“วีระ มุสิกพงศ์” ยังไม่หลาบจำ เตรียมเข้าคุกฐานหมิ่นเบื้องสูงอีกรอบ ตำรวจคาดไม่เกิน 1 เดือน ฟ้องศาลได้ ขณะที่อดีต ปี 2531 มีคำพิพากษา ถูกบันทึกการกระทำความผิดอย่างชัดเจน แต่เจ้าตัวไม่เคยสำนึกในบาปที่ได้กระทำเอาไว้ กลับทำผิดซ้ำ
จากกรณี พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับ นายวีระ มุสิกพงศ์ ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา และ พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐ์ผล ผกก.สน.ชนะสงคราม กล่าวว่าหลังจากศาลอนุมัติออกหมายจับแล้ว ในวันรุ่งขึ้น (16 ส.ค.) นายวีระได้เดินทางเข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหา โดยไม่ได้ให้การใดๆ จากนั้นนายวีระก็ได้ใช้ตำแหน่งของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน ยื่นขอประกันตัวไปในวงเงิน 200,000 บาท โดยจะนัดมาให้การเพิ่มเติมอีกครั้งสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เชื่อว่าคดีนี้ไม่น่าจะมีอะไรยุ่งยาก โดยพนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลได้ไม่เกิน 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม สำหรับนายวีระถือว่ามีประวัติการติดคุกในความผิดกรณีเดียวกันมาก่อน โดยเมื่อปี 2531 นายวีระเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกในฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเว็บไซต์ของศาลฎีกาได้ลงรายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกา (ที่ 2354/2531) ระหว่างพนักงานอัยการ จังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์ กับนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยซึ่งให้จำคุกนายวีระเมื่อ 20 ปีก่อนฐานกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือหมิ่นประบรมเดชานุภาพ
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้และในปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นรัชทายาท อันประกอบขึ้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน คือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน
ตอนหนึ่งในการโฆษณานี้ จำเลยได้กล่าวว่า “ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิด ทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้ เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ ก็มันเลือกเกิดไม่ได้” อันเป็นการพูดโฆษณาเปรียบเทียบละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท
ทั้งนี้ เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นของและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี สำหรับคนที่จะเกิดในใจกลางพระบรมมหาราชวัง และเป็นพระองค์เจ้านั้นจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ และเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นรัชทายาทเท่านั้น
ที่จำเลยกล่าวถึงเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้า มีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท ดังกล่าวแล้วข้างต้น และเป็นการกล่าวต่อนายศิว์ณัฏฐพงศ์ วัฒนาชีพ และประชาชนอีกหลายคนซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า ทุกพระองค์มีแต่ความสุขสบาย ไม่ทรงทำอะไร ตอนเที่ยงก็เข้าห้องเย็น (หมายถึงห้องที่มีเครื่องทำความเย็น) เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ไม่ต้องออกไปยืนกลางแดด ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาทเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ
เหตุเกิดที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟลำปลายมาศ ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศจังหวัดบุรีรัมย์
ต่อมาจำเลยได้กล่าาวในทำนองเดียวกัน เหตุเกิดที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 มาตรา 6 นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26228/2528 ของศาลแขวงพระนครเหนือและคดีอาญาหมายเลขดำที่ 22128/2528 ของศาลแขวงพระนครใต้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่เป็นการใส่ความและไม่อาจทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี คำขอให้นับโทษต่อให้ยก
จำเลยฎีกา
ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นรัชกาลที่ 9ในราชวงศ์จักรี มีพระบรมราชินีทรงพระนามว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ส่วนองค์รัชทายาทคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ขณะเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยได้กล่าวปราศรัยในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่หน้าสถานีรถไฟลำปลายมาศ ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพูดทางเครื่องขยายเสียงมีประชาชนมาฟังประมาณ 4-5 พันคน ในคำปราศรัยของจำเลยตอนหนึ่ง จำเลยได้กล่าวว่า ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไมถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมงที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ก็มันเลือกเกิดไม่ได้ เลือกเกิดในท้องคนจนก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดในท้องคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เลือกเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ไม่ได้
ในวันเดียวกัน หลังจากที่จำเลยได้ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศแล้ว จำเลยได้ไปกล่าวปราศรัยที่หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก ต่อหน้าประชาชนที่มาฟังประมาณ 1 หมื่นคน มีข้อความตอนหนึ่งว่า ถ้าคนเราเลือกที่เกิดได้ ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ
คำกล่าวปราศรัยของจำเลยทั้งสองแห่งเป็นการกล่าวตำหนิล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทั้งนี้ คำที่จำเลยกล่าวถึงพระบรมมหาราชวัง มีความหมายถึงพระบรมมหาราชวังใหญ่อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นที่ประสูติและที่สวรรคต
ด้วยพระบรมมหาราชวังนี้ นอกจากจะหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์แล้วย่อมหมายถึงพระราชินีและองค์รัชทายาทด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท แม้จะประสูติที่ใดก็ให้ถือว่า ประสูติในพระบรมมหาราชวังส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ แม้จะไม่ได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังที่ประทับนั้นก็ให้ถือว่า เป็นพระบรมมหาราชวังด้วย
ฉะนั้น เมื่อประชาชนได้ยินคำพูดถึงพระบรมมหาราชวังก็จะนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะประสูติทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า
ดังนั้น พระองค์เจ้าที่เกิดในพระบรมมหาราชวังจึงหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศว่า ไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็นเสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง มีความหมายว่า ทั้งสามพระองค์มีความเป็นอยู่สุขสบาย การงานไม่ต้องทำ พักผ่อนกันตลอดไป
ส่วนข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอสตึกว่า ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มทีแล้วนะ
ข้อความนี้หมายความว่า ทั้งสามพระองค์อยู่อย่างสะดวกสบาย ดื่มสุราเพื่อความสำราญผิดกับประชาชนธรรมดาที่ต้องทนกรำแดดกรำฝน ไม่มีเวลาพักผ่อน
คำว่า บรรทม น้ำจัณฑ์ และพระชงฆ์เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมเหสี หรือองค์รัชทายาทซึ่งความจริงแล้วทั้งสามพระองค์มิได้เป็นอย่างที่จำเลยว่าพระองค์มีพระราชภารกิจอยู่มากมายและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและความมั่นคง ความอยู่สุขของประชาราษฎร์พระราชภารกิจประจำวันของพระองค์ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่จำเลยว่า
การกล่าวเช่นนี้ทำให้พระองค์ได้รับความเสียหาย เป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนขาดความเคารพสักการะถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งตามปกติพระองค์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนผู้ใดจะล่วงเกินมิได้การที่จำเลยกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวอย่างมีเจตนาโดยเมื่อจำเลยพูดในตอนบ่าย ก็ยกตัวอย่างในช่วงตอนบ่าย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ในตอนบ่าย
ครั้นถึงตอนเย็นจำเลยก็ยกตัวอย่างเกี่ยวกับพฤติการณ์ตอนเย็นซึ่งเรื่องนี้หากจำเลยไม่ตั้งใจ จำเลยก็จะพูดเพียงครั้งเดียวแล้วไม่พูดอีก
แต่จำเลยพยายามที่จะดัดแปลงข้อความในการพูดทั้งสองครั้งให้เข้ากับบรรยากาศในเวลาที่กำลังพูด
ต่อมาประชาชนบางกลุ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะเดินขบวนประท้วงการกระทำของจำเลยซึ่งจะเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง สมาชิกวุฒิสภา และนายทหารราชองค์รักษ์ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นญัตติไปยังประธานรัฐสภาให้รัฐบาลแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ได้ดำเนินการไปอย่างไร เพื่อประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริง
จำเลยได้ติดต่อขอทำความเข้าใจกับผู้ที่ยื่นญัตติโดยจำเลยยอมรับว่า ได้มีการกล่าวข้อความดังกล่าวจริง และในที่สุดจำเลยได้ทำพิธีขอขมา โดยกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภาต่อหน้าสื่อมวลชนและสมาชิกวุฒิสภาที่ยื่นญัตติ
