xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรชั้นนำทั้งรัฐ-เอกชน แห่ดึงธรรมะหนุนพัฒนาคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงยุคแสวงหาธรรมะเข้าสู่องค์กรมากขึ้น ทั้งภาครัฐ-เอกชน แห่จองคิวพระสงฆ์-ฆราวาส บรรยายธรรมต่อเนื่อง เผยพระชื่อดังถูกจองคิวยาวข้าม ปี ด้าน พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ชี้ผู้บริหาร องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มมองเห็นความสำคัญของธรรมะเพื่อประยุกต์ใช้พัฒนาบุคลากรมากขึ้น ขณะที่ผู้บริหารในเครือซีพี เผยนำพระพุทธศาสนามาใช้บริหารองค์กรและสามารถผลิตคนดีให้สังคมได้มากมาย

ถ้าพูดเรื่อง ‘ธรรมะ’ เชื่อว่าหลายๆคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าหากจะนำ “ธรรมะ” มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และเนื่องจากสถานการณ์ทั่วไปบีบคั้นให้คนในสังคมต้องเร่งรีบ แข่งขันกันตลอดเวลา ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธห่างไกลจากธรรมะมากขึ้นทุกที

• รัฐ-เอกชนสนใจนำ “ธรรมะ” ประยุกต์ใช้มากขึ้น

แต่ในวันนี้กลับมีพระสงฆ์และฆราวาส จำนวนหนึ่งที่พยายามเผยแผ่ธรรมะเป็น ‘ธรรมทาน’ อย่างต่อเนื่อง จนที่สุดหลายๆ หน่วยงานได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำ ‘ธรรมะ’ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการนำหลักธรรมมาบริหารองค์กรมากขึ้น

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์ชื่อดัง กล่าวยอมรับว่าในปัจจุบันได้รับกิจนิมนต์จากองค์กรใหญ่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศให้ ไปเทศน์โปรดญาติโยมที่ทำงานในบริษัท ห้างร้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจนิมนต์ดังกล่าวนี้เริ่มมีชุกมาตั้งแต่ปี 2549 เป็น ต้นมา

สำหรับหัวข้อที่พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี จะนำไปเทศน์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อการรู้จักควบคุมอารมณ์ หัวข้อหลักในการทำงานประเภท ‘คนสำราญ งานสำเร็จ’ การครองใจคน การบริหารงานแบบธรรม

“หัวข้อประเภทนี้จะไปเทศน์ตามองค์กรภาคเอกชนทั้งบริษัท ซีพี บริษัท โตโยต้าประเทศไทย บริษัท อัมรินทร์พริ๊นติ้ง บริษัท AIS และบริษัทขนาดกลาง อีกมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งตอนนี้อาตมาคิดว่าธรรมะได้เข้าไปแทรกซึมในคนชั้นกลางมากขึ้นแล้ว”

นอกจากภาคเอกชนแล้วพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ยังได้มีโอกาสไปเทศน์โปรดพุทธศาสนิกชนตามองค์กรภาครัฐมากมาย อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยหัวข้อที่นำไปบรรยายธรรมในองค์กรภาครัฐส่วนใหญ่ จะเน้นการบริหารคน การลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความซื่อสัตย์สุจริต และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

“ตอนนี้อาตมามีคิวที่จะไปเทศน์โปรดญาติโยมตามองค์กรต่างๆเยอะมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้บริหารขององค์กรนั้นๆเห็นความสำคัญและเชื่อว่าศาสนาจะช่วยลดปัญหาต่างๆ รวมทั้งขัดเกลาจิตใจของบุคลากรในองค์กรได้”

ขณะเดียวกันได้มีกลุ่มพระสงฆ์จำนวนหนึ่งตั้งเป็นกลุ่มเสขิยธรรมขึ้นเพื่อร่วมมือกันพัฒนาช่วยเหลือสังคม โดยนำพุทธศาสนามาประยุกต์ใชให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย บางคนทำงานหนักเป็นผู้บุกเบิกสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม หลายครั้งที่มีความขัดแย้งในจิตใจอันเนื่องมาจากการทำงานที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจไม่เห็นดีด้วย

