แม้จะเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ล่วงมาแล้วถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ความวิปโยคอาดูรของเหล่าปวงประชายังไม่คลายจากความเศร้าหมอง ภาพพระกรณียกิจของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพ ยังคงติดตาตรึงใจอยู่ในห้วงความทรงจำมิรู้คลาย
หนึ่งในพระกรณียกิจที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปวงชน คือ บทบาทในฐานะของ "ครูผู้ให้" ตั้งแต่เด็กน้อยยากไร้ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ไปจนถึงนิสิตนักศึกษา และนักเรียนทุนหลวง พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์ทั้งด้านวิชาการ ศิลปะและดนตรีจนสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญของชาติขึ้นมากมาย
เนื่องในโอกาสวันครูในปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศสดุดีพระเกียรติคุณความเป็นครูของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ว่าทรงเป็นแบบฉบับของครูผู้มีจริยวัตรงดงาม และเตรียมถวายพระสมัญญา "เจ้าฟ้าอัครคุรุปูชนียาจารย์" แด่เชื้อพระวงศ์ผู้ทรงอุทิศตนแก่การศึกษาของชาติ และทรงเป็นที่รักยิ่งของศิษย์ทั้งปวง
แสงเทียนเล่มแรก
นับตั้งแต่เสด็จกลับจากสวิตเซอร์แลนด์มาประทับที่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อปวงชนเสมอมา เริ่มต้นจากทรงสอนหนังสือแก่นิสิตนักศึกษา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันอีกหลายแห่ง
ในระยะแรก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับเป็นพระอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเสด็จไปทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาภาษาต่างประเทศที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่ช่วงระหว่าง พ.ศ.2512-2527
บรรยากาศห้องเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศส ณ ตึกคณะศิลปศาสตร์ ในปีการศึกษา พ.ศ.2512 จึงเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เมื่อปรากฏว่าในปีนั้นจะมีพระอาจารย์ผู้ทรงพระยศระดับเจ้าฟ้าหญิงเสด็จมาทรงสอนเหล่านักศึกษาด้วยพระองค์เอง
อาจารย์ศิวะพร สิงหรัตนสุวรรณ ผู้ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1 เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ผู้หนึ่งที่มีโอกาสเป็นลูกศิษย์เรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสกับ "พระอาจารย์" คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ปีสุดท้ายที่ธรรมศาสตร์พอดี
"ตอนนั้น ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ เป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ท่านมาแจ้งพวกเราให้ทราบ ก็ตกใจเพราะสมเด็จพระพี่นางเธอฯ ท่านเป็นเจ้า ท่านจะมาสอนพวกเรา เกร็งกันมากเลยค่ะวันแรก ไปหัดถอนสายบัวกันใหญ่เลย แต่ว่าสิ่งที่เราเกรงที่เรากลัว มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราเกรงเลย เพราะท่านพระทัยดีมาก"
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเยาว์วัยและไม่เคยใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์ของเหล่านักศึกษา ทางคณาจารย์จึงต้องกวดขันเรื่องขนบธรรมเนียมและมารยาทเป็นพิเศษ
"อาจารย์ที่ดูแลพวกเราคือ ดร.สิทธา พินิจภูวดล ท่านก็มาปฐมนิเทศพวกเราก่อนเลย ว่าจำไว้นะ ท่านเป็นเจ้า เวลาไปหาท่าน เมื่อไม่เข้าใจอะไรก็ตามให้หมอบอยู่ข้างล่าง ถ้าหากว่าท่านให้ขึ้นมานั่งข้างบน ห้าม 'เผ่นโผน' ท่านใช้คำนี้เลย ขึ้นไปนั่งเด็ดขาด"
เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงทราบถึงความประหม่าเกร็งของเหล่าบรรดาลูกศิษย์ จึงได้ประทานพระอนุญาตให้ศิษย์ของพระองค์ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์ในชั้นเรียน
"ยังจำได้ว่าเวลาที่ท่านเรียกตอบ พวกเราก็จะยืนถอนสายบัวก่อนหนึ่งครั้ง แล้วก็ทูลตอบในสิ่งที่ท่านถาม ถอนสายบัวอีกครั้งหนึ่งแล้วค่อยลงนั่ง พระองค์ท่านก็คงเห็นว่ามันประดักประเดิด ท่านก็บอกว่าไม่ต้องถอนสายบัวบ่อยก็ได้"
"แล้วที่ประทับใจมากคือ มีอยู่วันหนึ่งสมเด็จพระราชชนนีท่านเสด็จมาด้วยพร้อมพระองค์ เพื่อมาสังเกตการสอนของท่าน เวลาที่ทั้งสองพระองค์ทรงสนทนาโต้ตอบกัน น่ารักมาก ท่านจะใช้คำว่าแม่กับลูก ไม่มีคำว่าสมเด็จแม่ ทูลหม่อมแม่ ท่านจะใช้คำง่ายๆ"
นอกจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจะเสด็จฯ ด้วยในวันนั้นแล้ว ยังมีช่างภาพถ่ายทำสารคดีส่วนพระองค์ติดตามมาด้วย ด้วยลายมือที่เป็นระเบียบเรียบร้อยของอาจารย์ศิวะพร ช่างภาพจึงขอถ่ายสมุดเลกเชอร์ของเธอไปประกอบภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในครั้งนั้นด้วย
แม้จะไม่ได้จบเอกวิชาภาษาฝรั่งเศสมาโดยตรง แต่อาจารย์ศิวะพรก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในด้านการศึกษาอีกหลายครั้ง หลังจบจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
"สิ่งที่พระองค์ท่านมีพระกรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อครูฝรั่งเศสก็คือ รัฐบาลฝรั่งเศสถวายทุนฤดูใบไม้ผลิแด่พระองค์ ทรงให้ครูสอนภาษาฝรั่งเศสไปฝึกอบรมที่ฝรั่งเศสนาน 2 เดือน ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเราไปเองตกเดือนละแสน แต่ว่าเราเสียคนละประมาณไม่เกินสองหมื่นห้า ไปอยู่สองเดือน สิ่งดีจากทุนนี้คือ ทำให้ครูฝรั่งเศสมีความมั่นใจในการสอน ต้องพูดว่าเป็นคุณูปการต่อครูฝรั่งเศส"
เมื่ออาจารย์ศิวะพรได้รับทุนฤดูใบไม้ผลิไปอบรมที่ประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2525 นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จเยือนฝรั่งเศสพร้อมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช เพื่อทรงเยี่ยมนักเรียนทุนฤดูใบไม้ผลิเป็นการส่วนพระองค์
เมื่อทราบข่าว ทางคณะนักเรียนไทยที่ได้รับทุนฤดูใบไม้ผลิจึงเตรียมการถวายการต้อนรับ โดยอาจารย์ศิวะพรซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักเรียนทุนใบไม้ผลิได้พยายามหาร้านอาหารจีนเพื่อถวายการต้อนรับ เน้นร้านที่ทำอาหารรสชาติอร่อย ทว่าไม่หรูหราจนเกินไปนัก ด้วยทราบว่าพระองค์ท่านไม่โปรดพิธีการเอิกเกริก
หลังจากเตรียมการพร้อมแล้ว อาจารย์ศิวะพรได้ส่งจดหมายกลับไปทูลเรียนพระองค์ว่าจะเป็นผู้ไปรับเสด็จพระองค์ที่โรงแรม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้มีพระหัตถเลขาตอบกลับมาว่าจะทรงพักที่ไหน แต่ที่สร้างความแปลกใจและประทับใจแก่อาจารย์ศิวะพรก็คือ โรงแรมที่ทรงเลือกประทับนั้น มิใช่โรงแรมหรูหรา แต่กลับเป็นโรงแรมธรรมดา สะอาดสะอ้านแห่งหนึ่งเท่านั้น
เมื่อไปถึงโรงแรมอาจารย์ศิวะพรก็ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า "Est-ce que son Altesse Royale la princesse Galyani Vadhana sejourne ici ?" ที่แปลว่าสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกัลยาณิวัฒนาประทับอยู่ที่นี่หรือเปล่า?
