การยืนอยู่ในสังคมได้อย่างองอาจสง่างาม มิใช่เรื่องง่าย แต่ก็มิใช่เรื่องยากเกินไปนักสำหรับดาราและผู้กำกับหนุ่ม ผู้มากความสามารถและเปี่ยมด้วยคุณภาพอย่าง ‘ศรัณยู วงศ์กระจ่าง’ ซึ่งบอกถึงหลักยึดในการดำเนินชีวิต ของตนว่า
“สำหรับผม การรู้เท่าทันและควบคุมจิตใจตนเองให้ได้ เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในชีวิต ความวุ่นวายของสังคมทุกวันนี้ก็เนื่องมาจากการที่ทุกคนขาดสิ่งนี้ เพราะถ้าหากเราไม่รู้จักควบคุม ไม่กำหนดจิตใจตนเอง เราก็จะตกเป็นทาสมันอยู่ตลอดเวลา เกิดความอยากได้อยากมีไม่สิ้นสุด ไม่รู้จักพอเสียที แต่ถ้ารู้ทันจิตใจตัวเอง เราก็จะรู้ว่ากินข้าวจานเล็กๆจานเดียวก็อิ่มแล้ว นั่งรถคันเล็กๆ ก็เป็นยานพาหนะที่ดีได้ไม่แพ้รถคันโตๆ เมื่อนั้นความต้องการต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่เข้ามากระทบ มันจะหายไป แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันมัน มันก็จะครอบงำเรา ล้อมจับจิตใจเราไว้ ส่งผลต่อการกระทำของเรา แล้วก็ส่งผลต่อภาพรวมของสังคม”
ศรัณยูเล่าว่าการเข้าใจชีวิตนั้น เริ่มแต่ครั้งยังเด็ก การเรียนในชั่วโมงวิชาศีลธรรมและหน้าที่พลเมือง ทำให้รู้ว่าหลักธรรมคำสอนตามพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง
“ในวัยเด็กผมซึมซับธรรมะมาจากในชั่วโมงเรียน เมื่อโตมาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นจากการศึกษา จากการสังเกตตัวเอง เรียนรู้ผู้คน รวมถึงบางโอกาสที่ได้พูดคุยกับพระผู้ใหญ่บ้าง สิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ที่ได้เจอะเจอ มันก็หล่อหลอมให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งที่ผ่านๆมาเป็นบทเรียนว่า ทำไม เพราะอะไรตอนนั้นเราถึงทำอย่างนั้น การเก็บสิ่งเหล่านี้มาคิด ทำให้เรา มองเห็นว่าสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร การทำงานของผมในวงการเช่นทุกวันนี้ มันก็อาจมีเงื่อนไขด้านเวลา ที่ไม่เอื้อให้เข้าไปศึกษาอย่างจริงจังในวัด เพราะฉะนั้นการเข้าถึงธรรมะของผม ก็คือการที่เราได้รับมาจากประสบการณ์ในชีวิต”
สำหรับเส้นทางในวงการบันเทิงที่เขายืนหยัดมายาวนาน ศรัณยูก็ยืนยันว่า การรู้เท่าทันจิตใจตนเองเสมอ คือหลักยึดสำคัญที่สุดเช่นกัน
“การเข้าใจ และมองตนเองให้ได้ จึงเป็นรากฐานของการเข้าใจปัญหาทุกปัญหา เพราะเมื่อเข้าใจแล้ว มันจะพาเรามองทะลุไปได้เลย ว่าวงการบันเทิงคือเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ เพราะการแสดงคือการสื่อสารระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม ผู้ชมจะเข้าใจ จะรู้สึกได้ เขาก็ต้องมีอารมณ์ร่วม ต้องมีจินตนาการ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะมีอารมณ์ มีความรู้สึกต่างๆเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคนในวงการนี้จึงยิ่งต้องรู้จักจิตใจ ตัวเองให้มากๆว่า ตอนนี้เรากำลังแสดงอยู่ อาจรับบทเป็นคนหล่อ เป็นคนรวย แต่จริงๆ แล้วเมื่อถอดบทบาทออก เราไม่ได้เป็นใครเลย เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่มีอาชีพรับจ้างเป็นนักแสดง อย่าไปยึดติดกับมัน
