xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีนออกกฎใหม่ป้องพุทธสถานฝ่าฝืนปรับ 1 ล้านหยวน
• จีน :
สภาประชาชนภาคตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียงได้แถลงถึงกฎข้อบังคับใหม่เพื่อปกป้องภูเขาผู่โถว ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอ่าวหางโจว ที่เป็นสุดยอดนิยม 1 ใน 4 ภูพุทธของจีน ซึ่งแต่ละปีมีคนนับพันๆมาท่องเที่ยวที่นี่
กฎใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2008 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ต้องการถ่ายทำรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์จะต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ก่อน ผู้ฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับ 1 ล้านหยวน
ทั้งนี้ รวมถึงการห้ามสร้างโรงแรมและสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่อาจจะทำให้คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมลดลงไป และไม่อนุญาตให้มีการต่อเติมที่พักอาศัยใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งห้ามการใช้จักรยานไฟฟ้าด้วย
(จาก CCTV)

อินเดีย-จีน จับมือออกแสตมป์พุทธศาสนา
• จีน :
จีนและอินเดียร่วมกันออกแสตมป์พุทธศาสนา เพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและอารยธรรมที่มีมานานหลายศตวรรษ
ทั้งนี้นายประนาบ มูเคอร์จี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย นายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และนายนิรูปมา ราโอ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศจีน พร้อมทั้งผู้บริหารการไปรษณีย์ของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมในพิธีเปิดตัวแสตมป์ชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา
ภาพของแสตมป์ดวงหนึ่งเป็นภาพวัดม้าขาวของเมืองลั่วหยาง อันเป็นสถานที่ที่พระสงฆ์อินเดียในอดีตได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในจีน ส่วนแสตมป์อีกดวงหนึ่งเป็นภาพวัดมหาโพธิ์ที่พุทธคยา อินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
แสตมป์ทั้งสองดวงนี้ออกแบบร่วมกันโดยฝ่ายออกแบบตราไปรษณียากรของทั้งสองประเทศ
(จาก PTI)

ชาวอัฟริกันชนะการประกวดเพลงพุทธ
• มาเลเซีย :
นายมาแชล ฮัมเซ ผู้แข่งขันจากประเทศอัฟริกาใต้ได้รับรางวัลพระอาจารย์ชิงหยุนในฐานะผู้ประพันธ์เพลงดีเด่น จากบทเพลง I Vow ในโครงการค้นหาผู้ประพันธ์เพลงเสียงแห่งมนุษยชาตินานาชาติ ประจำปี 2008 ซึ่งจัดขึ้นที่มาเลเซีย
โครงการนี้จัดโดยสภาการศาสนาโฝวกวงซัน, มูลนิธิโฝวกวงซันเพื่อวัฒนธรรมและการศึกษาของชาวพุทธ, โฝวกวงซันมาเลเซีย และโฝวกวงซันสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจาก 18 ประเทศ อาทิ ออสเตรีย อังกฤษ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อัฟริกาใต้ มาเลเซีย บราซิล จีนฯลฯ
การแข่งขันครั้งนี้ประกอบด้วยการประพันธ์และเรียบเรียงดนตรีที่ให้ท่วงทำนองความรู้สึกที่แสดงถึงความจริง ความงาม และความเมตตากรุณา ที่มาจากคำสอนทางพุทธศาสนา
การค้นหาผู้ประพันธ์เพลงเสียงแห่งมนุษยชาตินานาชาติได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2003 เพื่อระลึกถึง 50 ปีแห่งความพยายามในการพัฒนาเพลงสวดของพระอาจารย์ชิงหยุน โดยมีเป้าหมายคือการแสดงบทเพลงต้นแบบและเพลงสวดซึ่งเป็นที่นิยม
(จาก The Star)

