xs
xsm
sm
md
lg

จากต้นสายถึงปลายทาง(ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๔.๕ สัมมาสมาธิมีความสุขอันเนื่องมาจากความมีสติเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เมื่อเราทราบกันแล้วว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า ก็แล้วสัมมาสมาธิเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุให้เกิดสัมมาสมาธิ เรามากล่าวถึงเหตุให้เกิดสมาธิโดยทั่วไปกันเสียก่อน

คัมภีร์พระอภิธรรมสอนว่า ความสุขเป็น เหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ดังนั้นถ้าปรารถนาจะให้จิตเกิดสมาธิ ก็ต้องทำให้จิตเกิดความสุขขึ้นเสียก่อน แต่พวกเรานักปฏิบัติมักเชื่อ กันว่า เมื่อจิตมีสมาธิแล้วจิตจะมีความสุข ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความสุขต่างหาก ที่ทำให้จิตมีสมาธิ หรือมีความตั้งมั่น หรือมีความไม่ฟุ้งซ่าน ส่วนผลของสมาธิก็คือจิต จะสงบชั่วคราวจากกิเลส

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ท่านเคยกล่าวสอนอยู่เนืองๆ ว่า “สมาธิเกิดเมื่อหมดความตั้งใจ ส่วนวิปัสสนาเกิดขึ้นเมื่อหมดความคิด” ท่านหมายความว่าถ้าต้องการจะทำสมาธิ ก็ให้มีสติระลึกรู้อารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่งไปอย่างสบายๆ อย่าอยากให้สงบ และอย่าพยายามกดข่มบังคับจิตให้สงบ เพราะยิ่งกดข่มบังคับ จิตจะยิ่งเป็นทุกข์และไม่สงบ คำสอนของท่านสอดคล้องกับคำสอนในตำราพระอภิธรรมนั่นเอง ดังนั้นถ้าต้องการให้จิตเกิดสมาธิ ก็ต้องทำให้จิตใจมีความสุข เสียก่อน ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า หรือระลึกถึงลมหายใจ อย่างสบายๆ และผ่อนคลาย ไม่นานจิตก็สงบ ส่วนสัมมาสมาธินั้นก็เกิดจากความสุข เช่นกัน ซึ่งผู้เขียนขอจำแนกการอธิบายออก เป็น ๒ ส่วนดังนี้

๔.๕.๑ สัมมาสมาธิสำหรับสมถยานิก ผู้เป็นสมถยานิกจำเป็นต้องทำสัมมาสมาธิในระดับของอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นฐานสำหรับการเจริญวิปัสสนาต่อไป และการที่จิตจะเกิดอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิได้นั้น ก่อนอื่นผู้ปฏิบัติจะต้องหาอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมกับจริตของตนเสียก่อน ซึ่งได้แก่อารมณ์ บัญญัติที่เมื่อมีสติไประลึกรู้อารมณ์อันนั้นแล้ว จะทำให้จิตมีความสุข เมื่อเลือกอารมณ์ ที่เหมาะสมได้แล้วจึงทำสมถกรรมฐานด้วยการมีสติระลึกรู้อารมณ์นั้นเพียงอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง ให้ระลึกไปอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าจิตจะสงบหรือไม่ ถ้ารู้อารมณ์ที่เหมาะสมด้วยวิธีการที่ถูกต้องแล้ว โอกาสที่จิตจะเกิดความสงบในระดับของอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิก็มีทางที่จะเป็นไปได้

ผู้ปฏิบัติต้องพิจารณาว่าตนมีจริตใดใน ๖ จริต คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต และวิตกจริต เมื่อทราบ จริตแล้วจึงพิจารณาถึงอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมในการทำสมถกรรมฐานต่อไป เช่นผู้มีราคจริตควรพิจารณาอสุภกรรมฐาน ผู้มีโทสจริตควรเจริญเมตตา และผู้มีโมหจริตควรเจริญอานาปานสติ เป็นต้น เรื่องนี้หาอ่านรายละเอียดได้จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ผู้เขียนจะไม่นำมากล่าวไว้ในที่นี้เพราะเป็นเรื่องที่ยืดยาวและมีรายละเอียดมาก อย่างไรก็ตามขอเรียนว่า การเลือกอารมณ์กรรมฐานให้ถูกจริตเป็นสิ่งที่ยากมาก นอกจากการพิจารณาตามตำราและการรับฟังคำแนะนำของครูบาอาจารย์แล้ว ก็ต้องใช้ การลองผิดลองถูกของผู้ปฏิบัติเองด้วย ว่าทำอย่างไรจิตจึงจะสงบ

