xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจ:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

                              ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าชีวิตมีสองส่วน
                              ชาตินี้ยังไกลต่อมรรคผลนิพพาน
                              แต่ถ้ารู้สึกว่าชีวิตนี้มีแต่เรื่องปฏิบัติ
                                    รู้ตัวว่าเผลอบ้าง รู้บ้าง
                               อันนี้แหละ ใกล้มรรคผลนิพพาน

                                             ครั้งที่ 020
                               เอกายนมรรค ทางเฉพาะตัว

หลวงพ่อบอกให้อย่างหนึ่งนะ บอกซื่อๆ บอกโง่ๆ เลยนะ แบบเทกระเป๋าให้เลย ทางใครทางมัน ทางใครทางมันนะ กรรมฐานเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ต้องอยู่ในหลักที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เรื่องแท็กติกเรื่องกลยุทธ์เรื่องอุบาย เป็นเรื่องเฉพาะตัวทั้งสิ้นเลย มันต้องรู้ตัวเองนะ ว่าทำยังไงแล้วสติเกิดบ่อยก็ทำอย่างนั้นแหละ ตอนนี้สติเกิดบ่อยไปแล้ว ชักมั่วๆ แล้ว สติเกิดไปเกิดมาเลยชักไม่เกิด เลยฟุ้งซ่านแทน เราก็ต้องแยบคาย ต้องรู้ทัน เราฟุ้งไปแล้ว ฟุ้งไปแล้วเราควรจะทำยังไงดี เราก็ต้องรู้ตัวเองอีก จะตามรู้ความฟุ้งด้วยวิปัสสนา หรือทำความสงบด้วยสมถะ หรือว่าเครียดจัด ลืมมันไปเลย ไปร้องเพลงสักเพลงหนึ่งก็ได้ บางคนเครียดจัด มาหาหลวงพ่อ ติดกรรมฐาน มา เครียด ใกล้บ้ามาแล้ว ความจริงบ้าแล้วล่ะ แต่หลวงพ่อก็พูดให้สุภาพหน่อย หลวงพ่อ บอกร้องเพลงเป็นมั้ย ร้องให้ฟังสักเพลงหนึ่ง ให้ร้องเพลง คนนี้ชอบร้องเพลง ร้องเพลงแล้วสบาย รู้สึกมั้ย เมื่อกี้เครียด ตอนนี้สบาย เห็นมั้ย ตอนนี้กลับมาดูได้แล้ว

มันง่ายนะจริงๆ ทางใครทางมัน ทางเฉพาะตัว ทางนี้ต้องเดินคนเดียว พระพุทธเจ้าสอนนะ เอกายนมรรค ทางสายเดียว ทางของท่านผู้เป็นเอก ไม่มีใครเหมือน ทางที่ต้องเดินคนเดียว ทางเฉพาะตัว แปลได้ หลายนัย เอกายนมรรค งั้นไม่ใช่ว่าต้อง เลียนแบบกัน หลายคนมาถามหลวงพ่อ ทำไมไม่จัดคอร์ส พระพุทธเจ้าไม่จัดน่ะหลวงพ่อจะเก่งกว่าท่านได้ยังไง พระพุทธเจ้ามีแต่สอนๆๆ แล้วก็ไล่นะ โน่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง นั่นภูเขา โน่นถ้ำ นั่นป่า ไปทำ เอาเอง เวลาสอนนั้นบางคราวท่านก็สอนหลายคนพร้อมๆ กัน แต่พอลงมือปฏิบัติก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวแล้ว ถึงร่างกายจะนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมอยู่ด้วยกันในบางคราว แต่งานทางจิตทางใจก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวทั้งสิ้น

ทำไมไม่จัดคอร์สพร้อมกัน เพราะว่าจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน ทางใครทางมัน คนคนนี้ควรจะภาวนากลางคืน เราก็บอก สามทุ่มต้องนอน หรือสี่ทุ่มต้องนอน อ้าวก็เขาจะต้องภาวนากลางคืนถึงจะดี เราไปทำลายโอกาสของเขาเข้าแล้วใช่มั้ย ต้องเหมือนกัน บางคนกินข้าวเย็นแล้วดี บางคน ไม่กินแล้วดี มันก็ต้องดูเป็นคนๆ นะ ตัวใคร ตัวมันแหละ ทางใครทางมัน บางคนนอน แล้วดีนะ บางคนนอนไม่ดีก็ต้องอดนอน บางคนกินทุกมื้อดี บางคนอดๆ ซะบ้างดี ต้องดูตัวเอง ทางใครทางมัน ไม่เหมือนการเลี้ยงไก่แบบอุตสาหกรรมนะ ถึงเวลากินก็ต้องกิน เลี้ยงหมูเลี้ยงอะไรอย่างนี้ ถึงเวลากินต้องกิน มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ เคยเห็น เขาเลี้ยงงูมั้ย เคยไปดูที่สถานเสาวภามั้ย ถึงเวลาเลี้ยงงูนะ เอางู งูตัวนี้ตามดีล ดูตาราง อ้อตัวนี้ถึงเวลากินแล้ว ไปลากหัวมันมา มันก็มาพันๆ แขนคนเลี้ยงนะ จับบีบปากให้อ้าปาก เอาคีมคีบเนื้อนะ กระทุ้งใส่ หนึ่งก้อนสองก้อน เอ้าครบแล้ว แกะๆ เอาโยนไป ธรรมะไม่ได้เป็นอย่างนี้ ธรรมะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ทางใครทางมัน ไม่ใช่ต้องทำเหมือนๆ กันตลอดเวลา หลวงพ่อชาเคยสอนนะ ให้ดูตัวเอง จะกินแค่ไหนพอเหมาะ จะนอนแค่ไหนพอเหมาะ คำว่าพอเหมาะก็คือเกิดสติ เกิดสติบ่อย บางคนอดนอนแล้วซึมเซื่อง ไม่รู้เรื่องนะ อย่างนี้ไม่ดี บางคนนอน มากไปก็ไม่ดี ต้องดูตัวเอง บางคนถนัดเดิน ก็เดินเอา บางคนถนัดยืนก็ยืนเอา บางคนถนัดนั่งก็นั่ง แต่ถ้าถนัดนอน ต้องนั่งนะ ถนัดนอนไม่เอานะ ขอให้ยกเว้นไว้ข้อหนึ่ง เพราะว่าตามสถิติ นอนบรรลุมีน้อย ตามสถิติ ส่วนมากมีแต่นั่งกับเดิน นอนก็มีเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มี แต่มีน้อย

