xs
xsm
sm
md
lg

“สมพงษ์ พวงเวียง” เจ้าของโรงงานเพื่อสุขภาพและความพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านภายในชุมชน
เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าภาคอีสานเป็นท้องที่ที่มีอัตราการทิ้งถิ่นฐานเข้ามาแสวงหางานในเมืองหลวงมากที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นอาจมีต้นเหตุมาจากแหล่งงานภายในชุมชน มีไม่เพียงพอกับความต้องการของกำลังแรงงานที่มีอย่างมหาศาล ประชาชนส่วนใหญ่จึงไหลเข้ามายังเมืองหลวง

สมพงษ์ พวงเวียง
เช่นเดียวกับ สมพงษ์ พวงเวียง ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของ บริษัท โสมภาสเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อดีตชายหนุ่มจากเมืองสารคามผู้ซึ่งจากบ้านเกิดเข้ามาเป็นครูโรงเรียนมัธยมใน จ.สมุทรปราการ ดินแดนแห่งอุตสาหกรรม ด้วยการดำเนินชีวิตไปตามอัตภาพจนกระทั่งได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เขาคิดที่จะนำอาชีพนี้กลับไปสู่บ้านเกิด จึงตัดสินใจทิ้งอาชีพที่เป็นดั่ง “เรือจ้าง” มุ่งหน้ากลับมหาสารคามเพื่อก่อกำเนิดโรงงานเล็กๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน

แต่ที่เด็ดไปกว่านั้น ก็คือ โรงงานแห่งนี้ไม่ได้มุ่งกำไรเป็นสำคัญ หากเป็นโรงงานที่คำนึงถึงสุขภาพของพนักงาน มุ่งเน้นให้พนักงานใช้ชีวิตด้วยความพอเพียงและมีแปลงเกษตรเพื่อสาธิตการทำเกษตรแบบพอเพียงอีกด้วย
พ่อบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน
** ดึงครอบครัวทำงาน เสริมรายได้ สร้างความอบอุ่น
มาตั้งโรงงานในชนบทไกลเมืองขนาดนี้เพื่ออะไร แล้วจะไปรอดหรือ?
นี่คือ คำถามแรกที่ผู้คนมักถาม ซึ่งคำตอบที่ได้จากปากของ สมพงษ์ คือ “เพื่อมุ่งสร้างโอกาสในการทำงานให้แก่ชาวบ้าน” กล่าวคือ แทนที่จะให้ผู้ขายแรงงานที่มาจากคนในชุมชนหลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองอุตสาหกรรม ก็เปลี่ยนเป็นการนำโรงงานมาไว้ใกล้ๆ บ้าน ใกล้ชุมชน แต่ปัญหาที่พบช่วงแรก คือ การขาดแคลนแรงงาน เพราะภายในหมู่บ้านแทบจะไม่เหลือแรงงานเนื่องจากคนหนุ่มสาวหนีเข้าเมืองกรุงกันเกือบหมด คนงานที่มีอยู่ก็หนีไม่พ้น แม่บ้านที่ทำไร่ ทำนา
 
ตลอดเวลากว่า 10 ปีของโรงงาน โสมภาสเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สามารถผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า40 ล้านชิ้นต่อปีสร้างรายได้กว่า 38 ล้านบาท
 
“ที่นี่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง มีความเอื้ออาทรกันตลอดมา แรงงานหลักของที่นี่คือแม่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อทำงานหนักความเหนื่อยล้าต้องเกิดขึ้น ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าจะแก้ปัญหาในการทำงานนี้อย่างไร แต่หากมองจากความจริงแล้วแรงงานเสริมที่ดีที่สุดของเหล่าแม่บ้านก็คือคนในครอบครัวทั้งสามี ลูก นั่นเอง จึงให้มีการนำพ่อบ้านมาเป็นแรงงานเสริมในการช่วยแบ่งเบาภาระงานที่แม่บ้านทำ ไม่เพียงแค่นั้นยังเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมเช่นกัน”

“เมื่อมองย้อนมาที่ตัวเองพบว่าเมื่อก่อนครั้งที่พ่อแม่ ต้องออกทำนาก็จะนำเราไปด้วย อีกทั้งคนจีนก็มีอาชีพหลักอยู่ที่การค้าขายก็จะสอนให้ลูกทำงานของครอบครัวและทำงานของตัวเองในเวลาเดียวกันไปด้วย ที่จะสอนให้ลูกค้าขายเป็นแต่ก็ไม่ได้ทิ้งงานซึ่งเป็นการบ้าน ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเช่นกัน ซึ่งการที่โรงงานเปิดโอกาสให้ทั้งพ่อ แม่ ลูกได้มีโอกาสทำงานร่วมกันก็จะเป็นการปลูกฝังอาชีพ การงาน สร้างความแข็งแกร่งในการทำงานให้เกิดขึ้นที่สำคัญคือเป็นการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นภายในครอบครัวอีกด้วย” สมพงษ์ ขยายความ
แอโรบิกก่อน-หลังทำงาน เสริมสุขภาพพนักงาน
** โรงงานเพื่อความพอเพียงและสุขภาพ
สมพงษ์ เล่าต่อว่า เนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ในชุมชนที่ทำอาชีพเกษตร แรงงานส่วนใหญ่ก็ทำนา ดังนั้นจึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงงานทำเป็นแปลงสาธิตทางการเกษตรเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สร้างองค์ความรู้ในการทำเกษตรแบบพอเพียง เพื่อให้นำไปปรับใช้กับที่ดินของตัวเอง นอกจากนี้สวัสดิการในด้านต่างๆ ของโรงงานก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความสำคัญอย่างการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรของคนงาน

สำหรับการให้โบนัสปลายปีจะไม่มีการจ่ายเป็นตัวเงิน แต่จะให้เป็นวัว เพื่อให้คนงานนำไปเลี้ยงจนมีลูกซึ่งก็จะส่งผลให้นำไปต่อยอดแก่ผู้เลี้ยงรายอื่นต่อไป อีกทั้งยังมีโครงการส่งเสริมสุขภาพของแรงงานโดยการเต้นแอโรบิกก่อนและหลังการทำงาน ทั้งยังมีการเสริมสร้างวินัยในการใช้จ่ายโดยการให้คนงานทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้เห็นถึงรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนเพื่อกำหนดการใช้จ่ายของตัวเองได้ ซึ่งแนวทางการจัดการของโรงงานโสมภาสฯ ที่เน้นส่งเสริมทั้งเรื่องของสุขภาพและการใช้ชีวิตแบบพอเพียงของคนงานจึงนำมาสู่การได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สสส.

“ไม่อยากให้สังคมยึดติดกับภาพของผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบ เพราะพวกเขาเหนื่อยกับการบริหารที่จะทำวิธีการใดเพื่อให้ธุรกิจไปรอด สิ่งสำคัญคือต้องซื้อใจลูกน้องทุกคนด้วยความจริงใจที่มอบให้แก่เขาโดยไม่เสแสร้ง โลกแห่งการแข่งขันยุคนี้จึงควรที่จะต้องหันหน้าเข้าหากัน แรงงานก็ต้องเข้าใจนายจ้าง นายจ้างเองก็ต้องดูแลลูกน้อง เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่เช่นนั้นเราจะสู้กับโลกแห่งการแข่งขันไม่ได้” สมพงษ์ ฝากข้อคิดถึงผู้ประกอบการ
หนึ่งในแปลงสาธิตการเกษตรแบบพอเพียง
** กลับบ้านเกิด สำนึกดีเพื่อครอบครัว
มาถึงตรงนี้ สมพงษ์ ให้ภาพถึงการจัดกระบวนการบริหารโรงงานในแบบฉบับของตนเองเพิ่มเติมอีกว่า อยากให้ลองมองไปที่ครอบครัวของคนอีสานซึ่งจะเห็นว่าแม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ส่วนพ่อต้องเดินทางไปทำงาน ทั้งเป็นกรรมกร รับจ้าง ขับรถแท็กซี่อยู่ในเมืองหลวง ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ครอบครัวจะอบอุ่นหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีทางแน่นอน แต่ ณ โรงงานแห่งนี้พ่อ แม่ ลูกสามารถทำงานร่วมกันได้ หากลูกไม่ทำงานก็สามารถมาวิ่งเล่นในโรงงาน ต่อไปนี้ระหว่างทำงานสมาชิกในครอบครัวก็จะสามารถกินข้าวเที่ยง ข้าวเย็นด้วยกัน มีอะไรคุยกันได้ นี่คือความอบอุ่นแน่นอนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีรายได้ประจำที่แน่นอน ในจุดของการให้ความสำคัญของครอบครัวนี้เองที่ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นในโรงงานของเรา

“ตอนนี้อยากให้แรงงานที่หลั่งไหลเข้าสู่เมืองย้อนถามตัวเองดูว่า งานที่พวกเขามุ่งหน้าไปทำนั้นพวกเขาทำเพื่อใคร? หากคำตอบออกมาว่าทำเพื่อตัวเองก็คงไม่เป็นไร แต่หากบอกว่าทำเพื่อลูก เมีย เพื่อพ่อแม่ เพื่อครอบครัวคงจะไม่ถูก เพราะหากทำเพื่อครอบครัวก็ต้องหันกลับมาบ้านเกิด การที่ต้องปล่อยให้ 2 ตา ยายนั่งเลี้ยงหลานเล็กๆ เป็นเรื่องที่หนักมาก ลูกที่ต้องอยู่ในอ้อมกอดของตา ยายคงเทียบไม่ได้กับอยู่ในอ้อมกอดของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ที่จะสร้างความอบอุ่นที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้น เราไม่มีงานทำก็ยังอยู่ได้ในครอบครัว แต่หากครอบครัวไม่สมบูรณ์ ไม่อบอุ่นก็ยากที่จะอยู่ต่อไปในสังคม” สมพงษ์ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น