ปรากฏว่าไม่มีแขกคนใดในโรงแรมเข้าพักในชื่อนี้เลย สร้างความประหลาดใจแก่อาจารย์ศิวะพรและเพื่อนนักเรียนที่ไปรับเสด็จฯ "เขาบอกว่าไม่มีใครที่นี่เป็น princess เลย พวกเราที่ไปด้วยกัน 5-6 คนก็งง เพราะพระองค์ท่านบอกว่าท่านประทับอยู่ที่นี่ เลยนั่งคอยท่านโดยหันหลังให้เคาน์เตอร์ สักพักหนึ่งก็มีเสียงผู้ชายถามว่า 'Are you Thai student?' พวกเราก็ 'Yes!' พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชนี่นา...ก็ลงกราบกัน แตกตื่นกันทั้งโรงแรมเลย เสร็จแล้วท่านก็บอกว่า เดี๋ยวนะๆ ผมจะโทรศัพท์ไปทูลเชิญสมเด็จหญิงฯ สักเดี๋ยวท่านก็เสด็จลงมา ท่านก็ถามว่าทำไมมาช้ากันล่ะจ๊ะ ดิฉันก็ทูลตอบท่านว่า มานานแล้วเพคะ แต่มาถึงปุ๊บไปถามถึงพระองค์ท่านในตำแหน่งนั้นเขาบอกว่าไม่มี ปรากฏว่าพระองค์ท่านไม่เคยใช้ตำแหน่ง ท่านไม่เคยใช้คำว่า สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง หรือสมเด็จพระพี่นาง ทรงใช้คำว่า Madame คือ 'นาง' เท่านั้น"
เมื่อออกจากโรงแรม ปัญหาแรกที่เจอคือจะนำเสด็จพระองค์ท่านไปยังร้านอาหารด้วยวิธีใดดี เมื่อทรงหันมาเห็นเหล่าลูกศิษย์ยืนซุบซิบปรึกษากันอยู่ จึงตรัสถามว่ามีเรื่องอะไร ครั้นทรงทราบก็ยืนยันว่าจะเสด็จโดยรถเมล์เหมือนเช่นลูกศิษย์ ไม่ทรงขึ้นแท็กซี่ไปพร้อมกับพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชตามที่ลูกศิษย์ร้องขอ
"เมื่อขึ้นรถเมล์มีที่นั่งว่างอยู่ก็ทูลเชิญเสด็จให้พระองค์ท่านทรงนั่งด้านใน แล้วทูลเชิญพระองค์ชาย แต่ท่านบอกว่า 'ผมเป็นผู้ชาย คุณเป็นสุภาพสตรี เชิญคุณนั่งกับท่านเถอะ' ดิฉันจึงต้องไปนั่งข้างๆ พระองค์ท่าน ตื่นเต้นมากเพราะปกติจะเมารถ แต่วันนั้นโชคดีมากที่ไม่เมารถ จากนั้นท่านก็ทรงยื่นสตางค์ให้จ่ายค่ารถเมล์ ดิฉันก็ทูลว่าไม่ได้เพคะ ขอประทานอนุญาตจ่ายค่ารถเมล์ให้พระอาจารย์หน่อยเพคะ แต่ท่านว่าไม่ต้องหรอก เราเป็นนักเรียนทุน เงินน้อย ท่านมีเงินมากกว่า ไม่ยอมให้พวกเราจ่าย"
ขากลับจากร้านอาหารนั้น ปรากฏว่าไม่มีรถเมล์เนื่องจากดึกแล้ว แต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงยืนยันที่จะเดินกลับพร้อมบรรดาลูกศิษย์เป็นระยะทางไกล ทั้งที่พระองค์ฉลองพระบาทส้นสูง
"พระองค์ท่านทรงมีน้ำพระทัยมาก นอกจากจะประทานเลี้ยงอาหารลูกศิษย์แล้ว ยังมีของฝากทุกคนเป็นวุ้นเส้นคนละหนึ่งห่อ นอกจากนั้น ยังประทานอนุญาตเขียนที่อยู่ที่ประทับที่ประเทศสวิสฯ ให้ ตรัสว่า ถ้าใครก็ตามต้องการจะไปสวิสฯ ให้ส่งข่าวไปให้ท่านทราบล่วงหน้าก่อน" ทั้งนี้ เพราะทรงทราบว่าลูกศิษย์ไม่สันทัดในการใช้คำราชาศัพท์นัก จึงทรงอนุญาตให้เขียนจดหมายถึงพระองค์ท่านเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ ยังความปลาบปลื้มในน้ำพระทัยและความไม่ทรงถือพระองค์แก่บรรดาลูกศิษย์ถ้วนหน้ากัน
สมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศส
ความสนพระหฤทัยและพระปรีชาสามารถด้านการศึกษาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงอุดมศึกษาเท่านั้น ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาระดับต้นมีความสำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาคุณภาพของประชากรทั้งประเทศ ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่อง ในการเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง การพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอน ทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 จนถึง พ.ศ.2524 จากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งทรงประทานพระอนุเคราะห์ แก่สมาคมฯ ในทุกทาง อาทิ ทรงสนับสนุนการพิมพ์วารสารของสมาคมเพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ ประทานพระนิพนธ์บทความลงวารสาร ทรงส่งเสริมให้สมาชิกครูได้เข้ารับการสัมมนา ดูงานและศึกษาต่อ เป็นต้น
