xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตแสนสำราญของฝูงโจรสลัดโซมาเลีย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: กอง บก. เอเชียไทมส์ออนไลน์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The jolly life of a pirate ring
By Asia Times Online staff
20/11/2008

โดยอาศัยทั้งเล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัด, ความบ้าบิ่นไม่กลัวเกรงอะไร, และการก่อการร้ายมุ่งสร้างความสยดสยอง เหล่าโขยงโจรสลัดสมัยใหม่จากประเทศโซมาเลียที่ยากจนข้นแค้น ก็กำลังอวดอิทธิฤทธิ์ท้าทายกองทัพเรือเรืองแสนยานุภาพทั้งหลายของโลก, จู่โจมปล้นสะดมเรือพาณิชย์ลำแล้วลำเล่าตามใจชอบ, และกำลังแผ่อำนาจควบคุมเหนือเส้นทางการค้าสำคัญๆ ระหว่างยุโรปกับเอเชียอย่างแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ แม้โลกเรายังเต็มไปด้วยความคิดจินตนการสุดโรแมนติกเกี่ยวกับจอมสลัดผู้ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี แต่พฤติการณ์อุกอาจเช่นนี้ก็กำลังก่อให้เกิดความรู้สึกกันว่าเกินกว่าจะกล้ำกลืนต่อไปแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่จะ “นำตัวกัปตัน แจ๊ก สแปร์โรว์ ขึ้นเครื่องบินไปกักกันไว้ที่คุกกวนตานาโม”?

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2008 มีเรือเดินทะเลจำนวน 71 ลำที่ถูกโจมตี, จำนวน 12 ลำถูกจี้จับไป, และ 11 ลำเกิดไฟลุกไหม้ แล้วก็มีลูกเรือที่ถูกจับเป็นตัวประกันทั้งสิ้น 190 คน มี 7 คนถูกสังหาร และอีก 7 คนที่สูญหายไปซึ่งเชื่อกันว่าคงจะเสียชีวิตแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ตามรายงานของ สำนักงานการเดินเรือทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Bureau หรือ IMB) โดยที่ IMB นี้เป็นองค์การไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1981 เพื่อเป็นจุดรวมในการต่อสู้ปราบปรามอาชญากรรมและการประพฤติมิชอบทางการเดินเรือทะเล

“ตัวเลขโดยรวม [ของเหตุร้ายที่เกิดขึ้น] นับว่าสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ... ทว่าเมื่อดูกันเฉพาะในอ่าวเอเดนและฝั่งตะวันออกของโซมาเลีย ปรากฏว่ามีเหตุการณ์จี้จับเรือพร้อมตัวประกัน, เหตุการณ์ที่มีการใช้ปืนและเครื่องยิงลูกจรวด, เหตุการณ์ที่ทำให้เรือเกิดไฟไหม้ เกิดเพิ่มขึ้นมาก ระดับของความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เหล่านี้นับว่าสูงขึ้นเยอะ” ผู้จัดการของไอเอ็มบี ไซรัส โมดี บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส จากกรุงลอนดอน

และดังที่เอเชียไทมส์ออนไลน์รายงานไว้ในเรื่อง Hell and hign water for Filipino seamen เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน บรรดากะลาสีเรือชาวเอเชียกำลังตกเป็นเหยื่อของพวกโจรสลัดบริเวณนอกชายฝั่งทวีปแอฟริกาเพิ่มมากขึ้นทุกที “ในท่ามกลางเหตุการณ์จี้เรือกลางทะเลหลวงที่กำลังเพิ่มทวีท่วมท้น จนกระทั่งกลายเป็นภัยคุกคามถึงขั้นที่จะทำลายการค้าระหว่างตะวันออกกลางกับเอเชียอันสำคัญยิ่งยวด ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกก็กำลังอ่อนแอลงอยู่แล้ว”

