xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ระบอบกษัตริย์ในตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   โดย: ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา

ถึงแม้ว่าประชาชนชาวตะวันออกกลางส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ระบอบกษัตริย์ก็เป็นรูปแบบการปกครองที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบัน นอกจากจอร์แดนและโมร็อกโกแล้ว ก็ยังมีระบอบกษัตริย์ให้เห็นตามดินแดนชายฝั่งตะวันตกของอ่าวเปอร์เซีย ไม่ว่าจะเป็นบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย อบูดาบี ดูไบ ซาร์ญะฮ์ อัจมาน อุมมุลกอยวาน ราชอัลไคห์มะฮ์ และฟูไจเราะห์ รัฐส่วนหลังทั้ง 7 นี้ ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐที่เรียกว่า “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ส่วน 5 รัฐแรกรวมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “สภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย” (Gulf Corporation Council: GCC)

ในบริบทของตะวันออกกลาง การสืบสันตติวงศ์ตามกรอบแนวคิดแบบเทวสิทธิ์ทำนองเดียวกันกับระบอบกษัตริย์ทั่วไปนั้น ถือว่าไม่มีความชอบธรรม ความจริงมีเพียงผู้ปกครอง 3 พระองค์เท่านั้นที่เรียกตนเองว่า “กษัตริย์” คือในจอร์แดน โมร็อกโก และซาอุดีอาระเบีย เพราะเหตุว่าผู้ปกครองเหล่านี้ต้องการได้รับการยอมรับนับถือจากมหาอำนาจเดิมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส มากกว่าที่จะต้องการให้ประชาชนของแต่ละราชวงศ์เกิดความประทับใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักใช้ยศตำแหน่งอย่างอื่นแทน เช่น “เชค” (หัวหน้าเผ่า ผู้อาวุโส พ่อเฒ่าที่ปกครองครอบครัว หัวหน้า) “อมีร” (หัวหน้า) “อิหม่าม” (ผู้นำ) เป็นต้น ซึ่งค่อนข้างจะสอดคล้องกับความเชื่อและประเพณีปฏิบัติของชาวอาหรับมากกว่า ส่วนการใช้คำราชาศัพท์นั้น มักก่อให้เกิดความรู้สึกกระดากใจ เพราะสำหรับมุสลิมอาหรับแล้ว ราชาศัพท์ควรใช้เฉพาะกับพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น

1. อิสลามถูกใช้เป็นแหล่งที่มาแห่งความชอบธรรมสำคัญที่สุดของราชวงศ์กษัตริย์ต่างๆ เช่น กษัตริย์ฮัซซันที่ 2 แห่งโมร็อกโก ได้อ้างการสืบทอดประวัติต้นตระกูลของราชวงศ์ ย้อนไปถึงความเกี่ยวดองทางสายเลือดกับศาสนทูตมุฮัมมัด โดยอ้างอิงถึงยุคปลายของศตวรรษที่ 8 ที่อิดริส (Idris) หลานชายคนโตของเคาะลีฟะฮ์อาลี ได้เดินทางมาถึงโมร็อกโก ท่านได้รับการสนับสนุนที่นั่น และได้ก่อตั้งราชวงศ์ อิดริสิ (Idrisi dynasty) ขึ้น ส่วนกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดน ก็ออกมาอ้างในลักษณะเดียวกันว่า ตระกูลฮาชิไมต์ของพระองค์ แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเผ่ากุรอยซ์ ซึ่งเป็นเผ่าที่ศาสนทูตมุฮัมมัดสังกัดอยู่ ในขณะที่ตระกูลสะอูดแห่งซาอุดีอาระเบีย ก็ย้อนนับอดีตของต้นตระกูลกลับไปถึงเผ่าอัดนาน (Adnani Tribe) ซึ่งเป็นเผ่าของศาสนทูตมุฮัมมัดเช่นกัน