ขุดพบพระพุทธรูปศตวรรษที่ 2 ในปากีสถาน
• ปากีสถาน :
นักโบราณคดีในปากีสถานได้รายงานการขุดพบพระพุทธรูปท่ามกลางซากวิหารในบาดัลเปอร์ ราว 13 กม.ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพิพิธภัณฑ์ตักสิลา หรือราว 35 กม.จากกรุงอิสลามาบัด
ดร.โมฮัมหมัด ชาราฟ ข่าน ผู้อำนวยการกองสำรวจพิพิธภัณฑ์ตักสิลา เปิดเผยว่าพระพุทธรูปดังกล่าวน่าจะอยู่ในศตวรรษที่ 2 ในช่วงของพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์กุษาณ แกะสลักจากหินสีดำ มีความสูง 2 ฟุต หน้าตักกว้าง 16 นิ้ว นอกจากนี้ยังได้ค้นพบวัตถุโบราณอื่นๆที่สำคัญด้วย รวมทั้งผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ทำจากหินชนิดหนึ่ง โม่หิน 3 อันซึ่งมีชื่อเจ้าของสลักไว้ ระฆังที่ทำจากเหล็กและทองแดง 4 ใบ และลูกประคำกว่า 10 เม็ด
ผู้อำนวยการกองสำรวจของพิพิธภัณฑ์ตักสิลาเปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ค้นพบส่วนประกอบของห้องประชุมในวิหารแห่งนี้ ซึ่งอยู่ในสภาพดี และขณะนี้ได้เก็บรวบรวมและรักษาไว้เป็นอย่างดี
“นี่เป็นการค้นพบครั้งสำคัญในหุบเขาตักสิลา ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเปิดหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์สำหรับนักโบราณคดีและนักค้นคว้าวิจัยพุทธศาสนาสมัยคันธาระเท่านั้น แต่ยังเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนา”
(จาก ANI)

อินเดียเปลี่ยนแบบเรียน‘พระพุทธเจ้า’เป็น‘เนรูห์’
• อินเดีย :
เมื่อขั้นตอนสุดท้ายของโครงการร่างหลักสูตรแห่งชาติของรัฐบาลสำเร็จเสร็จสิ้น และสภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติเตรียมเปลี่ยนแบบเรียนบางวิชานั้น ก็มีเค้าของความขัดแย้งเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติได้เปลี่ยนแบบเรียนเรื่องพระพุทธเจ้าในชั้นเรียนระดับ 8 ไปเป็นเรื่องการค้นพบอินเดียของยาวหระลาล เนห์รู โดยการเปลี่ยนดังกล่าวซึ่งจะเริ่มต้นในปีการศึกษานี้เป็นต้นไปนั้น ถูกคัดค้านโดย อุดิต รัช ชาวพุทธชื่อดังของอินเดีย ซึ่งเป็นประธานสมาพันธ์ชาวพุทธทั้งหมดในอินเดีย ซึ่งกำลังวางแผนคัดค้านประเด็นดังกล่าวต่อสภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติ รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ทั้งนี้ หนังสือพุทธจริต เป็นมหากาพย์พุทธประวัติ ซึ่งเขียนโดยมหากวี อัศวโฆษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรชั้นเรียนระดับ 8 ของชาวฮินดู กำลังจะถูกแทนที่ด้วยเรื่องการค้นพบอินเดียของยาวหระลาล เนห์รู
“สภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติได้เปลี่ยนแบบเรียนยอดเยี่ยมพุทธจริตในทันทีทันใดในปีการศึกษานี้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะนำออกไปจากหลักสูตร ขณะที่หนังสืออื่นซึ่งเกี่ยวกับศาสนา เช่น รามายณะ และมหาภารตะ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระดับชั้นที่ 6 และ 7 เราเตรียมแผนที่จะคัดค้านประเด็นนี้ต่อสภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติ รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อต้องการให้หนังสือพุทธจริตยังคงเป็นหลักสูตรในชั้นเรียนระดับ 8 ต่อไป” รัชกล่าว
ขณะที่เจ้าหน้าที่สภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติยืนยันว่าการเปลี่ยนแบบเรียนดังกล่าวสอดคล้องกับแผนของโครงการร่างหลักสูตรแห่งชาติของรัฐบาล
“นานกว่า 2 ปีแล้วที่หลักสูตรของโรงเรียนได้ปรับปรุงตามแนวทางของโครงการร่างหลักสูตรแห่งชาติของรัฐบาล ปี 2005 โดยมีการเปลี่ยนแบบเรียนหลายเล่ม รวมทั้งเรื่องพุทธจริต และเนื่องจากเรื่องการค้นพบอินเดียของยาวหระลาล เนห์รู มีขอบเขตเนื้อหาที่ครอบคลุมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอินเดีย ซึ่งได้มีการพิจารณาแล้วว่าน่าจะดีกว่า ดังนั้นจึงได้นำมาบรรจุเป็นหลักสูตรไว้ในระดับชั้น 8 ในภาคการศึกษานี้ ส่วนเรื่องมหาภารตะ และรามายณะ สำหรับชั้น 7 และ 6 นั้นก็เป็นเรื่องที่ได้รับการแนะนำมา ดังนั้นไม่มีสาเหตุที่จะไปมีอคติใดๆ” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติ กล่าว
อนึ่ง โครงการร่างหลักสูตรแห่งชาติของรัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นโดยสภาการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมแห่งชาติ ในปี 2005 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางความคิดอันเข้มแข็งซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนา ในรายละเอียดของโครงร่างหลักสูตรนั้นได้มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ที่ไม่หนักจนเกินไป โดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ตัดทอนจำนวนแบบเรียนลง กำหนดวิธีการที่ยืดหยุ่น และส่งเสริมการเรียนรู้ให้ครอบคลุมระหว่างเด็กในโรงเรียนต่างๆ
(จาก Indianexpress)

