ครั้งที่ 83
โลกียสุข คือความสุขของขอทาน
แต่อริยสุขเป็นอิสระพ้นเงื้อมมือมาร
เมื่อพระเถระยังเศรษฐีและภรรยาให้สมาทาน อาจหาญร่าเริงในกุศลธรรมแล้ว เศรษฐีและภรรยาหมอบลงแทบเท้าของพระมหาเถระผู้เลิศด้วยฤทธิ์และกล่าวว่า
'นานเหลือเกิน ท่านผู้เจริญ นานเหลือเกินกว่าท่านจะมาโปรด เกือบช้าไป วัยของข้าพเจ้าทั้งสองก็ล่วงไปมากแล้ว จนป่านนี้ยังไม่เคยได้สดับธรรมของสัตบุรุษ ธรรมกถาของท่านแจ่มแจ้งชัดเจนเข้าอกเข้าใจ'
เศรษฐีและภรรยากล่าวปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยแล้วน้อมกระเช้าขนมเข้าไปถวาย พร้อมกล่าวว่า 'นิมนต์ฉันเสียเถิด พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าถวายด้วยศรัทธา'
พระมหาเถระกล่าวว่า 'ท่านเศรษฐี บัดนี้พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ 500 รูป นั่งรอคอยเพื่อฉันขนมของท่านอยู่'
'ก็พระศาสดาประทับอยู่ที่ใดเล่า ท่านผู้เจริญ?'
'พระศาสดาประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ไกลจากที่นี่ 45 โยชน์'
'พระคุณเจ้า หนทางมันไกลอย่างนี้ จะไปให้ทันเสวยได้อย่างไร?'
'ท่านเศรษฐี เรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของอาตมาเอง ท่านเตรียมตัวเถิด ท่านและภรรยาจะถึงเชตวันวิหารอย่างรวดเร็ว'
ว่าแล้ว พระเถระก็เข้าฌาน ซึ่งมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ย่นแผ่นดินให้ใกล้เข้ามา จึงสามารถถึงนครสาวัตถีได้เพียงครู่เดียว เร็วกว่าเวลาที่ลงจากปราสาทชั้นบนมายังชั้นล่าง
เศรษฐีและภรรยาเข้าเฝ้าพระศาสดา น้อมขนมเข้าไปถวาย ภิกษุทั้งหลายทั้ง 500 ฉันจนอิ่มหนำขนมก็หาได้หมดไปไม่ ให้คนที่อาศัยวัดกินอีก ขนมก็ยังไม่หมดยังเหลืออีกมาก พระศาสดารับสั่งให้เจ้าของขนมนำไปทิ้งเสียที่ใกล้ประตูเชตวันวิหาร
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาด้วยธัมมีกถาให้เศรษฐีและภรรยาอาจหาญร่าเริงในธรรมสัมมาปฏิบัติ ท่านทั้งสองส่งกระแสจิต ไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุโสดาปัตติผล หมุนชีวิตเข้าสู่กระแสธรรมอันมั่นคงยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลง เขาทั้งสองได้มองเห็นชีวิตใหม่อันสะอาด สว่าง และสงบเยือกเย็นเกินเปรียบ
เมื่อหวนระลึกถึงความเป็นอยู่แต่เก่าก่อนอันตนเคยกระหยิ่มยิ่งนักนั้น ช่างมืดมนไร้สาระเสียนี่กระไร! ความสุขอย่างเก่านั้นเล่าก็เหมือนความสุขของขอทานที่เบิกบานร่าเริง เมื่อขอเงินจากผู้อื่นได้ จะเทียบกับความสุขเวลานี้ ซึ่งเหมือนความสุขของเศรษฐีได้อย่างไร?
