เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ต้องขอกราบเรียนกับท่านผู้อ่านว่า มีความอาลัยเป็นล้นพ้น เช่นเดียวกับท่านผู้อ่าน และคนไทยที่ร่ำไห้ทั่วแผ่นดิน ในการเสด็จสู่สวรรคาลัยของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งผู้ใหญ่ที่บ้านของผม เมื่อกล่าวถึงสมเด็จกรมหลวงฯ จะใช้คำแทนพระองค์จนติดปากว่า
“สมเด็จหญิง”
ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ของพระมหากษัตริย์ไทย ถึงสองพระองค์!
ผมไม่ทราบว่า เหตุใดผู้ใหญ่จึงใช้คำแทนพระองค์ว่า “สมเด็จหญิง” แต่อีกหลายครอบครัวที่รู้จัก ก็ใช้คำเดียวกัน อย่างคุณถ่ายเถา สุจริตกุล แห่งมูลนิธิมหาอุปรากร เป็นต้น
(ต่อไปนี้ จะใช้คำว่า “สมเด็จหญิง” แทนพระองค์ท่าน)
ขอกราบเรียน ท่านผู้อ่านว่า
สำหรับผู้เขียนนั้น มีโอกาสดีที่ได้เรียนรู้ เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ค่อนข้างจะมากกว่าเด็กทั่วๆไป รุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะเป็นหลานคนเดียวที่อยู่กับคุณตาและคุณยายตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องเกี่ยวกับในรั้วในวัง จากทั้งสองท่าน เป็นเครื่องกระตุ้นให้ตัวเอง หมั่นศึกษาเพิ่มเติมให้กว้างขวางออกไปอีก
จึงขอเล่าในส่วนที่ตนเอง ได้รับรู้มาบ้าง ดังต่อไปนี้
คุณตาของผมเป็นนักศึกษา และนักกีฬาที่เก่งฉกาจ ท่านเป็นหัวหน้าทีมฟุตบอล ที่นำทีมโรงเรียนสวนกุหลาบ ครองถ้วยฟุตบอลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ โดยชนะทีมอัสสัมชัญ ๒-๑ ได้รับพระราชทานรางวัล จากล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ที่สโมสรสามัคยาจารย์เป็นเหรียญเงิน รูปคนเล่นฟุตบอล สลักชื่อสำหรับติดหน้าอก โดยจารึกว่า
“เล่นเป็นใจนักเลง”
(บทความ ทีมฟุตบอลของสวนกุหลาบ ตีพิมพ์ใน สวนกุหลาบอนุสรณ์ ๒๔๙๙*)
สำหรับคุณยาย เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังแล้วว่า เป็นครูที่มีชื่อเสียงของโรงเรียนราชินี มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเจ้านายหลายพระองค์ เป็นครูสตรีคู่แรกของประเทศ ที่ได้วุฒิ ปม. (ประโยคมัธยม) กับ ม.จ.หญิง พิจิตร จิราภา เทวกุล ก่อนลาออกมาสมรสกับคุณตา
บ้านของคุณตาอยู่ที่ถนนพาหุรัด ใกล้บ้านหม้อ ด้านหน้าเป็นโรงรับจำนำของตระกูล ยี่ห้อ “ฮั่วเส็ง” ซึ่งเป็นโรงรับจำนำตามพ.ร.บ.โรงรับจำนำ โรงแรกของประเทศไทย ด้านหลังของบ้านยาวจรดถนนทิพวารี คนกรุงเทพในวงสังคมรุ่นเก่า ส่วนมากจะรู้จักบ้านผม
พอผมจำความได้ ก็เห็นพระฉายาลักษณ์ของพระบรมราชนก (ซึ่งครอบครัวผมเรียกขานพระองค์ จนติดปากว่า “ทูลหม่อมแดง”) เป็นพระฉายาลักษณ์ทรงฉลองพระองค์ชุดนายทหารเรือ ขนาดสูงประมาณเกือบ ๑ เมตร ตั้งตระหง่านที่ห้องรับแขกของบ้าน
ต่อมาได้เรียนรู้ว่า คุณตาของผมเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยดาร์ธมัธ (Dartmouth College) เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League (มหาวิทยาลัยนี้ ตั้งขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เพียง ๒ ปี) และท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าศึกษา และสำเร็จจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งผู้ชายในตระกูลมหาเศรษฐี Rockefeller เกือบทุกคนจะเรียนหนังสือที่สถาบันแห่งนี้ (แต่เดิมเป็นมหาวิทยาลัย สำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ)