อินเดียช่วยบูรณะเจดีย์ชเวดากอง
• อินเดีย :
นายไจราม ราเมช รัฐมนตรีการค้าและพลังงานแห่งสหพันธรัฐ ได้มอบเช็คมูลค่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 ล้านรูปีให้กับคณะกรรมการผู้ดูแลเจดีย์ชเวดากองในพม่า เพื่อช่วยบูรณะพระเจดีย์ชเวดากองที่เสียหายจากการถูกพายุไซโคลนนากริสถล่มเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม
นายราเมชกล่าวว่าการบริจาคช่วยเหลือครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมีน้ำจิตน้ำใจของชาวอินเดียที่มีต่อชาวพม่า และยังแสดงให้เห็นถึงความผูกพันอันลึกซึ้งทั้งด้านวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ระหว่างทั้งสองประเทศ อินเดียเป็นประเทศแรกๆที่ได้ส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในพม่าหลังเกิดพายุไซโคลนนากริส และยังได้สนับสนุนเงินสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้า 16 เครื่อง มูลค่า 2 ล้านรูปี ซึ่งได้รับความเสียหายด้วย
(จาก The Hindu)

เวียดนามตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาบนพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
• เวียดนาม :
พุทธศาสนิกชนในเวียดนามได้ร่วมกันบริจาคเงิน 700 ล้านเหรียญเวียดนามตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาขึ้นที่วัดเหวียนก๋วง ในเมืองจาว ด็อก บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จังหวัดอันยาง ซึ่งได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา โรงเรียนพุทธศาสนาแห่งนี้มีหลักสูตร 4 ปี มีพระสงฆ์ และแม่ชี 147 รูปเข้ามาศึกษา
นอกจากนั้น โรงเรียนแห่งนี้ยังเปิดสาขาอีก 3 สาขาได้แก่ สาขาในวัดเถาะมิต ตำบลถิญเบียญ สาขาในวัดซาเลิน ตำบลถิเติน และสาขาในวัดคาบารุค ตำบลถ่อยเซิน
สำหรับจังหวัดอันยางนี้มีพระสงฆ์เพียง 1 รูปที่ได้รับปริญญาโททางพุทธศาสนา ส่วนอีก 7 รูปได้รับปริญญาระดับมหาวิทยาลัย และอีก 3 รูปได้รับปริญญาระดับวิทยาลัย
(จาก VNA)