“นอกเหนือจากที่พูดกันแล้ว คุณยังจะต้องบวกเอาพฤติการณ์โจรกรรมของพวกแก๊งต่างๆ ตามท่าเรือและตามน่านน้ำภายในแผ่นดิน ในทวีปจำนวนมาก และในประเทศมากมาย” เดวิด ค็อกโครฟต์ เลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์คนงานขนส่งระหว่างประเทศ (ไอทีเอฟ) บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส จากกรุงลอนดอนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ไอทีเอฟมีสมาชิกเป็นสหภาพแรงงานต่างๆ 654 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานภาคขนส่งราว 4.5 ล้านคนใน 148 ประเทศ

“พวกโจรสลัดไม่ยอมให้คนภายนอกเข้าไปเยี่ยมลูกเรือที่ถูกพวกเขาจับตัวไว้เรียกค่าไถ่” ค็อกโครฟต์กล่าวต่อ “แต่จากพวกที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว ทำให้เราทราบว่าสภาพการณ์จะแตกต่างกันไป ตั้งแต่แค่ต้องอยู่รอคอยด้วยความเบื่อหน่ายเป็นเวลาหลายๆ เดือน ไปจนกระทั่งต้องถูกกักขัง และถูกปฏิบัติการอย่างเลวร้ายสุดๆ และสำหรับคนจำนวนน้อยด้วยแล้ว ก็ถึงขั้นต้องเสียชีวิตไปเลย”

กระนั้นก็ตาม ความคิดจินตนาการในลักษณะโรแมนติกของคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เชื่อมต่อสอดคล้องกับความเป็นจริงอันสกปรกโหดเหี้ยมเอาเลยนั้น น่าจะมีต้นตอมาจากความลี้ลับที่ปกคลุมการปฏิบัติการของพวกโจรสลัด คนภายนอกแทบจะไม่มีความรู้อะไรอย่างแท้จริงเกี่ยวกับโจรสลัดเหล่านี้ “มีผู้คนระหว่าง 1,000 ถึง 1,200 คนที่คบค้าสมาคมกับคนพวกนี้” โมดีอธิบาย “คนพวกนี้น่าจะประกอบด้วยคนกลุ่มต่างๆ กันหลายๆ กลุ่ม ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันแบบหลวมๆ”

แต่เขาก็ชี้ว่า พวกโจรสลัดโซมาเลีย “กำลังแสดงให้เห็นว่ามีความมั่นอกมั่นใจในการบุกโจมตีมากขึ้นทุกที พวกเขากำลังมีการจัดตั้งจัดองค์กรของตนเองซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมมากมาย สืบเนื่องจากความสำเร็จที่ผ่านๆ มาของพวกเขา ดังนั้นเมื่อถึงตอนนี้พวกเขาจึงสามารถเข้าโจมตีเรือเดินสมุทรขนาดยักษ์เช่นนี้ และยึดเอาไว้เรียกค่าไถ่ได้สำเร็จ พวกเขามีสมรรถนะที่จะออกทะเลได้เป็นเวลาหลายๆ วัน เวลานี้การโจมตีจึงกำลังเกิดขึ้นในบริเวณห่างออกไปจากผืนแผ่นดินยิ่งขึ้นเรื่อยๆ”

ตามความเห็นของโมดี พวกโจรสลัดนอกชายฝั่งโซมาเลียเพิ่มจำนวนขึ้นในปี 2007 ภายหลังกองทหารเอธิโอเปียเข้าสนับสนุนกองกำลังของรัฐบาลกลางเฉพาะกาล (Transitional Federal Government หรือ TFG) ในการขับไล่กลุ่มสหภาพศาลอิสลาม (Islamic Courts Union หรือ ICU) เมื่อเดือนธันวาคม 2006

โซมาเลียนั้นประสบกับการสู้รบและความขัดแย้งชิงอำนาจกันมาโดยตลอดนับแต่ระบอบปกครองของ โมฮัมเหม็ด ซาอิด บาร์เร ล้มครืนลงในปี 1991 รัฐบาลชั่วคราวที่ใช้ชื่อว่า รัฐบาลกลางเฉพาะกาล (ทีเอฟจี) จัดตั้งขึ้นในปี 2001 โดยกำหนดให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และ อับดุลลาฮี ยูซุฟ อาเหม็ด ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานาธิบดี แต่ใช่ว่าพรรคฝ่ายต่างๆ ทั้งหมดของโซมาเลียจะยอมรับรัฐบาลชุดนี้

