xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ความรักในมิติพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพรหมคุณาภรณ์์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ผู้เป็นปราชญทางพุทธศาสนาได้เคยบอกไว้ว่า ความรักหากมองในแง่พุทธศาสนาเป็นเรื่องสำคัญมาก คือความรักมีทั้งดีทั้งร้าย มีทั้งความรักที่เต็มไปด้วยความทุกข์หรือทำให้เจอทุกข์อย่างหนัก และความรักที่ทำให้คนมีความสุขได้ และความรักที่ทำให้คนไปนรกได้มากมาย แต่ก็มีความรักที่ทำให้คนไปสวรรค์ก็ได้ มีความรักที่ทำให้คนสร้างสรรค์ จนกระทั่งมีความรักของพระอรหันต์ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของคนทั่วโลก
เพราะฉะนั้นความรักเป็นเรื่องใหญ่ ทำ ให้คนไปได้ตั้งแต่นรกจนถึงพระนิพพาน หมายความว่า หากเอาเรื่องที่เป็นความรักมาพูดในแง่ธรรมะ มันก็เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เราเดินไปในธรรม จนกระทั่งถึงบรรลุอริยมรรคอริยผลทีเดียว
และหากจะเทียบเคียงวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นวันแห่งความรัก กับวันมาฆบูชา ซึ่งอยู่ในเดือนเดียวกันนี้ พระพรหมคุณาภรณ์์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็ได้เคยให้ทัศนะไว้ว่า
ความจริงวันมาฆบูชาเป็นวันแห่งคุณธรรมที่ทั่วรอบ หมายความว่ามีทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่ด้านความรัก แต่ว่าเมื่อมาเทียบเคียงกับวันวาเลนไทน์ เราจะเทียบเคียงเอาแง่ของความรักก็ไม่ผิด เพราะจะมองวันมาฆบูชาในแง่ความรักก็มีมากมาย
วันวาเลนไทน์เป็นความรักที่จำกัดอยู่ กับบุคคลหรือกลุ่ม และมักจะมุ่งผลตอบ แทนเพื่อตัวเอง แต่มาฆบูชาเป็นความรักของพระอรหันต์หรือท่านผู้หมดกิเลส ที่จะรักประชาชนทั้งโลก
การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ที่ประชุมสงฆ์ ในวันมาฆบูชาก็แสดงหลักธรรมที่โดยเจตนารมณ์ นั้น ทรงมุ่งที่จะให้พระไปสั่งสอนประชาชน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลความสุขแก่คนจำนวนมาก ด้วยเมตตาการุณย์ต่อชาวโลก ก็เป็นเรื่องของความรักนั่นเอง คือรัก สรรพสัตว์ รักมวลมนุษย์ รักที่จะทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ทุกชีวิต
วันมาฆบูชาจึงเป็นวันแห่งความรักสากล เป็นความรักที่ไม่จำกัด ไม่มีขีดคั่นขอบเขต เป็นความรักที่แผ่ออกไปทั่วสรรพสัตว์ถ้วนหน้า ไม่ใช่ความรักที่จำเพาะหน้า เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาความเป็นสากลแล้ว วันมาฆบูชาจึงเป็นวันแห่งความ รักที่เป็นสากล (Universal love) ความรักที่เป็นสากลก็คือเมตตา
พระพรหมคุณาภรณ์์(ป.อ.ปยุตฺโต)กล่าวว่าความรัก มี 2 ประเภท คือรักแบบราคะ และรักแบบเมตตา

รักแบบราคะ
ความรักประเภทที่หนึ่ง ที่คนทั่วไปรู้เข้าใจกันว่าเป็น ความรักระหว่างเพศ หรือ ความรักทางเพศ มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่น ชมติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก อันนี้เป็นความรักสามัญของปุถุชน ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่า ที่รักเขานั้น ก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องบำเรอความสุขแก่ตน ต้องการเอาความสุขเพื่อตนเอง ซึ่งก็คือความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง
ความรักแบบนี้ที่แท้ก็คือการคิดจะเอาจากผู้อื่น จึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือถ้าหากว่าผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะรังเกียจ จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน นอกจากนั้น ยังมุ่งจะเอาความสุขให้แก่ตัว หรือจะเอาผู้อื่นมาบำเรอความสุขหรือให้ความสุขแก่ตัว ความรักแบบนี้จึงมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้า เป็นความยึดติดผูกพันเฉพาะตัว
