เมื่อคนเราอายุมากขึ้นเข้าสู่วัยสูงอายุ แม้ยังไม่ถึงวัยชรามักมีอาการเดินเซง่าย เวียนศีรษะง่าย และอาจหกล้มได้ง่าย ทำให้เกิดอันตรายในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
การทรงตัว การเดิน การยืน วิ่งและการเคลื่อนไหวของคนเรานั้น อาศัยกลไกหลายอย่างประกอบกัน ตั้งแต่กลไกการรับรู้ตำแหน่งต่างๆ ของศีรษะ คือ อวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งฉากซึ่งกันและกันเพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะทุกทิศทาง การรับรู้สิ่งแวดล้อมโดยอาศัยสายตามองเห็น การปรับภาพแม้ขณะวิ่ง หรือเดินทางไปในยานพาหนะที่เคลื่อนไหว การทรงตัวจากกล้ามเนื้อและข้อต่อ และสัมผัสของผิวหนัง และการรับรู้ของสมองส่วนการทรงตัว ไปประมวลเป็นข้อมูลในสมองส่วนกลาง ทำให้เราสามารถทรงตัวอยู่ได้ในภาวะต่างๆ
สำหรับกลไกการทรงตัวของร่างกายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุอาจมีสายตาไม่ดี อาจมีข้อต่อของร่างกายเสื่อม กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงอาจมีประสาทสัมผัสช้าด้วย รวมทั้งการเสื่อมของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นในและการเสื่อมของสมอง ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงไม่อาจเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ไม่อาจวิ่งเร็วๆ เช่น คนหนุ่มสาวได้
การทรงตัวในผู้สูงอายุ อาจปรับให้ดีขึ้นได้ นอกจากการรักษาสุขภาพโดยทั่วไปแล้ว อาจช่วยด้วยการบริหารร่างกาย ที่เน้นบริหารอวัยวะการทรงตัว และเน้นการทำงานของอวัยวะทรงตัวหลายๆ อย่างดังกล่าว แล้วให้ทำงานอย่างผสมกลมกลืนโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเกร็ง จะทำให้การใช้ข้อต่อกล้ามเนื้อ ผสมผสานกับสายตา สมอง และหูชั้นใน เมื่อการเกร็งลดลงการไหลเวียนกระแสโลหิตก็จะดีขึ้นด้วย เพราะร่างกายผ่อนคลาย
วิธีฝึกบริหาร ช่วยอาการเวียนหัว
การบริหารตา
1 มองขึ้นแล้วมองลงเริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ ทำเร็วขึ้น 20 ครั้ง
2 มองจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ ทำเร็วขึ้น 20 ครั้ง
3 จ้องนิ้วมือขณะที่เหยียดแขนไปข้างหน้าสุดแขน แล้วเลื่อนกลับที่เดิมทำ 20 ครั้ง
การบริหารศีรษะ
1 ก้มศีรษะไปข้างหน้าแล้วแหงนไปข้างหลัง ทำขณะลืมตา เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ ทำเร็วขึ้น ทำ 20 ครั้ง
2 หันศีรษะจากด้านหนึ่ง ไปยังอีกด้านหนึ่ง เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยทำเร็วขึ้น 20 ครั้ง เมื่ออาการเวียนศีรษะทุเลาลง การบริหารศีรษะเหล่านี้ควรทำในขณะหลับตา
การนั่ง
1 ขณะนั่งให้ยกไหล่ขึ้นลง 20 ครั้ง
2 หันไหล่ไปทางขวา แล้วหันไปทางซ้าย ทำ 20 ครั้ง
3 ก้มตัวไปข้างหน้าแล้วหยิบของจากพื้น แล้วกลับนั่งตรง ทำ 20 ครั้ง
การยืน
เปลี่ยนท่าจากนั่งเป็นยืน แล้วกลับนั่งลงอีก ทำ 20 ครั้ง ขณะลืมตา แล้วทำซ้ำขณะหลับตา
การเคลื่อนไหว
1 เดินขึ้นและลงตามทางลาดขณะลืมตา ทำ 10 ครั้ง ขณะหลับตาอีก 10 ครั้ง
2 เดินขึ้นลงบันได ขณะลืมตา 10 ครั้ง ขณะหลับตาอีก 10 ครั้ง
3 โยนลูกบอลยางเล็กๆ จากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง ให้สูงเหนือระดับตา ทำ 10 ครั้ง
การฝึกบริหารแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้วัยชราเข้ามาเยือนก็ได้นะคะ ฝึกไว้แต่เนิ่นๆ เป็นการดีค่ะ เพราะหากรอให้ถึงเวลานั้น อาจจะเกิดอาการเวียนหัวตาลายจนสายเกินแก้ไปซะแล้ว
(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือสาระน่ารู้ เพื่อผู้สูงวัย โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดยรวิชา)