xs
xsm
sm
md
lg

วิมุตติมรรค:การศึกษาจิตของผู้เป็นสมถยานิก กับ ผู้เป็นวิปัสสนายานิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 09. วิธีศึกษาจิต

4.7 วิธีศึกษาจิต การศึกษาเพื่อให้ทราบ ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลหรือกุศล และจิตที่ควรใช้ทำสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน สามารถกระทำได้ 3 ลักษณะดังนี้คือ

4.7.1 การศึกษาจิตในภาคปริยัติ จิตในภาคปริยัตินั้นจำแนกอย่างย่อได้ 89 ดวงและจำแนกอย่างพิสดารได้ 121 ดวง ซึ่งหาก จะแบ่งกลุ่มของจิตทั้ง 89/121 ดวงนี้ออกเป็น กลุ่มย่อยก็แบ่งได้หลายแบบ เช่น (1) จำแนกตามชาติสกุลได้ 4 แบบคือ จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศลจิต ที่เป็นวิบาก และจิตที่เป็น กิริยา (2) จำแนกตามภูมิมี 4 แบบคือ จิตที่ เกิดในกามาวจรภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตตรภูมิ (3) จำแนกด้วยความดีงามมี 2 อย่างคือ โสภณจิตหรือจิตที่ดีงาม กับ อโสภณจิตหรือจิตอื่นที่นอกเหนือโสภณจิต (4) จำแนกตามโลกมี 2 อย่างคือ โลกียจิตหรือจิตที่ข้องอยู่ในโลก กับโลกุตตรจิตหรือจิตที่พ้นโลก (5) จำแนกตามเหตุมี 2 อย่างคือ สเหตุกจิตหรือจิตที่ประกอบด้วยเหตุ 6 ประการคือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ กับอเหตุกจิตหรือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ 6 ประการนั้น และ (6) จำแนกตามเวทนาได้ 5 แบบคือ จิตที่เสวยสุขเวทนาทางกาย จิตที่เสวยทุกขเวทนาทางกาย จิตที่เสวยโสมนัสเวทนาทางใจ จิตที่เสวยโทมนัสเวทนาทางใจ และจิตที่เสวยอุเบกขาเวทนา รายละเอียดของเรื่องนี้ยืดยาว เกินกว่าจะนำมากล่าวได้ในบทความเรื่องนี้ แต่สรุปได้อย่างย่อๆ ว่าการศึกษาเรื่องจิตในภาคปริยัติธรรมนั้น ถ้าจะให้เข้าใจถ่องแท้ ก็ต้องศึกษาพระอภิธรรมในเรื่องเกี่ยวกับจิต หน้าที่ของจิต และวิถีจิต

4.7.2 การศึกษาจิตในภาคปฏิบัติ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาจิตในภาคปริยัติสามารถศึกษาจิตได้ด้วยการปฏิบัติ 2 วิธี คือ

4.7.2.1 การศึกษาจิตของผู้เป็นสมถยานิก บุคคลผู้มีตัณหาจริตคือเป็นคนรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม และรักความสงบ เหมาะสมที่จะเจริญปัญญาด้วยการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานและเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่การจะเจริญปัญญาด้วยฐานกายและเวทนานั้น ควรศึกษาจิตด้วยการทำสมถกรรมฐานเสียก่อนเพื่อให้จิตสามารถทรงตัวเด่นดวงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีธรรมเอกหรือเอโกทิภาวะ จึงจะสามารถรู้กายและเวทนาได้ชัดเจนตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นไตรลักษณ์ ซึ่งการทำสมถกรรมฐานนั้นให้เลือกอารมณ์ที่เหมาะกับจริตนิสัยของตนเอง เช่น ผู้ใดถนัดที่จะรู้ลมหายใจก็รู้ลมหายใจ ผู้ใดถนัดที่จะบริกรรมพุทโธก็บริกรรมพุทโธ ผู้ใดถนัดที่จะรู้อิริยาบถ 4 ก็รู้อิริยาบถ 4 และ ผู้ใดถนัดที่จะรู้ท้องพองยุบก็รู้ท้องพองยุบ เป็นต้น แต่ในขณะที่รู้อารมณ์กรรมฐานนั้นมีเคล็ดลับสำคัญคือจะต้องรู้ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งโล่งสบาย เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ให้พวกเรามีสติตามรู้อารมณ์กรรมฐานนั้นเรื่อยๆ ไปไม่กดข่มบังคับจิต จนจิตเคล้าเคลียกับอารมณ์นั้นได้เองโดยไม่ต้องบังคับ แล้วใช้ปัญญาสังเกต เพียงเล็กน้อยก็จะเห็นว่าอารมณ์กรรมฐานทั้งปวงนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ส่วนจิตเป็นผู้รู้/ผู้ดูอารมณ์นั้นๆ ถึงจุดนี้ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าร่างกายนี้หายใจแต่จิตเป็นผู้ดูกายที่หายใจอยู่ จิตบริกรรมพุทโธและจิตเป็นผู้รู้การบริกรรม มือเคลื่อนไหวแต่จิตเป็นผู้ดูกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายอยู่ในอิริยาบถต่างๆ แต่จิตเป็นผู้ดูกายในอิริยาบถต่างๆ ร่างกายมีท้องพองยุบแต่จิตเป็นผู้ดูกายที่พองยุบ เป็นต้น