อำนาจของทีเอฟจีถูกท้าทายหนักในปี 2006 หลังจากพวกอิสลามิสต์สามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคใต้ไว้ได้ แต่ด้วยการสนับสนุนทางทหารจากเอธิโอเปีย ทำให้กองกำลังฝ่ายที่ภักดีต่อทีเอฟจี ขับไล่กองกำลังอาวุธของพวกอิสลามิสต์ไปได้ในช่วงสิ้นปี 2006 กระนั้นก็ตาม ตั้งแต่บัดนั้นมา อัล-ชาบับ ซึ่งเป็นกำลังฝ่ายเยาวชนของพวกสหภาพศาลอิสลาม (ไอซียู) และผู้ก่อความไม่สงบอิสลามิสต์อื่นๆ ก็ยังคงทำการสู้รบมุ่งชิงอำนาจคืน

โมดีเชื่อว่า ภาวะไร้ขื่อแปในโซมาเลีย ทำให้พวกโจรสลัดสามารถกระทำการได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องถูกตอบโต้ปราบปรามจากอำนาจกฎหมายใดๆ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้ควรต้องแก้ไขจากบนบกเป็นสำคัญ

ค็อกโครฟต์ก็บรรยายให้เห็นสถานการณ์ในทำนองเดียวกัน “ปรากฏว่าจำนวนโจรสลัดที่มาจากโซมาเลียกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกขุนศึกระดับท้องถี่นมองเห็นว่าอำนาจและอิทธิพลของขุนศึกที่อยู่ใกล้เคียงกันกับเขา สามารถเพิ่มพูนขึ้นมาหลังจากขยายเข้ามาทำอาชญากรรมชนิดนี้” เขาบอก “ดังนั้นตอนนี้คุณจึงไม่เพียงมีพวกอาชญากรที่ปฏิบัติการใกล้ๆ ชายฝั่งด้วยเรือยางที่แล่นได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังมีพวกเรือประมงเข้าทำการแบบโจรสลัดเป็นงานอิสระอีกด้วย แล้วแถมเวลานี้ยังเจอพวกแก๊งที่จัดตั้งองค์กรกันเข้มแข็งขึ้น ออกปฏิบัติการไกลออกไปในน่านน้ำระหว่างประเทศ โดยใช้เรือประมงขนาดใหญ่ขึ้นอีก และมีการใช้เรือแม่คอยสั่งการในการเข้าโจมตี”

จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีรายงานจากสื่อมวลชนใดๆ ที่เชื่อมโยงพวกโจรสลัดเหล่านี้กับพวกกำลังอาวุธของอัลกออิดะห์กลุ่มซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในโซมาเลีย ทว่านักวิเคราะห์บางคนก็คาดเก็งกันว่า พวกนักรบอิสลามหัวสุดโต่งอย่างอัลกออิดะห์อาจได้รับแรงบันดาลใจจากการได้เห็นว่าสามารถเข้าเล่นงานเรือพาณิชย์ได้อย่างง่ายดายขนาดไหน และเปิดฉากการโจมตีแบบโจรสลัดของตนเองขึ้นมาบ้าง

ดังที่ โอลิเวียร์ จาคอบ กรรมการผู้จัดการของ เปโตรแมทริกซ์ บริษัทวิจัยตลาดน้ำมันสัญชาติสวิส ได้บอกกับแอสโซซิเอเต็ด เพรส ว่า “ถ้าโจรสลัดแค่ไม่กี่คนที่มีปืนกลสองสามกระบอก สามารถจี้จับเรือบรรทุกน้ำมันลำยักษ์ได้แล้ว คุณย่อมจินตนาการได้ว่าอัลกออิดะห์สามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้าพวกนั้นต้องการทำจริงๆ”