ดูก่อนภราดา! เรื่องนี้ พระบรมศาสดามีพระประสงค์จะทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งพระองค์มีอยู่เป็นอันมาก แต่ทรงแสดงเพียงเล็กน้อย ทรงบันดาลฤทธิ์ให้ขนมเพียงเล็กน้อยที่เศรษฐีนำมานั้นไม่รู้จักหมดสิ้น ยังความอัศจรรย์ใจแก่เศรษฐีและภรรยาเป็นล้นพ้น เรื่องทำนองนั้นไม่ต้องกล่าวถึงพระบรมศาสดาดอก แม้พระสาวกธรรมดาที่ได้อภิญญา 5 แม้ยังไม่สิ้นอาสวกิเลสก็ทำได้
อีกประการหนึ่ง ผู้มีทรัพย์ มียศ มีเกียรติ หลงอยู่ในทรัพย์ ยศ และเกียรตินั้น สำคัญมั่นหมายว่าโลกียสุขนี่เท่านั้นคือสุขแท้ เป็นสุขที่ตนพึงแสวงหา เมื่อยังไม่ได้ก็ดิ้นรนแสวงหาอย่างเอาตัวตนชีวิตจิตใจเข้าไปแลก เมื่อได้แล้วก็เพลิดเพลินอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ใจก็ร่านหาความสุขอย่างใหม่ต่อไป แต่ล้วนเป็นความสุขที่ต้องอาศัยผู้อื่น สิ่งอื่น จึงเหมือนสุขของขอทาน มีการแสวงหามาก มีปัญหามาก ส่วนความสุขของพระอริยเจ้าไม่ต้องมีการแสวงหามากและไม่มีปัญหา จึงเป็นความสุขที่ประณีตกว่า สงบเยือกเย็นและเป็นไท ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อนแล้วจึงสุข เป็นความสุขที่เกิดจากตนเอง เป็นอิสระ อยู่เหนือการครอบงำของกิเลสพ้นเงื้อมมือของมาร
ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท มนุษย์ในโลกควรศึกษาให้เข้าใจควรลองปฏิบัติแสวงหาความสุขอย่างไม่อิงอาศัยอามิสเป็นพื้นฐานของจิตใจไว้บ้าง เพื่อได้ถอนตนออกมาได้โดยง่าย เมื่อความสุขชนิดที่ต้องอิงอาศัยอามิสกลายเป็นพิษขึ้นมา เพราะความประมาทพลาดพลั้งหรือเพราะเสวยสุขนั้นมากเกินไป
พระมหาโมคคัลลานะ ได้อาศัยฤทธิ์ของตนช่วยเหลือพระศาสดาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดังพรรณนามาฉะนี้
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เศรษฐีและภรรยาได้สละทรัพย์ของตนให้เป็นประโยชน์แก่ปูชนียบุคคลและสาธารณชนทั่วไป
วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันที่ธรรมสภา สนทนาสรรเสริญคุณของพระมหาโมคคัลลานะว่า ไปฝึกเศรษฐีให้เป็นคนดีไม่กระทบกระเทือนศรัทธา ไม่กระทบกระทั่งโภคะของเขา พระมหาเถระช่างมีอานุภาพมาก และมีคุณน่าอัศจรรย์จริงๆ
พระศาสดาเสด็จมาธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้วตรัสว่า
'ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมดาภิกษุผู้ฝึกสกุล พึงเป็นผู้ไม่กระทบกระทั่งศรัทธา ไม่กระทบกระทั่งโภคะ ไม่ทำให้สกุลชอกช้ำ ไม่เบียดเบียนเขา เป็นดุจแมลงภู่เคล้าเอาเกสรดอกไม้ ภิกษุทั้งหลาย! มุนีพึงเข้าสู่ทำนองเดียวกับแมลงภู่ ไม่ทำดอก สี และกลิ่นให้ชอกช้ำ คือเอาแต่รสแล้วบินไปฉะนั้น
