xs
xsm
sm
md
lg

วธ.จัดทำหนังสือพระราชประวัติ “พระพี่นาง” ฉบับอักษรเบรล-แผ่นพับแจก ปชช.กว่า 2 ล้านเล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการพัฒนาดอยตุง ลงดอกไม้เมืองหนาวประดับพระเมรุแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีก 50 ชนิด จำนวน 1 แสนต้น ผอ.ฝ่ายเกษตรฯ เผยหลังวันที่ 19 พ.ย.จะแจกพันธุ์ไม้ให้ ปชช.ที่เข้าชมพระเมรุให้เป็นไม้มงคล ด้าน วธ.มอบหนังสือพระราชประวัติ พระพี่นางฯ ฉบับอักษรเบรลให้สมาคมสอนคนตาบอดฯ 2 พันชุด เผยมีแผ่นพับพร้อมแจก ปชช.ที่มาถวายดอกไม้จันทน์กว่า 2 ล้านเล่ม


วันนี้ (4 พ.ย. ) นายประวิทย์ บุญมี ผอ.ฝ่ายเกษตร สำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวถึงความคืบหน้าการตกแต่งดอกไม้รอบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า ได้นำไม้ดอกเมืองหนาวมาลงแล้วกว่า 40 ชนิด ดำเนินการประดับตกแต่งรอบพระเมรุไปแล้วจำนวน 1 แสนต้น คิดเป็นร้อยละ 50 และเหลืออีกกว่า 50 ชนิด จำนวน 1 แสนต้น ที่จะทยอยนำมาจากพระตำหนักดอยตุง ใส่รถบรรทุกลงมาตอนเย็นให้ถึงเช้ามืดที่ท้องสนามหลวง เพราะหากถึงตอนสายแล้วแดดจะร้อน ไม้ดอกจะเหี่ยวเฉาได้ เมื่อถึงแล้วจะต้องนำไปประดับตกแต่งตามซุ้มพลาสติกทันที นอกจากนี้ ยังได้นำไม้ดัดมาตกแต่งรอบพระเมรุ จำลองให้คล้ายป่าหิมพานต์เขาพระสุเมรุ เช่น ต้นตะโก อายุ 100 ปี จำนวน 2 ต้น ซึ่งหายากในปัจจุบันนำมาจากชาวสวน อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี และต้นข่อยอายุไล่เลี่ยกัน 2 ต้น แต่ยังหาได้ง่ายอยู่

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ได้จัดทำร่องดินให้มีลักษณะสายน้ำนทีสีทันดรตามคติไตรภูมิ นำดอกไม้ 7 สีแดง ฟ้า ม่วง เหลือง เช่น สแนป ดรากอน, แพททูเนีย, อาจูก้า และ บลูเซลเวีย สื่อถึงสายน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ไม้ดอก 84 ชนิด มอร์นิ่ง กลอรี่, พยับหมอกหรือแคปลีดโวร์ด, โลบีเวีย, บลูเซลเวีย, ฟอร์เก็ตมีน็อต เป็นต้น ปลูกครบในวันที่ 12 พ.ย.และเปิดผ้าพลาสติกออกได้ในคืนวันที่ 14 พ.ย.ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาดอยตุงทำการบ่มเพาะไม้ดอกโทนสีฟ้า ไฮเดรนเยีย, พีตี้โคดอน, ลาร์คสเปอร์ สีทรงโปรดของพระองค์ให้บานสะพรั่งรอบพระเมรุในวันที่ 15 พ.ย.อย่างสวยงาม ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ ซึ่งประชาชนมาร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในวันนั้น จะเห็นความสวยงามของไม้ดอกประดับรอบพระเมรุอย่างสมบูรณ์

“หลังเสร็จพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ วันที่ 19 พ.ย.ไปแล้ว โครงการพัฒนาดอยตุง จะแจกจ่ายพันธุ์ไม้ให้กับประชาชนทั่วไปที่เข้าชมพระเมรุ นำไปปลูกเป็นไม้มงคลประจำบ้าน เหมือนคราวงานพระเมรุมาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเรียบร้อย ก็เปิดให้ประชาชนเข้าไปเก็บได้ ปรากฏว่า เพียงแค่ 20 นาที ไม้ดอกรอบๆ พระเมรุก็หมด ยกเว้นต้นไม้ดัดเท่านั้นที่จะนำกลับพระตำหนักดอยตุง” นายประวิทย์ กล่าว