คุณตาเป็นคนไทยคนแรก ที่เล่นในทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย และติดตามผลการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ มาจนตลอดชีวิตของท่าน
เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาจากดาร์มัธ ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) เสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ ที่เมืองบอสตัน
ภายหลังจากที่คุณตาสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทำหน้าที่เลขานุการตรีของสถานทูตไทยด้วย จึงได้มีโอกาสถวายงานรับใช้สมเด็จพระราชบิดา โดยมีคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ บุตรของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และนักเรียนไทยอีกท่านหนึ่ง ที่คอยถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เคยเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวง
นครบาล ได้รับแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรี คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ครอบครัวของผมกับคุณหลวงสุขุมฯ จึงสนิทสนมกันมายาวนาน โดยแม่ของผมเป็นเพื่อนกับลูกสาวของท่าน คือคุณสุมน (สุขุม) กรรณสูตร ซึ่งต่อมาได้สมรสกับคุณเฑียร กรรณสูตร บุตรีของท่านกับน้องสาวของผม คบหาและเป็นเพื่อนรักกันมาตราบจนทุกวันนี้
เมื่อสมเด็จพระราชบิดา เสด็จพระราชดำเนินจากสหรัฐ ไปประทับที่กรุงปารีส คุณตาของผม ได้โดยเสด็จไปถวายการรับใช้ต่อเป็นเวลานานพอสมควร ต่อมาคุณตาได้กลับเมืองไทย รับราชการในกระทรวงเศรษฐการ (กระทรวงพาณิชย์ปัจจุบัน) ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นข้าหลวงใหญ่สภาเผยแผ่พาณิชย์ (เทียบอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ)
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ คุณตาของผมต้องออกจากตำแหน่งทางราชการ เพราะพวกที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ ด้วยการยึดอำนาจจากพระเจ้าแผ่นดิน มองว่าท่าน
...ฝักใฝ่และเป็นฝ่าย “เจ้า”
เมื่อออกจากราชการ คุณตาได้ตั้งพรรคการเมือง เป็นพรรคที่ ๒ ของประเทศ ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชื่อพรรค “คณะชาติ” ร่วมกับคุณหลวงวิจิตรวาทการ คุณหลุย คีรีวัต เป็นต้น (ดูพรรคการเมืองของไทย ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 phetchaburi.ect.go.th/71.htm)
แค่ชื่อก็รู้ว่า อยู่คนละฝั่งกับคณะราษฎร์
เมื่อเกิดกบฏบวรเดช คุณตาและคุณยายถูกจับกุมคุมขังข้อหาเป็นกบฏทั้งคู่ แต่ด้วยความรอบรู้ทางกฎหมายของคุณตาแท้ๆทีเดียว ที่ทำให้ตัวท่านและคุณยายพ้นคดีออกมาได้ จะได้เล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป
ชีวิตคนนั้นไม่แน่นอน คุณตาท่านได้กลับไปประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่กลับได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี รัฐบาลได้ตั้งให้ท่านเป็นประธานรัฐวิสาหกิจ อย่างการท่าเรือ ที่ปรึกษาธนาคารออมสิน กรรมการการรถไฟ ภาคเอกชนก็ตั้งให้ท่านเป็นประธานธนาคารศรีนคร ตั้งแต่วันเปิดทำการ รวมทั้งท่านยังเป็นอาจารย์บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ การเงินและการธนาคาร ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีตำราที่ท่านเขียนเป็นหลักฐาน ให้กับทางมหาวิทยาลัยด้วย
ในงานพระราชทานเพลิงศพของคุณตา “สมเด็จหญิง” ของครอบครัวเรา ทรงพระกรุณาฯเสด็จเป็นองค์ประธาน ในงานพระราชทานเพลิงศพอีกด้วย