การที่จำเลยได้กระทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวแสดงว่า จำเลยทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพโดยความสมัครใจต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ศึกษาอยู่นั้นจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ และเป็นหัวหน้าทีมโต้วาทีของมหาวิทยาลัยหลายปีติดต่อกัน
หลังจากจบการศึกษาแล้ว จำเลยประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ไทยรัฐ มติชนและชาวไทย โดยเริ่มงานเป็นผู้สื่อข่าวการเมือง และเขียนบทความการเมืองประจำ
เมื่อปลายปี พ.ศ.2517 จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในกรุงเทพมหานครและได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ในเขตกรุงเทพมหานคร2 ครั้ง และเป็นส.ส.จังหวัดพัทลุงอีก 3 ครั้งติดต่อกัน
ระหว่างเป็น ส.ส.ในปี พ.ศ.2519 จำเลยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2524 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ.2525 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ตำแหน่งในพรรคการเมืองจำเลยเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาได้เป็นกรรมการบริหารในตำแหน่งโฆษกพรรคและครั้งหลังสุดเป็นเลขาธิการพรรค
ในการหาเสียงเลือกตั้งส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่มีบทบาทในการหาเสียงคือหัวหน้าพรรคนายชวน หลีกภัย นายมารุต บุนนาค และตัวจำเลย เกี่ยวกับคดีนี้เนื่องจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 จำเลยในฐานะเลขาธิการพรรคต้องเดินทางไปช่วยหาเสียงให้แก่ลูกพรรคทั่วประเทศ
ในจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ส่งสมาชิกลงสมัครในเขตเลือกตั้งทุกเขตเขต 1 มีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ระหว่างหาเสียงนั้น จำเลยได้รับรายงานจากนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมาก ทำให้คู่แข่งขันหวั่นวิตกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้ง คู่แข่งขันจึงระดมกันโจมตีนายพรเทพโดยการปราศรัยและออกใบปลิวแจกจ่ายแก่ประชาชนอ้างว่า ชาวบุรีรัมย์ควรเลือกคนบุรีรัมย์เป็นผู้แทนราษฎร นายพรเทพ เป็นคนเกิดที่กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกเศรษฐีจึงไม่ควรเลือกนายพรเทพ เป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดบุรีรัมย์
ข้อกล่าวหานี้ทำให้นายพรเทพวิตกว่าอาจจะทำให้คะแนนเสียงลดลงหรือทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้งจำเลยจึงรับที่จะแก้ไขให้
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 จำเลยได้ไปช่วยหาเสียงให้แก่นายพรเทพ และนายการุณ ใสงาม เฉพาะในเขต 1 จำเลยไปปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก
ส่วนเขตของนายการุณ ใสงาม จำเลยปราศรัยที่หลังสถานีรถไฟอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ข้อความที่ปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกจำเลยปราศรัยถึงเรื่องการเมืองและปัญหาสังคมและอธิบายถึงหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่แท้จริงให้ประชาชนได้เข้าใจ
เมื่ออธิบายถึงหน้าที่ของผู้แทนราษฎรแล้ว จำเลยได้อธิบายถึงคุณสมบัติของผู้สมัครของพรรคว่านายพรเทพ มีวุฒิทางการศึกษาสูงจบจากต่างประเทศมีฐานะส่วนตัวดี อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือประชาชนได้และได้ขอร้องประชาชนว่าอย่ าถือเอาที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเราไม่สามารถเลือกเกิดเองได้
โดยจำเลยกล่าวว่า แม้ตัวจำเลยเองเมื่อปี พ.ศ.2524 ไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดพัทลุง ก็ถูกคู่แข่งขันโจมตีในลักษณะนี้มาแล้ว โดยถูกโจมตีว่าเป็นคนเกิดที่จังหวัดสงขลาแล้วมาลงสมัครผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพัทลุง ขอให้ประชาชนชาวพัทลุงต่อต้านอย่าเลือกจำเลยเป็นผู้แทนราษฎร
ในครั้งนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดพัทลุงคนหนึ่งคือนายพร้อม บุญฤทธิ์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวปราศรัยแก้แทนจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัคร
จำเลยเล่าให้ประชาชนฟังเหมือนกับที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึก ข้อความที่จำเลยกล่าวที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกนั้นจำเลยพูดโดยมีเจตนาจะแก้ข้อที่ว่าคนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถที่จะเลือกทำความดีได้ และการเลือกผู้แทนราษฎรให้ดูว่า เขามีความสามารถทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ไม่ถือเอาที่เกิดเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนการที่จำเลยยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพูดเป็นเรื่องอุปมาอุปไมย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจชัดว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้จริง ๆ จะเลือกเกิดเป็นคนจนก็ไม่ได้จะเลือกเกิดเป็นคนรวยก็ไม่ได้ จะเลือกเกิดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้จะเลือกเกิดที่บุรีรัมย์ก็ไม่ได้ จำเลยไม่ได้มุ่งที่จะเปรียบเทียบหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาทแต่อย่างใด
คำว่าถ้าเลือกเกิดได้นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติตัวเองขึ้น และคำว่าพระองค์เจ้าวีระนั้นจำเลยหมายถึงตัวจำเลยเอง เป็นเรื่องที่จำเลยสมมุติขึ้น และที่ว่าเป็นพระองค์เจ้าวีระแล้วจำเลยจะบรรทมตื่นสายนั้น จำเลยหมายถึงตัวจำเลย ไม่ได้เปรียบเทียบกับพระองค์อื่นใด ที่โจทก์อ้างว่าพระบรมมหาราชวังหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินีและองค์รัชทายาทนั้น เป็นการตีความที่บิดเบือน เพราะเป็นการเอาวัตถุมาหมายถึงบุคคลซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
หนังสือพระราชวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) ตามเอกสารหมาย ป.จ.33 ให้ความหมายคำว่า พระบรมมหาราชวังคือศูนย์กลางของการปกครอง และที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คนทั่วไปมีความเข้าใจว่า พระบรมมหาราชวังหมายถึงบริเวณพระราชวังซึ่งอยู่ที่วัดพระแก้ว และเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ
ความจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดาทุกพระองค์ไม่ได้ประทับที่พระบรมมหาราชวัง หากแต่ประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มิได้ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ส่วนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประสูติที่พระที่นั่งอัมพรสถาน
และคำว่า พระองค์เจ้า ที่โจทก์กล่าวหาว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ มีน้อยคนที่จะทราบว่า ความจริงแล้วพระองค์ทรงพระอิสริยยศเป็นอะไร
ปรากฏว่าเดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีฐานันดรเป็นหม่อมเจ้า จึงเข้าใจตลอดมาว่า พระอนุชาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นหม่อมเจ้าด้วยหาใช่พระองค์เจ้าไม่
ฐานันดรเดิมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นหม่อมราชวงศ์ พระองค์ไม่เคยทรงฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อตอนประสูติก็ทรงฐานันดรเป็นเจ้าฟ้า ไม่เคยทรงมีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้า
เมื่อเอ่ยคำว่าพระองค์เจ้าลอยๆ ไม่ระบุชื่อ จะไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด เมื่อระบุชื่อลงไปด้วยจึงจะทราบว่าหมายถึงใคร
ที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไปประทับที่ไหน ก็ให้ถือว่าที่นั่นเป็นพระบรมมหาราชวังนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการบัญญัติถ้อยคำขึ้นเองเพื่อลงโทษจำเลย
คำราชาศัพท์ที่ว่าบรรทม ตื่นสาย เสวยน้ำจัณฑ์ เมื่อยพระชงฆ์นั้น เป็นราชาศัพท์ที่คนทั่วไปรู้ว่าใช้ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป
สำหรับความรู้สึกของประชาชนต่อการที่จำเลยกล่าวปราศรัยที่อำเภอลำปลายมาศและอำเภอสตึกทั้งหมดนั้นประชาชนรู้สึกเฮฮาสนุกสนาน ไม่มีปฏิกิริยาประท้วงหรือลุกขึ้นเดินหนีแต่ประการใด
จำเลยกล่าวปราศรัยให้นายการุณ ใสงาม ที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จำเลยก็ไม่ได้กล่าวข้อความที่โจทก์ฟ้องเพราะในเขตเลือกตั้งนั้นไม่มีการกล่าวโจมตีนายการุณ ใสงาม ในประเด็นเดียวกันกับนายพรเทพ
หลังจากจำเลยกล่าวคำปราศรัยแล้วทั้งสองแห่ง ไม่มีประชาชนไปแจ้งความเรื่องที่จำเลยกล่าวปราศรัย
ต่อมา นายเชิดชัย เพชรพันธ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรคสหประชาธิปไตย เขตกรุงเทพมหานคร ได้ไปแจ้งความนายศิว์ณัฎฐพงศ์พยานโจทก์เป็นผู้แทนของพรรคสหประชาธิปไตยและนายจรูญ นิ่มนวล เป็นหัวคะแนนของพรรคสหประชาธิปไตยซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์
การที่นายเชิดชัย แจ้งความก็เพื่อหวังผลทางการเมืองและเพื่อทำลายคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ หลังการเลือกตั้งจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาได้มีการปลุกระดมกลุ่มมวลชนต่างๆ โดยเริ่มจากพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายทหารทำการปลุกระดมในกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ท.ส.ป.ช. และกลุ่มกระทิงแดงเพื่อเร่งรัดให้ดำเนินคดีแก่จำเลย แรกเริ่มเกิดเรื่องนี้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องไปให้กรมตำรวจพิจารณาก่อนแล้ว