เมื่อลักษณะสองอย่างนี้มาผนวกกัน เข้า ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือความหึงหวง ความรักแบบนี้จึงมาคู่กับความหึง มีการยึดถือเป็นของตัว ต้องการครอบครอง เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวหรือแม้แต่ได้รับความเอาใจใส่
ความหวงแหนผูกพันเฉพาะตัว และต้องการให้เขาหรือเธอให้ความสุขแก่ตัว ผู้เดียวนี้ แสดงออกได้ทั้งทางกายและทางใจ
ทางกายก็ต้องการให้เป็นของตนผู้ เดียว ไม่ให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยว อย่างที่เรียก ว่า หวงผัสสะ ส่วนทางด้านจิตใจ ก็ต้อง การความเอาใจใส่ ความมีใจภักดีให้ฉันคนเดียวเป็นผู้ครองหัวใจเธอ หรือให้ใจเธออยู่กับฉัน อย่าปันใจให้คนอื่น
เนื่องจากความรักแบบนี้ มักจะมาด้วยกันกับความหวงแหน เห็นแก่ตัว หรือความหึงหวง จึงอาจจะทำให้เกิดการแย่งชิง ทะเลาะเบาะแว้ง แม้จะไม่ได้แย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็มักจะเกิดความมัวเมาหมกมุ่น จนกระทั่งถึงกับละทิ้งกิจหน้าที่หรือความดีงามที่ควรจะทำ หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ทำให้ยิ่งโลภแล้วพยายามแสวงหาอะไรต่างๆ มุ่งแต่จะกอบโกยเอามาเพื่อตัวเองและเพื่อคนที่ตนรักเท่านั้น โดยไม่เห็นแก่ผู้อื่นเลย จึงอาจทำให้เกิดการเบียดเบียนกันได้มาก
ซึ่งในที่สุดแล้วจุดจบก็คือความไม่ยั่งยืน เพราะว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการหาความสุขให้แก่ตัวเอง แม้จะเป็นคู่ครองอยู่ร่วมกันก็เห็นเขาเป็นสิ่งสนองความสุข เป็นที่สนองความต้องการของตนเองเท่านั้น
ความรักแบบที่หนึ่งนั้นทางพระท่านเรียกว่า “ราคะ” หรือ “เสน่หา”

รักแบบเมตตา
ความรักแบบที่สอง คือ ความรักที่อยากให้เขามีความสุข หรืออยากเห็นเขามีความสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นความ ปรารถนาดี เรารักใคร เราก็อยากให้คน นั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุข
เวลารักใครลองถามตัวเองว่า เราต้อง การความสุขเพื่อตัวเรา หรือเราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเป็นความรักที่แท้ก็ต้องอยากให้เขามีความสุข เมื่ออยากให้เขามีความสุข ก็ต้องการทำให้เขามีความสุข หรือทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุข
การที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้
การให้เป็นปฏิบัติการที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ดังนั้นผู้ที่มีความรักแบบที่สองจึงมีความสุขในการให้และให้ด้วยความสุข
แต่การให้ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นการให้แบบล่อเหยื่อหรือเอาอกเอาใจ ถ้าให้แบบนั้น พอไม่ได้เขามาก็จะเสียใจ เสียดายและแค้นใจ เพราะเป็นการให้เพื่อจะเอา ไม่ใช่ปรารถนาดีแก่เขาจริง
แต่ถ้าเรารักเขาโดยอยากให้เขามีความ สุขแล้ว มันก็มีความยั่งยืนมั่นคง เมื่อเขามีความทุกข์ความเดือดร้อน แม้ว่าเขาจะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังรักเขา และเราจะเกิดความสงสาร ตอนแรกเรามีความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข พอเขาเกิดความ ทุกข์ มีความเดือดร้อนขึ้นมาความรักของเราก็จะกลายเป็นความสงสาร อยากจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ เราจะไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ เมตตานั้นก็เปลี่ยน ไปเป็น “กรุณา” คือ ความสงสาร คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ จึงมีเมตตากรุณา เป็นคู่กัน