'ไม่ทำให้สกุลชอกช้ำ' ช่างเป็นพระวาจาที่แสดงความปรานี และหวังประโยชน์ต่อตระกูลเสียนี่กระไร! เพราะธรรมดาชาวบ้าน ชาวเมืองมีความชอกช้ำเป็นปกติอยู่แล้ว ต้องลำบากยากเข็ญในการหาทรัพย์เป็นนักหนา เพื่อนำมาหล่อเลี้ยงชีพของตนและคนใกล้เคียง เกี่ยวข้อง บุตร ภรรยา (หรือสามี) ญาติพี่น้องทั้งฝ่ายตนและฝ่ายภรรยา (หรือสามี) เพื่อนฝูง มิตรสหาย ผู้สูงอายุ ซึ่งเคยมีอุปการคุณ งานสังคมสงเคราะห์ และอื่นๆ อีก เช่น บำบัดอันตรายอันเกิดจากเหตุต่างๆ มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น เสียภาษีอากรบำรุงประเทศ ทำบุญในสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ อุดหนุนผู้เสียสละชีวิตเพื่อป้องกันบ้านเมือง ฯลฯ
ด้วยภารกิจอันมากมายดังกล่าวนี้ ฆราวาสจึงมีรายได้ไม่ค่อยพอรายจ่าย แต่ต้องอดทนอดออมเพื่อสร้างฐานะอนาคตบางคราวให้มิตรสหายหรือผู้เกี่ยวข้องยืมไปก่อนเห็นว่าเขาลำบาก ให้ไปด้วยจิตเมตตากรุณา ปรารถนาสงเคราะห์เขา แต่แล้วเขาตอบแทนด้วยการโกงไม่ยอมใช้หนี้สิน เจ้าของทรัพย์ก็ได้แต่ชอกช้ำไป
บางคราวต้องชอกช้ำด้วยการต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก บางคราวต้องเดือดร้อนกับการต้องอยู่กับศัตรู เหมือนมีงูพิษ อยู่ใกล้ต้องระวังระไวตลอดเวลา
ฆราวาสมีเรื่องชอกช้ำมาก ดังพรรณนามาโดยย่อนี้แล้ว ถ้าสมณะผู้เข้าสู่สกุลทำให้สกุลชอกช้ำเข้าอีก พวกเขาจะไปพึ่งใครจะได้ใครเป็นหลักแห่งชีวิตเล่า
โลกียสุข คือความสุขของขอทาน
แต่อริยสุขเป็นอิสระพ้นเงื้อมมือมาร
เมื่อพระเถระยังเศรษฐีและภรรยาให้สมาทาน อาจหาญร่าเริงในกุศลธรรมแล้ว เศรษฐีและภรรยาหมอบลงแทบเท้าของพระมหาเถระผู้เลิศด้วยฤทธิ์และกล่าวว่า
'นานเหลือเกิน ท่านผู้เจริญ นานเหลือเกินกว่าท่านจะมาโปรด เกือบช้าไป วัยของข้าพเจ้าทั้งสองก็ล่วงไปมากแล้ว จนป่านนี้ยังไม่เคยได้สดับธรรมของสัตบุรุษ ธรรมกถาของท่านแจ่มแจ้งชัดเจนเข้าอกเข้าใจ'
เศรษฐีและภรรยากล่าวปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยแล้วน้อมกระเช้าขนมเข้าไปถวาย พร้อมกล่าวว่า 'นิมนต์ฉันเสียเถิด พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าถวายด้วยศรัทธา'
พระมหาเถระกล่าวว่า 'ท่านเศรษฐี บัดนี้พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ 500 รูป นั่งรอคอยเพื่อฉันขนมของท่านอยู่'
'ก็พระศาสดาประทับอยู่ที่ใดเล่า ท่านผู้เจริญ?'
'พระศาสดาประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ไกลจากที่นี่ 45 โยชน์'
'พระคุณเจ้า หนทางมันไกลอย่างนี้ จะไปให้ทันเสวยได้อย่างไร?'
