xs
xsm
sm
md
lg

มหาเสมา กรอบสังฆกรรมที่ใหญ่ขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดังที่ได้กล่าวมาในฉบับก่อนหน้านี้แล้วว่า ‘เสมา’ หรือ ‘สีมา’ คือหลักกำหนดเขตพุทธาวาส เพื่อให้พระภิกษุได้ทำสังฆกรรมร่วมกัน โดยที่ผ่านมาเสมามีรูปแบบและการประดับตกแต่งแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้เกิดความหลากหลายในเชิงช่าง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเสมาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีความแปลกและความสำคัญในเรื่องของแนวความคิด คติในการสร้าง เสมาที่ว่านี้ เรียกว่า ‘มหาเสมา’
พิทยา บุนนาค ได้อธิบายเรื่องมหาเสมา ไว้ในบทความ
“เรื่องของเราสีมา” โดยอ้างถึง ‘กัลยาณีสีมา’ ซึ่งมีจารึกภาษามอญ และภาษาบาลี พอเป็นหลักฐานว่า สีมากัลยาณีได้พื้นฐานมาจากอรรถกถา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็น ของพระอรรถกถาจารย์ชื่อ พระมหาสุมันตเถระ และพระมหาปทุมเถระ อรรถกถาดังกล่าวอธิบายถึงวิธีผูกมหาสีมา วิธีผูกขัณฑสีมา และวิธีผูกสีมา ๒ ชั้น
ในการผูกพัทธเสมา ๒ ชั้นนี้สามารถเรียกแยกได้ว่า
มหาเสมา คือ พัทธเสมาใหญ่
ขัณฑเสมา คือ พัทธเสมาที่อยู่ภายใน มีความหมาย ถึงเขตที่ย่อยลงไป ซึ่งอยู่ในมหาเสมาอีกต่อหนึ่ง
เมื่อมีเสมาสองชั้นเช่นนี้แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง สร้างสิ่งซึ่งคั่นเสมาทั้งสองไว้ไม่ให้ปนกันนั่นคือ ‘สีมันตริก’
สีมันตริก คือ ระยะของช่องว่างที่จะต้องเว้นไว้ระหว่างมหาเสมาและขัณฑเสมา โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “เพื่อมิให้เขตของสีมาทั้งสองระคน(สังกระ) กัน” ในครั้งพุทธกาล มีเรื่องเกี่ยวกับสีมันตริกนี้ กล่าวคือ เมื่อพระฉัพพัคคีย์ ได้สมมติเขตเสมาทับซ้อนเสมาที่มีอยู่แล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงไปร้องต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึง ได้ห้ามไม่ให้มีเขตเสมาทับกัน และให้เว้นที่(สีมันตริก) ระหว่างเขตพัทธเสมาไว้
การประดิษฐานมหาสีมาเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยทรงเห็นว่าหากเกิดการทำสังฆกรรมต่างลักษณะขึ้น พร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน ย่อมไม่สามารถใช้อุโบสถที่มีอยู่แห่งเดียวร่วมกระทำได้ ต่อเมื่อมีมหาเสมาล้อมรอบแล้ว ทุกพื้นที่ภายในเขตมหาเสมาสามารถเลือกทำสังฆกรรมได้ เช่น พระวิหาร ศาลาราย ศาลาการเปรียญ หรือแม้แต่กุฏิสงฆ์
โดยวัดซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างนั้นล้วนมีมหาสีมาทั้งสิ้น ได้แก่ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดราชประดิษฐ์ฯ วัดมกุฏกษัตริยาราม และวัดปทุมวนาราม (มหาเสมาของ วัดปทุมวนารามไม่สามารถสืบค้นลักษณะแบบอย่างและตำแหน่งได้ ทั้งนี้ อาจถูกเคลื่อนย้ายหรือรื้อถอนไปครั้งมีการถมสระหรือขยายถนนหน้าวัด)
สมคิด จิระทัศนกุล ได้ทำการจำแนกรูปแบบของมหา เสมาไว้ ๔ ลักษณะ คือ
๑. มหาเสมาแบบก้อนศิลา เป็นมหาเสมาที่ทำด้วยศิลาขนาดย่อม ไม่มีการตกแต่งลวดลายแต่ประการใด เพียงแต่ถากผิวให้มีสัณฐานเป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยมมนหยาบๆเท่านั้น รูปแบบนี้พบเพียงวัดเดียวที่วัดบรมนิวาส เท่านั้น
๒. มหาเสมาแบบยอดบัวตูม เป็นมหาเสมารูปแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำด้วยหินแกรนิต ส่วนปลายยาวรวบเข้าหากันทั้งสี่ด้านคล้ายรูปดอกบัวตูม พบที่ มหาเสมาวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งมีส่วนครอบอีกชั้นหนึ่ง โดยสร้างซุ้มเป็นลักษณะคูหากลม มีทางเดินด้านในเพียงช่องเดียว หลังคาทำทรงสูงรูปโค้งอย่างจีน
๓. มหาเสมาแบบแท่งเสมา เป็นมหาเสมาที่ทำเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวละเลียดขึ้นไปตามแนวความสูงของกำแพง ส่วนปลายสลักด้วยหินแกรนิตเป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยม บริเวณตัวแท่งนั้นสลักจารึกการประดิษฐานและตำแหน่ง ของทิศ พบที่ มหาเสมาวัดราชประดิษฐ์ฯ (การสร้างมหาเสมาโดยแบบที่ไม่ปรากฏขัณฑเสมา และสีมันตริก เป็นเพียงมหาเสมาเพียงอย่างเดียว พบที่วัดราชประดิษฐ์ฯเท่านั้น)
๔. มหาเสมาแบบเสมาโปร่ง เป็นมหาเสมาที่ทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวแนบไปตลอดแนวความสูงของกำแพงเช่นกัน ส่วนปลายทำรูปทรงล้อเสมาแท่ง แต่ทำใน ลักษณะของเสมาโปร่ง คือแต่ละด้านเป็นซุ้มคูหาทะลุถึง กันทั้งสี่ด้าน พบที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ทราบถึงแรงบันดาลใจที่ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้เขต ของการทำสังฆกรรมครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งนับว่าสร้างความพิเศษให้เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีเพียงวัดที่พระองค์ทรงสร้าง เพียง ๕ วัดเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ควรค่ากับการศึกษา ในเรื่องของการทำตามพระอรรถกถาว่าด้วยการสร้างมหาเสมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งยังส่งอิทธิพลในการสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระองค์มีพระราชดำริให้สร้างวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล มีมหาสีมาเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร ๘ เสาประดิษฐานไว้ที่กำแพงด้วยเช่นกัน

เอกสารอ่านประกอบ
กรมศิลปากร. วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรม, ๒๕๔๐.
พระเทพโมลี. พัทธสีมา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แพร่การช่าง, ๒๕๑๓
พิทยา บุนนาค. “เรื่องของเราสีมา” วารสารไทยคดีศึกษา. ปีที่ ๓, ฉบับที่ ๑ (ต.ค.๒๕๔๘-มี.ค.๒๕๔๙) : หน้า ๑๒๗ - ๑๖๐.
สมคิด จิระทัศนกุล. รูปแบบพระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
------------------.วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดยนฤมล สารากรบริรักษ์)



กำลังโหลดความคิดเห็น