ในขณะที่ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะเอาความสุขจากผู้อื่น หรือต้องการความสุขจากการเอา ความรักแบบที่สองเป็นความต้องการที่จะให้ความสุขแก่ผู้อื่น และเป็นการทำให้เกิดความสุขจากการให้
ความรักแบบที่สองทางพระท่านเรียกว่า “เมตตา” รวมทั้ง“ไมตรี”

เครื่องน้อมนำความรัก ที่วิเศษสุด คือเมตตา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงสอนเรื่องความเมตตาไว้ว่า
ใจที่แล้งเมตตา น่าจะเปรียบได้ดัง ทะเลทราย ไม่มีความชุ่มชื่นให้แก่สายตาหรือจิตใจผู้ใดเลย
ผู้ไม่เคยรู้รสของเมตตาในใจตน ก็ไม่แตกต่างกับทะเลทรายที่ไม่รู้สึกในความแห้งแล้งร้อนระอุ เป็นที่รังเกียจหวั่นเกรงของผู้คนทั้งหลายสัตว์ทั้งปวง
ถ้าไม่เคยรู้รสของเมตตามาก่อน ว่าให้ ความชุ่มชื่นแก่จิตใจเพียงไร ก็พึงลองให้จริงจัง ก่อนอื่นก็ลองนึกเมตตาที่เคยได้รับจากผู้อื่น แม้สักครั้งเดียว ในยามที่ปรารถนาความช่วยเหลือจากใครสักคนเป็นที่สุด ยิ่งเป็นในยามคับขันมากเพียงใด จะยิ่งเห็นความชุ่มชื่นของเมตตาที่ได้รับจากผู้เข้ามาช่วยเหลือเมตตาให้พ้นความคับขันเพียงนั้น
สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะสัมผัสรสของความเมตตา ก็อาจจะเริ่มได้ด้วยการย้อนนึกถึงความชื่นใจ โล่งใจ ที่เคยรู้สึกที่ผู้มีมือแห่งเมตตามาช่วยให้พ้นความคับขันแต่ละครั้งแต่ละเรื่อง เช่น กรณีผู้ถูกตึกถล่มทับที่รอดได้ เป็นต้น
เมตตามิได้มีคุณแก่ผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะนอกจากว่าจะมิได้เป็นเมตตาที่แท้ คือ นอกจากจะเป็นความรักความลำเอียง เพื่อผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของตนเท่านั้น เมตตามีคุณกว้างขวางนัก หาขอบเขตมิได้ ทุกคนมีสิทธิจะแผ่เมตตาให้ทุกคนทุกชีวิตได้ และทุกคนมีสิทธิรับเมตตาจากทุกคนได้
เมตตาที่แท้จริง ไม่มีขอบเขต คือ ไม่เลือกผู้รับ ไม่เลือกของเราของเขา ไม่เลือกชาติ ศาสนา และไม่เลือกมิตรศัตรู อย่างไรก็ตาม เมตตาในใจเท่านั้น ที่ไม่มีขอบเขตได้
คุณของเมตตา คือ ความเย็น
เมตตามีที่ใด ความเย็นก็มีที่นั้น ผู้มี เมตตาเป็นผู้มีความเย็นสำหรับเผื่อแผ่ และผู้ยอม รับเมตตาก็จักได้รับความ เย็นไว้ด้วย
ผู้มีเมตตาหรือผู้ให้เมตตาเป็นผู้เย็น เพราะไม่มุ่งร้ายผู้ใด มุ่งแต่ดี มีแต่ปรารถนาให้เป็นสุข เมื่อความไม่มุ่งร้ายมีอยู่ ความไม่ร้อนก็ย่อมมีอยู่เป็น ธรรมดา
ความปรารถนาด้วยจริงใจให้ผู้อื่นเป็น สุข ก็เท่ากับปรารถนาให้ตัวเองเป็นสุข จะให้ผลเป็นคุณแก่ตนเองก่อน ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะให้ตนเป็นที่รังเกียจเกลียดชังของใครๆทั้งนั้น ควรจะกล่าวไม่ผิดว่าทุก คนไม่มียกเว้นล้วนยินดีจะได้รู้สึกว่าตนเป็นที่รัก แต่อาจไม่ค่อยได้คิดนักว่า เครื่องน้อมนำมาซึ่งความรักความจริงใจจากผู้อื่น ทั้งหลายนั้น คือ เมตตามากๆ จริงๆ จากใจตนเอง
เหตุสำคัญที่สุดที่จะอบรมเมตตาได้สำเร็จ คือ ต้องเชื่อด้วยจริงใจเสียก่อนว่า เมตตามีผลวิเศษสุด
พระพุทธศาสนาที่ประเสริฐเลิศล้ำไม่มีเสมอเหมือน ก็เกิด ขึ้นได้ด้วยมีเมตตาเป็นพื้นฐาน มีปัญญาเป็นยอด คือ เกิดด้วยพระเมตตา และพระปัญญาของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

วิธีฝึกความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก วัดป่า สุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี บอกไว้ในหนังสือสาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตาว่า