**บทเรียนจากประวัติศาสตร์**

คำตอบจากประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายศตวรรษต่อปัญหาโจรสลัดนั้นมีอยู่ว่า ได้เคยมีการใช้กองกำลังนาวีของนานาประเทศออกลาดตระเวน อีกทั้งมีการยกทัพเข้าปราบปรามกวาดล้างฐานหลบภัยบนบกของพวกสลัดด้วย ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ทำได้ลำบากในโซมาเลียเวลานี้

ตามการศึกษาของ แองกัส คอนสแตม ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Piracy: The Complete History (ภัยโจรสลัด: ประวัติศาสตร์ฉบับสมบูรณ์) ตั้งแต่ปี 67 ก่อนค.ศ.แล้ว ปอมเปย์ นายพลของโรมันได้รับงบประมาณจำนวนมหาศาลและทหารอีกกว่า 120,000 คนเพื่อเข้ากวาดล้างทำให้ย่านเมดิเตอร์เรเนียนปราศจากโจรสลัด อีกเนิ่นนานถัดมา ราชนาวีอังกฤษต้องระดมทรัพยากรทั้งหมดของตน เพื่อเข้าปราบปรามกวาดล้างเขตน่านน้ำที่เต็มไปด้วยโจรสลัดในทะเลแคริบเบียน, อเมริกา, และแอฟริกาตะวันตก และยังคงทำการลาดตระเวนต่อต้านโจรสลัดเรื่อยมา จากกลางศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ทว่า แม้เมื่อมีการรวบรวมกองกำลังนาวีระหว่างประเทศอันใหญ่โตมหึมา ไว้คอยเล่นงานเหล่าโจรสลัดที่ค่อยสร้างความรำคาญขึ้นมาแล้ว การปล้นสะดมและจี้จับเรือพาณิชย์ก็ยังคงดำเนินต่อไปด้วยฝีก้าวและสัดส่วนที่ขยายตัวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มโจรสลัดติดอาวุธที่ใช้เชือกและบันไดเชือกบุกขึ้นไปบนเรือแล้วจับลูกเรือเป็นเชลย ยังคงสามารถปฏิบัติการอย่างประสบผลไม่ว่ากับเรือประมงลำย่อมๆ หรือกับเรือบรรทุกน้ำมันมูลค่าพันๆ ล้านดอลลาร์

รายงานที่ปรากฏขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้บ่งชี้ให้เห็นว่า เหตุผลสำคัญซึ่งทำให้พวกนักปล้นเหล่านี้สามารถกระทำการอย่างอุกอาจและอย่างประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ เนื่องจากพวกเขามีพื้นที่ในการปฏิบัติการอันกว้างใหญ่ไพศาลถึง 2.5 ล้านตารางไมล์ ขณะที่บรรดามหาอำนาจของโลกก็ลังเลที่จะเข้ามาพัวพันเล่นงานโจรสลัดพวกนี้

“บรรดาบริษัทเดินเรือทั้งหลายต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า กำลังของกองทัพเรือไม่สามารถจะไปอยู่ในที่ทุกหนแห่งได้ มาตรการป้องกันตนเองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการพิทักษ์คุ้มครองเรือเดินทะเลของพวกเขา” พล.ร.ท.บิลล์ กอร์ตนีย์ ผู้บัญชาการกองกำลังนาวีผสม ในสังกัดกองเรือที่ 5 ของสหรัฐฯ บอกกับ แอสโซซิเอเต็ด เพรส ภายหลังเรือ ซิริอุส สตาร์ ถูกยึดไป

ได้มีการรายงานกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับฐานที่มั่นบนชายฝั่งโซมาเลียของพวกโจรสลัด อย่างเช่นที่ถูกเอ่ยชื่อมากกว่าเพื่อนก็มี 2 แห่ง คือ อิล และ กาโรเว อย่างไรก็ตาม ไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่เสนอแนวความคิดให้ใช้การโจมตีทางทหารต่อเมืองโจรสลัดเหล่านี้ บางทีอาจเพราะเกรงจะกลายเป็นการซ้ำรอยความหายนะของทหารสหรัฐฯที่เคยเปิดการรณรงค์ในโซมาเลียเมื่อสิบกว่าปีก่อน บางฝ่ายยังเชื่อว่าการโจมตีฐานโจรสลัดเหล่านี้ จะกลายเป็นการบ่อนทำลายรัฐบาลกลางของโซมาเลีย อีกทั้งสร้างความชอบธรรมให้แก่การปฏิบัติการแบบก่อการร้ายของพวกสุดโต่ง และไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม การโจมตีในดินแดนโซมาเลียย่อมจะต้องขอมติจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นด้วย

