ศิริราช ดิฉันจึงต้องย้ายตามเจ้าพี่ไปด้วย และก็เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแหม่มโคลล์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับศิริราช เรียนอยู่ที่นั้นจนกระทั่งเจ้าพี่เรียนจบ”
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หม่อมทองสุก ซึ่งเป็นหม่อมแม่ของท่าน ได้เข้าไปเป็นต้นเครื่องอยู่ในพระราชวังพญาไทเพื่อรับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านแม่จึงพา ม.จ.ชัชชวลิต เกษมสันต์ เข้าถวายตัวรับใช้รัชกาลที่ 6 ด้วย ขณะนั้นเอง ม.จ.จันทรจำรัสจึงได้เข้าไปช่วยท่านแม่ที่ห้องเครื่อง ทำให้ท่านหญิงต้องติดตามมาอยู่วังพญาไทด้วย
ท่านหญิงเล่าถึงชีวิตในวังพญาไทว่า ด้วยความที่รัชกาลที่ 6 ทรงทันสมัยมาก พระองค์จึงทรงส่งเสริมให้ทุกคนได้เล่าเรียนหนังสือ ดังนั้นท่านหญิงจึงมีโอกาสไปศึกษาต่อที่โรงเรียน SPG หรือโรงเรียนเซนต์แมรี่
ตอนอยู่ในวังนั้น ท่านหญิงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ตามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา และคอยถวายงานรับใช้ทั้งสองพระองค์อย่างใกล้ชิด
“รัชกาลที่ 6 ท่านทรงมีพระราชประสงค์ อยากจะให้มีหม่อมเจ้าตัวเล็กๆ ตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีพระวร- ราชชายา ดิฉันก็เลยมีโอกาสได้ขึ้นไปอยู่ที่พระตำหนักกับพระองค์ท่านด้วย เพื่อคอย ถวายงานรับใช้ทั้งสองพระองค์ในช่วงกลาง วัน บรรยากาศในวังช่วงนั้นเป็นไปอย่างสนุกสนาน ตอนเย็นๆ ท่านก็จะทรงกีฬา เราก็ร่วมเล่นกับพระองค์ท่านด้วย”
การที่ท่านหญิงมีโอกาสได้ถวายงานรับใช้ทั้ง 2 พระองค์อย่างใกล้ชิด จึงทำให้รู้สึกประทับใจในพระจริยวัตรอันเรียบง่ายและความเป็นกันเองของทั้ง 2 พระองค์ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 6 เพราะพระองค์ทรงเป็นทั้งพระมหากษัตริย์และพระอาจารย์ในเวลาเดียวกัน โดยพระองค์ท่านทรงชอบ ที่จะให้ความรู้กับผู้ที่ถวายงาน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระอารมณ์ขันอยู่เสมอ
“มีครั้งหนึ่งดิฉันทูลถามพระองค์ว่า ‘รักแร้’ ตามคำราชาศัพท์เราควรเรียกว่า อะไร ท่านก็ตรัสบอกเราด้วยพระสุรเสียงที่สดใสว่า เรียก ‘พระหุบหับ’ ก็แล้วกัน เพราะพระองค์ท่านเองก็ไม่ทรงทราบเหมือนกัน ทำให้ทุกคนหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกประทับใจมาก และไม่มีวันลืมเลย จนถึงวันนี้ก็ยังคงจำคำนี้ได้เป็นอย่างดี”
ครั้นเมื่อสิ้นแผ่นดินของรัชกาลที่ 6 แล้ว ท่านหญิงและครอบครัวก็ได้พากันออกจากพระราชวังพญาไทมาอยู่ข้างนอก โดยไปอาศัยอยู่ที่บ้านของ ม.จ.ชัชวลิต ซึ่งเป็นบ้านที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 6 ก่อนที่จะติดตามเจ้าพี่ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ
“เมื่อสมัยก่อนระดับชั้นหม่อมเจ้า เมื่อจะเดินทางออกนอกประเทศจะต้องไปทูลขอ พระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ ก่อน ดิฉันทูลขอรัชกาลที่ 7 หลายครั้ง แต่พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าช่วงนั้น เกรงกันว่าสาวไทยไปเมืองนอกแล้วชอบไป แต่งงานกับฝรั่ง”
ในที่สุดท่านหญิงก็มีโอกาสไปเรียนต่อ ที่ประเทศอังกฤษ แต่ยังเรียนได้ไม่ทันไร ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวจึงถูก เรียกตัวกลับเมืองไทย
แต่ช่วงชีวิตที่ท่านหญิงบอกว่ามีความสุขที่สุด คือตอนออกเรือนกับอาจารย์โฉลก โกมารกุล ณ นคร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เป็นทูตการคลัง ท่านได้ไปใช้ชีวิตภริยาทูตที่ต่างประเทศอย่างเต็มตัว ท่านหญิงบอกว่าเป็นชีวิตที่อิสระมาก ต้องเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างสมบูรณ์
หน้าที่ของภริยาทูตนอกจากจะต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือนแล้ว ท่านหญิงจะต้องออกงานสังคมต้อนรับแขกชาวต่างชาติ อยู่เป็นประจำ แต่สาวชาววังอย่างท่านก็คล่องแคล่วทันสมัย สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสาวฝรั่งได้อย่างกลมกลืน