'ท่านเศรษฐี เรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของอาตมาเอง ท่านเตรียมตัวเถิด ท่านและภรรยาจะถึงเชตวันวิหารอย่างรวดเร็ว'
ว่าแล้ว พระเถระก็เข้าฌาน ซึ่งมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ย่นแผ่นดินให้ใกล้เข้ามา จึงสามารถถึงนครสาวัตถีได้เพียงครู่เดียว เร็วกว่าเวลาที่ลงจากปราสาทชั้นบนมายังชั้นล่าง
เศรษฐีและภรรยาเข้าเฝ้าพระศาสดา น้อมขนมเข้าไปถวาย ภิกษุทั้งหลายทั้ง 500 ฉันจนอิ่มหนำขนมก็หาได้หมดไปไม่ ให้คนที่อาศัยวัดกินอีก ขนมก็ยังไม่หมดยังเหลืออีกมาก พระศาสดารับสั่งให้เจ้าของขนมนำไปทิ้งเสียที่ใกล้ประตูเชตวันวิหาร
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาด้วยธัมมีกถาให้เศรษฐีและภรรยาอาจหาญร่าเริงในธรรมสัมมาปฏิบัติ ท่านทั้งสองส่งกระแสจิต ไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุโสดาปัตติผล หมุนชีวิตเข้าสู่กระแสธรรมอันมั่นคงยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลง เขาทั้งสองได้มองเห็นชีวิตใหม่อันสะอาด สว่าง และสงบเยือกเย็นเกินเปรียบ
เมื่อหวนระลึกถึงความเป็นอยู่แต่เก่าก่อนอันตนเคยกระหยิ่มยิ่งนักนั้น ช่างมืดมนไร้สาระเสียนี่กระไร! ความสุขอย่างเก่านั้นเล่าก็เหมือนความสุขของขอทานที่เบิกบานร่าเริง เมื่อขอเงินจากผู้อื่นได้ จะเทียบกับความสุขเวลานี้ ซึ่งเหมือนความสุขของเศรษฐีได้อย่างไร?
ดูก่อนภราดา! เรื่องนี้ พระบรมศาสดามีพระประสงค์จะทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งพระองค์มีอยู่เป็นอันมาก แต่ทรงแสดงเพียงเล็กน้อย ทรงบันดาลฤทธิ์ให้ขนมเพียงเล็กน้อยที่เศรษฐีนำมานั้นไม่รู้จักหมดสิ้น ยังความอัศจรรย์ใจแก่เศรษฐีและภรรยาเป็นล้นพ้น เรื่องทำนองนั้นไม่ต้องกล่าวถึงพระบรมศาสดาดอก แม้พระสาวกธรรมดาที่ได้อภิญญา 5 แม้ยังไม่สิ้นอาสวกิเลสก็ทำได้
อีกประการหนึ่ง ผู้มีทรัพย์ มียศ มีเกียรติ หลงอยู่ในทรัพย์ ยศ และเกียรตินั้น สำคัญมั่นหมายว่าโลกียสุขนี่เท่านั้นคือสุขแท้ เป็นสุขที่ตนพึงแสวงหา เมื่อยังไม่ได้ก็ดิ้นรนแสวงหาอย่างเอาตัวตนชีวิตจิตใจเข้าไปแลก เมื่อได้แล้วก็เพลิดเพลินอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ใจก็ร่านหาความสุขอย่างใหม่ต่อไป แต่ล้วนเป็นความสุขที่ต้องอาศัยผู้อื่น สิ่งอื่น จึงเหมือนสุขของขอทาน มีการแสวงหามาก มีปัญหามาก ส่วนความสุขของพระอริยเจ้าไม่ต้องมีการแสวงหามากและไม่มีปัญหา จึงเป็นความสุขที่ประณีตกว่า สงบเยือกเย็นและเป็นไท ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อนแล้วจึงสุข เป็นความสุขที่เกิดจากตนเอง เป็นอิสระ อยู่เหนือการครอบงำของกิเลสพ้นเงื้อมมือของมาร
ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท มนุษย์ในโลกควรศึกษาให้เข้าใจควรลองปฏิบัติแสวงหาความสุขอย่างไม่อิงอาศัยอามิสเป็นพื้นฐานของจิตใจไว้บ้าง เพื่อได้ถอนตนออกมาได้โดยง่าย เมื่อความสุขชนิดที่ต้องอิงอาศัยอามิสกลายเป็นพิษขึ้นมา เพราะความประมาทพลาดพลั้งหรือเพราะเสวยสุขนั้นมากเกินไป
พระมหาโมคคัลลานะ ได้อาศัยฤทธิ์ของตนช่วยเหลือพระศาสดาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดังพรรณนามาฉะนี้
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เศรษฐีและภรรยาได้สละทรัพย์ของตนให้เป็นประโยชน์แก่ปูชนียบุคคลและสาธารณชนทั่วไป
วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันที่ธรรมสภา สนทนาสรรเสริญคุณของพระมหาโมคคัลลานะว่า ไปฝึกเศรษฐีให้เป็นคนดีไม่กระทบกระเทือนศรัทธา ไม่กระทบกระทั่งโภคะของเขา พระมหาเถระช่างมีอานุภาพมาก และมีคุณน่าอัศจรรย์จริงๆ
พระศาสดาเสด็จมาธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้วตรัสว่า
'ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมดาภิกษุผู้ฝึกสกุล พึงเป็นผู้ไม่กระทบกระทั่งศรัทธา ไม่กระทบกระทั่งโภคะ ไม่ทำให้สกุลชอกช้ำ ไม่เบียดเบียนเขา เป็นดุจแมลงภู่เคล้าเอาเกสรดอกไม้ ภิกษุทั้งหลาย! มุนีพึงเข้าสู่ทำนองเดียวกับแมลงภู่ ไม่ทำดอก สี และกลิ่นให้ชอกช้ำ คือเอาแต่รสแล้วบินไปฉะนั้น
'ไม่ทำให้สกุลชอกช้ำ' ช่างเป็นพระวาจาที่แสดงความปรานี และหวังประโยชน์ต่อตระกูลเสียนี่กระไร! เพราะธรรมดาชาวบ้าน ชาวเมืองมีความชอกช้ำเป็นปกติอยู่แล้ว ต้องลำบากยากเข็ญในการหาทรัพย์เป็นนักหนา เพื่อนำมาหล่อเลี้ยงชีพของตนและคนใกล้เคียง เกี่ยวข้อง บุตร ภรรยา (หรือสามี) ญาติพี่น้องทั้งฝ่ายตนและฝ่ายภรรยา (หรือสามี) เพื่อนฝูง มิตรสหาย ผู้สูงอายุ ซึ่งเคยมีอุปการคุณ งานสังคมสงเคราะห์ และอื่นๆ อีก เช่น บำบัดอันตรายอันเกิดจากเหตุต่างๆ มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น เสียภาษีอากรบำรุงประเทศ ทำบุญในสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ อุดหนุนผู้เสียสละชีวิตเพื่อป้องกันบ้านเมือง ฯลฯ
ด้วยภารกิจอันมากมายดังกล่าวนี้ ฆราวาสจึงมีรายได้ไม่ค่อยพอรายจ่าย แต่ต้องอดทนอดออมเพื่อสร้างฐานะอนาคตบางคราวให้มิตรสหายหรือผู้เกี่ยวข้องยืมไปก่อนเห็นว่าเขาลำบาก ให้ไปด้วยจิตเมตตากรุณา ปรารถนาสงเคราะห์เขา แต่แล้วเขาตอบแทนด้วยการโกงไม่ยอมใช้หนี้สิน เจ้าของทรัพย์ก็ได้แต่ชอกช้ำไป
บางคราวต้องชอกช้ำด้วยการต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก บางคราวต้องเดือดร้อนกับการต้องอยู่กับศัตรู เหมือนมีงูพิษ อยู่ใกล้ต้องระวังระไวตลอดเวลา
ฆราวาสมีเรื่องชอกช้ำมาก ดังพรรณนามาโดยย่อนี้แล้ว ถ้าสมณะผู้เข้าสู่สกุลทำให้สกุลชอกช้ำเข้าอีก พวกเขาจะไปพึ่งใครจะได้ใครเป็นหลักแห่งชีวิตเล่า