xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องยอดหอระฆัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นที่ทราบกันดีว่า หอระฆังเป็นองค์ประกอบของพุทธสถานที่มีคุณค่าและความสำคัญยิ่ง เป็นแหล่งความรู้ในเรื่องของรูปแบบทางศิลปกรรมในแต่ละยุคสมัย

ดังจะพบว่า มีการประดับหอระฆังด้วยเครื่องยอดรูปทรงต่างๆ อันเป็นการสะท้อนความวิจิตรบรรจงในการสร้าง ซึ่งเครื่องยอดต่างๆเหล่านี้ล้วนมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับรูปแบบของเครื่องยอดในสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น เครื่องยอดของมณฑปอีกด้วย

สำหรับหอระฆังนี้มีนักวิชาการจำแนกเครื่องยอดไว้ ๙ รูปทรง ได้แก่

๑. ทรงคฤห์ ได้แก่ หอระฆังที่มีการสร้างหลังคาทรงจั่วอย่างเรือนพักอาศัยทั่วไป ที่มีการประดับตกแต่งเครื่องบนด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตัวอาคารส่วนใหญ่เป็นเครื่องไม้ เช่น หอระฆังวัดละมุดใน จ.นนทบุรี
๒. ทรงมณฑป ได้แก่ หอระฆังที่มีการสร้างหลังคาเป็นทรงกรวยแหลมซ้อนชั้นอย่างปิรามิด มีการตกแต่งประดับเช่นเครื่องยอดของบุษบก โดยมากใช้กับอาคารแบบเครื่องไม้ เช่น หอระฆังวัดธ่อเจริญธรรม จ.เพชรบุรี
๓. ทรงจัตุรมุข ได้แก่ หอระฆังที่ทำหลังคาเป็นรูปจั่วกากบาทอย่างที่เรียกว่า“จัตุรมุข” คือมีส่วนที่เรียกว่าว่าคูหา ยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ประดับเครื่องหลังคาด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีปีกนกเป็นชายคาคลุมโดยรอบ เช่น หอระฆังวัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ
๔. ทรงบุษบก ได้แก่ หอระฆังที่ทำรูปทรงและประดับตกแต่งนับตั้งแต่ส่วนฐาน ตัวเรือน จนถึงเครื่องยอดเป็นอย่างรูปทรงบุษบก อาคารลักษณะนี้มักเป็นอาคารเครื่องก่อ ได้แก่ หอระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ
๕. ทรงยอดมงกุฎ ได้แก่ การใช้รูปทรงหลังคาอย่างเครื่องทรงพระมหามงกุฎประดับเป็นส่วนยอดเรือน อาคารลักษณะนี้มักเป็นอาคารเครื่องก่อ เช่น หอระฆังวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ
๖. ทรงยอดเกี้ยว ได้แก่ การใช้รูปทรงหลังคาอย่าง“จุลมงกุฎ” หรือ “พระเกี้ยว” (สัญลักษณ์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่๕) ประดับบนส่วนยอดเรือนอาคาร หอระฆังที่ใช้รูปทรงอย่างนี้มีปรากฏเพียงแห่งเดียว คือ หอระฆังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕
๗. ทรงยอดเจดีย์ ได้แก่ หอระฆังที่นำรูปทรงของเจดีย์มาประดับเป็นเครื่องยอด โดยสร้างให้เหมือนกับว่ามีเจดีย์ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่ เช่น หอระฆังวัดธรรมาราม จ.อยุธยา
๘. ทรงปราสาทยอด ได้แก่ การนำรูปแบบของเจดีย์ทรงปราสาทยอด มาเป็นรูปแบบหลังคาของหอระฆัง กล่าวคือ เป็นหลังคาทรงจัตุรมุข แล้วเทินรับยอดเจดีย์แบบต่างๆโดยมีความคล้ายคลึงกับเจดีย์ทรงปราสาทยอดซึ่งมีความนิยมมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย เช่น ยอดปรางค์ที่หอระฆังวัดใหม่ จ.อยุธยา ยอดมงกุฎที่หอระฆังวัดเกาะแก้ว จ.เพชรบุรี ยอดเจดีย์ที่หอระฆังวัดหิรัญรูจี กรุงเทพฯ ยอดมณฑป ที่หอระฆังวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็นต้น
๙. แบบเบ็ดเตล็ด ได้แก่หอระฆังที่มีเครื่องยอดรูปทรงต่างไปจากขนบธรรมเนียมการสร้างอย่างโบราณ มีการประยุกต์ให้มีรูปทรงที่แปลกตาขึ้น เช่น ทรงมณฑปยอดปรางค์ ที่หอระฆังวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ทรงเทศแบบสี่เหลี่ยม ที่หอระฆังวัดชิโนรส กรุงเทพฯ เป็นต้น

เครื่องยอดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่ามีทั้งรูปแบบที่เป็นแนวประเพณี คือ ดำเนินการสร้างตามรูปแบบเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จวบจนมีการสร้างรูปทรงใหม่ๆ ให้มีความงดงามแปลกตาออกไปในปัจจุบันที่เรียกว่า รูปทรงเบ็ดเตล็ด

รูปแบบต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเครื่องยืนยันความสำคัญของหอระฆังว่า ไม่ได้ถูกลดบทบาทลงไป แต่กลับทวีคุณค่าในเชิงการอนุรักษ์มากขึ้น ดังสะท้อนได้จากการสร้างและการบูรณะหอระฆังเก่าแก่ ให้ปรากฏหลักฐานมาจวบจนปัจจุบัน

เอกสารอ่านประกอบ
กรมศิลปากร.วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๔๐.
สงวน รอดบุญ,พุทธศิลปรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, ๒๕๒๖.
สมคิด จิระทัศนกุล.วัด:พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดยนฤมล สารากรบริรักษ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น