เคยมีตัวอย่างเกี่ยวกับความยากในการ กำหนดอารมณ์ของสมถกรรมฐานมาแล้วในครั้งพุทธกาล เช่น มีช่างทองคนหนึ่งมาบวชในสำนักของท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรพิจารณาว่าพระอดีตช่างทองรูปนี้เป็นพวกรักสวยรักงามและอยู่ในวัยหนุ่มแน่น น่าจะมีราคจริตจึงเหมาะที่จะเจริญ อสุภกรรมฐานให้จิตสงบ แต่ภิกษุรูปนี้มีความรู้สึกขยะแขยงอารมณ์ของอสุภกรรมฐาน คือไม่มีความสุขที่จะรู้อารมณ์อสุภะ จิตของท่านจึงไม่สงบเลย ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทานดอกบัวแดงให้ท่านพิจารณา ท่านก็มองดูดอกบัวที่สวยงามนั้นด้วยความ พึงใจ คือมีความสุขในการดูดอกบัว ต่อมาเมื่อดอกบัวเริ่มเหี่ยวเฉาลง ท่านก็พิจารณาเห็นถึงความไม่งามและความไม่เที่ยงของดอกบัวนั้น แล้วจิตของท่านก็เป็นสมาธิ

ยังมีท่านพระจุลปัณถกะผู้ไม่มีความสุข กับคำบริกรรมยาวๆ ที่พระมหาปัณถกะ ผู้ เป็นพี่ชายแต่งให้ท่านบริกรรม เพราะท่านมี ความจำไม่ดี ต้องใช้ความพยายามจำอย่างมาก จิตของท่านจึงเครียดและไม่สงบเลย ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าประทานผ้าขาวให้ท่าน ลูบ ท่านก็ไม่ลำบากในการบริกรรม แล้วจิต ของท่านก็เป็นสมาธิได้

ในยุคสมัยของพวกเรานี้ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ในสมัยที่ติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปปฏิบัติธรรมทางภาคเหนือ ท่านไม่สามารถบังคับจิตให้สงบได้ จึงยิ่งโกรธตนเองเพราะความเป็นคนเจ้าโทสะ หลวงปู่มั่นได้แนะนำให้ท่านทำกรรมฐานที่อ่อนโยน คือการเจริญเมตตา แล้วจิตของท่านก็เป็นสมาธิได้ และหลวงพ่อคืน ปสนฺโน แห่งวัดหน้าเรือนจำ จังหวัดสุรินทร์ ไม่สามารถทำจิตให้สงบได้ด้วยการพิจารณาเผาทำลายร่างกาย จนกระทั่งหันมาพิจารณาผมเส้นเดียวตามคำแนะนำของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล จิตจึงสงบเป็นสมาธิได้ เป็นต้น

ที่ยกตัวอย่างมาเล่าตั้งหลายกรณีนี้ เพื่อจะบอกเพื่อนนักปฏิบัติว่า การจะทำกรรมฐานนั้นต้องอาศัยสติปัญญาสังเกตจิตใจตนเองให้มาก ว่าทำอย่างไรจึงจะสงบ หรือทำอย่างไรจึงจะเกิดปัญญา จะทำตามๆกัน หรือเชื่อคำแนะนำของครูบาอาจารย์อย่างเดียวไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้เลยที่อารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่งจะใช้ได้กับคนทุกคน ดังนั้นจึงไม่มีวิธีทำกรรมฐานอย่างใดที่จัดว่าดีที่สุด มีแต่วิธีที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตามจริตนิสัยและวาสนาบารมีที่เคยฝึกฝน อบรมมาเฉพาะตัวเท่านั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดยพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น