เมตตา คือความรัก ความปรารถนา ดีให้เขามีความสุข การเจริญพรหมวิหาร 4 เริ่มต้นด้วยเจริญเมตตาก่อน เพราะกรุณา มุทิตา และอุเบกขานั้น เป็นคุณธรรมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ต้องใช้กำลังสติปัญญามากยิ่งๆ ขึ้นไป
เมตตาเป็นบารมีอย่างหนึ่ง เริ่มต้นให้ฝึกมีเมตตาแก่ตนเองก่อน พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้มีความรู้สึกที่ดีออกมา ให้เป็นตามธรรมชาติ และให้สังเกต ศึกษาถึงความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นข้าศึกคอยกีด ขวางไม่ได้เกิดความรู้สึกที่ดีออกมา ความรู้สึกที่ไม่ดี จริตนิสัยที่จะคิดไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งจะตรงข้ามกับเมตตา ทั้งทางกายวาจา ใจ เช่น คิดอาฆาตพยาบาท คิดเบียดเบียน คิดแต่เรื่องกามารมณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้าศึกกับความเมตตา
กามารมณ์ คือ ความรักใคร่พอใจในเรื่องของกาม กามราคะตัณหาเป็นอุปสรรคในการมีเมตตา เป็นความรู้สึกที่ทำ ให้เกิดความเห็นแก่ตัว อยากได้เขามาเป็น ของเรา เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ มักเกิดความไม่พอใจ โกรธแค้น บางครั้งถึงกับฆ่าตัวตาย ทำลายชีวิตเขา ถ้าเราสามารถรักษาศีลให้มั่นคงได้ ก็จะไม่เกิดเรื่องเดือดร้อนไปเบียดเบียนใคร แต่ถ้ากามารมณ์รุนแรงมาก ก็ควรที่จะพิจารณาร่างกายของตนเป็นอสุภะ ไม่สวย ไม่งาม เป็นปฏิกูล พยายามสงบระงับซึ่งกามามณ์ จนรู้สึกได้ว่าทุกคนเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเรา คือ ถ้าอยู่ในวัยเดียวกับพ่อแม่ ก็ให้ทำความรู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่ ถ้าวัยเดียวกับพี่ชายพี่สาว หรือน้องชาย น้องสาว ก็ทำความรู้สึกเหมือนเป็นพี่ชาย พี่สาวหรือน้องชายน้องสาวตามนั้น ทำให้อารมณ์เย็น ใจเย็น หลุดจากโทสะ จาก ราคะ ทำให้มีความพอใจ สุขใจ และพยายามให้ความปรารถนาดีนี้ เผื่อแผ่ไปถึงยังทุกคน
ฝึกคิดในทางบวก มองโลกในแง่ดี เรื่องส่วนตัวและเรื่องรอบๆ ตัวทั้งโลก เมื่อไม่ดี ไม่ถูกใจ ให้พักไว้ สงบเงียบอยู่ในใจ รู้อยู่ เห็นอยู่ แต่ไม่ต้องปรุงแต่งขึ้นมา มีหิริโอตตัปปะ ต่อคำว่า “ไม่ดี” รักษาใจ รักษาความรู้สึกที่ดีไว้ เมื่อรู้สึกดี ก็สบายใจ สุขใจ คิดดี พูดดี ทำดี ส่งความรู้สึกกระแส จิตของใจดี สุขใจนี้ออกไป ความเมตตา จะทำให้เรา ไม่คิดร้าย ไม่พูดร้าย และไม่ ทำร้ายใคร ที่สุดของความเมตตา คือจะไม่มีความพยาบาทเกิดขึ้นในใจ แม้ว่าจะมีผู้อื่นคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายเราก็ตามเป็นความเมตตาที่ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ เป็นเมตตาที่มีให้ แม้แต่กับศัตรู ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า “แม้ถูกเขาจับมัดมือมัดเท้า” แล้วเอาเลื่อยมาเลื่อย จนร่างกายขาดออกเป็น 2 ท่อน หากยังคิดโกรธ อาฆาต พยาบาทอยู่ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเห็นธรรม

รักแท้นั้นเป็นฉันใด
ท่านติช นัท ฮันห์ ภิกษุชาวเวียดนามผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกได้สอนลูกศิษย์ในเรื่องการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ไว้อย่างละเอียดปราณีตว่า ความรักที่แท้จริงคือ พรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
