xs
xsm
sm
md
lg

หอระฆัง-หอกลอง โมงยามในวัฒนธรรมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอระฆัง วัดเกาะแก้วสุทธาราม จ. เพชรบุรี
ในสมัยโบราณ การบอกเวลาในโมงยามต่างๆจะใช้การตีกลองและระฆังเป็นสำคัญ ดังจะพบว่า มีการสร้างอาคารสำหรับแขวนกลองและระฆังเหล่านี้ในการเป็นศูนย์กลางของการบอกเวลาที่เรียกว่า หอระฆังและหอกลอง
หอระฆังและหอกลอง เป็นอาคารประเภทหนึ่งที่ปรากฏการสร้างมาแต่ครั้งโบราณ จนถึงปัจจุบัน โดยมากพบในวัด ทั้งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ใช้แขวนระฆังและกลองสำหรับตีบอกเวลา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทราบเวลาสำหรับการประกอบวัตรปฏิบัติต่างๆ โดยพร้อมเพรียงกันอันได้แก่ การทำวัตรเช้า-เย็น การฉันเพล เป็นต้น
รูปแบบและโครงสร้างของหอระฆังและหอกลองนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจแตกต่างกันเฉพาะชื่อเรียกเท่านั้น
โดยทั่วไป มักสร้างขึ้นโดยใช้แผนผังรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยเน้นให้มีรูปทรงสูง สามารถจำแนกประเภทได้ ๒ ประเภทคือ
๑. ชนิดเครื่องไม้ หมายถึงประเภทที่สร้างตัวอาคารด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆเป็นไม้ทั้งสิ้น มีไม้พาดเป็นขื่อสำหรับแขวนระฆังหรือกลอง มีความโปร่งโล่ง เพราะไม่ได้ก่อฝาผนังทึบตัน เช่น หอระฆัง วัดเกาะแก้วสุทธาราม จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า รูปแบบของหอระฆังนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ยังคงความเป็นเรือนเครื่องไม้แบบโบราณ
นอกจากนี้ยังพบหอกลองชนิดเครื่องไม้ที่มีคุณค่ายิ่ง คือ หอกลอง วัดโคกบัวราย อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นหอกลองสูงสามชั้น มีความเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน โครงสร้างก็เป็นแบบโปร่งโล่งและมีเอกลักษณ์ของศิลปกรรมท้องถิ่น ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่า
๒. ชนิดเครื่องก่อ หมายถึงประเภทที่สร้างด้วยโครงสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกับตึก ชั้นล่างโถงโล่ง มีบันไดเชื่อมต่อชั้นบน หอระฆังและหอกลองชนิดเครื่องก่อนี้มีทั้งที่ก่ออิฐเป็นผนังทึบตันและแบบโปร่งเช่นเดียวกับเครื่องไม้ อาทิ หอระฆังที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบจัตุรมุข คือมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ยกพื้นสูงมีบันไดทางขึ้นเตี้ยๆ ผนังโล่ง โครงสร้างไม่สูงมากนัก
สำหรับหอกลองที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ หอกลองประจำพระนคร ซึ่งเป็นหอสูงสามชั้น สร้างด้วยไม้ผสมการก่ออิฐ หลังคาเป็นทรงยอดสูง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอกลองประจำเมืองขึ้นที่บริเวณใกล้คุกเก่า ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนฯ ปัจจุบันคือที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน ภายในประดิษฐานกลองขนาดใหญ่ ๓ ใบ คือ กลองย่ำพระสุริย์ศรี สำหรับตีบอกเวลา กลองอัคคีพินาศ สำหรับตีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และกลองพิฆาตไพรี สำหรับตีเมื่อเกิดศึกสงคราม ปัจจุบันได้รับการบูรณะให้มีความแข็งแรงตามรูปแบบเดิม
ในปัจจุบัน วัดยังคงใช้การตีระฆังและกลอง เพื่อบอกเวลาปฏิบัติกิจของสงฆ์เช่นเดิม นอกจากเป็นเสียงที่ดังกังวาลและเยือกเย็นแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของการสร้างหอระฆังและหอกลองของไทยไว้ด้วย

เอกสารอ่านประกอบ
กรมศิลปากร.วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๔๐.
สงวน รอดบุญ, พุทธศิลปรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, ๒๕๒๖.
สมคิด จิระทัศนกุล.วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดยนฤมล สารากรบริรักษ์)
หอระฆัง วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ
หอกลองวัดโคกบัวราย จ.สุรินทร์
หอกลองประจำเมือง กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น