สำหรับกลุ่มนี้มี ‘พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส’ เป็นผู้บุกเบิก โดยจะนำหลักการภาวนา ที่ใช้หลักสติปัฏฐาน 4 ที่เน้นให้ผู้ปฏิบัติรู้จักธรรมชาติของสติ และการพัฒนาสติให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในชีวิตประจำวัน

พระอาจารย์อำนาจ บอกว่า ปัจจุบันชาวพุทธจำนวนมากได้ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ธรรมะมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของชนชั้นกลางที่กำลังอยู่ในวัยทำงานมีความสนใจมาก จะเห็นได้จากกิจนิมนต์ของพระนักเทศน์ชื่อดังต่างๆ มีคิวยาวเต็มเหยียด

“ในส่วนของอาตมาก็มีโอกาสได้ไปโปรดญาติโยมที่อยู่ในวัยทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนนับร้อยๆแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีการตั้งหัวข้อธรรมให้บรรยาย ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการประยุกต์ธรรมะไปใช้กับการบริหารตน บริหารองค์กร ส่วนภาครัฐจะเน้นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นหลัก”

นอกเหนือจากพระสงฆ์แล้วยังมีฆราวาส และแม่ชีจำนวนหนึ่งเล็งเห็นความสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนา ต่างอุทิศกำลังกายกำลังใจเข้าไปบรรยายธรรมตามองค์กรต่างๆด้วยเช่นกัน อาทิ กลุ่มของคุณแม่สิริ กรินชัย, อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม, กลุ่มชมรมกัลยาณธรรม เป็นต้น

• ‘ซีพี’ เชื่อธรรมะพาองค์กรไปโลด

สำหรับภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวจนถึงขนาดจัดทำเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องก็มีหลายแห่ง อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ได้จัดทำโครงการปฏิบัติธรรมนำสมัย ‘เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ’ เป็นโครงการที่นำผู้รู้ด้านศาสนามาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดในการยึดหลักธรรมและคำสอนของศาสนาพุทธเพื่อให้เป็นบันไดก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิต

โดยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมาได้ จัดเสวนาธรรมโดยพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยในหัวข้อ ‘การบริหารเชิงพุทธ : จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ โดยพระธรรมโกศาจารย์ กล่าวในที่เสวนาว่าการบริหารเชิงพุทธนั้นผู้บริหารจะต้องจะต้องมีลักษณะ 3 ประการคือ จักขุมา เป็นผู้ที่มีสายตาที่ยาวไกลหรือมีวิสัยทัศน์ วิธูโรคือเป็นผู้ที่จัดการธุระได้ดี กล่าวคือเป็นคนที่สามารถจัดการบริหารงานได้เป็นอย่างดี มีความคล่องตัว และต้องเป็นผู้มีนิสสยสัมปันโน คือเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน ลูกน้องหรือผู้ที่มาติดต่อได้อย่างดี ซึ่งเมื่อมีคุณลักษณะ 3 ประการนี้แล้วผู้บริหารที่ดีจะต้องมีหลักการบริหารที่ดีด้วย โดยพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าการจะทำกิจการงานให้ได้ดีต้องดูลักษณะของผู้บริหารด้วยว่าเป็นคนชนิดใด โดยมีการแบ่งออกได้เป็นผู้บริหารที่เป็นอัตตาธิปไตย คือพวกเผด็จการ โลกาธิปไตย ธรรมาธิปไตยและอนาธิปไตย

“การบริหารเชิงพุทธนั้นจะต้องนำหลักธรรมหลายๆ ประการมาประยุกต์ใช้ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนไว้ดีแล้วหากผู้บริหารคนใดสามารถนำไปปฏิบัติได้ชีวิตก็จะมีแต่ความรุ่งเรืองและความสงบสุข”