เมตตา นั้น คือ ความตั้งใจที่จะนำความสุขมาให้แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นความตั้งใจที่เกิดจากการรับฟังเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง (deeplistening) เพื่อที่จะรับรู้ถึงความต้องการ ที่แท้จริงของผู้อื่น และสามารถพิจารณาได้ว่าอะไรที่เราควรทำ และไม่ควรทำ ถ้าเรามอบของบางอย่างให้แก่คนที่เรารัก ทั้งๆที่เขาไม่ต้องการ มันก็ไม่นับเป็นไมตรี เราจะต้องแลเห็นถึงสภาพที่แท้จริงของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นสิ่งที่มอบให้แก่เขาจะทำให้เขากลับเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น ดังนั้นการ ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยของเราจึงต้อง อาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง จึงจะสามารถรับรู้ความต้องการของเขา และสามารถช่วยได้อย่างแท้จริง
ถัดจากนั้นคือ ความกรุณา เป็นความ ปรารถนาที่จะขจัดทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นในรูปของความคิดหรือการกระทำ ดังเช่นความกรุณาที่พี่น้องชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ร่วมแรงร่วมใจ เป็นอาสาสมัครในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่มีค่าเหนือกว่า คำปลอบประโลมทั้งปวง เมื่อเราต่างมีหัว ใจที่เปี่ยมไปด้วยความกรุณา เพียงแค่การ กระทำที่แสดงน้ำใจเล็กๆน้อยๆ ก็จะสามารถสลายความทุกข์ให้แก่กันและกันได้ระดับหนึ่ง หากจะต้องอาศัยสติปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรอง จึงจะทำให้ความช่วย เหลือนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด
อีกส่วนหนึ่งของรักแท้คือ มุทิตา เป็นความยินดีที่เห็นผู้อื่นมีความสุข เห็นเขาประสบความสำเร็จมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็พลอยแช่มชื่นเบิกบานใจด้วย พร้อมที่จะสนับสนุน โดยปราศจากความริษยากีดกัน มุทิตานั้นเป็นความรู้สึกเบิกบานที่ราคาถูกที่สุดในโลกแต่มีคุณค่ามหาศาล จะทำ ให้สรรพสัตว์สุขสงบ และปราศจากความเย็นชาเศร้าหมอง หากความรักของเรายังไม่สามารถทำให้เกิดความเบิกบานเป็นสุขได้ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นรักแท้ ดังเช่นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้น ความยินดีจักเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทั้งเขาและเราต่างมีความสุขเบิกบานด้วยกันทั้งสองฝ่าย
สุดท้ายคือ อุเบกขา หรือการวางเฉย ที่มิใช่ความไม่ใส่ใจหรือการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แต่หมายถึงการวางเฉยต่อความลำเอียงของตนเองและผู้อื่น มีความสงบนิ่งในจิตใจ มีความเป็นกลาง มีสติ มีปัญญา และปราศจากอคติทั้งปวง เมื่อจิตสงบนิ่งดังน้ำที่ใสบริสุทธิ์ จะสามารถมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ถึงความเป็นจริง ตามธรรมชาติ และเมื่อเห็นสภาพของความ เป็นจริงแล้ว จะสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างมีสมดุลย์ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
พรหมวิหารสี่ เป็นรักแท้ที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษยชาติ แม้ในยามปกติ มนุษย์ควรมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่อกันและกัน ไม่ควรจำกัดขอบ เขตอยู่ที่ครอบครัว ญาติพี่น้อง คนรัก หรือเพื่อนร่วมชาติร่วมศาสนาเท่านั้น แต่ควรจะขยายขอบเขต สู่มวลมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และธรรมชาติทั้งปวง โดยปราศจากการแบ่งแยก ไม่ยึดติด จะทำให้มนุษย์พ้นจาก ความทุกข์ ความผิดหวัง ชีวิตจะเต็มเปี่ยม ไปด้วยความเบิกบานและความพึงพอใจ บังเกิดพลังแห่งความรักที่แท้จริง
