xs
xsm
sm
md
lg

การแข่งขันของมหาอำนาจในระหว่างการ“ล่าโจรสลัด”

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The great game of hunting pirates
By M K Bhadrakumar
21/11/2008

ภายใต้การประกาศตัวเข้าต่อสู้ปราบปรามโจรสลัดกลางทะเลหลวง บรรดามหาอำนาจนักแทรกแซงทั้งหลายกลับกำลังใช้ปฏิบัติการทางนาวีที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ, องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ, และสหภาพยุโรปนั้น ต่างเคลื่อนเลยออกมาจากสมรภูมิยุโรปเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย เช่นเดียวกับอินเดียก็ขยายสู่พื้นที่ซึ่งไม่เคยไปถึงมาก่อน ขณะที่รัสเซียกำลังแสวงหาทางเปิดฐานทัพเรือยุคโซเวียตของตนในอ่าวเอเดนขึ้นมาอีกครั้ง เหล่านี้ทำให้เกิดความสงสัยกันอย่างยิ่งว่า การแข่งขันชิงอำนาจทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจกำลังเปิดฉากขึ้นอีกคำรบหนึ่งแล้ว

(หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นและนำออกเผยแพร่ ตั้งแต่หลายวันก่อนหน้าที่มีรายงานข่าวยืนยันว่า เรือที่ถูกกองทัพเรืออินเดียยิงจมเมื่อวันอังคารที่ 18 พฤศจิกายนนั้น แท้ที่จริงเป็นเรือประมงไทย ซึ่งถูกโจรสลัดยึดไปในตอนเช้าวันเดียวกัน –ผู้แปล)

“ท่านครับ ท่านสร้างความภาคภูมิใจให้แก่อินเดีย” นี่คือสิ่งที่ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในเดลี กล่าวกับผู้บัญชาการทหารเรืออินเดีย พล.ร.อ.สุรีช เมห์ตา ระหว่างการสัมภาษณ์ถึงการสู้รบทางทะเล ซึ่งเรือรบอินเดีย ไอเอ็นเอส ตาบาร์ ประสบชัยชนะเหนือพวกที่น่าจะเป็นโจรสลัด ขณะที่ความมืดมิดกำลังเข้ามาเยือนอ่าวเอเดนเมื่อค่ำวันอังคาร(18)ที่ผ่านมา

คำพูดเช่นนี้คงจะทำให้ เซอร์ ฟรานซิส เดรก นักเดินเรือ, นักค้าทาส, และนักการเมืองชาวอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 16 ในยุคควีนอลิซาเบธที่ 1 ต้องเกิดความรู้สึกอิจฉาขึ้นมาตะหงิดๆ เซอร์ฟรานซิสนั้นมีสิ่งอวดอ้างซึ่งสามารถเรียกร้องชื่อเสียงที่ใหญ่โตกว่านี้เสียอีก ในตลอดช่วงแห่งชีวิตของเขาที่ถูกตัดทอนให้สั้นลงจากโรคท้องร่วง ขณะทำการโจมตีเมืองซานฮวน เกาะเปอร์โตริโก ในปี 1595

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลย พวกสื่อรักชาติของอินเดียต่างสาละวนแสดงความขอบคุณและรู้สึกมีความเชื่อมั่นในกองทัพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทางฝ่ายกองทัพก็เช่นเดียวกัน ได้โอกาสที่จะหันเหความสนใจให้พ้นไปจากการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างเผ็ดร้อน ในกรณีที่กล่าวหากันว่าทหารหลายคนมีส่วนพัวพันกับกิจกรรมก่อการร้ายของพวกเคร่งจารีตชาวฮินดู กองทัพเรืออินเดียก็ได้โอกาสออก “ปฏิบัติการ” เสียที หลังจากหยุดพักไปยาวนานถึง 37 ปีนับตั้งแต่สงครามบังกลาเทศ

