xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐฟันบริษัทรวมหัว ขรก.ทุจริตทำ EIA สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำพูด “สมัคร” มัดคอตัวเอง เครือข่ายประชาชนภาคสะวันออก บุกทำเนียบฯ จี้จัดการบริษัทที่หากินกับการทำอีไอเอสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ฟัน ขรก. - กก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สมรู้ร่วมคิดกันทำผิดกม. หลังนายกฯปูดเองมีการหากินกับการทำอีไอเอ ระบุหากเพิกเฉยเจอข้อหาละเว้นปฎิวัติหน้าที่ พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเ ของ บริษัท โกล์ว ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้(1 เม.ย.) เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นำโดย นายสุทธิ อัชาฌาศัย ผู้ประสานงานพร้อม ชาวบ้านจาก จ.ระยอง กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม และนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายากรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นางอนงวรรค์ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พิจารณากระบวนการจัดทำรายการงานวิเคราะห์และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้สอดคล้องกับบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 และพิจารณาลงโทษกับข้าราชการ และหน่วยงานที่กระทำผิดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

รวมทั้งสมควรทบทวนกระบวนการจัดทำอีไอเอให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ทบทวน หรือหยุดการขยายอุตสาหกรรม เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและองค์กรภาคประชาชนจะนัดชุมนุมใหญ่ปลายเดือนเมษายน 2551 นี้เพื่อแสดงประชามติของชาวจ.ระยอง ขณะเดียวกันหากรัฐบาลไม่ดำเนินการเครือข่ายก็จะฟ้องร้องทางกฎหมาย โทษฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะนายสมัคร ฐานะที่รับทราบข้อมูลและพูดเรื่องนี้ก่อนบุคคลอื่น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในหนังสือที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงคำพูดของ นายสมัคร ในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงการทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่ามีการทุจริตมีนอกมีใน มีการติดสินบนบริษัทที่มีความคุ้นเคยกับคณะกรรมการอีไอเอ

“ขวางการพัฒนาของรัฐ ฉุดการลงทุนของประเทศ ทำให้การลงทุนติดขัดไปหมด เพราะมัวแต่มาดูเรื่องสิ่งแวดล้อมกัน แถมยังมีนอกมีในและมีการติดสินบนกับบริษัทที่มีความคุ้นเคยกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอีไอเอ และขอนินทาตรงนี้ว่า มีบริษัทที่จะตั้งและตรวจสอบ ความเป็นสิ่งแวดล้อม มีบริษัทที่ตั้งไว้เลย ถ้าใครไม่รู้ไม่ชี้ ไปเอาบริษัทที่ไม่รู้จัก ก็ไม่ผ่าน แต่ถ้ามีการกระซิบข้างหน้าให้บริษัทนี้เป็น 10 ล้าน 20 ล้าน 30 ล้าน ก็ผ่านได้ พวกนี้ทำมาหากินถ้าผิด บริษัทก็ไม่ผ่าน จริงไม่จริงก็ไปดูสิ” หนังสือร้องเรียน อ้างคำพูดของนายสมัคร

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ได้เสนอแนวคิดและเห็นว่า นายสมัคร ควรจะเห็นคุณค่า ของสิ่งแวดล้อมมากกว่าการลงทุนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างการพัฒนาประเทศอย่างมีสมดุลตามกระแสพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย

1.ให้นายสมัคร เปิดเผยรายชื่อและลงโทษบริษัทที่กล่าวถึง คือบริษัทอะไร ที่ต้องจ่ายเงิน 10-30 ล้านบาท โดยด่วนและขอให้ขึ้นบัณชีดำไว้ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

2. ลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นและติดสินบนกับบริษัทที่ทำอีไอเอ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมคนใด หรือเจ้ากน้าที่รัฐ ซึ่งถือว่าเป็นความผิด ฐานคอร์รัปชั่นเรียกสินบนใต้โต๊ะ และขอให้มีการปฏิรูปกระบวนการจัดทำอีไอเอใหม่ทั้งหมด เร่งสร้างมาตรฐานและพัฒนาอีไอเอให้สอดคล้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและให้กับปัญหาระดับโลก

รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายภาคตะวันออก ยังเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้วยสุขภาพในพื้นที่จ.ระยอง อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการทบทวนการขยายอุตสหากรรมในพื่นที่ โดยสมควรให้ยกเลิก การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนของ บริษัท โกล์ว ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่ายหินและขยายอุตสาหกรรมอย่างไม่หยุดยั้งไปทั้งอ.บ้านฉาง อ.พัฒนานิคม อ.บ้านค่าย และอ.ปลวกแดง เช่น การก่อสร้างโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ ต.แม่คู เป็นต้น

วันเดียวกัน นายอำนาจ พันคง แกนนำชาบ้านอ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยชาวบ้านอีกประมาณ 10 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าเสม็ดใต้ในพื้นที่ดังกล่าว ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยนายอำนาจ คำพัน ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นี้ จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของชุมชน เพราะจะสร้างกลางพื้นที่ เกษตรกรรม และใช้น้ำเยอะถึงวันละ 54,400 ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่นี้ถือเป็นครัวของ กรุงเทพฯ จะทำให้เกิดปัญหาด้านอาหารการกิน ส่วนมลพิษทางอากาศ แม้อ้างว่า มีการตรวจวัดควบคุมมลพิษ แต่ชาวบ้านยังกลัวอยู่ และมลพิษทางอากาศจะมีผลต่อพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะมะม่วงซึ่งเป็นพืชหลัก

“บริษัทผู้สร้างไม่เคยถามความคิดเห็นของชาวบ้านในการจะมาสร้าง และไม่เคยศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ถือเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่ให้สิทธิกับชุมชนในการจัดการวิถีชีวิตตนเอง และร่วมตัดสินใจในโครงกา รที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ชาวบ้านจำนวน 8,272 คน จึงร่วมกันเข้าชื่อและขอให้สภาผู้แทนราษฎร เป็นที่พึ่งให้ประชาชนด้วย” นายอำนาจ กล่าว ทั้งนี้นายสมศักดิ์ กล่าวรับว่าจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลเรื่องนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น