โดย ‘ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) บอกว่า โครงการ ‘เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ’ เป็นโครงการปฏิบัติธรรมนำสมัย เพราะผู้บริหารของบริษัทในเครือซีพี เชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาสามารถขัดเกลาให้คนในสังคมเป็นคนดีได้ โดยโครงการนี้จัดทำต่อเนื่องมาแล้ว 12 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและทำให้คนในองค์กรน้อมนำเอาคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นหลักปฏิบัติในการครองตนทั้งในที่ทำงานและที่บ้านอย่างที่ชอบที่ควร รวมทั้งยังทำให้พนักงานได้มีโอกาสได้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธองค์อย่างลึกซึ้งอันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและการดำรงชีวิต ตลอดจนช่วยลดความสับสนวุ่นวายในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ทางผู้บริหารได้เปิดโอกาสให้พนักงานและพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่สนใจ ในเรื่องธรรมะได้ปฏิบัติธรรมอย่างครบวงจร โดยทางบริษัทได้เชิญผู้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะมาบรรยายประสบการณ์การปฏิบัติทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาสทั่วไปสลับกันไป พร้อมร่วมฟังพระธรรมเทศนาโดยจัดขึ้นสัปดาห์ละครั้ง และในการนี้ทางบริษัทฯไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดยมีผู้สนใจร่วมฟังธรรมจำนวนมากกว่า 200 คนต่อครั้ง

“จากแรงศรัทธาที่ก่อให้เกิดความพยายามในการสนับสนุนพระพุทธศาสนามาตลอด 12 ปี จนโครงการของเราได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก และนอกจากโครงการดังกล่าวนี้ ซีพี ออลล์ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านพระพุทธศาสนาเพื่อช่วยกล่อมเกลาให้คนในสังคมเป็นคนดี โดยบริษัทฯเป็นเอกชนรายแรกและรายเดียวที่ได้รับอนุญาตจากแม่กองธรรมสนามหลวงให้เป็นสนามสอบธรรมศึกษา ตรี โท เอก สังกัดวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งผู้สนใจธรรมทั่วไปและพนักงานในกลุ่มธุรกิจการตลาด เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่สอบผ่านธรรมศึกษาตรี จะได้รับรางวัลเป็นเงิน 1,000 บาท ธรรมศึกษาโทเป็นเงิน 2,000 บาท และธรรมศึกษาเอกเป็นเงิน 3,000 บาท ตรงนี้ถือเป็นแรงบัลดาลใจให้พุทธศาสนิกชน มีความสนใจในเรื่องหลักธรรมกันมากขึ้น”

• ‘ดนัย’ ดึงธรรมะเป็นหลักในการทำงาน

ใช่แต่บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์เท่านั้นที่เล็งเห็นผลเลิศจากการนำพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาพนักงานในองค์กร นักการตลาดชื่อดังอย่าง ‘ดนัย จันทร์เจ้าฉาย’ ก็เป็นอีกคน หนึ่งที่นำธรรมะมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานในองค์กร โดยมีการจัดตั้งชมรมคนรู้ใจ กัลยาณมิตรเรือนธรรมขึ้นจนกลายเป็นชุมชนชาวพุทธขนาดใหญ่ที่มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย บอกว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่มีแนวคิดในการนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการทำงานโดยทำติดต่อมานานหลายปีแล้ว และล่าสุดได้เปิด โครงการ MIND SPA (จิตตสปา)ขึ้น ซึ่งเป็นโปรแกรมเสริมสร้างสุขภาพกายและใจ ด้วยหลัก ‘ธรรมานามัย : กายานามัย จิตตานามัย และชีวิตานามัย’ นำเสนอวิธีเรียนรู้แบบผ่อนคลาย โดยการสร้างความ เข้าใจใน ‘ธรรมะ’ ซึ่งหมายถึง ‘ธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิต’ เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิผล เป็นการสร้างวัคซีนป้องกันทุกข์ทางใจ โดยเสริมองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพกายและใจให้สอดคล้องกัน ตลอดจนสร้างสัมพันธภาพที่ดีอันเป็นรากฐานสู่ความสำเร็จและการดำเนินชีวิตที่มีความสุขอย่าง ยั่งยืน ด้วยการนำหลักธรรมในพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ดีเอ็มจี อคาเดมี สถาบันฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร มุ่งหวังให้คนไทยเกิดทัศนคติที่ดีในพัฒนาศักยภาพของตนเอง มีสติปัญญาในการดำเนินชีวิตในยุคแห่งความวิตกกังวลได้อย่างมีความสุข ทั้งยังเป็นการสร้างความมุ่งมั่นตั้งใจให้เกิดขึ้นในการทำงานและการดำเนินชีวิตต่อไป

