xs
xsm
sm
md
lg

ห้องสนทนา : พระเมรุ สถาปัตยกรรมแห่งความภักดี แด่องค์ขัตติยนารี พระพี่นาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด้วยวันที่ 14-19 พ.ย.51 นี้ จะมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขัตติยนารีผู้ทรงคุณต่อแผ่นดิน
สิ่งสำคัญในการพระราชทานเพลิงพระศพในครั้งนี้ก็คือ ‘พระเมรุ’ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างได้ร่วมมือกันในการสร้างพระเมรุอย่างวิจิตรงดงามสมพระเกียรติ ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเลือกแบบในการก่อสร้างพระเมรุด้วยพระองค์เองทั้งหมด ซึ่งรูปแบบที่ทรงเลือกนั้นทรงใช้รูปแบบยอดทรงปราสาท ที่ประกอบด้วยยอดชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ต่อยอดด้วยชั้นบัวคลุ่มจนถึงปลายยอดประดับฉัตร 7 ชั้น และเอกลักษณ์ของพระเมรุที่สำคัญคือได้มีการอัญเชิญตราพระราชลัญจกร กว. ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาประดิษฐานที่หน้าบันของพระเมรุทั้ง 4 ด้าน

• แนวคิดการออกแบบพระเมรุ
น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะประธานคณะทำงานการออกแบบพระเมรุในครั้งนี้ อธิบายถึงแนวคิดการออกแบบว่า การออกแบบพระเมรุในครั้งนี้ได้คำนึงถึงสถาปัตยกรรมไทยตามแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ เพื่อให้พระเมรุออกมางดงามเปรียบเสมือนสรวงสวรรค์ เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อย่างสมพระเกียรติมากที่สุดโดยได้ศึกษาแนวคิดจากการออกแบบพระเมรุมาศของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 มาเป็นต้นแบบในการออกแบบพระเมรุในครั้งนี้
น.อ.อาวุธ เปิดเผยต่อว่า พระเมรุมีลักษณะเป็นกุฎาคารจตุรมุขย่อมุมไม้สิบสองปราสาท โดยคำนึงถึงคติความเชื่อตามประเพณีโบราณที่ให้ความสำคัญและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เปรียบเสมือนสมมุติเทวราช ตามระบอบเทวนิยม เมื่อสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์นั้นหมายความว่าได้เสด็จกลับสู่สวรรคาลัย ณ เทวาลัยสถาน คือเขาพระสุเมรุ
ดังนั้นการออกแบบพระเมรุจึงได้สื่อถึงคติทางพระพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิ อันหมายถึงภพของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม และรายล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ วิมานท้าวจตุโลกบาล เหล่าทวยเทพ ณ สวรรค์ชั้นฟ้า หรือสรรพสัตว์ต่างๆในป่าหิมพานต์ การสร้างพระเมรุและอาคารเรือนยอดปราสาทซ้อนชั้น สื่อถึงภพภูมิต่างๆ ของสรวงสวรรค์ ตั้งเป็นประธาน ณ ใจกลางมณฑลพิธีเหมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล และมีอาคารประกอบต่างๆ ทั้งพระที่นั่ง ทรงธรรม หอเปลื้อง ซ่าง ทิม ทับเกษตร ตั้งอยู่โดยรอบ ส่วนบริเวณมณฑลพิธีรายรอบด้วยชั้นราชวัตร ฉัตร ธง และเครื่องประกอบพิธีอื่นๆ
“สถาปัตยกรรมพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยึดแนวความคิดจำลองรูปเขาพระสุเมรุและสะท้อนพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของพระองค์ไว้ในองค์ประกอบพระเมรุ และแต่ละชั้นของพระเมรุมีความหมายแฝงอยู่ ตั้งแต่หน้าบันมุขพระเมรุ 4 มุข หรือด้านประดับพระลัญจกร กว. เหนือขึ้นไปเป็นกร 5 ชั้นแสดงถึงความอ่อนโยน เมื่อดูโครงสร้างพระเมรุจะเบาๆ คล้ายๆดอกบัวดอกไม้รอรับยอดปลี ถัดขึ้นไปอีกมีเมล็ดเล็กๆ เรียกว่าเม็ดน้ำค้างประดับคั่นกลางปลีอยู่ก่อนถึงยอดเศวตฉัตร 7 ชั้น
