xs
xsm
sm
md
lg

น้อมรำลึก “พระพี่นาง” ผ่านปลายพู่กัน 4 ศิลปิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำกล่าวที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพ แทนคำพูดเป็นหมื่นคำ...” เห็นจะเป็นคำพูดที่ไม่ผิดนัก เพราะงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ 4 ภาพขนาดกว้าง 2.4 เมตร ยาว 1.8 เมตร ซึ่งตระหง่านอยู่ตรงหน้า กำลังเล่าเรื่องแทนความรู้สึกของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่มีต่อพระประวัติและพระกรณียกิจ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ภาพทั้ง 4 ภาพนั้นเป็นผลงานของ ปรีชา เถาทอง, สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ, พรชัย ใจมา และ ธีระวัฒน์ คะนะมะ

ทั้งนี้ ทั้ง 4 ภาพเป็นภาพที่เกิดขึ้นในโครงการศิลปกรรม พระประวัติ และพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกศิลปินจำนวน 84 คนมาร่วมถ่ายทอด และนำมาจัดแสดงในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
“ทรงพระเยาว์” ผลงานของ “สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ”
** ภาพทรงพระเยาว์ เรื่องเล่าในความทรงจำ
ภาพแรกมีชื่อว่า “ทรงพระเยาว์” เป็นผลงานของ “สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ” ศิลปินแนวพอร์ตเทรตตัวแทนภาคใต้

สมศักดิ์ เล่าเรื่องราวพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในเหตุการณ์ที่ชวนหวนรำลึกอดีต โดยให้บรรยากาศภาพในความฝัน ผ่านภาพนับตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนเจริญพระชันษาสู่ช่วงวัยรุ่น บอกเรื่องราวความอบอุ่นที่ทรงได้รับจากพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี ความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยใช้โทนสีขาวดำ ไล่มาถึงซีเปีย และค่อยๆ ลงสีให้สุกสว่างเช่นในวัยพระชันษาแรกแย้ม

“เมื่อพูดถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ผมจะนึกถึงผู้หญิงไทยที่สวยมาก พระองค์มีความเป็นไทยสูง หัวข้อที่ได้รับคือทรงพระเยาว์ เราก็เร่งหาข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์ให้มากที่สุด ใช้ภาพที่เล่าเรื่องราววัยเยาว์ของพระองค์ นั่นคือ การเล่นของ 3 พระองค์ ซึ่งภาพจะสะท้อนความเป็นพระโสทรเชษฐภคินีหรือพี่สาวของพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์”

สมศักดิ์ บอกถึงแรงบันดาลใจในการบรรจงวาดพู่กันลงบนผืนผ้าครั้งนี้ ว่า องค์ประกอบของภาพจะสมบูรณ์ไม่ได้หากปราศจากสัญลักษณ์ประจำตัวของพระองค์ นั่นคือ ดอกแก้วกัลยา และสายรุ้งที่เสมือนสะพานส่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จสู่สวรรคาลัย

“ผมได้แนวคิดจากหนังสือแสงหนึ่งคือรุ้งงาม และทราบว่าดอกแก้วกัลยา คือ ดอกไม้ประจำพระองค์ที่ทรงประทานให้ผู้พิการ จึงวาดลงไปในภาพให้มีดอกแก้วกัลยาอยู่รายรอบพระสาทิสลักษณ์เสมือนไว้อาลัย และทอดสายรุ้งทำเป็นดวงไฟเสมือนแสงที่จะช่วยส่งให้พระองค์ไปสู่สรวงสวรรค์”

นอกจากนี้ สมศักดิ์ ยังเล่าด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือด้วยว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เคยเสด็จเปิดนิทรรศการภาพวาดของตนเอง โดยในครั้งนั้นทรงทอดพระเนตรงานทุกชิ้นและทรงให้คำแนะนำและชื่นชมผลงานทุกชิ้น ซึ่งยังความปลาบปลื้มแก่ตนเองเป็นอย่างมาก