เล็งสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาในเบอร์มิงแฮม
• อังกฤษ :
ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาระดับชั้นประถมในรัฐเบอร์มิงแฮมเป็นแห่งแรก ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของคณะกรรมการพุทธวิหารเบอร์มิงแฮม ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสันติ ในเอ็ดบาสตัน กว่า 10 ปีมาแล้ว ว่าชาวพุทธต้องการที่จะสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาในเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษให้เสร็จภายใน 5 ปี
โดยกองทุนของรัฐได้พยายามวางแผนเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนชาวพุทธที่อยู่กันอย่างหนาแน่นกว่า 3,000 คนในเมืองนี้ ขณะเดียวกันก็ได้มีผู้ต่อต้านกองทุนของรัฐในการสร้างโรงเรียนดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่ตอบสนองพลเมืองชั้นสองของสังคม
อย่างไรก็ตาม พระอชิน กาวสักกะ หนึ่งในคณะกรรมการพุทธวิหารเบอร์มิงแฮม กล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน และโรงเรียนจะสอนให้เด็กๆเคารพนับถือทุกคนโดยไม่คำนึงว่าคนนั้นจะนับถือศาสนาใด
พระอชิน ยังกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เพื่อตอบแทนบุญคุณประชาชนผู้ใจบุญ ซึ่งได้บริจาคทั้งข้าวปลาอาหารและที่พักอาศัยแก่พระภิกษุสงฆ์
(จาก BBC )

มินห์ ซู นิกายพุทธในเวียดนาม จัดประชุมสภาครั้งแรก
• เวียดนาม :
สมาชิกพุทธศาสนาเถรวาทนิกายมินห์ ซู ร่วมประชุมสภาแห่งชาติ ในนครโฮจิมินห์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของนิกายมินห์ซู ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายของรัฐเมื่อไม่นานมานี้
การประชุมครั้งนี้ได้มีการร่างสัตยาบัน โครงสร้างและกฎข้อบังคับขององค์กร รวมทั้งการคัดเลือกสมาชิก 19 คน เป็นกรรมการสภาในปี 2008-2013
นายเหงียน เท ด๋วน ประธานคณะกรรมการด้านการศาสนาของรัฐบาล ได้มาร่วมแสดงความยินดีในโอกาสรำลึก 140 ปีแห่งประวัติศาสตร์ของนิกายนี้ และอวยพรให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน นิกายมินห์ ซู มีพระสงฆ์และแม่ชี 250 รูป/คน และมีพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาในนิกายนี้กว่า 10,000 คนใน 18 จังหวัด และในหลายเมืองทั่วประเทศ
(จากVNA)

ชาวพุทธยุโรปกลับสู่การเผชิญโลกหลัง 1,190 วันของการวิปัสสนา
• ฝรั่งเศส :
ชาวพุทธในยุโรปนับร้อยทั้งชาวฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยี่ยม สวิส ฯลฯ มุ่งหน้าไปยังห้องประชุมใหญ่ของวัดกามาปะ ก่อนกลับจากการเข้าร่วมวิปัสสนา 1,190 วัน ณ วัดกามาปะ ในเมืองออเวิร์น ของฝรั่งเศส ซึ่งลามะดักโป คุนฟรุน ได้มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมและศูนย์วิปัสสนาที่นี่เมื่อ ปี 1984
การเข้าร่วมปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาครั้งนี้เป็นไปอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด อาทิ การห้ามออกสู่โลกภายนอก การอยู่เพียงลำพัง การเจริญวิปัสสนาวันละ 12 ชม. เป็นต้น
บรูโน หนึ่งในผู้เข้าร่วมวิปัสสนาครั้งนี้ กล่าวถึงการตัดสินใจเข้าร่วมครั้งนี้ว่า “สำหรับผมแล้ว ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต เป็นของขวัญ คนที่ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะเกิดความกลัว เราอยู่ที่นั่นเพื่อให้คนที่กลัวรู้สึกมั่นใจ และเพื่อให้เขาเห็นว่าเรามีความสุขจริงๆ สิ่งเหล่านี้เกิดจากตัวเราจากจิตวิญญาณของเรา”
ในระหว่างการปฏิบัติธรรมครั้งนี้ ผู้นำจิตวิญญาณที่สอนการปฏิบัติคือลามะ เช่น ลามะลันดรอฟ ได้กล่าวว่า “ผู้เข้าปฏิบัติทุกคนมีความสุขมากและพอใจในความสำเร็จของการปฏิบัติครั้งนี้ ซึ่งจะยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำอันมีค่า พวกเขาจะระลึกถึงความทรงจำในหลายสัปดาห์ที่มาอยู่ที่นี่ เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตก่อนหน้าที่จะเข้ามาปฏิบัติและชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ”
ทุกคนจะได้รับผ้าพันคอสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าร่วมปฏิบัติธรรมในครั้งนี้
(จาก The Buddhist Channel)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดยเภตรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น