น.อ. อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานออกแบบจัดสร้างพระเมรุ กล่าวว่า ไม้ดัดที่นำมาประดับตกแต่งรอบเขตพระเมรุ ได้แก่ ต้นตะโก ต้นข่อย มะสังข์ เป็นไม้ในวรรณคดีไทยขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนลงเรือนขุนช้างก็กล่าวถึง ลงมาแล้วเจอต้นมะสังข์ที่ชานเรือน ซึ่งไม้พันธุ์เหล่านี้คนไทยสมัยก่อนนิยมนำมาปลูก เพราะเป็นไม้ดัดง่าย ดูสวยงาม คงทน นิยม ประดับไว้ในกระถางตั้งอยู่บนเรือนและศาลาไทย ซึ่งก็ได้นำไม้ดัดเหล่านี้ใส่กระถางฝังดินไว้รอบพระเมรุ จำลองให้ดูเหมือนป่าหิมพานต์ มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาลในคติไตรภูมิพระร่วงของพุทธศาสนา

**พิมพ์พระราชประวัติอักษรเบรลให้คนตาบอด
ในวันเดียวกัน ที่กระทรวงวัฒนธรรม เวลา 14.00 น.นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังแถลงข่าวการจัดทำวีดีทัศน์ ซีดีเพลง และหนังสือพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉบับอักษรเบรล ว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำ วิดีทัศน์ และซีดีเพลง มีบทเพลงพิเศษ ที่ประพันธ์ขึ้น เพื่อระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และได้นำมาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสรับฟัง จำนวน 10,000 ชุด โดยมีบทเพลงชื่อ “น้ำใจ ไม่มีกาลเวลา” เป็นผลงานของ นายมนชีพ ศิวะสินางกูล ที่ชนะเลิศจากการที่กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดประกวดเนื้อร้อง เรียบเรียงโดย นายบัณฑิต อึ้งรังษี และนายณรงค์ ปรางค์เจริญ ขับร้องโดย นางแมรี่ เจน อึ้งรังษี และนายเอกชัย เจียรกุล เป็นผู้บรรเลงดนตรี

นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับหนังสือพระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ฉบับอักษรเบรล จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสศึกษาและตระหนักถึงพระประวัติและพระกรณียกิจ รวมทั้งพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจะแจกจ่ายให้กับสถานศึกษาสอนคนตาบอดจำนวน 2,000 ชุด
 
ส่วนหนังสือ พระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ฉบับภาษาอังกฤษ ขณะนี้ได้จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำไปแจกจ่ายให้กับทูตานุทูต สื่อมวลชนต่างประเทศ และประชาชนทั่วไป สำหรับฉบับภาษาไทย ได้แจกจ่ายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 75 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในต่างจังหวัด และในงานพระราชกุศลที่พระบรมมหาราชวังแล้ว กว่า 1 ล้านเล่ม

“สำหรับเอกสารที่ดำเนินการแล้วเสร็จและจะแจกให้ประชาชนได้ในวันที่ 14-15 พ.ย.นี้ คือ แผ่นพับพระประวัติ พระกรณียกิจพระพี่นางฯ โดยสำนักราชเลขาธิการ ฉบับไทย 2,000,000 เล่ม และฉบับภาษาอังกฤษ 100,000 เล่ม โดยประชาชนจะได้รับเมื่อมาถวายดอกไม้จันทน์” ปลัด วธ.กล่าว

นายต่อพงษ์ เสนานนท์ นายกสมาคมสอนคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมีหนังสือพระประวัติ และพระกรณียกิจ ฉบับอักษรเบรล นับว่าเป็นการมอบโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตา ได้รับรู้และเป็นการสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ รวมทั้งยังสร้างความปลาบปลื้มให้กับผู้ด้อยโอกาส โดยเชื่อว่า การจัดทำหนังสืออักษรเบรลครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

นายมนชีพ ศิวะสินางกูล ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงน้ำใจ ไม่มีกาลเวลา กล่าวว่า สำหรับแรงบันดาลใจในการประพันธ์เนื้อเพลงนั้น ได้มาจากวันที่ฝนตก ทำให้นึกถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อประชาชน เปรียบเป็นฝนที่ไม่มีฤดูกาล ทำให้ประชาชนมีความชุ่มชื่นจิตใจตลอดเวลา ทั้งนี้ ตนมีความรู้สึกภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ถวายความจงรักภักดีต่อ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรมส่งมอบหนังสือ ให้สมาคมสอนคนตาบอดแล้ว ได้มีผู้พิการทางสายตา 3 คน ทดสอบอ่านบทร้อยกรองถวายความอาลัย ที่บรรจุอยู่ในหนังสือด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น