คำแถลงของกองทัพเรือที่เห็นชัดว่าเลือกใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวัง บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกโจรสลัดได้เข้าโจมตีเรือตาบาร์ จากนั้นเรือรบอินเดียลำนี้จึง “ทำการตอบโต้เพื่อป้องกันตัว” ตลอดจนเปิดฉากยิงใส่เรือเดินทะเลลำแม่ของพวกจี้ปล้นกลางทะเลพวกนี้ด้วย พวกโจรสลัด “ประสบความสำเร็จ” ในการ “หลบหนีหายไปในความมืด” ขณะที่เรือรบตาบาร์สามารถจมเรือโจรสลัดได้ 1 ลำ เหตุการณ์คราวนี้ได้รับความสนใจจากนานาประเทศอย่างกว้างขวาง แต่ก็ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาบางประการเช่นเดียวกัน

โจรสลัดที่อาละวาดนอกเขตชายฝั่งประเทศโซมาเลีย กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากบนจอเรดาร์แห่งทัศนะความคิดเห็นของโลก การจี้จับเรือบรรทุกน้ำมัน “ซิริอุส สตาร์” อันเป็นเรือขนาดมหึมาที่สามารถบรรจุผลผลิตน้ำมันดิบในแต่ละวันของซาอุดีอาระเบียได้ประมาณหนึ่งในสี่ (เรือลำนี้บรรทุกน้ำมันได้ 2 ล้านบาร์เรล) ยิ่งเป็นการตอกย้ำอย่างน่าตื่นใจถึงมิติต่างๆ ของปัญหานี้ที่กำลังขยายตัวออกไป รัฐบาลของโซมาเลียซึ่งอยู่ในสภาพแทบไม่มีสมรรถภาพอะไรอยู่แล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะปราบปรามฝูงโจรสลัดผู้แล่นออกมาจากท่าเรือตามที่มั่นหลายๆ แห่งของพวกเขา และบุกเข้ายึดเรือสินค้าที่ผ่านไปมา

พวกโจรสลัดที่ยึดเรือซิริอุส สตาร์เอาไว้ ได้ออกมาเรียกร้องเงินค่าไถ่จำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ต่อมามีรายงานว่าเรียกร้อง 15 ล้านดอลลาร์ –ผู้แปล) พร้อมกับเตือนว่าถ้าไม่ยอมจ่าย ก็จะเกิด “ความหายนะ” ติดตามมา

เจ้าตัวล้างผลาญสร้างความทุกข์ยากให้ผู้อื่น ซึ่งเชื่อกันว่าหลงเหลืออยู่แต่ในหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์เท่านั้น กำลังกลับมาหลอกหลอนผู้คนอีกคำรบหนึ่งแล้ว ทว่าไม่เหมือนกับโจรสลัดในยุคอดีต พวกนักปล้นกลางทะเลชาวโซมาเลียเหล่านี้ติดอาวุธชั้นดี และจัดองค์กรรวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่ายหลวมๆ สองสามกลุ่ม พวกเขาทำท่าจะกลายเป็นตัวการหยุดยั้งกิจกรรมการเดินเรือทะเลตั้งแต่มหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย ค่าธรรมเนียมประกันภัยสำหรับเรือที่ต้องแล่นไปมาระหว่างเขตจงอยแอฟริกากับคาบสมุทรอาหรับ พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 10 เท่าตัว และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวมเท่ากับ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

ในวันพฤหัสบดี(20) เมิร์สก์ บริษัทเดินเรือทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศว่าจะไม่ให้เรือบรรทุกน้ำมันของตนต้องไปเสี่ยงภัยโจรสลัดบริเวณนอกชายฝั่งโซมาเลียอีกต่อไปแล้ว เมิร์สก์แถลงว่า จะปรับเปลี่ยนเส้นทางให้กองเรือบรรทุกน้ำมันที่มีจำนวนเรือมากถึง 50 ลำของตน แล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ที่อยู่ตรงปลายภาคใต้ของทวีปแอฟริกา อันเป็นเส้นทางที่ยาวขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าเดิมมาก

การส่งกองเรือรบของมหาอำนาจต่างชาติไปยังอาณาบริเวณที่เกิดการปล้นยึดเรือพาณิชย์ ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้ อันที่จริงมีเรือรบประมาณ 14 ลำจากประเทศต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ได้ไปประจำอยู่แถวนอกชายฝั่งโซมาเลีย ที่เป็นบริเวณซึ่งประมาณกันว่ามีเรือมากกว่า 20,000 ลำที่ออกมาจากเขตอ่าวเปอร์เซียต้องแล่นผ่านกันอยู่ทุกๆ ปี

