ทายาทสาวสวยแห่งเครืออมรินทร์ “ระริน อุทกะพันธุ์” ในวัย 30 ต้นๆ กับตำแหน่ง ซีอีโอสายธุรกิจสำนักพิมพ์ เป็นรองก็แต่คุณแม่ “เมตตา อุทกะพันธุ์” เท่านั้น ภาระอันหนักอึ้งเกินวัยของเธอ มันน่าจะทำให้เครียดได้ไม่น้อย แต่เธอก็มีวิธีจัดการกับอารมณ์และความเครียดได้อย่างน่าสนใจ …บ่อยครั้งเธอเลือกที่จะทิ้งธุรกิจพันล้าน ตัดขาดกับทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าหาทางสงบในวัดเป็นเวลานับสัปดาห์
นับตั้งแต่ “ระริน อุทกะพันธุ์” เรียนจบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกับคุณพ่อ “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ผู้ก่อตั้งธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือเครืออัมรินทร์อันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน เส้นทางของลูกสาวคนโตคนนี้ เหมือนกับถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น ให้เป็นหลักในการสานต่อธุรกิจของครอบครัว
ในด้านธุรกิจ ระริน ใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ร่วม 10 ปี ก่อนที่เธอจะก้าวขึ้นเป็นนักบริหารมืออาชีพอย่างเต็มตัว กับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการหรือซีอีโอสายธุรกิจสำนักพิมพ์ ในเครืออมรินทร์ ผลิตหนังสือเล่มและนิตยสารชื่อดังหลายสิบเล่ม อาทิ บ้านและสวน, สุดสัปดาห์, ชีวจิต, WE และ Health & Cuisine ฯลฯ
กับอาณาจักรธุรกิจที่สร้างรายได้รวมมากกว่าปีละ 1,700 ล้านบาท หลายคนคงหลับตานึกภาพได้ว่า ผู้บริหารคนหนึ่งจะต้องทำงานหนักและในแต่ละวินาทีมีค่าเป็นเงินเป็นทองมากมายขนาดไหน แต่ ระริน กลับบอก ผู้จัดการ Lite ว่าเธอขโมยเวลางานบ่อยครั้ง เพื่อหาโอกาสเข้าวัดและปฏิบัติธรรมนานนับสัปดาห์ โดยตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง
จุดเริ่มต้นที่ซีอีโอคนนี้ ต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นกิจวัตรด้วยความมุ่งมั่นเสมอมา ต้องย้อนกลับไปหลังจากที่ครอบครัวอุทกะพันธุ์ได้สูญเสียผู้นำครอบครัวและผู้นำสูงสุดขององค์กรช่วงปลายปี 2545 จากนั้น “ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” กัลยาณมิตรทางธรรม ได้ชักชวน “เมตตา อุทกะพันธุ์” เข้าวัดปฏิบัติธรรม
“ตอนนั้นเป็นช่วงที่เสียคุณพ่อไปได้สักพักหนึ่ง แล้วก็คุณดนัยนี่แหละคะเป็นคนชวนคุณแม่ไปปฏิบัติ ตอนนั้นเราก็คิดว่าเราไปเป็นเพื่อนคุณแม่ ยังไม่รู้เลยว่าไปปฏิบัติธรรมไปทำอะไร ก็คิดว่าอย่างไรก็ไปเป็นเพื่อนคุณแม่ ดูแลคุณแม่”
ด้วยความที่เป็นคนเปิดใจรับฟัง จึงไม่ยอมปิดประตูในทันทีทันใดต่อแนวคิดใหม่ ๆ ที่ผ่านเข้ามา ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติธรรมครั้งแรก ระริน ได้อ่านหนังสือ วิถีแห่งความรู้แจ้ง ของพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช หนังสือที่เสมือนจุดประกายความสนใจต่อคุณค่าที่แฝงอยู่ในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา
“หนังสือเล่มบางๆ นิดเดียวแต่ตอนนั้นจำได้ว่าอ่านจบแล้วรู้สึก ต้องบอกว่ารู้สึกทึ่ง เหมือนโดนตบหน้าว่า เฮ้ย คือในนั้นนี่ พูดง่ายๆ ว่า เวลาทุกข์สิ่งที่ต้องทำคือรู้ รู้เฉยๆ ว่าทุกข์ ไม่ได้รู้ว่าเป็นอะไร ไม่ต้องรู้สาเหตุ ไม่ใช่ รู้เฉยๆ คำถามแรกคือ เฮ้ยแล้วไอ้ที่เรียนมา ตั้งแต่เรียนมาตั้งแต่เด็กจนจบปริญญาโท เรารู้อะไรบ้าง”
การปฏิบัติธรรมของ ระริน ก็เหมือนๆ กับคนอื่นๆ ถือศีล 8 ฝึกวิปัสสนา สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม ปิดใจปิดเครื่องมือที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับภายนอก และปิดวาจา ยิ่งได้ฟังหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา คำสอนที่เป็นเหตุเป็นผลของพระพุทธเจ้า ความรู้สึกทึ่งปนความกระหายใคร่เรียนรู้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
“พอมานั่งฟังพระอาจารย์สอนแล้วก็ปฏิบัติ เริ่มฝึกว่าวิธีรู้อย่างนั้นแล้วเป็นอย่างไร ต้องบอกว่ามันเป็นความอัศจรรย์ ไม่ว่าเราจะเกิดทุกข์หรือสุข อารมณ์ใดๆ ก็ตาม ที่มันเกิดขึ้น ถ้าเราทันความรู้สึกเหล่านั้น เราจะเห็นว่ามันหมดไปแล้ว”
ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติธรรม จากความหวังเพียงแค่ได้เข้าปฏิบัติธรรมเป็นเพื่อนคุณแม่ แต่วันนี้เธอกล้าบอกว่า ถ้าชีวิตต้องการเรียนรู้อะไรต้องบอกว่าเรื่องของการปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่น่าจะเรียนรู้ที่สุดในชีวิตนี้แล้ว
“การปฏิบัติธรรมพูดง่าย ๆ ก็คือการมาฝึกสติ การที่เราฝึกสติมันทำให้เรารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในจิตใจเราเร็วขึ้น พอเรารับรู้เร็วขึ้น เราก็ไม่จมอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ความโมโห ฉุนเฉียว อารมณ์เสีย ความทุกข์ใจหรือเครียด ช่วงเวลาแย่ ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่มันหายไปเลยเพราะว่าเรายังไม่บรรลุหรืออะไร เพียงแต่ว่า มันก็จะสั้นลง พอสั้นลง ไอ้ความเครียดความทุกข์ใจมันไม่สั่งสม”
สิ่งที่ทำให้ ระริน คิดว่า การปฏิบัติธรรมคือสิ่งที่ใช่ ก็เนื่องจากการปฏิบัติตนต่อคนรอบตัวดีขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่สังเกตเห็นได้ ในแง่ของการบริหารงาน เธอ ก็ได้นำไปใช้ได้อย่างลงตัว ถ้าในช่วงอารมณ์กำลังโกรธหรือมีความเครียดเกิดขึ้น ก็พยายามที่จะไม่ตัดสินใจอะไรตอนนั้น ถอยออกมา รอให้จิตสงบสักนิดแล้วค่อยพิจารณาตัดสินใจ
“ถ้าในช่วงที่ว่าอารมณ์กำลังขึ้น ก็พยายามที่จะอย่าเพิ่งตัดสินใจอะไรตอนนั้น ถอยออกมาก่อน รอให้มันสงบสักนิดแล้วก็ค่อยพิจารณาตัดสินใจ เวลาเราอารมณ์ไม่ดี บางทีคุณแม่ก็จะเตือน ว่า ดูใจ ๆ ก็จะเตือนกัน บางทีเห็นเราหงุดหงิด บางทีมันต้องมีคนช่วยเตือนสติเหมือนกัน หลังจากนั้นมันก็จะดีขึ้น”
ไม่เพียงเท่านี้ ระริน ยังนำเอาวิธีปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ในทุกๆ ขณะของชีวิต เธอ บอกว่า การปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าจะต้องนุ่งขาวห่มขาว นั่งพับเพียบ หลับตา สมาธิ หรือเดินจงกรม เป็นแค่กุศโลบาย แต่ว่า การฝึกจิตควรทำทุกขณะที่เราตื่น ฝึกสติได้ตลอดเวลา
“ทุกวันนี้แพรก็เอากลับไปใช้ต้องเรียกว่าขโมยเวลาที่อยู่กับตัวเอง ไม่ว่าเวลาไหนที่อยู่กับตัวเองก็เอาเวลานั้นเป็นโอกาสที่เราจะฝึกสติ แปรงฟัน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ สวดมนต์ก่อนนอน นั่งสมาธิ พอเวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนบางทีเราก็ไหลแล้ว แต่ถ้าเราฝึกให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันแม้ว่ามันไม่ถี่นัก แต่มันก็จะสั่งสมไปเรื่อยๆ เหมือนก้าวไปทีละก้าว”
ภายหลังผู้บริหารได้เห็นถึงประโยชน์ของกิจกรรมการปฏิบัติธรรม เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เครืออมรินทร์ จึงกำหนดเป็นนโยบายบริษัท โดยชักชวนให้พนักงานได้มีโอกาสเข้ามาปฏิบัติธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละคน เริ่มจากชวนให้ผู้บริหารมาปฏิบัติก่อน ส่วนพนักงานของบริษัทก็มีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานมาปฏิบัติอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการลา ไม่นับเป็นวันลาหยุด แล้วแต่ว่าใครจะสมัครใจ
พนักงานในเครืออมรินทร์ มีประมาณ 2,000 คน ปีแรกๆ ที่ดำเนินการมีพนักงานที่สนใจน้อยมาก เพราะบริษัทไม่ได้บังคับ แต่บริษัทก็ค่อยๆ จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในทุก ๆ เดือนอย่างน้อย เดือนละ 1-2 ครั้ง ทางบริษัทจะเชิญ พระอาจารย์หลายๆ ท่าน มาเสวนาธรรมที่บริษัท รวมทั้งจัดอบรมและจัดคอร์สปฏิบัติธรรมประจำปี ซึ่งตอนนี้บริษัทวางแผนว่าจะจัดไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติธรรม
สุดท้ายต้องบอกว่า ณ เวลานี้การปฏิบัติธรรมเป็นอะไรที่ผู้บริหารสาวคนนี้ขาดไม่ได้เสียแล้ว เพราะการใช้ชีวิตในแต่ละวันโอกาสที่กระแสชีวิตจะพัดพาไปกับสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องง่ายมาก เธอจึงตั้งใจกับตัวเองไว้ว่า อย่างน้อยปีละหนเธอจะต้องหาโอกาสเข้าคอร์สใหญ่สักครั้ง เป็นเหมือนกับมาชาร์จแบต ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกับมา Clean-up เครื่อง
“ต้องบอกว่า การมาเข้าคอร์สมันเหมือนมาฝึกว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ ไม่ใช่ว่าแค่นั้นแล้วจบ เราฝึกว่ายน้ำในสระเพื่อที่เราจะไปว่ายในทะเลแล้วเราว่ายเป็น เพราะฉะนั้น การมาฝึกในที่นี้มันเหมือนกับการมาฝึกซ้อมใหญ่ ซึ่งเราก็ตั้งไว้ว่าปีละหน”
ประวัติ
ระริน อุทกะพันธุ์ (แพร)
เกิด : 16 ต.ค. 2518
การศึกษา:
ประถมศึกษา ทิวไผ่งาม และราชวินิต
มัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา
ปริญญาตรี อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท การตลาด, University of Northumbria in Newcastle, England
หน้าที่การงาน :
ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ ในเครืออัมรินทร์
พ.ศ. 2539 – 2540 ผู้ช่วยผู้จัดการสายธุรกิจจัดจำหน่าย บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง
พ.ศ. 2542 – 2547 รองกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์
พ.ศ. 2544 – 2545 บรรณาธิการบริหาร นิตยสารสุดสัปดาห์
เม.ย. 2547- ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ และรักษาการ ผอ. ฝ่าย
ครอบครัว :
บุตรสาวคนโตของ ชูเกียรติ – เมตตา อุทกะพันธุ์ น้องชายคือ ระพี อุทกะพันธุ์