xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : วิลิต เตชะไพบูลย์ กับชีวิตที่พอเพียงและเป็นสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่ ‘เล็ก’ วิลิต เตชะไพบูลย์ ทายาทคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของอุธรณ์กับโนรี เตชะไพบูลย์ ได้ละทิ้งบริษัทรีเจ้นท์ยืนยงพัฒนาฯ และธุรกิจในเครือ อันเป็นธุรกิจที่ทางครอบครัวหมายมั่นปั้นมือให้เขามารับหน้าที่สานต่อ เพื่อออกมาแสวงหาสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความจริงของชีวิต” ที่ไม่ยึดติดอยู่โลกแห่งทุน นิยมอันโหดร้าย
หากแต่เขากลับออกมาแสวงหาความพอเพียงของชีวิตโดยใช้หลักความรู้ที่ตัวเองได้ร่ำเรียนมาหลอมรวมกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ ‘พ่อหลวงแห่งแผ่นดิน’ ทรงวางไว้เพื่อเป็นแนวทางให้กับพสกนิกรชาวไทยทุกคนนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่าย มาตกผลึกเป็นความรู้แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่กำลังเดินหลงไปในวังวนของระบบทุนนิยม ด้วยการตั้ง “กลุ่มเพื่อนชาวนา” โดยใช้ต้นทุนจากธรรมชาติมาเป็นองค์ประกอบหลักในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน
วิลิตเริ่มเล่าย้อนถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเริ่มเบนเข็มชีวิตจากหนุ่มไฮโซมาเป็นชาวนานั้น เพราะว่าครั้งหนึ่ง หนึ่งเมื่อเขาศึกษาจบจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เขามีโอกาสได้บวชเรียนอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และจากนั้นก็ไปจำวัดเพื่อไปเรียนรู้ธรรมะกับ ‘หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน’ ที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
“ช่วงที่บวชเรียนอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดนั้นประมาณปี 32 ซึ่งตอนนั้นผมได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเป็นอย่างมาก เพราะทุกวันเราจะต้องทำความสะอาดศาลาวัด จากนั้นจะเดินจงกรมและนั่งวิปัสสนา ครั้นพอว่างจากการ ปฏิบัติธรรม ก็จะไปนั่งสนทนาธรรมกับพระรูปอื่น และเนื่องจากวัดป่าบ้านตาดอยู่ภาคอีสานผมจึงเห็นวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นรวมไปถึงการทำนาของเกษตรกร ผมก็ ได้ซึมซับและเรียนรู้มาเรื่อยๆ ซึ่งเหตุการณ์ตรงนั้นทำให้ผมเข้าใจว่าคนเราไม่จำเป็นต้องดิ้นรนอะไรมาก เราก็สามารถมีความสุขได้แล้ว โดยที่ไม่ต้องมีธุรกิจใหญ่โตอะไร เพียงแค่เราทำใจให้มีความสุข ทุกอย่างมันก็มีความ สุขแล้ว” วิลิตย้อนอดีต
จากนั้นไม่นานเขามีโอกาสได้ตระเวนไปศึกษาวิถีชีวิตของผู้ยากไร้ในภาคต่างๆ กับ อ.เสน่ห์ จามริก เมื่อปี 2534 เรื่อยมา จึงทำให้ชายหนุ่มได้ค้นพบถึงสาเหตุที่แท้จริงของเกษตรกรไทยที่ยังต้องทนทุกข์กับปัญหาการขายพืชผล คือการที่ชาวนาหลายครอบครัวพลัดหลงตกไปสู่วงจรของทุนนิยม จนหลงลืมการเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้ต้นทุนจากธรรมชาติ
“หลังจากที่ผมกลับมาแล้วได้เห็นถึงปัญหาของเกษตรกรที่ทำงานไปเท่าไหร่ก็ยังคงมีหนี้สิ้นอยู่ ผมจึงมาเริ่มทดลองปลูกไร่นาสวนผสมเองที่บริษัท โดยใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ข้างโรงแรมรีเจนท์ชะอำ แบ่งเป็นแปลงทดลองปลูกข้าว 2 ไร่ และทดลองปลูกพืชไร่อีก 7 ไร่ โดยปลูกพืชผลเหล่านั้นด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่พึ่งสารเคมี เพราะผมคิดว่าถ้าเรายังพึ่งสารเคมีอยู่ก็เท่ากับยังโคจรอยู่ในโลกทุนนิยม ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไมให้เหนื่อย”
ระหว่างที่ชายหนุ่มกำลังลองผิดลองถูกกับแปลงเกษตรแบบผสมผสานอยู่นั้น เขาได้ก็ลองไปค้นหาตำราเล่มใหญ่เกี่ยวกับการเกษตรแบบผสมผสาน อันเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับประชาชนทั้งประเทศ มาศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง รวมทั้งศึกษาจากเกษตรกรที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกันด้วย