ยิ่งกว่านั้นยังมีเครื่องหมายคำถามอันโตๆ เกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายในการปฏิบัติการของเรือรบเหล่านี้อีกด้วย ขณะที่นาโต้รอดตัวไปเพราะได้รับคำขอร้องจากเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ให้ดำเนินการป้องกันปราบปรามไม่ให้มีการค้าของเถื่อนในน่านน้ำระหว่างประเทศนอกชายฝั่งโซมาเลีย แต่ข้ออ้างเดียวกันนี้ไม่อาจนำมาใช้ได้กับเรือรบของรัสเซียหรือของอินเดีย รัสเซียนั้นพยายามบอกว่ารัฐบาลโซมาเลียได้ขอความช่วยเหลือจากตน ทว่าสภาพความเป็นจริงก็คือไม่มีใครเลยที่เป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบในเมืองหลวงโมกาดิชูอย่างแท้จริง ขณะที่น่าสังเกตว่าคำแถลงของกองทัพเรืออินเดียนั้น พยายามย้ำนักย้ำหนาว่าเรือรบของตน “ทำการตอบโต้ในลักษณะป้องกันตนเอง”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่พึงกระทำก็คือการปฏิบัติการโดยได้รับมอบหมายอำนาจจากสหประชาชาติ โดยหากมีสหภาพแอฟริกา และบรรดารัฐที่อยู่ริมทะเลในย่านนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ ทั้งนี้อาจจะอยู่ในลักษณะที่นำเอาพวกเขาเข้าร่วมการปราบปรามโจรสลัดโดยตรง หรือในรูปของการช่วยเหลือชาติเหล่านี้พัฒนาสมรรถนะดังกล่าว ทว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงไม่บังเกิดขึ้นมา จึงทำให้เกิดความสงสัยข้องใจเป็นอย่างยิ่งว่า การช่วงชิงอำนาจกันกำลังเปิดฉากขึ้นมาแล้ว เพื่อการควบคุมเส้นทางเดินเรือทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ช่วงระหว่างช่องแคบมะละกาและเขตอ่าวเปอร์เซีย

เส้นทางเดินเรือทะเลดังกล่าวนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นทางน้ำเพื่อการพาณิชย์ที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยที่เป็นทางผ่านของสินค้าหลายหลาก ตั้งแต่น้ำมัน, อาวุธ, ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งขนส่งเข้าออกระหว่างยุโรปและเอเชีย แท้ที่จริงแล้ว ความร่วมมือกันระดับภูมิภาคอันทรงประสิทธิภาพในการปราบปรามภัยโจรสลัดและการปล้นยึดเรือสินค้า ณ ช่องแคบมะละกา ควรที่จะนำมาใช้เป็นแบบอย่างอันมีประโยชน์มาก

มีการพูดกันอยู่บ้างเช่นกันว่า พวกโจรสลัดโซมาเลียเหล่านี้อาจจะกำลังกลายเป็นตัวอย่างและเป็นเครื่องอำพรางให้แก่กลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ เหล่าผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “การก่อการร้าย” พร้อมอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนขึ้นเกียร์สูง และเริ่มต้นตั้งข้อสงสัยคาดเดากันว่า พวกอัลกออิดะห์กำลังเลียนแบบวิธีการทำงานของโจรสลัดโซมาเลียอยู่หรือเปล่า เรากำลังคืบใกล้ไปสู่การรวมเอาภัยโจรสลัดทางทะเลเข้ามาอยู่ในพื้นที่ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย”กันแล้วหรือ

หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องน่าสังเวชมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายเหลือเกินว่า โซมาเลียเวลานี้กำลังถูกครอบงำด้วยเงื่อนไขสภาพการณ์แบบอนาธิปไตยนานาประการ โซมาเลียคือประเทศที่ไร้สมรรถภาพทำนองเดียวกับอัฟกานิสถาน ซึ่งไม่เคยเป็นประภาคารส่องแสงเจิดจ้าแห่งเสถียรภาพหรือประชาธิปไตยอะไรเลย ทว่าสิ่งต่างๆ เคยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อตอนที่ สหภาพศาลอิสลาม (ไอซียู) มีอำนาจควบคุมพื้นที่จำนวนมากในตอนต้นปี 2006 เรียกได้ว่าไอซียูประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อยขึ้นมาในประเทศซึ่งแตกสลายด้วยการเป็นปรปักษ์และความรุนแรงระหว่างเผ่าตระกูลต่างๆ