สำหรับหลักธรรมานามัยเป็นการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ดังนี้ 1.กายานามัย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินอาหารให้ถูกกับธาตุ มีสติในการดำรงชีวิต 2.จิตตานามัย การฝึกสมาธิจะทำให้จิตเข้มแข็ง จิตที่มีพลัง ทำให้เกิดปัญญา เกิดความสุขสงบ ทำให้มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น อาทิ ‘หัวเราะบำบัด’ เป็นการออกกำลังกาย ภายใน โดยผู้หัวเราะจะควบคุมเส้นประสาทสรีระกายตามอวัยวะส่วนต่างๆ รวมทั้งกระบวนการหายใจ ให้ขยับขับเคลื่อนเพื่อให้เลือดลมขับเคลื่อน โดยไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้นทำให้เราเกิดอารมณ์ขัน ‘วาดดนตรี’ เป็นการนำดนตรีกับศิลปะการวาดภาพมาผนวกรวมกัน เป็นกลวิธีหนึ่งในการเรียนศิลปะที่ผู้วาดภาพจะได้พบกับสุนทรียรสแห่งความสงบ และเกิดความเข้าใจในตนเองมากขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างเสริม สติ และสมาธิ ให้เกิดขึ้นด้วยการวาดภาพจากเสียงดนตรี ‘วาดรูปรักษาโรค วาดดนตรีรักษาใจ’ ชีวิตานามัย การดำรงชีวิตด้วยทางสายกลาง เลี้ยงชีวิตชอบ มีความพอเพียง ทำให้ไม่เครียด มีวินัย รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ รักษาชีวิตให้สมดุล

ดนัย บอกต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้นำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวนั้นมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาอย่างจริงจังจึงเห็นว่าพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่สามารถปรับใช้กับการบริหาร ได้เป็นอย่างดีที่สุด

“ผมดำเนินนโยบายด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลดีจนปัจจุบันนี้เราขยายเครือข่ายออกไปเยอะมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพูดปากต่อปาก จนล่าสุดเราได้มีโอกาสจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้บริหาร ประชาชนผู้สนใจทั่วโลกได้มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะเพื่อการบริหารผ่านเว็บไซต์ www.dmgbook.com ซึ่งเว็บไซต์นี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารทั่วโลก

สำหรับการจัดอบรมหรือเสวนาธรรมะของบริษัทเรานั้นจะจัดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันพฤหัสบดี และเราก็เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ผมเชิญวิทยากรทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาสมาบรรยาธรรมต่อเนื่องและคิดว่าจะดำเนินนโยบายนี้ต่อไปเพราะเห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นหากเราเข้าใจในหลักจริงๆแล้วเราสามารถมาประยุกต์ใช้ทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้อย่างประสบผลสำเร็จ” ดนัยกล่าวในที่สุด

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดย พิมพ์ศุจี)



กำลังโหลดความคิดเห็น