xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "พระโกศ-พระลอง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยต่างเศร้าโศกต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เจ้าฟ้าผู้ทรงพระคุณอเนกอนันต์
ตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จสวรรคต หรือสิ้นพระชนม์จะมีการประกอบพิธีบรรจุพระบรมศพ พระศพ ลงในพระโกศ
แม้ว่าในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญพระบรมศพ และพระศพ ลงหีบพระศพ แทนการใส่พระโกศ อาทิ พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระศพสมเด็จพระเจ้า-พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงประดิษฐานพระโกศตามพระยศไว้เช่นเดิม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานอธิบายว่า คำว่า “โกศ”หมายถึง ที่ใส่ศพนั่งเป็นรูปกลมทรงกระบอก ฝาครอบมียอด
คำว่า “ลอง” หมายถึง ของที่ทำรองรับไว้ชั้นใน เช่น ลองพระสุพรรณราช ; ส่วนที่ประกอบชั้นนอกของพระโกศหรือโกศ เรียกว่าพระลอง หรือลอง เรียกพระโกศที่ประกอบนอกว่า พระลอง มีหลายลำดับตามฐานานุศักดิ์
ลองใน (น.) โกศชั้นใน
สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน เล่ม ๓ กล่าวว่า “โกศ” คือที่ใส่ศพนั่ง มีอยู่ ๒ ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน
ชั้นนอก เรียกว่า “ลอง” (ทำด้วยโครงไม้หุ้มทอง ปิดทอง ประดับกระจกอัญมณี)
ชั้นใน เรียกว่า “โกศ” (ทำด้วยเหล็กหรือทองแดงหรือ เงินปิดทอง) ชั้นนอกที่เรียกว่าลองนั้นสำหรับประกอบปิด “โกศชั้นใน”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงให้ความหมายถึง โลหะชั้นในที่เป็นโกศใส่พระศพ ซึ่งความไม่ ตรงกับสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ดังนี้
“...คำว่าพระลอง และ พระโกศ มักใช้เรียกแทนกันอยู่เสมอจนทำให้มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน บ้างก็ว่า พระลอง หมายถึงสิ่งประดับภายนอกของโกศ ซึ่งสามัญสำนึกมักเรียก พระลองเป็นพระโกศ...”
ธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีหมายราชการให้เรียก ‘ชั้นใน’ ว่า “พระโกศ” และเรียก ‘ชั้นนอก’ ว่า “พระลอง”
เมื่อพิจารณาคำว่า “โกศ” โดยนิรุกตินัย คำเดิมเป็นภาษา สันกฤต แปลว่า “เครื่องห่อหุ้มหรือครอบ”
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงประทานความเห็นเรื่องที่มาของโกศว่า “...เมื่อคิดดูว่าโกศศพจะมาแต่อะไร ก็คิดเห็นไปว่า ที่จะมาแต่มณฑปที่ตั้งศพแต่ให้เล็ก ลง มีสิ่งซึ่งพาให้คิดเห็นไปเช่นนั้นได้อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่า โกศซึ่งทำเป็นรูปมณฑปทีเดียวก็มี ที่เรียกว่าโกศมณฑป”
“...สิ่งที่พาให้คิดเห็นไปว่า โกศมาแต่มณฑป มีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชั้นที่ตั้งโกศศพนั้นมีสองอย่าง อย่างน้อยเป็น ชั้นแว่นฟ้าคือแท่นกระจก สำหรับรองตั้งในเรือน อย่างใหญ่ เป็นชั้นเบญจา หุ้มเงินหุ้มทองอังกฤษ อย่างใดก็แล้วแต่ต้องการ...”
ศาสตราจารย์พลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ราชบัณฑิต แสดงความเห็นไว้ในหนังสือพระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ว่าไทยน่าจะรับอิทธิพลลัทธิพราหมณ์จากขอม ซึ่งใช้โกศใส่พระศพพระเจ้าแผ่นดิน ในการสร้างโกศนี้ ไม่มีผู้ใดทราบแน่นอนว่าเริ่มตั้งแต่สมัยใด โดยสันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย จากคำบอกเล่าของสมเด็จกรมพระยานริศฯ ที่ตรัสไว้ว่า “...ศพของพ่อเมืองขึ้นเกวียนไปด้วย เมื่อใดมีโอกาสจึงทำการเผาศพ...” ซึ่งการ ตั้งในเกวียนตั้งแบบโกศน่าจะง่ายกว่าหีบยาวๆ
ตามประวัติการสร้าง‘พระโกศทองใหญ่’นั้น (หรือ‘พระลองทองใหญ่’ ตามคำอธิบายในสารานุกรมไทย) กล่าวว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นทรงพระศพ สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ มารวมกันสร้างโกศทองคำอันมีลวดลายเครื่องตกแต่งอย่าง งดงาม ซึ่งได้นามว่า “พระโกศทองใหญ่” เพื่อเตรียมไว้สำหรับพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระมเหสี หรือเจ้าฟ้าชั้นสูง
พระโกศทองใหญ่สามารถถอดออกได้เป็นส่วนๆ และเมื่อนำมาใช้ก็ประกอบเข้าด้วยกัน
โกศชั้นในสำหรับพระมหากษัตริย์และพระมเหสี ทำด้วย เงินปิดทอง พระบรมศพหรือพระศพย่อมลงมาเป็นทองแดง ปิดทอง หากสามัญชนจะเป็นเหล็กปิดทอง
ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวง นรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ดังนี้
“...กุดั่น แปลว่าลวดลาย ลวดลายอย่างพระโกศทองใหญ่ นั้นควรจะเรียกว่า กุดั่น แต่ในภาษาราชการ เขาเรียกพระโกศสมเด็จพระพี่นาง(ในรัชกาลที่ ๑)นั้นว่ากุดั่นน้อย กุดั่นใหญ่ ส่วนพระโกศแปดเหลี่ยมยอดมงกุฏ เขาเรียกว่า พระโกศทองใหญ่...”
นั่นหมายความว่า ลวดลายของพระโกศทองใหญ่นั้นคือ ลายกุดั่น อันเป็นทองแกมแก้ว คือการประดับเพชรพลอยหรือกระจก และยังหมายถึงลวดลายของดอกไม้ ๔ กลีบรวมกันอยู่เป็นแถวแนว ถ้าหากแยกกันอยู่จะเรียกลายนี้ว่า “ลายประจำยาม”
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระโกศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ เรียกว่า“พระโกศทองรองทรง” หุ้มด้วยทองคำ มีศักดิ์เสมอพระลองทองใหญ่รัชกาลที่ ๑ โดยโปรดฯ ให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นเพื่อใช้แทนที่พระโกศทองน้อย
พระโกศทองใหญ่มีการประดับถวายพระเกียรติอย่างสูง สุด คือมีดอกไม้เพชรเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์บนยอดพระโกศทองใหญ่ ฝาพระโกศประดับดอกไม้ไหว เฟื่อง และพู่เงิน ส่วนเอวพระโกศประดับดอกไม้เอว
พลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ให้ความเห็นในหนังสือเล่มดังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของการบรรจุพระศพในพระโกศนั้น ได้มีความหมายลึกซึ้งถึงการแสดงออกซึ่ง พระเกียรติยศ รูปแบบทรงปิรามิดหรือทรงกรวยยอดแหลมย่อมชี้ทางไปสู่สวรรค์ ซึ่งเป็นแนวความคิดเรื่องของความเป็นสมมติเทพของกษัตริย์ ซึ่งกำลังเสด็จพระราชดำเนินสู่สรวงสวรรค์

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดยกีรติ)



กำลังโหลดความคิดเห็น