“ไม่ว่าเราจะเคยแสดงงานในแกลเลอรี่ดังแค่ไหนมาแล้ว แต่งานนี้สร้างความภูมิใจให้ผมมากและทุ่มเททำงานอย่างสุดหัวใจ และเชื่อว่า ศิลปินคนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ทุกคนร่วมถ่ายทอดและรังสรรค์ความทรงจำเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ด้วยผืนผ้าใบอย่างสุดความสามารถ” สมศักดิ์ บอกเล่าความรู้สึก
“ทรงกรม” ผลงานของ “ปรีชา เถาทอง”
** บันทึกประวัติศาสตร์ ผ่านภาพทรงกรม
ภาพที่ 2 มีชื่อว่า “ทรงกรม” ผลงานของ “ปรีชา เถาทอง” จิตรกรชั้นเยี่ยม และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมและประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร

อาจารย์ปรีชา อธิบายถึงความหมายของทรงกรม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ภาพทรงกรมสื่อถึงพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ผมนำความประทับใจที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำสังข์ ใบมะตูม เจิมพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตอนที่ได้สถาปนาเป็นกรมหลวง ส่วนอีกภาพหนึ่งคือภาพทรงเครื่องตามอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ฉายพระรูปร่วมกัน ซึ่งผมคิดว่าหาดูได้ยากจึงเอามารวมไว้ในภาพเดียวกัน"

อาจารย์ปรีชา เล่าขั้นตอนการทำงาน ว่า จะต้องตีความภาพใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเครื่องอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งจะต้องศึกษารายละเอียดและตรวจสอบเพื่อความถูกต้องอย่างใกล้ชิด
 
“ลักษณะภาพของผมจะเป็นแบบตะวันตกพบตะวันออก มีความเป็นฝรั่งปนไทย เนื่องจากบรรยากาศจะเป็นแบบไทยๆ แต่เราใช้เทคนิคสีและแสงสมัยใหม่เข้ามาโดยใช้โทนสีครึมๆ ให้ดูสื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี ซึ่งตอนแรกการตีความพระอิสริยยศนั้นค่อนข้างคลาดเคลื่อน จึงต้องปรับแก้ไข ซึ่งผมก็เต็มใจที่จะทำเพราะอยากให้งานออกมาดีที่สุด” เจ้าของภาพทรงกรม และตัวแทนศิลปินภาคกลาง บอก
“พระกรณียกิจ” ผลงานของ “พรชัย ใจมา”
** ซาบซึ้งในพระกรณียกิจ
ภาพที่สามมีชื่อว่า “พระกรณียกิจ” ผลงานของ “พรชัย ใจมา" ตัวแทนศิลปินภาคเหนือ ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ปี 2548 และผู้ชำนาญภาพวาดประเพณีท้องถิ่น
 
ด้วยพระกรณียกิจนานัปการอันยากที่ภาพขนาด 2.4x1.8 เมตรจะจุได้ พรชัย จึงเริ่มขั้นตอนการทำงานหาข้อมูลเกี่ยวกับพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่มีมากมาย และเมื่อตกผลึกแนวทางที่จะนำเสนอแล้ว เวลาที่ใช้ในการวาดรูปจึงใช้ไม่มากนัก
 
พรชัย เลือกรวมงานโครงการที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับดำเนินการต่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระกรณียกิจที่เป็นองค์อุปถัมภ์มากมาย โดยคัดเลือกงานเด่นๆ เช่น แพทย์อาสา ทรงเป็นครู สนับสนุนศิลปินและศิลปะไทย จากนั้นนำมาถ่ายทอดผ่านสีอะคริลิก สีฝุ่น และทองคำเปลว ผสมผสานกันทำให้ภาพที่ออกมาสว่างไสว สูงส่ง สะอาดและงดงาม การกระจายออกของสีทองออกมารอบนอก เปรียบเสมือนรัศมีและพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่แผ่ออกมาอย่างถ้วนทั่วโดยถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า

“ผมใช้เทคนิคภาพวาดประเพณีซึ่งเป็นจุดเด่นของผมเข้ามาประกอบ ใช้สีทองสว่างเข้ามาบอกถึงความสูงส่งและความเรืองรองที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มอบให้ปวงชนชาวไทย แกนหลักและจุดเด่นของภาพจะเป็นพระนามย่อ กว.เป็นการเล่าเรื่องโดยที่ไม่มีพระรูปของพระองค์แต่เสนอถึงความสุขของประชาชนของพระองค์มากกว่า แต่รายละเอียดของพระกรณียกิจที่เป็นภาพเล็กๆ นั้นศิลปินอีก 80 ท่านได้เขียนไว้งดงามมากอยู่แล้ว ของผมนี่คือรวมทั้งหมดไว้ในภาพเดียว” ศิลปินภาคเหนือ อธิบาย
“พระชันษาสูง” ผลงานของ “ธีระวัฒน์ คะนะมะ”
** ถวายอาลัยครั้งสุดท้าย
ภาพขนาดใหญ่ชิ้นสุดท้าย ณ รั้วราชวัตร อยู่ในโทนของความนิ่งสงบ โดยใช้ชื่อว่า “พระชันษาสูง” ผลงานของ “ธีระวัฒน์ คะนะมะ” ตัวแทนศิลปินภาคอีสาน ที่ได้ถ่ายทอดอย่างครอบคลุมไปจนกระทั่งถึงงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระพี่นางฯ ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจเมื่อได้เข้าไปสักการะพระศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

“ผมวาดภาพตั้งแต่พระองค์ทรงฉายพระรูปกับท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดา จนกระทั่งถึงวันที่ประชาชนเข้าสักการะ พร้อมขอข้อมูลจากกรมศิลปากรเกี่ยวกับงานพระราชทานเพลิงพระศพ ทำให้ในภาพจะมีราชรถ และรูปพระเมรุ โดยวาดไว้ถึงวันที่มีควันลอยสู่ชั้นสวรรค์ และจินตนาการถึงเหล่าเทวดาที่จะมารับดวงพระวิญญาณ”
 
ภาพรวมของงานชิ้นนี้จึงดูสงบนิ่งผิดกับภาพพระกรณียกิจที่ดูมีชีวิตและมีความหวัง โดยการใช้สีเข้มๆ สีน้ำตาลเข้ม แดง ทำให้บรรยากาศดูหนักและเป็นทางการ จากนั้นจะค่อยๆ ไล่สีให้เบาและจางลงจนเป็นสีเหลือง และทำสุกสว่างในตอนบนสุดที่เป็นชั้นเทพ

“ผมอยากให้ภาพนี้เป็นภาพประวัติศาสตร์ ศิลปินท่านอื่นก็วาดพระกรณียกิจ ภาพที่ยังทรงพระเยาว์ เราก็จะเห็นว่าพระองค์ทรงมีพัฒนาการอย่างไรมาเกือบทุกภาพ ในหัวข้อพระชันษาสูงจึงอยากรวมเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ไว้ล่วงหน้า และนี่คือจินตนาการของศิลปิน” ธีระวัฒน์ สรุปทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้งานคงความเอกภาพ อ.ปรีชา บอกว่า ศิลปินผู้วาดภาพใหญ่ทั้ง 4 คนจะต้องคุยกันเพื่อคุมโทนสีและแสงเงาในงานของแต่ละคนให้อยู่ในแนวทางที่สามารถเล่าพระประวัติและพระกรณียกิจอย่างต่อเนื่องกันได้ไม่ให้หลุดจากสิ่งที่ต้องการสื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ทั้งนี้ก็ต้องไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของแต่ละคนด้วย

นอกจากผลงานภาพวาดผลงานของ 4 ศิลปินแล้ว ยังมีผลงานของศิลปินหน้าใหม่และหน้าเก่าทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียงอีก 80 ชิ้นงานซึ่งมีขนาดกว้าง 100 ซม.ยาว 80 ซม.ที่มีความงดงามไม่แพ้กันร่วมจัดแสดงด้วย โดยภาพทั้งหมดจะติดตั้งบริเวณศาลาลูกขุน อาคารโถงทรงโรง บริเวณปีกพระที่นั่งทรงธรรมทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งประชาชนสามารถร่วมเข้าชมเรื่องราวพระประวัติและพระกรณียกิจสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 18-30 พ.ย.2551 ณ ปริมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น