แต่พนักงานสอบสวนเบื้องต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่าไม่มีความผิด ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงส่งเรื่องให้กรมตำรวจ
ทางกรมตำรวจได้ให้ พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานเรื่องกฎหมายในสถานการณ์เลือกตั้งพิจารณา
พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ ได้ประชุมพิจารณาและทำความเห็นไปยังอธิบดีกรมตำรวจว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา 112 จึงให้ระงับเรื่อง
แต่ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนเริ่มลุกฮือเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่า จะเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ในที่สุดกรมตำรวจได้สั่งการให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยให้ถือว่า คดีพอมีมูลที่จะฟ้องร้องได้ ทั้งนี้จริง ๆ แล้วเพื่อแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองเมื่อมีความกดดันดังกล่าวจำเลยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการลาออกโดยไม่มีใครบังคับ เพื่อเจตนาที่จะแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองและปกป้องรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย
ที่จำเลยกล่าวขอขมาในห้องรับรองของรัฐสภาต่อพระบรมสาทิสลักษณ์นั้นจำเลยไม่ได้ยอมรับผิด
เหตุที่จำเลยไปขอขมาเนื่องจากพลโทวัฒนชัย วุฒิศิริ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยเพื่อแก้ปัญหา โดยให้จำเลยไปพบพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้น
จำเลยก็ได้ไปพบตามที่นัดหมาย และได้พูดคุยทำความเข้าใจจนชัดแจ้งว่า จำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ได้มีเจตนาอย่างที่ฝ่ายค้านหรือทางทหารเข้าใจ พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ก็เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างและจะเลิกรากันไป
แต่มีปัญหาว่าญัตติที่พลโทพิจิตรกุลละวณิชย์ ยื่นไว้ต่อวุฒิสภากล่าวหาว่าจำเลยละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าจะถอนญัตติจะอธิบายแก่ประชาชนอย่างไร เพราะประชาชนอาจมองไปในแง่ไม่ดี
จำเลยบอกว่าจะให้ทำอย่างไรก็ยินดี พลโทพิจิตรจึงเชิญสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเจ้าของญัตติมาพบพร้อมกันที่สภา ขอให้จำเลยกล่าวคำขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์
จำเลยจึงกล่าวขอขมาเพื่อให้ผู้ยื่นญัตติทุกคนสบายใจ และเพื่อให้กลุ่มมวลชนที่กำลังลุกฮือสลายตัวไป ทั้งนี้โดยการแสดงออกถึงความจริงใจของจำเลยในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนคำกล่าวของจำเลยตอนหนึ่งที่ว่า จะผิดหรือไม่ผิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในประเด็นข้อกฎหมายจะไม่พูดถึง เพราะจำเลยเห็นว่าเป็นเรื่องของศาลและถ้าเห็นว่า เป็นเรื่องระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทจำเลยก็พร้อมที่จะขอพระราชทานอภัย
สำหรับคำกล่าวขอพระราชทานอภัยนั้น กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดพิมพ์แล้วใส่ซองมาให้จำเลยกล่าว ไม่ใช่เป็นการรับสารภาพ เพราะจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล
จำเลยมีสาเหตุขัดแย้งกับพยานโจทก์ คือ นายสิงห์โต จ่างตระกูลนายสรวง อักษรานุเคราะห์ นายชวลิต รุ่งแสง พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก
การที่นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ อธิบดีกรมอัยการ มีคำสั่งให้พนักงานอัยการพิเศษ 2 นายเป็นผู้ดำเนินคดีนี้เฉพาะเรื่อง ก็เพราะมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยเนื่องมาจากเรื่องคดีฆ่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงจึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำดังกล่าวของจำเลยจะไม่เกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวนั้นก็ตาม ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ จะถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเองมิได้ ต้องพิจารณาจากข้อความที่จำเลยกล่าวทั้งหมด
การที่จำเลยกล่าวข้อความไปอย่างไร แล้วกลับมาแก้ว่า ไม่มีเจตนาตามที่กล่าว ย่อมยากที่จะรับฟัง
การที่จำเลยเป็นผู้มีคุณความดีมาก่อน หลังจากเกิดเหตุแล้วยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลของพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปรานีลดโทษให้จำเลย
องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย วีระชัย สูตรสุวรรณ - สุพจน์ นาถะพินธุ - วิศิษฎ์ ลิมานนท์ ศักดิ์ สนองชาติ