แต่แล้วคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็มองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ภายใต้หลักตรรกวิทยาอันวิปลาสหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ทำให้เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะปล่อยให้รัฐบาลของพวกอิสลามิสต์กลายเป็นผู้บุกเบิกสร้างธรรมาภิบาลขึ้นมา ผลก็คือ เกิดการรุกรานของเอธิโอเปียที่เป็นชาวคริสต์ในปี 2007 ด้วยการหนุนหลังของสหรัฐฯ ทว่าการรุกรานก็ล้มเหลวไม่สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์อันเด็ดขาดขึ้นมาได้ และตรงกันข้ามกลับรังแต่ช่วยให้เกิดการแตกแยกในไอซียู โดยพวกที่มีแนวทางรุนแรงซึ่งเรียกขานกันว่า พวกชาบับ (คนหนุ่ม) กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ผลพวงที่เกิดขึ้นต่อมาเป็นเรื่องง่ายๆ ที่มองเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีคำถามใดๆ เลยหากจะพูดว่าปัญหาโจรสลัดที่เกิดขึ้นมาจำเป็นจะต้องแก้ไขกันบนผืนแผ่นดินในโซมาเลีย ทั้งนี้ หากปลอดจากนักการทหารหรือนักยุทธศาสตร์โลกเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยสักระยะหนึ่งแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็มักมีทางออกของมันเองอยู่เสมอๆ นี่อย่างน้อยก็เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอย่าง แคธี สตูห์ลเดรเฮอร์

ในข้อเขียนที่ลงในหนังสือพิมพ์คริสเตียนไซแอนซ์มอนิเตอร์เมื่อเร็วๆ นี้ เธอเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาโซมาเลียแบบดำเนินการเป็น 3 ช่องทาง ช่องทางแรก ประชาคมระหว่างประเทศควรตระหนักให้ซึ้งแก่ใจว่า พวกโจรสลัดในโซมาเลียนั้นมีรากเหง้าต้นตอมาจากบรรดาชาวประมงผู้โกรธกริ้ว เมื่อต้องแข่งขันกับการไล่ล่ากวาดจับปลาอย่างผิดกฎหมายของพวกเรือประมงต่างชาติลำใหญ่ ในน่านน้ำชายฝั่งที่อุดมด้วยปลาทูนาของโซมาเลียเอง

การต่อสู้อันไม่เสมอภาคกันเลยเช่นนี้ ก่อให้เกิดประชากรผู้ยากไร้ในท้องถิ่นขึ้นมา นอกจากนั้นแล้ว ประชากรแถบชายฝั่งยังเกิดความแค้นเคืองเช่นกัน จากการที่เรือต่างชาติทุ่มทิ้งของเสียอย่างไร้ความละอายลงในน่านน้ำของโซมาเลีย จากนั้นไม่นานนัก พวกชาวประมงท้องถิ่นผู้โกรธกริ้วและสูญเสีย ก็จัดตั้งรวมตัวกันเข้าโจมตีเรือประมงขนาดใหญ่ของต่างชาติอีกทั้งเรียกร้องค่าชดเชยสำหรับความเสียหายที่พวกเขาประสบอยู่ การรณรงค์ของพวกเขาประสบความสำเร็จ และเร่งรัดให้คนหนุ่มจำนวนมาก “แขวนอวนจับปลาและหันมาถือปืนอาก้า”