เมื่อฝึกซ้อมมากเข้าในที่สุดจิตก็จะตั้งมั่นเป็นผู้รู้/ผู้ดูอยู่เป็นนิจ นี้คือจิตสิกขาอย่างง่ายในภาคปฏิบัติสำหรับผู้เป็น สมถยานิก แต่หากจะดำเนินจิตสิกขาให้สมบูรณ์ แบบเต็มที่จะต้องทำกรรมฐานบางอย่างที่สามารถยังจิตให้บรรลุถึงทุติยฌาน (ตามนัยพระสูตร) หรือตติยฌาน (ตามนัย พระอภิธรรม) เช่น การเจริญอานาปานสติ เป็นต้น ซึ่งฌานดังกล่าวนี้จะมีองค์ธรรมสำคัญคือธรรมเอกหรือเอโกทิภาวะเกิดขึ้น เมื่อจิตถอนออกจากฌานแล้วธรรมเอกหรือจิตที่เป็นผู้รู้จะยังทรงตัวเด่นชัดอยู่ได้อีกช่วง หนึ่ง จึงน้อมจิตผู้รู้นี้ไปเพื่อให้เกิดญาณทัศนะหรือปัญญา ด้วยการตามรู้กายหรือเวทนาที่กำลังปรากฏต่อไป เมื่อธรรมเอกอ่อน กำลังลงก็กลับไปทำสมถกรรมฐานใหม่ หมุน เวียนอยู่อย่างนี้เป็นการใช้สมาธินำปัญญา

4.7.2.2 การศึกษาจิตของผู้เป็นวิปัสสนายานิก บุคคลผู้มีทิฐิจริตคือเป็นคนชอบคิดนึกปรุงแต่ง ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบถกเถียงค้นหาความจริง หรือเป็นเจ้าลัทธิอุดมการณ์ เหมาะสมที่จะเจริญปัญญาด้วยการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่การจะเจริญปัญญาด้วยฐานจิตและธรรมนั้น ควรศึกษาจิตด้วยการตามสังเกตจิตไปเลยด้วยวิธีการง่ายๆ คือให้หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกของตนเอง ซึ่งบางคราวก็สุข บางคราวก็ทุกข์บางคราวก็เฉยๆ บางคราวเกิดความผ่องใสบางคราวเกิดความเศร้าหมอง บางคราวหนักบางคราวเบา บางคราว โลภบางคราวไม่โลภ บางคราวโกรธบางคราว ไม่โกรธ บางคราวหลง/เผลอ บางคราวรู้สึกตัว บางคราวฟุ้งซ่านบางคราวหดหู่ บางคราว วิ่งไปที่ตา บางคราววิ่งไปที่หู บางคราววิ่งไปทำงานทางใจ บางคราวเผลอบางคราวเพ่ง ให้คอยรู้คอยดูอยู่เนืองๆ ไม่นานก็จะเข้าใจสภาวะของจิตตนเองได้ แล้วจิตจะพลิกเข้าสู่ความสงบเองเป็นระยะๆ เป็นการใช้ปัญญานำสมาธิ

4.7.3 การศึกษาจิตในภาคปฏิบัติเทียบ เคียงกับคำสอนในภาคปริยัติ วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยให้ทำความสงบจิตตามข้อ 4.7.2.1 หรือหมั่นสังเกตความรู้สึกตามข้อ 4.7.2.2 และอ่านเรื่องจิตสิกขาในบทความนี้ประกอบด้วย ไม่นานก็จะเกิดความรู้ความ เข้าใจจิตตนเองได้กว้างขวางรัดกุมยิ่งขึ้น และการเจริญปัญญาในขั้นต่อไปก็จะเป็นเรื่องง่าย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ผลของการศึกษาเรื่องจิต)
กำลังโหลดความคิดเห็น