เม็ดน้ำค้างในความหมายสถาปัตยกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นยอดปราสาทมณฑป ยอดเกี้ยว คือเป็นที่สุดยอดของทุกอย่างของความบริสุทธิ์ ความงามเทียบได้กับสีขาวในทางคติความเชื่อพุทธศาสนาหมายถึงขั้นสุดท้ายหรือสิ่งสุดท้ายขึ้นสวรรค์ เช่นเดียวกับคติความเชื่อเรื่องบัวในพุทธประวัติ ชาดก ตำนาน และพระสูตรต่างๆ ที่คนไทยนำมาเป็นดอกไม้มงคล”
น.อ.อาวุธ ยังกล่าวอีกว่า นักสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนำเม็ดน้ำค้างมาเป็นองค์ประกอบรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยบนยอดปลีปลายแหลม ซึ่งเวลามองไกลๆ เหมือนปลายแหลมจะขาด แต่มีเม็ดน้ำ ค้างมาคั่น จะทำให้เห็นมีจุดต่ออยู่ที่ปลายแหลม ถัดจากเม็ดน้ำค้างขึ้นไปบนยอดสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร 7 ชั้น เป็นเครื่องราชูปโภคประดับพระราชอิสริยยศ สำหรับความสูงของพระเมรุจากฐานถึงยอด ประมาณ 35 เมตร ถือว่ามีความความใกล้เคียงกับพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมีความสูง 30-36 เมตร และความกว้างน่าจะใกล้เคียงกันคือ 26-27 เมตร รวมทั้ง ลวดลายศิลปกรรมพระเมรุก็จะใกล้เคียงและเพิ่มเติมบ้าง

• พระเมรุและอาคารประกอบ
เมื่อได้มีแบบร่างในการก่อสร้างพระเมรุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.51 เวลา 10.09 นาที จึงได้มีพิธี ยกเสาเอกพระเมรุอย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นผู้อ่านโองการบวงสรวง
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค.51 เวลา 17.13 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์มายังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อทรงยกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการสร้างพระเมรุตามโบราณประเพณี
นายไพบูลย์ ผลมาก ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม ให้รายละเอียดรูปแบบของพระเมรุว่า มีลักษณะเป็นกุฎาคารเรือนหลังคายอดสูงประธานมณฑล สร้างหัน หน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นพระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุข ย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักพระสัปตปฏลเศวตฉัตร จากฐานถึงยอดฉัตรสูง 38.65 เมตร กว้าง 31.80 เมตร ยาว 39.80 เมตร สร้างด้วยไม้ โครงสร้างภายในเป็นเหล็ก ฐานพระเมรุจัดทำเป็น 2 ระดับ มีบันไดทอดถึงตลอดทั้ง 4 ทิศ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ตรงกลางเป็นโคมไฟ ด้านในมีรูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สอง หรือฐานบนเรียกว่า ฐานพระเมรุ เป็นฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้ง 4 ทิศ ที่เชิงบันไดทางขึ้นทิศเหนือ ใต้ และตะวันตก มีรูปสัตว์หิมพานต์ตั้งประดับอยู่ด้านละ 1 คู่ แสดงความเป็นป่าหิมพานต์ตามคติไตรภูมิ
โถงกลางใหญ่ตั้งพระจิตกาธานขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐานพระโกศ ด้านทิศเหนือมีรางยื่นออกไปนอกมุขเป็นสะพานเกริน เพื่อใช้เป็นที่เคลื่อนพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นบนพระเมรุ