สตูห์ลเดรเฮอร์แนะนำว่า “หากทำให้พื้นที่ชายฝั่งกลับให้ผลตอบแทนอันงดงามสำหรับพวกชาวประมงท้องถิ่นได้อีกครั้ง ก็สามารถที่จะกระตุ้นส่งเสริมให้โจรสลัดหวนกลับมาดำรงชีพอย่างถูกกฎหมายกันอีก” เธอเขียนต่อไปว่า ดังนั้น “การมีกองกำลังคุ้มครองเขตประมงจะเท่ากับการกำจัดต้นตอแห่งความรู้สึกชอบธรรมของพวกโจรสลัด” เรื่องเช่นนี้สามารถกระทำได้ทั้งภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเอ็น หรือของสหภาพแอฟริกา หรือของ “พันธมิตรที่เกิดจากความสมัครใจ”

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “กองกำลังนานาชาติที่ส่งเข้ามาคุ้มครองอุตสาหกรรมท้องถิ่น จะบรรจุดเป้าหมายเดียวกันกับกองเรือรบ ทว่าด้วยวิธีการซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้มากกว่า เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกโจรสลัดรุ่งเรืองมากตามแนวชายฝั่งโซมาเลียก็คือ ไม่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเขตชายฝั่งใดๆ ที่สามารถพิทักษ์คุ้มครองเขตน่านน้ำเหล่านี้ได้จริงๆ เรือติดอาวุธของต่างชาติยังจะสามารถเข้ามาอุดช่องว่างดังกล่าวนี้และทำหน้าที่ป้องปรามไม่ให้ใครเข้ามาโจมตี แต่ด้วยภารกิจอันเปิดเผยชัดเจนว่ามุ่งรับใช้ประชาชนโซมาเลีย ผู้เป็นประชาชนซึ่งมีเหตุผลเหลือเฟือที่จะไม่ชอบการเข้าแทรกแซงทางทหารของต่างชาติ และมักจะมองเรือรบต่างชาติที่ปรากฏตัวให้เห็นว่า กำลังเข้ามาทำการขู่กรรโชก”

แต่จะมีใครบ้างไหมในหมู่ชาติที่กำลังส่งเรือรบเข้าไปในพื้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, นาโต้, หรือประเทศสมาชิกอียู, รัสเซีย, หรืออินเดีย ซึ่งยินดีรับภาระหน้าที่ของ “การสร้างชาติ” ในทวีปแอฟริกาเช่นนี้ เห็นทีจะไม่มีเสียมากกว่า โดยอุดมคติแล้ว ประชาคมระหว่างประเทศยังควรเริ่มต้นกระบวนการปรองดองที่ดึงเอาพวกไอซียูที่ยังหลงเหลืออยู่เข้ามาร่วมด้วย เมื่อพิจารณาย้อนกลับไป มันก็เหมือนกับพวกตอลิบานในกรณีของอัฟกานิสถานนั่นแหละ การทำความเข้าใจกับลัทธิอิสลามิสต์อย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้เข้าใจซาบซึ้งถึงคุณค่าของพวกไอซียูในการทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในโซมาเลีย

ตรงกันข้าม ภายใต้การประกาศตัวเข้าต่อสู้ปราบปรามโจรสลัดกลางทะเลหลวง สิ่งที่เรากำลังเป็นประจักษ์พยานอยู่ในเวลานี้ ก็คือการที่บรรดามหาอำนาจนักแทรกแซงทั้งหลาย ใช้ปฏิบัติการทางนาวีที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯนั้นได้จัดตั้งกองบัญชาการทหารภาคแอฟริกาขึ้นแยกต่างหากออกมาในเพนตากอน ขณะที่นาโต้และอียูพากันเคลื่อนเลยออกมาจากสมรภูมิยุโรปเข้าสู่พื้นที่มหาสมุทรอินเดีย รัสเซียก็กำลังแสวงหาทางเปิดฐานทัพนาวียุคโซเวียตของตนในเอเดนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนอินเดียก็เสาะหาและได้รับสถานที่จอดเรือรบของตนในโอมาน ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในเส้นทางสู่การปรากฏตัวทางนาวีอย่างถาวรในย่านอ่าวเปอร์เซีย มหาสมุทรอินเดียจึงกำลังกลายเป็นสมรภูมิใหม่ในสงครามชิงอำนาจทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ และการที่จีนจะเข้ามาร่วมวงด้วยนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องของจังหวะเวลาเท่านั้นเอง