และเพราะท่านหญิงกับสามีมีความเมตตาต่อคนไทยในอังกฤษอยู่เสมอ บ้านพักของท่านจึงได้กลายเป็นศูนย์รวมของนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ ที่สามารถมาพึ่งพิงยามเดือดร้อนได้ตลอดเวลา จนถึงทุกวันนี้นักเรียนเก่าอังกฤษหลายคนยังไม่ลืมความเมตตาของท่าน และมักจะมาจัดงานฉลองวันเกิดให้ท่านเป็นประจำทุกปี
ปัจจุบันท่านหญิงในวัย 99 ปีมีความสุขอยู่กับลูกสาว 2 คน หลานยาย 4 คน หลานทวด 2 คน และขณะนี้ท่านเป็น ผู้อาวุโสลำดับที่ 2 ของราชสกุลเกษมสันต์ โดยมีเจ้าพี่หญิงอีกคนที่มีชันษาแก่กว่าท่าน 3 เดือน
ด้วยความที่เป็นผู้อาวุโสที่ยังสง่างามและมีเมตตาต่อลูกหลาน ท่านหญิงจึงมักจะได้รับเชิญไปเป็นประธานในงานสำคัญของสายสกุลอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งงานพระ-ราชพิธีสำคัญทุกครั้งในฐานะชั้นหม่อมเจ้า ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้น
ท่านหญิงได้พูดถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับลูกหลานที่มีวัยต่างกันว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ไม่ค่อยมีช่องว่างระหว่างวัย เป็นเพราะท่านพยายามเข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คือ มนุษย์ทุกคนไม่ ชอบให้ใครมาบีบบังคับจิตใจให้ทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ
“ตั้งแต่เราเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมา แทบไม่เคยออกคำสั่งให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ เพราะเราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ชีวิตเขา เขาก็ต้องเป็นคนเลือกเอง เพราะเราไม่ได้ไปใช้ชีวิตกับเขา คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องคิดอย่าง หนึ่งว่า เราอยากให้ลูกมีความสุข หรือเราต้องการให้ตัวเองมีความสุขกันแน่
ชีวิตเรากับชีวิตของลูกๆ ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในชั้นหลานหรือเหลน มันย่อม มีความแตกต่างกันในเรื่องของเวลา
ลูกหลานอาจแตกต่างกับเรา หลายสิ่งที่บางครั้งคนเป็นพ่อแม่จะรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจลูกหลาน ที่ไม่ยอมทำตามในสิ่งที่เรายัดเยียดให้ ซึ่งสิ่งนั้นพ่อแม่อาจจะเห็นว่าดีกับลูกและคิดว่าเขาจะมีความสุข แต่แท้จริง แล้วเขาจะมีความสุขจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
ทุกวันนี้ท่านหญิงยังคงมีสุขภาพที่ แข็งแรง สามารถเดินไปไหนได้ด้วยตัวเอง แม้กระทั่งไปจ่ายกับข้าวในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มีเพียงคนขับรถคอยดูแลอยู่ห่างๆ เท่านั้น และที่น่าทึ่งคือท่านยังคงมีความจำดีเลิศ สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ ไม่หลงลืมเหมือนคนวัยเดียวกัน
ท่านหญิงเผยถึงเคล็ดลับที่ทำให้ท่านอายุยืนแบบไม่ค่อยป่วยไข้ว่า
“อาจเป็นเพราะเราโชคดีมาก เพราะ ตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยมีโรคประจำตัวเลย แต่จำได้ว่าชีวิตนี้เคยป่วยอยู่ 2 ครั้งคือ มีครั้งหนึ่งป่วยจนเกือบ เอาชีวิตไม่รอดก็คือ ตอนนั้นท้องเสียมาก ก็เลยไปหาหมอ ตอนแรกเราคิดว่าคงท้องเสียธรรมดา เดี๋ยวหมอจัดยาเสร็จก็คงให้กลับ ปรากฏว่าหลังจากที่หมอตรวจอาการเสร็จ ถึงกับให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที เพราะว่า ลำไส้ติดเชื้อไวรัสชนิดรุนแรง และครั้งหลังคือเข้ารับการผ่าตัดถุงน้ำดี”
ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น ท่านหญิงบอกว่าเป็นคนรับประทานได้ทุกอย่าง และไม่เลือกกินอาหาร จึงทำให้มีความสุขกับเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ
“เราจะเป็นคนที่ทานอาหารได้ทุกอย่าง แต่พอมีอายุมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำหนักตัว มีครั้งหนึ่งน้ำหนักมากถึง 65 กก. หมอจึงแนะนำให้ลดน้ำหนัก เพราะน้ำหนักมากเกิน ไปสำหรับรูปร่างของเรา ซึ่งวิธีการลดที่ทำมาจนถึงทุกวันนี้คือ เริ่มจากการควบคุม น้ำหนักของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร คือทานข้าวน้อยๆ แต่เน้นไปที่ผักและผลไม้ มากขึ้น เช่น ช่วงเช้าจะดื่มเพียงน้ำชา หรือโอวัลตินร้อนและขนมปัง ส่วนมื้อกลางวันก็จะเป็นอาหารมื้อหนักอย่างข้าวไปเลย ส่วนช่วงเย็นก็จะกินอาหารเบาๆ อย่างซุปไก่ หรือสลัดผัก” ท่านหญิงอธิบายวิธีการควบคุมน้ำหนักของตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ
นอกจากให้ความพิถีพิถันเอาใจใส่ในเรื่องของอาหารการกินเป็นอย่างดีแล้ว ท่านหญิงยังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย อีกด้วย เพราะท่านมักจะออกกำลังกายด้วยท่าง่ายๆ เป็นประจำทุกเช้า
“ช่วงหลังที่รู้สึกว่าหัวใจตัวเองเต้น ไม่ค่อยเป็นจังหวะก็เลยไปพบหมอ และหมอก็ให้เข้าคอร์สออกกำลังกายด้วยท่า ง่ายๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ หลังจากนั้นเราจึงนำท่าเหล่านั้นมาทำเอง ที่บ้าน อย่างเช่น ท่าก้มๆ เงยๆ ซึ่งเป็นท่าบริหารต้นคอ รวมทั้งเอี้ยวตัวไปทางซ้ายและขวาเป็นการบริหารเอว ซึ่งแต่ละท่านั้นจะค่อยๆ ทำ หลังจากที่ออกกำลังกายแล้วทำให้เรารู้สึกตัวเบาขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นอกจากท่านหญิงจะให้ความสำคัญกับสุขภาพกายแล้ว ท่านเอง ก็ไม่เคยละเลยที่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพใจด้วย
“การออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ การนั่งเฉยๆ แล้วปล่อยใจให้ว่าง ไม่เอาเรื่องของคนอื่นมาคิด ก็เป็นการบริหารจิตที่ดีอย่างหนึ่ง”
ทุกวันนี้ท่านได้ใช้ธรรมะเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดที่ว่า การทำอะไรก็ตาม ทุกอย่างควรเริ่มจากจิตใจ ไม่นำเรื่องราวต่างๆ ทางโลกมาคิดมาก ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไหว้พระสวดมนต์ เพื่อละลายกิเลสในใจออกไปให้มากที่สุด
“จำได้ว่าเราแทบจะไม่เคยได้เข้าวัดไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ใดเลย เพราะสภาพร่างกายไม่ได้เอื้ออำนวยสักเท่าไร เนื่องจาก อายุมากแล้ว แต่ก็ใช้วิธีศึกษาธรรมะเองที่บ้าน วันหนึ่งถ้าไม่ได้ออกไปทำธุระที่ไหนก็จะนำหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน และก่อนนอนก็จะสวดมนต์และนั่งสมาธิ เพื่อทำจิตใจให้สงบวันละ 5 นาที เพราะถ้านั่งนานกว่านี้คงไม่ไหว
ดิฉันเชื่ออย่างหนึ่งว่าการทำบุญหรือ การทำความดีนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าวัด หรือไปเสาะหาสถานที่อันลึกลับไปปฏิบัติธรรมก็ได้ เพียงแค่เรามีจิตใจที่ดี ไม่คิดร้าย พยาบาทกับใคร ไม่นินทาว่าร้ายคนอื่นให้เสียหาย เพียงเท่านี้ก็ทำให้จิตใจของเราสงบ เมื่อจิตสงบไม่ฟุ้งซ่าน เราก็ไม่เครียด เมื่อไม่เครียดก็ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน ก็ทำ ให้เรามีทั้งสุขภาพกายและใจที่ดีได้แล้ว”
ท่านหญิงบอกว่าจากการที่ท่านได้ศึกษาธรรมะ ก็ทำให้ท่านเองเกิดความเข้าใจในสัจธรรมอยู่ข้อหนึ่งว่า “ทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ”
“ทุกวันนี้ดิฉันไม่เคยคาดหวังอะไรกับชีวิต ไม่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีอายุถึง 100 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะเราไม่รู้ว่า วันพรุ่งนี้เราจะได้ตื่นลืมตามาหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด อย่าละเลยที่จะทำความดี และทำให้คนรอบ ข้างมีความสุข เพียงเท่านี้ดิฉันก็มีความสุขแล้ว”

วัย 99 ปีของ มจ.อรอำไพ เกษมสันต์ ยังคงคุณค่าและคุณงามความดีไว้เป็น แบบอย่างให้แก่ลูกหลาน เป็นดังดอกลำดวน ดอกไม้สัญลักษณ์วันผู้สูงอายุแห่งชาติที่ยังบานสดใส กลีบดอกแข็งแรงและส่งกลิ่นหอมเย็นสบายใจ ยามได้อยู่ใกล้

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 52 โดยศศิวิมล)
กำลังโหลดความคิดเห็น