องค์พระเมรุทั้งด้านในและด้านนอก ประดับตกแต่งด้วยผ้าทองย่นเกือบทั้งหมด โดยใช้สีทองและสีแดงเป็นสีหลัก และมีสีอื่นที่เป็นสีอ่อนหวานประกอบ เพราะเหมาะกับอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ และภายในบางส่วนตกแต่งด้วยลวดลายจิตรกรรมไทย
นอกจากนี้ภายในบริเวณที่ก่อสร้างพระเมรุ ยังได้มีการสร้างอาคารต่างๆ ดังต่อไปนี้
พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ รวมทั้งมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
หอเปลื้อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ตรงมุขหลังของพระเมรุ เป็นอาคารขนาดเล็กภายในเขตราชวัติ หันหน้าเข้าหาพระเมรุ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย มีฝากั้นโดยรอบ หอเปลื้องเป็นสถานที่สำหรับเก็บพระโกศหลังจากได้ เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว และใช้เป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆในการพระราชพิธี เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ ขันน้ำ
ซ่างหรือสำส้าง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างขึ้น ที่มุมทั้งสี่บนชาลาพระเมรุ ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ตลอดงานพระเมรุ
ทับเกษตร คืออาคารที่ปลูกริมแนวรั้วราชวัติ โดย สร้างเป็นอาคารโถงทรงไทย ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพิธี
ศาลาลูกขุน เป็นอาคารโถงทรงโรง สร้างตรงปลายปีก พระที่นั่งทรงธรรมทั้งด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ
ทิม เป็นอาคารจำนวน 6 หลังสร้างติดราชวัติทั้ง 4 ทิศด้านเหนือใต้ด้านละ 1 หลัง ด้านตะวันตกและออกด้านละ 2 หลัง ใช้สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพักและใช้เป็นที่ตั้งประโคมพระศพด้วย
ราชวัติ เป็นแนวรั้วกั้นเป็นเขตปริมณฑลของพระเมรุ ทั้ง 4 ด้าน
• งานศิลปกรรมประกอบพระเมรุ
เพื่อให้พระเมรุมีความสวยงามสมกับพระเกียรติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ คณะกรรมการผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบศิลปกรรมประกอบพระเมรุ ซึ่งประกอบไป ด้วย
รูปเทวดารอบพระเมรุ เป็นรูปเทวดาถอดกายทิพย์ กายละเอียดมีอวัยวะและความเป็นอยู่เป็นทิพย์ ทางพระพุทธศาสนาระบุว่ามีหกชั้นภูมิ แต่ละภูมิมีราชาหรือจอม เทพทุกชั้น รูปเทวดานั่งถือโคมประทีปแก้วมีลักษณะ คล้ายบังแทรกอยู่เหนือแท่นแนวพนักของชั้นไพทีรอบพระเมรุจำนวน 22 องค์ สลับกับรูปเทวดายืนถือฉัตรทอง แผ่ลวด มีจำนวน 20 องค์ รวมเทวดานั่งและเทวดายืนมี 42 องค์ รูปเทวดาเหล่านั้นสร้างจากหุ่นประดับลายอย่างโบราณ แล้วหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ทาสีประดับเลื่อม ใบหน้าและภูษาทรงเขียนสีตามแบบไทย
สัตว์หิมพานต์ หมายถึง สิงสาราสัตว์ ตามจินตนาการ นานาชนิดที่อาศัยอยู่ ณ ป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีฤทธิ์และมีรูปลักษณะต่างๆ กันตามเผ่าพงศ์ มีจำนวนหลากหลายทั้งจตุบาท ทวิบาท และสัตว์ปีก แต่ในครั้งนี้ทางคณะผู้ออกแบบเลือกสัตว์ทวิบาท(สัตว์สองเท้า)ผสมสัตว์ปีกและนางสวรรค์ จำนวนหกรูปหรือสามคู่ ได้แก่
‘กินนร’ เป็นลักษณะครึ่งคนครึ่งนก จะประดับไว้บริเวณทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยจะปั้นเทพกินนรในท่าพนมมือไหว้ แสดงการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
‘อัปสรสีหะ’ ลักษณะครึ่งคนครึ่งสิงห์ ประดับอยู่ด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นด้านที่อัญเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุ โดยปั้นในท่าพนมมือไหว้เพื่อถวายการเคารพ เปรียบเสมือนการคอยรับพระศพขึ้นสู่พระเมรุ
‘นกทัณฑิมา’ ลักษณะถือกระบองจะประดับไว้ด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นที่สำหรับข้าราชการและประชาชนจะขึ้นถวาย สักการะพระศพ ซึ่งมีลักษณะเป็นที่น่าเกรงขาม คอยปราบปรามคนอันธพาลที่อาจขึ้นไปยังพระเมรุ
‘หงส์’ จะจัดสร้างลักษณะเสาหงส์ทางทิศตะวันออกสำหรับเป็นเสารับภูษาโยง ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราช-กุศลพระพิธีธรรมพระศพภายในงานออกพระเมรุ
สัตว์หิมพานต์ทั้ง 4 ชนิดนี้คณะทำงานได้ค้นคว้าข้อมูล จากสมุดไทยทำโบราณสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งสมุดดังกล่าวเป็นการบันทึกการจัดสร้างพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า-นภาลัย รัชกาลที่ 2
พระโกศจันทร์ คือพระโกศที่สร้างด้วยไม้จันทน์หอม แปรรูปไม้ให้เป็นแผ่นบาง โกรกฉลุเป็นลวดลายไม้นั้น ซ้อนติดกันเป็นชั้นๆ จากนั้นจึงนำไปประกอบมัดด้วยลวดลายขนาดเล็กยึดติดกับโครงสร้างโลหะที่ดัดแต่งเป็นรูปทรงพระโกศไว้แล้ว จนลวดลายครบเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด พระโกศจันทน์ที่สร้างครั้งนี้มีขนาดความสูงจากฐานถึงปลายยอด 162.5 ซม. ความกว้างส่วนฐาน 82 ซม. จำนวนลวดลายไม้ที่โกรกฉลุมีทั้งหมด 6,033 ชิ้น
ฉากบังเพลิง คือฉากกั้นใช้เปิดหรือปิดเมื่อเวลาถวายพระเพลิง ซึ่งติดตั้งบริเวณบันไดขึ้นลงพระเมรุ โดยรูปแบบจะเป็น 4 พับ ประกอบ 4 ด้านของพระเมรุ ประดับประดาด้วยเทวดา 16 องค์ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ ซึ่ง เทวดาแต่ละภาพจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของ สี เครื่องประดับ ขัดเงาและลวดลายประกอบตามลักษณะ เฉพาะตัวของผู้เขียน ส่วนลวดลายเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจะใช้ลายดอกพุดตาน แต่ในครั้งนี้จะใช้ลวดลายธรรมชาติเช่นกัน แต่เปลี่ยนมาใช้เป็น ลายใบเทศเพื่อให้สอดคล้องกับลวดลายของพระโกศจันทน์ที่เป็นลายใบเทศด้วย และด้านหลังฉากบังเพลิง เป็นลายดอกแก้วกัลยา
“ภาพฉากพับด้านหลัง จะเป็นภาพลายดอกแก้วผูกเป็นลายเถามีความเชื่อมต่อกัน ซึ่งดอกแก้วกัลยานั้นเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพื่อเป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ ดอกแก้วกัลยาสื่อความหมายถึง ดอกไม้จากนางแก้ว ที่มีน้ำพระทัยสดใสให้แสงสว่าง อบอุ่นกับมวลหมู่พสกนิกร และคนพิการในแผ่นดินไทย ดังน้ำพระราชหฤทัยจากพระองค์ ส่วนภาพเทวดาและนางฟ้าพร้อมด้วยเครื่องสูงต่างๆนั้น สื่อถึงการนำส่งเสด็จ ขึ้นสู่สวรรคาลัย โดยภาพลายฉากบังเพลิงทั้งหมดนี้จะเป็นสีทองบนพื้นแดง ทั้งนี้ ลายส่วนล่างสุดของฉากบังเพลิงจะเป็นลายสัตว์หิมพานต์ ตรงกลางเป็นลายเทวดาและนางฟ้า ส่วนด้านบนสุดจะอัญเชิญพระลัญจกร กว.ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาประดิษฐานไว้ด้วย” น.อ.อาวุธ กล่าว