อย่างพระอานนท์นะ คนชอบบอกว่า ท่านทำภาวนาทั้งคืน เหนื่อย พรุ่งนี้จะไปสังคายนา ท่านก็เลยนอน คำว่านอนในนัย ของพวกเราก็คือเลิกปฏิบัติ แต่หลวงพ่อยืนยันเลย คืนสุดท้ายนั้นพระอานนท์ไม่เลิก ปฏิบัติหรอก จิตที่เข้าไปถึงขั้นตะลุมบอนมันเลิกไม่ได้ เลิกไม่ได้ มันทำงานอัตโนมัติ นี้ ในพระไตรปิฎกบอกว่าพระอานนท์นี่ยังราตรี สุดท้ายให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติเป็นส่วนมาก อันนี้ท่านอาจารย์อภิธรรมฟังก็จะสะดุ้งอีกแล้ว ทำไมพระอานนท์ไปอยู่กับกายคตาสติ ฟังแล้วไปทำสมถะ แต่ในกายคตาสติสูตรนะ เนื้อหามันเป็นอันเดียวกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน งั้นคืนสุดท้ายนั่นพระอานนท์รู้กายเป็นส่วนมาก และส่วนน้อยไปรู้อะไร ตอบได้มั้ย ส่วนน้อยก็คือเผลอ ไปสิ เผลอไปบ้าง จิตรวมเข้าหาความสงบบ้าง เป็นระยะๆๆ ไป อันนี้ในคัมภีร์ไม่มีนะ นี่สรุป ด้วยการปฏิบัติเอา นี่สติมันอัตโนมัติแล้ว ท่านเห็นว่าพรุ่งนี้เช้าต้องไปสังคายนา ต้องนอนสักหน่อย ต้องพักสักหน่อย ท่านก็เอนตัวลง พระไตรปิฎกบอกว่าเท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอนก็เป็นพระอรหันต์ ใน พระไตรปิฎกไม่มีพูดตรงไหนเลยว่า ท่านเห็นว่าพรุ่งนี้จะต้องไปสังคายนา ท่านก็เลยเลิกปฏิบัติแล้วเดินไปนอน ไม่มีคำว่าเลิกปฏิบัติ เลิกปฏิบัติมันเป็นความรู้สึกของพวกเราเองที่ชอบแบ่งชีวิตเป็นสองส่วน ชีวิตช่วงนี้เป็นเวลาปฏิบัติ ช่วงนี้เป็นเวลาไม่ต้องปฏิบัติ ตราบใดที่ยังรู้สึกชีวิตมีสองส่วนนะ ชาตินี้ยังไกลต่อมรรคผลนิพพาน แต่ถ้ารู้สึกชีวิตนี้มีแต่เรื่องปฏิบัติ แต่ว่าเผลอบ้างรู้บ้าง เผลอบ้างรู้บ้าง อันนี้แหละ ใกล้กับมรรคผลนิพพาน เอ่อยกเว้นนะ คนที่ต้องทำมาหากิน ต้องทำงานที่ต้องคิดนะ ในขณะนั้นปฏิบัติไม่ได้หรอก ก็ต้องยกเว้นไป

นี้จริงๆ ง่าย ง่ายๆ ให้เราคอยรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ นะ ใจลอยไป ใจลอยแล้วก็รู้ ใจลอยแล้วรู้ ยิ่งใจลอยบ่อยยิ่งดี อย่าใจลอยนาน ใจไหลแวบรู้สึก แวบรู้สึกไปเรื่อย ใจจะค่อยๆ ตื่นขึ้นๆ ฝึกไปนะ ฟังหลวงพ่อพูดฟังยาก เพราะธรรมะมันรู้ไม่ได้ด้วยการฟัง แต่อดทนฟังไปนะ พอสติและสัมมาสมาธิเกิดขึ้นมา จะรู้ว่าง่ายๆ ง่ายสุดๆ ง่าย ที่ยากก็เพราะว่าเราคิดมาก คิดมากยากนาน หลวงพ่อบอกคิดมากยากนานแต่ก่อนคนชอบหัวเราะนะ นึกว่าหลวงพ่อพูดเล่น จริงๆ ไม่มีพูดเล่นนะ พูดแต่ละเรื่องนี่ตรงๆ สภาวะทั้งนั้นเลย อย่างบอกว่าในโลกไม่มีคนรู้สึกตัว ไม่ได้พูดเล่นนะ ไม่ได้ดูถูกใครด้วย ในโลกไม่มีคนรู้สึกตัว มีแต่คนหลง ถ้าไม่หลงก็เพ่งเอา มันทำได้แค่นั้นเอง ทำอย่างอื่นไม่เป็น รู้ตัวไม่เป็น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
มีอิทธิบาทสี่ในการดูสภาวะ)
กำลังโหลดความคิดเห็น