รายงานข่าวด้านอื่นๆ อ้างว่า พวกประเทศตลอดจนเจ้าของเรือที่ตกเป็นเหยื่อสลัด ยังต่างถูกมัดมือมัดเท้าจากระเบียบกฎเกณฑ์การเดินเรือทะเลที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว

หนทางออกซึ่งกองทัพอเมริกันถูกกล่าวหาว่ากำลังแนะนำพวกเรือพาณิชย์ทั้งหลาย ก็คือ การว่าจ้างกองกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัยภาคเอกชน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้กลายเป็นโอกาสทำเงินทำทองสำหรับพวกรับเหมาทำงานทางทหารในภาคเอกชนอย่างน้อยก็รายหนึ่ง ตามรายงานของนิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า แบล็กวอเตอร์ เวิลด์ไวด์ บริษัทรับเหมาทำงานทางทหารในภาคเอกชนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี โดยตั้งสำนักงานอยู่ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ของสหรัฐฯนั้น เวลานี้ “กำลังอยู่ระหว่างขั้นสุดท้ายของแผนการจัดส่ง “เอ็มวี แมคอาร์เธอร์” เรือเดินสมุทรขนาด 183 ฟุต พร้อมลูกเรือ 14 คนและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ไปยังอ่าวเอเดน เพื่อให้บริการคุ้มกันแก่เรือต่างๆ ที่ต้องการการรักษาความปลอดภัย”

“ในแต่ละปีมีสินค้ามูลค่าเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ส่งผ่านเข้าออกอ่าวเอเดน” บิลล์ แมตธิวส์ รองประธานบริหารของแบล็กวอเตอร์ พูดไว้ในเอกสารข่าวสำหรับสื่อมวลชนที่นำออกเผยแพร่ในเดือนนี้ “เราได้รับการติดต่อจากพวกเจ้าของเรือซึ่งบอกว่า พวกเขาต้องการความช่วยเหลือของเราเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเหล่านี้จะสามารถไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย เรือแมคอาร์เธอร์สามารถช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้”

ตามรายงานข่าวของฟอร์บส์ บริษัทแบล็กวอเตอร์ “กำลังอยู่ในช่วงต้นๆ ของการเตรียมการวางแผน เพื่อสร้างกองเรือขนาดเล็กที่ประกอบด้วยเรือต่อสู้โจรสลัดสองถึงสามลำ แต่ละลำสามารถบรรทุกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธพรักพร้อมหลายๆ สิบคน ถึงแม้เรือเดินทะเลของแบล็กวอเตอร์เหล่านี้จะไม่ติดอาวุธ แต่พวกลูกเรือจะมีอาวุธ”

หากไม่มีหนทางออกที่เป็นจริงเป็นจังได้ในเร็ววัน สำหรับแก้ไขปัญหาภัยโจรสลัดทั่วโลกที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าทางออกนั้นจะเป็นกองกำลังนักรบรับจ้างภาคเอกชน หรือกองนาวีขนาดยักษ์จากหลายๆ ชาติก็ตามที อ่าวเอเดนซึ่งแต่ละปีมีเรือพาณิชย์ 20,000 ลำผ่านเข้าออก ในฐานะที่เป็นเส้นทางลัดที่สุดของการติดต่อระหว่างเอเชียกับยุโรปและทวีปอเมริกา ก็จะยังคงตกอยู่ในภยันตรายเสมือนหนึ่งเป็นดินแดนเปลี่ยวร้างไร้ขื่อแป

(เรียบเรียงโดยอาศัยรายงานข่าวของ สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส ด้วย)

  • ชีวิตแสนสำราญของฝูงโจรสลัดโซมาเลีย (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น