ในฐานะอดีตครูผู้สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสมากว่า 21 ปี อาจารย์ศิวะพรกล่าวว่า ต้นแบบแห่งแรงบันดาลใจในการทำงานสอนของเธอส่วนหนึ่งนั้นมาจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานหนักไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก โดยเฉพาะ พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในด้านความเป็นครูวิชาภาษาฝรั่งเศส
"เราได้ทำงานสนองพระเดชพระคุณท่าน และยังสำนึกในพระกรุณาธิคุณ เพราะถ้าหากไม่ได้พระองค์ท่าน ภาษาฝรั่งเศสจะตกอับขนาดไหนก็ไม่รู้ คิดว่าการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่านจะทำให้ภาษาฝรั่งเศสฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ครูที่ทำงานสอนภาษาฝรั่งเศสบ่นกันทุกคนว่าภาษาฝรั่งเศสแย่แล้ว ไม่มีใครเรียนเลย แต่ตอนนี้จากการอุทิศตนของพระองค์ท่านเมื่อยังมีพระชนม์ทำให้วิชาภาษาฝรั่งเศสกลับมามีความหวังอีกครั้งหนึ่ง"
แม้ในวันนี้ อาจารย์ศิวะพรจะไม่ได้สอนภาษาฝรั่งเศสในชั้นเรียนเหมือนในอดีต แต่ก็ยังระลึกถึง "พระอาจารย์" ทุกครั้งในการทำงาน
"สิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำคือพระองค์ท่านไม่ดุ ใครที่ว่าท่านดุ ขอค้านเลย คือการดุของคนเป็นครู เป็นเพราะท่านรักลูกศิษย์ จะทำเมื่อลูกศิษย์ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่นการบ้านไม่ส่ง เหมือนดิฉันเองก็เป็นครู เวลาที่นักเรียนทำสิ่งที่ไม่ถูก ดิฉันก็เอ็ด คือมีคนบอกว่าพระองค์ท่านดุ เข้มงวด แต่จริงๆ แล้วดิฉันว่าท่านไม่ดุเลย"
"เวลาพระองค์ท่านทรงสอนอย่างเช่น สอนวรรณคดีฝรั่งเศส ท่านก็จะมีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเราฟัง พูดถึงเรื่องดนตรีพระองค์จะทรงเก่งเรื่องดนตรีมากเลย ท่านจะมีเกร็ดประวัตินักดนตรีคลาสสิคอย่างบีโธเฟนมาเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้น เราเรียนอะไรก็ตาม ท่านมีเรื่องที่จะมาชักจูงให้ลูกศิษย์สนใจ ไม่ง่วง ซึ่งเทคนิคนี้ดิฉันก็เอาไปใช้ตอนที่เป็นครู"
ด้วยภารกิจหน้าที่ที่รับผิดชอบทำให้อาจารย์ศิวะพรไม่มีโอกาสส่งการ์ดถวายพระพรแด่ "พระอาจารย์" อย่างที่เคยทำเป็นประจำในอดีต แต่บัดนี้ สิ่งที่พอจะทดแทนพระกรุณาธิคุณพระอาจารย์ได้ก็คือ ตั้งใจทำงานในหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถด้วยความสุจริต
"พอทราบข่าวว่าพระองค์ท่านเข้าโรงพยาบาลและมีข่าวว่าแพทย์ต้องประคับประคองพระอาการ น้ำตาไหลเลย ใจไม่ดีอยู่แล้วยิ่งมาได้ยินข่าวยิ่งใจไม่ดี ดั้นด้นไปศิริราชเพื่อที่จะไปถวายพระพรท่าน ดิฉันไม่ใช่ลูกศิษย์ที่เรียนเอกวิชาภาษาฝรั่งเศส แต่พอท่านรู้ว่าเรียนกับท่าน ท่านยังเอาพระทัยใส่ คอยตรัสถามทุกข์สุข ตอนนี้ดิฉันกับนักเรียนทุนฤดูใบไม้ผลิก็กำลังรวมตัวกันเพื่อไปกราบพระศพพระองค์ เพราะพระอาจารย์ท่านได้ทรงช่วยพวกเรามามากมาย ท่านคือครูที่รักลูกศิษย์" อาจารย์ศิวะพรกล่าว
กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเปี่ยมด้วยพระวิริยอุตสาหะในการสอนและถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ มีพระเมตตากรุณาจนทรงเป็นที่รักของศิษย์ทั้งปวง อีกทั้ง ทรงพระกรุณาอุปถัมภ์การศึกษาของชาติเป็นอเนกประการ สมแล้วกับพระสมัญญา "เจ้าฟ้าอัครคุรุปูชนียาจารย์"