2. แหล่งที่มาแห่งความชอบธรรมที่สำคัญลำดับถัดมา คือเรื่องตระกูลและเผ่าพันธุ์ ตระกูลสะอูดของซาอุดีอาระเบีย ตระกูลศอบะฮ์ (Sabah) ของคูเวต และตระกูลเคาะลีฟะฮ์ของบาห์เรน ล้วนมีต้นสายมาจากเผ่าอุนัยซา (Unaiza) ซึ่งเป็นเผ่าที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของซีเรีย แล้วเข้ามาอาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาหรับเมื่อศตวรรษที่ 17 และ 18 แต่มีเพียงราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หรือ “Al-Mamalak al-Arabiyyah al-Saudiyyah” เท่านั้น ที่เรียกชื่อราชวงศ์ตามชื่อของบิดาผู้ก่อตั้งประเทศคือ อิบนุ สะอูด ราชตระกูลสะอูดประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นเจ้าชายประมาณ 5,000 ถึง 7,500 พระองค์ (แม้ว่าสายการสืบทอดอำนาจจะจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะพระโอรสของกษัตริย์อับดุล อะซิซ อัล-สะอูด (ผู้ก่อตั้งประเทศ) เท่านั้นก็ตาม) ด้วยเหตุนี้ การเมืองภายในระหว่างเจ้าชายต่างๆ จึงมีความเข้มข้นเผ็ดร้อนอยู่ตลอดเวลา ส่วนราชตระกูลอัฎ-ฏอนี (Al-Thani) ของกาตาร์นั้น ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนถึงกว่า 2 แสนคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดของกาตาร์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลก ที่บรรดาเจ้าชายของกาตาร์ทั้งหลาย จะดึงประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อต่อกรกับเจ้าชายของอีกฝ่ายหนึ่ง

อัตลักษณ์ของเผ่ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเมืองระหว่างรัฐอีกด้วย การจะผูกมิตรหรือเป็นศัตรูกับใคร ต้องคำนึงถึงความสำเร็จในอนาคตข้างหน้า มากพอ ๆ กับการคำนึงถึงความทรงจำในอดีต ยกตัวอย่างเช่น จนกระทั่งขณะนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีแค่ตัวแทนระดับอุปทูตอยู่ในโอมาน ส่วนโอมานก็ไม่มีตัวแทนทางการทูตประจำอยู่เลยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้เป็นเพราะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เคยถูกอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของโอมาน เช่นเดียวกันกับกรณีของอบูดาบี ที่อ้างสิทธิเหนือรัฐดูไบ และกรณีของบาห์เรนที่อ้างสิทธิเหนือกาตาร์ ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงที่ยังคงค้างคาอยู่ในใจของแต่ละฝ่าย

ตระกูลฮาชิไมต์เคยเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถานอันประเสริฐในมักกะฮ์นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 แต่ในปี 1925 อับดุล อะซิซ อัล-สะอูด ได้โค่นล้มราชวงศ์ฮาชิไมต์ ของกษัตริย์ ชารีฟ ฮุสเซน ลง นับตั้งแต่ปี 1986 กษัตริย์ฟาฮัดแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้เรียกพระองค์ว่าเป็น “ข้ารับใช้แห่งศาสนสถานอันประเสริฐ” (Servant of the Holy Places: Khadim al-Haramain) ในขณะที่โอรสองค์ใหญ่ของกษัตริย์ ชารีฟ ฮุสเซน หรือกษัตริย์ ฮุสเซน แห่งจอร์แดน ก็มีการรื้อฟื้นชื่อบรรพบุรุษของตระกูล และชอบที่จะถูกเรียกพระองค์เองว่า ชารีฟ ฮุสเซน ฉะนั้น ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่าง 2 ตระกูลอันเกิดจากความทรงจำในอดีต จึงยังคงดำรงอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย

3. ความชอบธรรมทางการเมือง (ซึ่งมีความสำคัญที่สุดในช่วงสถานการณ์ปกติ) ถือเป็นปัจจัยลำดับที่สาม ซึ่งเป็นความชอบธรรมจากผลงานการปฏิบัติของผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นลักษณะ “การเป็นตัวแทนแห่งตน” (representation) ของประชาชนพลเมือง กล่าวคือความชอบธรรมดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในรูปแบบ “ประชาธิปไตยทะเลทราย” (desert democracy) หรือการที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการประกันในการเข้าถึงผู้ปกครองของพวกเขาโดยตรงเป็นการส่วนตัว แล้วนำปัญหาขึ้นทูลเกล้า เพื่อแสวงหาการแก้ไขช่วยเหลืออย่างเป็นกันเอง

กฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ส่วนใหญ่มีที่มาจากพระราชกฤษฎีกา (Nizams) ของกษัตริย์ ที่จะต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายอิสลาม (ชาริอะฮ์) อย่างเคร่งครัด การริเริ่มที่จะนำเอาสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง เข้าไปไว้ในรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐานยังมีให้เห็นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม คูเวตได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1962 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1971 กาตาร์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 1972 ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงเมื่อวันที่ 22 เมษายน ในปีเดียวกัน ส่วนบาห์เรนนั้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1972 รัฐธรรมนูญของคูเวตและบาห์เรนนั้นมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ไปแล้ว แต่สำหรับของกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญว่าเป็นฉบับชั่วคราวอยู่

การสืบทอดราชบัลลังก์ของราชวงศ์กษัตริย์ทั้ง 14 ราชวงศ์ในตะวันออกกลาง ถือเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ กษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดนนับเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อย่างยาวนานที่สุดถึง 42 ปี ก่อนจะสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็ง และส่งมอบอำนาจต่อไปให้แก่พระโอรสของพระองค์เองอย่างราบรื่น ในซาอุดีอาระเบีย แม้จะมีการสืบทอดราชบัลลังก์จากกษัตริย์ฟาฮัดไปสู่กษัตริย์อับดุลลอฮ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่การเมืองภายในก็ยังไม่สู้มีความมั่นคงนัก เพราะการปกครองของกษัตริย์องค์ใหม่คงอยู่ได้ไม่ยืนยาวเท่าใดนัก อันเนื่องมาจากการที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ในวัยที่ชรามาก ในโอมานนั้นสุลต่านกอบูส์ (Qaboos) ยังมิได้เข้าพิธีอภิเษกสมรส ในรัฐซาร์ญะฮ์ เชคสุลต่าน อัล-กอซิมี (Sheikh Sultan-Qassimi) ถูกโค่นราชบัลลังก์ชั่วคราวโดยพระอนุชาของพระองค์เมื่อ ปี 1987 ในปลายปี 1995 ผู้ปกครองของกาตาร์ถูกโค่นราชบัลลังก์โดย เชค ฮามัด อัฏ-ฏอนี (Sheikh Hamad al-Thani) ซึ่งเป็นโอรสของพระองค์เอง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบอบกษัตริย์ในตะวันออกกลางเกือบทั้งหมด ถูกท้าทายโดยพลังอำนาจของกลุ่มนิยมแนวทางอิสลาม และพลังแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย แม้พลังทั้ง 2 ดังกล่าวจะมีการเรียกร้องที่ต่างกันบางประการ แต่พวกเขาทั้งหมดก็เห็นพ้องต้องกันถึงความไม่เหมาะสมของระบบการสืบทอดอำนาจทางสายเลือด พลังท้าทายดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อบรรดาระบอบกษัตริย์ในตะวันออกกลางทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ปกครองต้องหาทางหยุดยั้งกระแสต่อต้าน โดยพยายามริเริ่มระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับหนึ่ง เช่น ในปี 1989 จอร์แดนได้จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี คูเวตจัดให้มีการเลือกตั้งหลังจากที่สามารถหลุดออกมาจากการยึดครองของอิรัก ซาอุดีอาระเบียจัดให้มีการเลือกตั้งเทศบาลระดับท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2005

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ใช้ระบอบกษัตริย์ในตะวันออกกลางส่วนใหญ่ ก็จัดให้มี “สภาที่ปรึกษา” (Majlis as-Shura) ซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งมากกว่าการเลือกตั้ง และอำนาจของสภาฯ ก็คือ พิจารณาประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่สถาบันกษัตริย์พอจะอนุญาตให้ได้ มิใช่เป็นคณะที่จะมากำหนดกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ แม้กระนั้นก็ตาม กระแสการต่อต้านระบอบกษัตริย์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้ผู้ปกครองของหลายประเทศในตะวันออกกลาง เริ่มหันมาพิจารณาถึงแนวทางการปฏิรูป เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองอย่างจริงจังและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Website: http://www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น