เมื่อผมยังเป็นเด็ก เรียนชั้นประถมอยู่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด จำได้ดีว่า เมื่อนั่งรถไปกับคุณยาย หลายครั้งที่ท่านให้คนขับพาไปวังเจ้านาย วังที่ท่านไปเสมอมีอยู่สามวัง คือ
วังศุโขทัย วังสระประทุม และวังวาริชเวสน์
เวลารถไปจอดที่วัง คุณยายจะสั่งให้อยู่เงียบๆ อย่าซน ท่านบอกว่า “ยายจะไปเฝ้าเจ้านาย” ซึ่งแต่ละครั้งนั้น กินเวลานานนับชั่วโมง คนเขียนซึ่งยังเป็นเด็กมากนั่งคอยอยู่ในรถกับคนขับ แต่ไม่เบื่อนักเพราะอ่านหนังสือคอยท่าน หรือไม่ก็ไปเดินเล่นในวัง แต่ไม่กล้าเดินไปไกลจากที่จอดรถมากนัก
ผมทราบในเวลาต่อมา ว่า
วังสระประทุม ท่านเจ้าของวังในตอนนั้นคือ สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า คุณป้าของผม ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ “สมเด็จหญิง” และพระอนุชาสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินกลับเมืองไทย บรรดาลูกหลานข้าราชบริพารเก่า ของสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า จะติดตามบิดามารดาไปเฝ้าที่วังสระปทุม และได้รับพระกรุณาจากสมเด็จฯ ประทานเลี้ยงเครื่องว่าง และน้ำชาเสมอ คุณป้าของผมซึ่งคุณยายพาไปร่วมงานด้วย จดจำรายละเอียดได้แม่นยำ เพราะความจำท่านยังดีมาก
วังวาริชเวสน์อยู่ที่ถนนสุโขทัย ใกล้อำเภอดุสิต ท่านเจ้าของวังคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาในรัชกาล๕ ทรงมีพระชนมายุยืนยาวถึง ๙๑ พรรษา ทรงประทานนามให้น้องชายของผม คนที่เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจฯ ชื่อเขาแปลว่าเป็น “ผู้มีความว่องไว” และเจ้าตัวก็มีความแคล่วคล่อง สมกับชื่อที่ทรงตั้งให้
เวลาลงนวมชกกับใคร ก็ต่อยโดนเขายากมาก เล่นยูโดก็มีความรวดเร็วในการชิงจังหวะเข้าทำ น้องชายได้ ‘เข็มขัดดำ’ (Black Belt) หรือที่เรียกกันว่า “สายดำ” ตั้งแต่เป็นนักเรียน รวมทั้งเป็นฟลายฮาล์ฟ ทีมชาติรักบี้ด้วย
วังศุโขทัยในตอนนั้น เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อน้องสาวของผม และตัวคนเขียนเองก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสังข์ในวันสมรส ณ วังแห่งนี้
ภาพและความทรงจำ เกี่ยวกับวังต่างๆที่เล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง ยังคงแจ่มชัดมาจนถึงวันนี้ และการที่ได้ติดตามผู้ใหญ่ทำให้ เจ้านายของคุณตาและคุณยาย กลายเป็น “เจ้านาย” ของผู้เขียนไปด้วย หากมีโอกาส จะได้เล่าเกร็ดต่างๆที่ตนเองได้รับรู้ ให้ท่านผู้อ่านทราบต่อๆไป
ตอนยังเป็นเด็ก ผมได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ “สมเด็จหญิง” จำได้ดีว่า พระองค์มีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก มีรอยแย้มพระสรวลที่เต็มไปด้วยพระเมตตา
ต่อเมื่อได้เป็นนายตำรวจแล้ว ตอนกลับจากการศึกษาจากต่างประเทศ ได้โยกย้ายไปรับราชการที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นโชคดีอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด อย่างที่ยากที่นายตำรวจคนอื่นจะมีโอกาสเช่นนี้ จึงต้องขอถ่ายทอด ให้ท่านผู้อ่านได้ฟังกัน
วันหนึ่ง ขณะที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครราชสีมา ทำหน้าที่ผู้ว่าคดีศาลแขวง ผู้บังคับบัญชาเรียกไปพบ และบอกว่า “สมเด็จหญิง” จะเสด็จอำเภอพิมาย โดยประทับเฮลิคอปเตอร์ มาลงที่ใกล้ตัวอำเภอ ทางตำรวจเราจะต้องจัดรถพระที่นั่งถวาย เพื่อนำเสด็จพระราชดำเนิน จากสถานที่ ฮ.ลงจอด ไปยังไทรงาม ด้วยมีพระประสงค์ที่จะทอดพระเนตร ผู้บังคับบัญชาบอกว่า
ได้คัดเลือกให้ผม ทำหน้าที่ ‘พลขับ’ เพื่อขับรถถวาย!