สุดท้ายแล้ว ชีวิตเราคือความไม่มีอะไร เป็นเพียงช่วงเวลาที่บังเอิญมีมวลสารเกิดขึ้น เราลืมตาขึ้นมา มีจิตใจ แล้วก็ดำเนินต่อไป เหล่านี้มันเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเอง ไม่นานก็ดับสูญไป ไม่มีอะไรสักอย่างที่สามารถยึดไว้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราล้วนเป็นเปลือกนอกทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจมันจริงๆ จะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่ต้องไปแก่งแย่งทรัพย์สิน หรืออำนาจยศฐาบรรดาศักดิ์ เพราะมันไม่มีอะไรที่เป็นของจริงทุกอย่างล้วนเป็นของปลอม”
ถึงกระนั้น เขาก็ออกตัวว่า
“แต่ผมก็ต้องยอมรับว่าแม้ตัวผมเองอาจจะพูดได้ อาจจะเข้าใจ แต่ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุไปได้จริงๆหรอก เพราะผมก็ยังเป็นปุถุชน ที่ยังมีอารมณ์โกรธ โมโห พลั้งเผลอ ผมรู้ว่าไม่อาจไปได้ไกลกว่านี้ แต่ในทางกลับกัน ก็เพราะเหตุนี้นี่แหละ ผมจึงต้องฝึก ต้องรู้เท่าทันจิตใจตัวเองให้มาก ควบคุมมันให้ได้ ก็เพื่อที่ว่า เมื่อไหร่มีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมา จะได้ตามตะครุบไว้ได้ทัน พามันกลับมาอยู่นิ่งๆ สงบๆ เมื่อสังเกตใจตัวเองได้ เข้าใจมัน ในที่สุดเราก็ปล่อยวางความว้าวุ่นเหล่านั้นลงได้”
ศรัณยูเปรียบเทียบว่า การควบคุมจิตใจตัวเองก็ไม่ต่าง จากการขี่จักรยาน เพราะถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ก็สามารถขี่ได้อย่างมั่นคง แต่หากวอกแวก หรือไม่ฝึกปรือ ทั้งละทิ้ง ไปนานสักสิบยี่สิบปี แม้จะขี่เป็นแล้ว แต่เมื่อกลับมาขี่อีกครั้งก็อาจขี่ได้ไม่ตรงทาง ต่างจากคนที่เก่งมากๆ ฝึกฝนมากๆ ก็จะสามารถขี่จักรยานได้ตรงทางโดยที่มือไม่ต้องจับแฮนด์เลย เปรียบได้กับผู้ที่มีจิตนิ่ง ไม่วอกแวกหวั่นไหว
“ถ้าหากเรามีโอกาส ก็ควรจะฝึกตนเองอยู่เสมอ ตั้งสติ นึกใคร่ครวญว่าตอนนี้จิตของเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ การเตือนตัวเองให้ได้อย่างนี้เรื่อยๆ มันก็คือการฝึกจิตวิธีหนึ่งและถ้าเรายึดการรู้เท่าทันจิตใจเป็นบรรทัดฐานของชีวิต สังเกตจิตใจตัวเองให้มากๆ และคอยทบทวนไตร่ตรองอยู่เสมอ ก็จะทำให้เรามองเห็นว่า ถึงที่สุดแล้ว ธรรมะก็คือธรรมชาติ นั่นแหละครับ เป็นความธรรมดาที่เราไม่ต้องไปวิ่งวุ่น อยากได้ อยากมี หรือร้อนรนไปตามอารมณ์ต่างๆ”
ต่อคำถามถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤตโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้น ศรัณยูบอกว่าต้องแก้ไขที่จิตสำนึกของผู้คน
“สำหรับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมมองว่ามันมีอยู่สองประเด็นใหญ่ๆ ที่เราควรจะให้ความ สนใจ คือเรื่องของจิตสำนึกที่เราแต่ละคนควรบ่มเพาะมันขึ้นมาด้วยตนเองเอง ซึ่งก็มีทั้งเรื่องที่เรารู้กับเรื่องที่เราไม่รู้
เรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว ก็คือจิตสำนึกพื้นฐาน อาทิ หากเดินไปตามถนน เราก็รู้ว่าการทิ้งขยะบน ถนนไม่ใช่เรื่องดี เพราะสร้างความสกปรกเลอะเทอะ หรือถ้าต้องการให้บ้านสะอาด ก็ต้องกวาดต้องดูแล แต่ไม่ใช่กวาดไปกองไว้หน้าบ้านคนอื่น หากทำเช่นนั้น ก็ไม่ต่างจากการสร้างความสกปรก ให้สังคม เพราะทุกๆอิริยาบท ทุกย่างก้าว ทุกการ กระทำของเรา ย่อมส่งผลสู่คนอื่นๆในสังคมเสมอ เปรียบได้กับการที่เราจุดไฟกองเล็กๆ ขึ้นมาสักกอง เราอาจคิดว่าอากาศมันหนาว จุดไฟสักนิดคงไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ในความเป็นจริง เขม่ามันก็ ลอยไปไกล ใครต่อใครก็ต้องสูดรับเข้าไป
เพราะฉะนั้นจิตสำนึกแรกสุดที่ทุกคนพึงมี จึงต้องเป็นจิตสำนึกที่เคารพ ให้เกียรติ แล้วก็อุ้มชูสังคมทั้งสังคม โดยเริ่มจากตัวเรา รอบๆตัวเรา ญาติพี่น้องของเรา รู้สึกรับผิดชอบร่วมกันในทุกๆที่ที่เราอยู่
แต่ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยกระบวนการซับซ้อนและเทคโนโลยีมากมาย มันก็เต็มไปด้วยเรื่องที่เราไม่รู้ เช่นเรื่องพลังงาน เรื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งมันก็เกินวิสัยของคนธรรมดา อย่างเราที่จะรับรู้ถึงรายละเอียดที่ลึกลงไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคอยเฝ้าดู เฝ้าติดตามข่าวสาร ว่ามันเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดปัญหาใดบ้าง ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนดูแลตัวเองแล้ว ภาครัฐเองก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้ด้วย ต้องเข้ามาดูแลว่า แต่ละโครงการที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลอะไรต่อสังคมบ้าง ทำความเจริญให้บ้าน เมืองจริงไหม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าย่อมส่งผลกระทบต่อโลกทั้งโลกด้วย
แต่หากโครงการนั้นยังไม่ล้มเลิก ทั้งที่ไม่มีประโยชน์อะไรต่อสังคมเลย ก็อาจเป็นเพราะมันมีประโยชน์ทางธุรกิจ อย่างมหาศาลต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างนั้นหรือเปล่า?” ศรัณยูตั้งคำถาม ก่อนทิ้งท้ายด้วยความเห็นถึงการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่สังคมบ้านเรากำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้
“ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดูแล ประชาชนต้องดู แลตัวเอง ภาครัฐก็ต้องช่วยดูแลในเรื่องที่กว้างไกลกว่านั้นและต้องจริงใจกับมัน ไม่ใช่ว่าพอเกิดวิกฤติโลกร้อนขึ้น มาก็รณรงค์ถือถุงผ้า ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติโลกร้อน เพราะเป็นการกระทำที่ปลายเหตุมากๆ เป็นเพียงการลดบางอย่างแล้วไปเพิ่มบางอย่างไม่ได้ แก้ที่ต้นตอ แต่มันคือธุรกิจไปหมดแล้ว ไม่ว่าบริษัทธุรกิจ ค่ายเพลง หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มารณรงค์แก้โลกร้อนด้วยถุงผ้า ทุกคนต่างหยิบปัญหาตรงนี้ไปสร้างกระแส โหมประชาสัมพันธ์กันหมด สักพักหนึ่ง แล้วก็เงียบหายไป มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล)