xs
xsm
sm
md
lg

พิชิตธุรกิจด้วยธรรมะ “Dharma Training”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกิดอะไรขึ้นเมื่อองค์กรธุรกิจชั้นนำของไทย ไม่เว้นหน่วยงานราชการ ทวนกระแสการบริหารธุรกิจตามปรัชญาตะวันตก พาบุคลากรเข้าวัดปฏิบัติธรรม แม้แต่ผู้นำสูงสุดขององค์กรก็พาตัวเองเข้าวัดเป็นประจำ บ้างก็นิมนต์พระมาเทศน์ถึงในบริษัท … เรื่องราวที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร “ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” นักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์ชื่อดังของเมืองไทยขันอาสาบอกเล่าเรื่องราว

ดนัย บอกว่า สถานการณ์ที่องค์กรธุรกิจนำหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบริหารองค์กร หันมาใส่ใจเกี่ยวกับธรรมะหรือนำพนักงานของบริษัทปฏิบัติธรรมมีอยู่เยอะมาก ถ้าจะสังเกตให้ดีๆ องค์กรชั้นนำ องค์กรที่ขึ้นมาเป็นระดับผู้นำ เป็นผู้นำทางด้านความคิดของสังคม ไม่ว่าจะองค์กรเล็กหรือใหญ่ องค์กรที่เป็นผู้นำมีพื้นฐานแนวความคิดเชิงพุทธทั้งหมด องค์กรในต่างประเทศถึงแม้จะไม่ได้นับถือพุทธศาสนาก็นำหลักธรรมมาบริหารองค์กร

การนำธรรมะมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารองค์กรมีจุดเริ่มต้นมาสักประมาณ 10 ปี แต่ในช่วงแรกเรียกว่าอาจจะยังมีน้อย แต่ว่าช่วงหลังๆ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากในองค์กรธุรกิจแล้วในส่วนราชการต่างๆ ก็ประกาศเป็นนโยบายด้วย จึงเป็นแรงผลักให้ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐบาล และในส่วนของสถาบันการศึกษา ให้ความสำคัญกับการนำธรรมะมาบริหารองค์กร

สำหรับรูปแบบการนำพุทธปรัชญาไปบริหารองค์กร ถือเป็นองค์ประกอบทุกส่วนของบริษัท ตั้งแต่ในเรื่องของวิสัยทัศน์ ในเรื่องของแนวนโยบาย การบริหารองค์กร การดำเนินงาน บุคลากร และในเรื่องของการทำกิจกรรมภายในองค์กร หมายความว่า ทุกอย่างมีธรรมะหรือพุทธปรัชญา เป็นพื้นฐานหมดทุกจุด

แนวโน้มหรือปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องของการพัฒนาบุคลากร โดยนำแนวทางของพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติ หรืออาจจะเรียกว่า “Dharma Training” ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะองค์กรต่าง ๆ เริ่มรับรู้ว่าการที่องค์กรจะพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรได้ ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ขององค์กรคือบุคลากร

“แต่ละองค์กรก็มีเครื่องมือมากมาย มีโปรแกรมการฝึกอบรมเต็มไปหมด แต่โปรแกรมที่สามารถเปลี่ยนแปลง ทัศนะคติและพฤติกรรมของบุคลากรได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน เปลี่ยนแปลงได้เห็นผลจากหน้ามือเป็นหลังมือ เรียกว่า พลิกฝ่ามือได้เลย คือการเข้าไปปฏิบัติธรรม”

ดนัย เปรียบเทียบให้ฟังว่า โปรแกรมการฝึกอบรม(Training) หลายๆ โปรแกรม ใช้งบประมาณสูง แต่ว่าผลที่ได้อาจไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก แต่ว่าการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ให้พนักงานหันกลับเข้ามาศึกษาธรรมชาติของตัวเอง มันเป็นการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติตัวเอง แต่ผลที่ได้มันกลับเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มหาศาล เพราะว่าสิ่งที่คนได้มาจากการปฏิบัติธรรมคือสติสัมปชัญญะ ใครก็ตามที่มีสติสัมปชัญญะ ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้มีปัญญา เห็นธรรมชาติได้ตามความเป็นจริง

“ต้องถามว่าเมื่อเห็นธรรมชาติตามความเป็นจริงแล้วจะทำให้ทำงานได้ดีขึ้นอย่างไร ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้นได้อย่างไร ทำไมเครื่องมือในการฝึกอบรมการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเครื่องมือที่เหนือกว่าเครื่องมืออื่นๆ คือยกตัวอย่างง่าย ๆ เรามีความรู้ทางโลกอย่างมากมาย องค์ความรู้มีต่างๆ เต็มไปหมดเลย แต่ถ้าหากว่าไม่มีสติที่จะนำเอาความรู้ตรงนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ องค์ความรู้ทางโลกที่มีมันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร”

องค์กรใหญ่น้อยแห่เข้าวัด

ประสบการณ์จากการคลุกคลีและอยู่ในแวดวงการปฏิบัติธรรม ดนัย มองว่า เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า องค์กรส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะได้เห็นความสำเร็จในการบริหารงานจากองค์กรชั้นนำต่างๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน “ซีเอ็ด ยูเคชั่น” มีพนักงานประมาณพันกว่าคน เป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายหนังสือ นโยบายของ ซีเอ็ด ก็คือ จะต้องนำพนักงานเข้าปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกปี “เครืออมรินทร์” ก็เช่นกัน มีการวางแผนว่าจะจัดคอร์สปฏิบัติธรรมให้แก่พนักงานอย่างต่ำ 3 คอร์สต่อปี หรือว่าจะเป็น ร้านอาหารชื่อดังอย่าง “MK สุกี้” นโยบายก็คือพนักงานต้องเข้าอย่างน้อยปีละครั้ง

ดนัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาคธนาคาร อย่างธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย หรือเครือหนังสือพิมพ์ ก็อย่างเครือผู้จัดการ เครือเดอะเนชั่น องค์เหล่านี้แม้ไม่ได้จัดคอร์สปฏิบัติธรรมให้กับพนักงาน แต่ก็อนุญาตให้พนักงานลาปฏิบัติธรรม โดยไม่นับเป็นวันลาหยุดงาน ระยะเวลาที่อนุญาตให้ลาได้ จะ 3 วัน 5 วัน หรือว่า 7 วัน อันนี้ก็แล้วแต่นโยบายของแต่ละองค์กร แต่สิ่งที่จะเห็นได้ชัดก็คือว่าจากเดิมจะมีความยากในการขอลาเพื่อเข้าปฏิบัติแต่ตอนนี้เริ่มสะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ บุคคลในระดับผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ก็มีการเข้าวัดปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่เขาจะทำได้ เช่น คุณบัณฑูร ล่ำซำ จากเครือกสิกร คุณเมตตา คุณระริน คุณระพี อุทกะพันธ์ จากเครืออมรินทร์ คุณทนง โชติสรยุทธ์ ซีอีโอของซีเอ็ด คุณสุพล วัธนเวคิน คุณฐิตินันท์ วัธนเวคิน จากเกียรตินาคิน ฯลฯ ผู้บริหารเหล่านี้ เมื่อเข้าวัดก็จะปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ 5 วัน 7 วัน เป็นอย่างต่ำ

สติเพิ่มงานพุ่ง

สำหรับผลลัพธ์ขององค์กรที่มีนโยบายส่งเสริมให้พนักงานเข้าปฏิบัติธรรมก็คือ ประสิทธิผลของการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 2-3 เท่า เนื่องเพราะการทำงานจำเป็นจะต้องใช้สมาธิ ซึ่งการปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นเป็นพื้นฐานก็คือจะต้องฝึกสมาธิอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นอะไรที่ทำให้เราสามารถทำงานได้สำเร็จลุล่วงด้วยความรวดเร็ว เมื่อพนักงานผ่านการปฏิบัติแล้วสมาธิดี ปฏิบัติงานด้วยความแม่นยำถูกต้อง และรวดเร็ว นี่ก็คือประสิทธิภาพของงานที่เพิ่มขึ้น

ดนัย ย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากนอกเหนือจากสมาธิก็คือสติ พนักงานบางคนทำงานในอาการที่ขาดสติ เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความเผลอออกมา หรือว่าการแสดงออกในพฤติกรรม ทั้งคำพูดก็ดีหรือว่าการกระทำก็ดี ที่อาจจะไม่เหมาะสม ก้าวร้าว

องค์กรที่มีพนักงานมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทั้งกับเพื่อนร่วมงานหรือว่ากับลูกค้า กับคนที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า เรื่องของแบรนด์องค์กรก็เสีย เรื่องของขวัญกำลังใจก็เสีย บรรยากาศในการทำงานร่วมกันก็ลดลง เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่มี บางทีเรื่องเล็กๆ น้อย กลับกลายเป็นเรื่องขัดใจกัน มีการทะเลาะวิวาท ขาดการทำงานแบบทีมเวิร์ก ร้ายแรงสุดก็อาจจะถึงการเล่นการเมืองหรือมีการแตกแยกในองค์กร ทำให้องค์กรไม่มีความมั่นคงและไม่มีปึกแผ่นแน่นอน

“การที่องค์กรจะอยู่รอดได้ระยะยาว พนักงานนอกจากจะทำให้องค์กรมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีความเป็นเอกภาพ เป็นทีมเวิร์กแล้ว ยังส่งผลให้สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ กับลูกค้ากับสื่อมวลชน กับคนภายนอกด้วย ตรงนี้ถ้าเป็นภาษาฝรั่งเขาใช้คำว่า EQ คือเป็นองค์กรที่มี EQ สูง เป็นองค์กรที่มีความมั่นคงทางด้านอารมณ์สูง เพราะฉะนั้นเวลาที่มีใครเขามาติดต่อด้วย คนภายนอกที่เขาเข้ามาติดต่อองค์กรประเภทนี้เขาจะมีความประทับใจ ทำไมเขาอยากจะติดต่อ มันเป็นแม่เหล็กบางอย่าง”

สำหรับโปรแกรมการฝึกอบรมปฏิบัติธรรมจะเน้นที่การเข้าไปอบรมวิปัสสนากรรมฐาน มีอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือส่งพนักงานตามศูนย์ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย หรือว่าตามวัด ตามศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีการจัดอย่างต่อเนื่อง

อีกลักษณะหนึ่งคือการจัดเป็นการเฉพาะให้แก่คณะ รวมตัวกันไป เป็นการจัดเฉพาะสำหรับหน่วยงานหรือว่าองค์กรนั้นๆ แล้วก็อาจจะเป็นนอกสถานที่ก็มี เป็นโปรแกรมพิเศษที่จัดขึ้นมา หลักสูตรโดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นการปฏิบัติธรรม แบบเต็มรูปแบบ ระยะเวลาตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป แต่ว่าระยะเวลาที่นานเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อองค์กรส่วนใหญ่ ไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้ ก็อาจจะมีหลักสูตรระยะสั้นแทน
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย นักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์


กำลังโหลดความคิดเห็น