เสมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกันกับรูปแบบของศิลปกรรมแขนงอื่นๆ กล่าวคือในช่วงอยุธยาตอนปลาย มีการประดับลวดลายที่ซุ้มเสมาแล้ว มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การตกแต่งลวดลายจึงไม่ใช่ เพียงที่ซุ้มเสมาเท่านั้น หากแต่ยังปรากฏความหลากหลายของรูปทรงและลวดลายที่ประดับอยู่ที่ใบเสมาด้วย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะและแบบแผนของผังเสมาโดยสังเขป แบ่งออกเป็น ๔ ลักษณะ คือ
๑.เสมาลอย คือ การปักใบเสมาบนฐานที่ตั้งบนพื้นโดยตรง และตั้งอยู่โดดๆรอบพระอุโบสถ
๒.เสมาบนกำแพงแก้ว คือ เสมานั่งแท่นที่มีกำแพงแก้วชักถึงกันทั้ง ๘ แท่น
๓.เสมาแนบผนัง คือ เสมาที่ตั้งหรือประดับเข้ากับส่วนของผนังพระอุโบสถ
๔.เสมาแบบพิเศษ คือ การใช้แบบอย่างเสมาลักษณะพิเศษต่างจากแบบแผนทั่วไป
ซึ่งจะพบความหลากหลายของแผนผังการวางเสมาในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ รูปแบบของใบเสมาได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่มาก แต่ว่ามีการตกแต่งส่วนยอดของใบเสมาด้วยการให้มียอดเรียวสูงขึ้นควั่นเป็นสาย ปล้อง และประดับส่วนไหล่ของใบเสมาด้วยลวดลายคล้ายบัวคอเสื้อ ขอบใบเสมายกเป็น ขอบสองชั้น ลายทับทรวงที่ประดับอยู่ตรงกึ่งกลางเป็นรูปรีคล้ายใบโพธิ์สองชั้น เชิงล่างบริเวณมุมทั้งสองสลักเป็นรูปนาค
จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นมาก มีการสร้างวัดวาอารามไม่ว่าจะเป็นที่เมืองหลวงหรือปริมณฑล รูปแบบของเสมาในรัชสมัยนี้มีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายที่ตรงกลางใบเสมามากกว่าเดิม และเพิ่มลวดลายริ้บบิ้นผูก ประดับกับลายทับทรวงที่อยู่ตรงกลางนั้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ความหลากหลายของรูปแบบใบเสมาก็ถือกำเนิดขึ้น มีการ คิดประดิษฐ์รูปทรงของใบเสมาให้แตกต่างจากแบบเดิมๆ โดยอาศัยรูปแบบของเสานางเรียงที่มีมาก่อนแล้วในสมัยโบราณ ซึ่งจะประดับรอบทางเดินของปราสาทหินต่างๆ โดย ทำเป็นทรงหม้อ หรือหัวเม็ดทรงมัณฑ์ คอดกิ่ววางอยู่เหนือแท่น ตรงมุมทั้งสี่สลักเป็นรูป เศียรนาค บางครั้งมีการทำเป็นรูปดอกบัวในส่วนตัวหัวเม็ด
ในสมัยนี้เองที่พบว่า มีการสลักใบเสมาด้วยลายพระธรรมจักร โดยยังคงได้รับความ นิยมมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงลวดลายที่มีความงดงามและรูปทรงที่ต่างจากยุคโบราณ หากแต่เป็นเรื่องของการประดิษฐานใบเสมา ที่พบว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
กล่าวคือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากจะพบว่าการปักใบเสมารายล้อมรอบพระอุโบสถอันเป็นการบ่งบอกถึงเขตบริเวณให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม ยังพบว่า นอกจากบริเวณรอบๆพระอุโบสถแล้ว ยังพบการประดิษฐานใบเสมาแนบผนังของพระอุโบสถด้วย อาทิ
ใบเสมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเสมาที่มีการสร้างได้วิจิตรงดงาม คือมีการสลักลวดลายตรงกลางใบเสมาด้วยรูปครุฑยุดนาค และขอบรอบใบเสมาคือตัวนาค นอกจากนี้ยังพบใบเสมาแนบผนังภายในพระอุโบสถ โดยสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอีกด้วย
ใบเสมาวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ที่มีการเพิ่มเติมลวดลายด้วยริ้บบิ้นผูกกับทับทรวงที่กลางใบเสมา รอบขอบเป็นรูปกนกนาค รองรับด้วยฐานบัวเหนือฐานสิงห์
ใบเสมาวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นใบเสมาหินทรายแกะเป็นรูปดอกบัว ตามชื่อของวัด กรอบเป็นแนวสองชั้น รองรับด้วยกลีบบัว และรองรับด้วยฐานสิงห์ ๑ ฐาน
นอกจากนี้ ยังพบใบเสมาวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เป็นเสมาสลักด้วยหินอ่อนติดอยู่ที่มุมทั้งสี่ทิศ ซึ่งสลักรูปท้าวจตุโลกบาลประจำทิศทั้งสี่ คือ ท้าวธตรส ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ
จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้ทราบว่าเสมาแนบผนังพระอุโบสถได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยทีเดียว หากแต่ในช่วงนี้ ความสำคัญของซุ้มเสมาก็มีเพิ่มเข้ามาด้วย ทำให้เสมาที่ปักรายรอบพระอุโบสถ มีความนิยมมากกว่า
ในฉบับหน้าจะกล่าวถึงวิสุงคามสีมา อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “มหาสีมา” เป็นการปักเสมา บนกำแพงแก้ว ซึ่งฉายให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในศาสนาพุทธในอีกมิติหนึ่ง
เอกสารอ่านประกอบ
กรมศิลปากร. วิวัฒนาการพุทธสถานไทย. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๓๓.
กรมศิลปากร. วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๔๐.
พระเทพโมลี. พัทธสีมา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แพร่การช่าง, ๒๕๑๓.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี:วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
สันติ เล็กสุขุม.ศิลปะอยุธยา : งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๒.
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดยนฤมล สารากรบริรักษ์)