จำได้ว่า ตัวเองนั้นมีความตื่นเต้นเป็นกำลัง แต่ไม่กล้าถามว่า ทำไมท่านจึงเลือกผม? แต่ก็ได้ทราบในเวลาต่อมาว่า ระหว่างที่ประทับในรถยนต์ หากพระองค์รับสั่งถามเรื่องใดๆก็ตาม ผู้บังคับบัญชาท่านเชื่อว่า ผมคงจะทูลตอบด้วยคำราชาศัพท์ ได้โดยไม่บกพร่อง
ปัญหาอยู่ตรงที่ กองกำกับการไม่มีรถยนต์ดีๆ ที่จะจัดถวายเป็นรถพระประเทียบ แต่ทางผู้บังคับบัญชาแก้ปัญหา ได้ติดต่อขอยืมรถยุโรปจากคุณทรงชัย วงศ์เบญจรัตน์ เจ้าของรถประจำทาง “นครชัย” (ยังประกอบกิจการ จนปัจจุบัน) มารับเสด็จ
ก่อนถึงเวลาที่จะไปรับเสด็จ ผมตรวจดูความเรียบร้อยของรถ ทดลองออกรถช้าๆ แล้วขับวนเดินหน้าถอยหลังจนแน่ใจ จึงลงมือเช็ดถูซ้ำด้วยตนเองอีกครั้ง ก้มลงดูใต้เบาะ ใต้พรม ไม่ยอมให้มีฝุ่นหลงเหลือเป็นอันขาด ใช้เวลาเช็ด ขัดถู รถเป็นชั่วโมง ครั้นใกล้เวลาเสด็จก็ขับรถไปยังจุด ฮ.จอด ซึ่งมีข้าราชการมาคอยต้อนรับ เป็นจำนวนไม่น้อย
เมื่อ ฮ.พระที่นั่งลงจอดเรียบร้อย สมเด็จหญิงฯเสด็จพระดำเนินมาขึ้นรถ ซึ่งผมติดเครื่องยนต์และเปิดเครื่องปรับอากาศไว้เรียบร้อย
ผมถวายความเคารพแล้ว ได้เปิดประตูถวาย เมื่อเสด็จขึ้นรถยนต์เรียบร้อย ถวายความเคารพอีกครั้ง แล้วปิดประตูรถอย่างแผ่วเบา แล้ววิ่งย้อนกลับมาขึ้นประจำที่นั่งคนขับ และออกรถด้วยความตั้งใจให้นิ่มนวลที่สุดในชีวิต โดยขับตามรถนำขบวน ไปยังไทรงามยังจุดพระองค์เสด็จลง
ระหว่างที่พระองค์เสด็จลงทอดพระเนตรไทรงามนั้น ผมไม่ได้ตามเสด็จไปด้วย หากอยู่เฝ้ารถยนต์เอาไว้ เมื่อทรงทอดพระเนตรสถานที่เป็นเวลาพอสมควร ก็เสด็จกลับมายังที่จอดรถ ซึ่งผมติดเครื่องและเปิดเครื่องทำความเย็นคอยเรียบร้อย และเปิดประตูถวาย เมื่อทรงประทับเรียบร้อยแล้ว ผมก็อ้อมกลับมาประจำที่คนขับ เคลื่อนรถออกช้าๆ ไปยังลานจอด ฮ. ซึ่งอยู่ไม่ห่างนัก
พอรถถึงที่หมาย ผมค่อยๆแตะห้ามล้อรถอย่างเบาที่สุด เปิดประตูวิ่งอ้อมมายังด้านที่ประทับ เปิดประตูถวาย เพื่อเสด็จลง
ครั้นเมื่อ “สมเด็จหญิง” เสด็จลงจากรถเรียบร้อยแล้ว ผมถวายความเคารพส่งเสด็จ พระองค์หันมาแย้มพระโอษฐ์ เห็นรอยพระทนต์นิดหนึ่ง แทนการตรัสขอบใจ และเป็นเพียงแว่บเดียวที่สังเกตเห็น จากนั้นพระองค์เสด็จขึ้นเฮลิคอปเตอร์เสด็จจากไป