แน่นอนที่จีนไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับมหาสมุทรอินเดียเลย ในปี 1405 ในรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้มีนามกระเดื่องของจีนได้เคยไปเยือนศรีลังกา โดยนำธูปมุ่งไปสักการะวิหารพระพุทธรูปเลื่องชื่อ ณ เมืองแคนดี แต่ปรากฏว่าเขาถูกดักซุ่มโจมตีโดยพระเจ้าวิชโยพาหุที่ 6 กษัตริย์ชาวสิงหล ทว่าเจิ้งเหอสามารถหลบหนีกลับมายังกองเรือของเขาได้ เพื่อทำการแก้แค้น อีกสองสามปีต่อมา จีนได้ส่งเจิ้งเหอมาที่ศรีลังกาอีกครั้ง เขาสามารถจับกษัตริย์สิงหลพระองค์นี้พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ และนำกลับไปประเทศจีนในฐานะเชลยศึก แต่เมื่อจักรพรรดิจีนทรงทอดพระเนตรเห็นเชลยศึกเหล่านี้แล้ว ก็ทรงบังเกิดความสงสารและมีพระบรมราชโองการให้นำพวกเขากลับบ้าน โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า “ต้องคัดเลือกบุคคลผู้เฉลียวฉลาดที่สุดในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นเป็นกษัตริย์” กษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งคือ ศรีปรากรมพาหุ ได้รับพระราชทานพระราชลัญจกร และกลายเป็นประเทศราชของจักรพรรดิจีน นั่นคือเหตุผลที่ทำไมจวบจนกระทั่งถึงปี 1448 ศรีลังกาจึงยังต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังจีนอยู่ทุกปี

พล.ร.อ.เมห์ตามีตัวอย่างอันทรงคุณค่าวางแบอยู่เบื้องหน้าเขาแล้ว ซึ่งเขาสามารถนำมาใช้เพื่อเกลี้ยกล่อมประเทศของเขาที่ยังมีท่าทีลังเล ให้เบ่งกล้ามสยายอำนาจอิทธิพลเข้าไปในแอฟริกาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อันยาวนานยิ่งของตน เหตุผลที่ดีที่สุดที่เขาจะหยิบยกขึ้นมาอธิบายก็คือ ถ้าเขาไม่รีบนำหน้าไปก่อนแล้ว เจิ้งเหอก็อาจจะกลับมาปรากฏตัวในมหาสมุทรอินเดียอีกครั้ง

กระนั้นก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้ยังคงมีความเสี่ยงซึ่งย่อมต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วประการหนึ่ง นั่นก็คือ พวกโจรสลัดที่หายตัวไปท่ามกลางความมืดมิดในค่ำวันอังคาร(18) อาจจะหวนกลับมาเฝ้าตามหาเรือ ไอเอ็นเอส ตาบาร์ อยู่ก็เป็นได้

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยไปประจำตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
ชีวิตแสนสำราญของฝูงโจรสลัดโซมาเลีย (ตอนจบ)
โดยอาศัยทั้งเล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัด, ความบ้าบิ่นไม่กลัวเกรงอะไร, และการก่อการร้ายมุ่งสร้างความสยดสยอง เหล่าโขยงโจรสลัดสมัยใหม่จากประเทศโซมาเลียที่ยากจนข้นแค้น ก็กำลังอวดอิทธิฤทธิ์ท้าทายกองทัพเรือเรืองแสนยานุภาพทั้งหลายของโลก, จู่โจมปล้นสะดมเรือพาณิชย์ลำแล้วลำเล่าตามใจชอบ, และกำลังแผ่อำนาจควบคุมเหนือเส้นทางการค้าสำคัญๆ ระหว่างยุโรปกับเอเชียอย่างแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ แม้โลกเรายังเต็มไปด้วยความคิดจินตนการสุดโรแมนติกเกี่ยวกับจอมสลัดผู้ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี แต่พฤติการณ์อุกอาจเช่นนี้ก็กำลังก่อให้เกิดความรู้สึกกันว่าเกินกว่าจะกล้ำกลืนต่อไปแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่จะ “นำตัวกัปตัน แจ๊ก สแปร์โรว์ ขึ้นเครื่องบินไปกักกันไว้ที่คุกกวนตานาโม”?
กำลังโหลดความคิดเห็น