จนที่สุดในปี 2543 การเกษตรแบบผสมผสานที่พึ่งพิงธรรมชาติเริ่มออกดอกผลให้เขาได้ชื่นใจ ชายหนุ่มจึงตัดสินใจหันหลังให้กับวงการธุรกิจที่เขามีส่วนร่วมดูแลอยู่กับครอบครัวอย่างเต็มตัว เพื่อออกมาใช้ชีวิตเป็น ชาวนาชั่วชีวิต ตามความฝันที่เขาเคยวาดหวังไว้
“พอผมเริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสานได้ผลดีในปี 2543 ผมจึงตัดสินใจไปซื้อที่กลางทุ่งนาในเนื้อที่ 16 ไร่ที่บ้านทุ่งพร้าว อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อทำนาและให้ความรู้กับชาวนาเกี่ยวกับการปลูกข้าวโดยการใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งตอนนี้เรามีสมาชิกทั่วประเทศทั้งหมด 7,000 คน”
เล็กเล่าว่าวินาทีแรกที่เขาตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ เขายอมรับว่าอาจจะขัดใจกับคนในครอบครัวบ้างเล็กน้อย แต่สำหรับความฝันของเขาที่จะมุ่งหน้าสู่ความเป็นจริงของชีวิตนั้นก็สำคัญไม่น้อย เพราะอย่างน้อยที่สุดสิ่งเหล่านี้จะนำพาให้เขาไปสู่ชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน
“ตอนแรกที่เรามาทางนี้ที่บ้านก็ไม่เห็นด้วย แต่ผมโชคดีที่คุณพ่อท่านยอมรับในการตัดสินใจของลูก ผมจึงมีโอกาสได้สานความฝันของผม ส่วนตัวผมคิดว่าชีวิตแบบชาวไร่ชาวนา เป็นชีวิตที่เป็นความจริงมากกว่าการประกอบธุรกิจ เพราะในวงจรธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่ผมทำอยู่ ต้องมีแรงกดดันต่างๆถาโถมเข้ามาอย่างมากมาย รู้สึกว่าการทำงานในวงจรธุรกิจแบบทุนนิยมเราไม่มีความ สุขเลย ถึงแม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของกิจการเองก็ตาม และผลผลิตที่ได้เราไม่สามารถสัมผัสมันได้เลย
ซึ่งวิธีนี้มันย่อมจะแตกต่างกับการทำนา เพราะเราสามารถเห็นผลผลิตของมันได้ คือ เรามีข้าวกิน เราได้ผลผลิตจากสิ่งที่เราหว่านไถลงไป ผมจึงคิดว่าการทำนามันเป็นชีวิตที่เป็นความจริง ถ้าผมยกตัวอย่างให้คนไทยเห็นภาพของทุนนิยม และภาพของชีวิตจริงก็คือ คุณ ทักษิณ ชินวัตร คือผลผลิตของโลกทุนนิยมอย่างแท้จริง คือ เขาใช้เงินโดยไม่เข้าใจถึงตัวบุคคล เอาเงินไปหว่านให้รากหญ้าเป็นหนี้มหาศาล และสุดท้ายหนี้นั้นก็กลายมาเป็นดินพอกหางหมู และเป็นหนี้ที่ไม่สามารถได้คืนมา จนทำให้ระบบเศรษฐกิจบางส่วนพังลงไป เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมคิดว่าเราควรจะกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงคือการพึ่งพิงตัวเอง โดยน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการปฏิบัติตน” วิลิตอธิบายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ชายหนุ่มเล่าต่อว่า ในทุกวันนี้ที่บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหาความวุ่นวายต่างๆ นั้นเป็นเพราะคนไทยหลงลืม ที่จะน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของความพอเพียง มาเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต จนปล่อยให้กระแสของโลกทุนนิยมเข้ามาแทนที่ทั้งร่างกายและจิตใจ
“ผมคิดว่าคนไทยเป็นชาติที่โชคดีที่สุดในโลกที่มีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นศูนย์รวมจิต ใจของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน พระองค์ท่านก็ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง ของเศรษฐกิจพอเพียงให้ทุกคนนำมาปฏิบัติตาม ดังเช่นในทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่าที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม เพราะเขาเองก็หลงลืมที่จะใช้และเรียนรู้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติที่เขามีอยู่ เพราะฉะนั้นวันนี้ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องนำพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิต เพื่อให้ชีวิตคืนกลับสู่ความสมดุลอย่างแท้จริง” วิลิตสรุปทิ้งท้าย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 97 ธ.ค. 51 โดยศศิวิมล แถวเพชร)
กำลังโหลดความคิดเห็น