เมื่อเสด็จกลับเรียบร้อยแล้ว ผู้บังคับบัญชาซึ่งสนิทกับผมมาก ได้เรียกไปสอบถามด้วยความอยากรู้ ว่า
“ไอ้น้อง..ท่านรับสั่งถามอะไรเอ็งบ้าง?”
ผมตอบว่า “ไม่เลยครับ”
ดูท่าทีท่านออกจะผิดหวังหน่อยๆ เพราะอุตส่าห์คัดนายตำรวจที่คาดว่า จะทูลตอบในสิ่งที่ทรงถาม ด้วยถ้อยคำราชาศัพท์ได้ แต่กลับไม่ทรงถามอะไรเลย
แม้เวลาจะผ่านไปยาวนานเกือบ ๔๐ ปี แล้ว แต่ผมยังจำได้ดี เพราะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ที่มีโอกาสขับรถถวายเจ้านาย ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแด่ชาวไทยทั้งปวง
ที่สำคัญคือ ผู้เขียนไม่ลืมรอยแย้มพระสรวล ที่เต็มไปด้วยพระเมตตาและอบอุ่นในวันนั้น รู้สึกดีใจปลาบปลื้มเหลือที่จะกล่าว เพราะมีนายตำรวจน้อยคนนัก ที่จะมีโอกาสอย่างผม
จึงขอบันทึก ความทรงจำอันมีค่า และถือว่าเป็นมงคลชีวิตของตน ไว้ในคอลัมน์นี้
บัดนี้ ด้วยพระราชกุศลและพระบุญญาบารมี ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญมาตลอดพระชนม์ชีพ รวมทั้งบุญกุศลที่ราษฎรชาวไทย ร่วมกันกระทำถวายนั้น...
...ได้นำพระองค์เสด็จสู่แดนสวรรคาลัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทรงทิ้งให้อาณาประชาราษฎร์ที่อยู่เบื้องหลัง วิปโยคโศกหาพระองค์ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง ที่ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้วยพระเมตตา อันยังประโยชน์ไพศาล แก่ผู้คนในบ้านเมืองนี้
แม้จะเสด็จจากไปแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังทรงประทับในดวงใจ ของชาวไทยทั้งมวล อย่างมิมีวันเสื่อมคลาย หรือจางหายไปแต่อย่างใด
ขอพระองค์ทรงพระเกษมสุข สถิตในสรวงสวรรค์ อันเป็นสัมปรายภพ โดยนิรันดรเทอญ.
.............................
ท้ายบท * อีก ๒ ปี จะครบ ๑๐๐ ปี ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ชนะเลิศฟุตบอลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโรงเรียน หากจะจัดงานรำลึกถึง น่าจะเป็นการดี
ผมเป็นนักเรียนวชิราวุธฯ ไม่ใช่ศิษย์เก่าสวนกุหลาบ แต่คุณตาท่านเป็น จึงได้แต่เสนอไว้ตรงนี้