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้นประมาณ 150-200 ล้านบาท น.อ.อาวุธเปิดเผยว่างบประมาณนี้ได้มีการเทียบเคียงงานการก่อสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้น 120 ล้านบาท เพราะปัจจุบันนี้ราคาวัสดุก่อสร้างต่างๆ มีราคาแพงขึ้นจึงทำให้งบประมาณที่จะใช้สูงตามไปด้วย

• “พระเมรุ”ติดตั้งลิฟต์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
นายอารักษ์ สังหิตกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะประธานคณะวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ทางด้านวิศวกรรมถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นำแนวคิดการออกแบบลิฟต์เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ เนื่องจากบันไดที่จะเสด็จฯ ขึ้นไปยังพระเมรุมีความสูงชันมาก
โดยได้ทำการติดตั้งลิฟต์ด้วยกัน 4 จุด คือจุดที่ 1 บริเวณด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม จุดที่ 2 บริเวณด้านหน้า พระที่นั่งทรงธรรม จุดที่ 3 บริเวณด้านหน้าทางขึ้นพระเมรุ และจุดที่ 4 บริเวณชานชาลาชั้นที่ 2 ของพระเมรุ
“ลักษณะของลิฟต์ทางเสด็จฯ คณะวิศวกรรมได้กำหนดให้ใช้ลิฟต์ระบบไฮดรอลิก รูปแบบขากรรไกร สามารถยกขึ้นลงได้สูง 2.5 เมตร รองรับน้ำหนักได้ 5 ตัน ทดสอบเรียบร้อยแล้ว สามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้อย่างนิ่มนวล ส่วนรอบตัวลิฟต์จะมีผนังกั้นเป็นราวจับและตกแต่งลายให้เกิดความสวยงามสอดคล้องกับองค์พระเมรุ โดยเหลือเพียงการเก็บรายละเอียดและการตกแต่งบางส่วนเท่านั้น” นายอารักษ์อธิบาย

• ‘ดอกไม้สีฟ้า’บานสะพรั่งประดับพระเมรุ
นอกเหนือจากความงดงามของสถาปัตยกรรมที่ถูกต้องตามแบบแผนโบราณราชประเพณีแล้ว ส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยเสริมให้พระเมรุงดงามยิ่งขึ้นนั่นคือ การตกแต่งภูมิทัศน์รอบพระเมรุให้สวยงามด้วยไม้ดอกไม้ประดับ นานาพันธุ์
ดังนั้น ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงนำดอกไม้เมืองหนาวโทนสีฟ้า จากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มา เป็นดอกไม้เด่นใช้ตกแต่งประดับรอบพระเมรุ
สาเหตุที่นำดอกไม้โทนสีฟ้ามาประดับนั้น ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โปรดสีฟ้ามาก ดังนั้นการตกแต่งดอกไม้จึงออกมาเป็นสีฟ้ากับสีน้ำเงิน
การจัดสวนพระเมรุในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะใช้ดอกไม้ทั้งหมด 84 ชนิดเป็นตัวเลขเท่ากับพระชนมายุของสมเด็จพระเจ้าพี่นาง เธอฯ ใช้ทั้งหมดจำนวน 200,000 ต้น อาทิ แพททูเนีย,สแนป ดรากอน, บลูเซลเวีย และอาจูก้า เป็นต้น และในจำนวนดอกไม้ 64,000 ต้น เป็นดอกไม้เมืองร้อน เช่น ดอกดาวเรือง, ดอกบานชื่น ฯลฯ
........
ความสง่างามของพระเมรุนี้ ย่อมจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เกิดขึ้นจากดวงใจอันภักดีของประชาราษฎร์ที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อถวายพระเกียรติ และร่วมน้อมส่งเสด็จสูสวรรคาลัยด้วยความอาลัยอย่างสุดแสน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดยศศิวิมล)
กำลังโหลดความคิดเห็น