วิธีการหนึ่งที่พระคุณเจ้าติช นัท ฮันห์ แนะนำให้ปฏิบัติเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรักอย่างง่ายๆ คือการแผ่เมตตา ให้กับธรรมชาติและสรรพสัตว์ ด้วยการสัมผัสพื้นดิน เป็นการจรดหน้าผาก ขา และมือทั้งสองข้าง แนบกับพื้น และระลึกถึงความจริงที่ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของพระแม่ธรณี ไม่ได้แยกขาดจากกัน เป็นการนอบน้อม ยอมศิโรราบให้กับธรรมชาติ ละวางความโกรธ ความเกลียดความกลัว ความริษยา และความยึดมั่นถือมั่นลง เพื่อเปิดหัวใจให้พบกับพลังแห่ง ความรัก เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสรรพสัตว์ทั้งปวง

5 วิธีบรรเทาความลุ่มหลงและการยึดมั่นถือมั่น
ในหนังสือธรรมนูญชีวิต โดย พระพรหมคุณาภรณ์์(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้บอกถึงการคำนึงสูตรแห่งชีวิต ที่ควรพิจารณาอยู่เสมอ เพื่อช่วยป้องกันความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ในทรัพย์สมบัติ และในชีวิต เป็นต้น รวมทั้งบรรเทาความลุ่มหลงความถือมั่นยึดติด และป้องกันการทำความทุจริต ทำให้เร่งขวนขวายทำแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์
5 วิธีนี้ อยู่ในหลักธรรมที่เรียกว่าอภิณหปัจจเวกขณ์ ได้แก่
1. ชราธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความ แก่ไปได้
2. พญาธิธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
3. มรณธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
4. ปิยวินาภาวตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องประสบความพลัดพรากทั้งจากคนและของที่รักที่ชอบใจไปทั้งสิ้น
5. กัมมัสสกตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น

4 วิธีตรวจสอบคุณสมบัติของคู่ครองที่ดี
คู่ครองที่ดี ที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติ และประพฤติตามข้อปฏิบัติ 4 ข้อ อันเป็นหลักธรรมของคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม 4 ประการ คือ
1. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา แนวความคิดความเชื่อถือ หรือหลักการต่างๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกันหรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้
2. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศีลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้อง ไปกันได้
3. สมจาคา มีจาคะสมกัน มีความเอื้อ เฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารีความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน
4. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุ รู้ผล เข้ากัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

หลักการครองรักครองเรือนให้มีสุข
สวนหลักการครองรักครองเรือนให้มีความสุขนั้น ต้องใช้หลักธรรมที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม 4 ประการ ได้แก่
1. สัจจะ ความจริง คือ ซื่อสัตย์ต่อกัน ทั้งจริงใจ จริงวาจา และจริงในการกระทำ
2. ทมะ ฝึกตน คือ รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัยแก้ไขข้อบกพร่องข้อขัดแย้ง ปรับตัวปรับใจเข้าหากันและปรับปรุง ตนให้ดีงามยิ่งขึ้นไป
3. ขันติ อดทน คือ มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น ไม่วู่วาม ทนต่อความล่วงล้ำก้ำเกินกัน และร่วมกันอดทนต่อความเหนื่อย ยากลำบากตรากตรำฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน
4. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ สามารถเสียสละความสุขสำราญความพอใจส่วนตนเพื่อคู่ครองได้ เช่น อดหลับอดนอนพยาบาลกันในยามเจ็บไข้ เป็นต้น ตลอดจนมีจิต ใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติมิตรสหายของคู่ครอง ไม่ใจแคบ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 99 ก.พ. 52 โดยกองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น