โฆษก ปชป.ตำหนิ “สมัคร” ปูดข่าวปฏิวัติกลับโยนบาปสื่อ ท้าให้เปิดข้อมูลใครอยู่เบื้องหลัง จี้ ถามหากเป็นเรื่องจริงทำไมไม่ใช้อำนาจจัดการ ดีกว่าออกมาปราม เย้ย 2 เดือนรัฐบาลไร้ผลงาน เปรียบพายเรือในอ่าง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง องอาจ คล้ามไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (30 มี.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากการที่นาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พูดในรายการพูด “สนทนาประสาสมัคร” โทษสื่อมวลชนเป็นผู้มาปูดข่าวเรื่องการปฏิวัติ นั้น ตนเห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถที่จะโทษสื่อมวลชน เพราะจากการติดตามการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯพูดเป็นตุเป็นตะ ว่า มีชาร์ตว่าใครทำบ้าง สื่อมวลชนก็ต้องมาถ่ายทอดให้สาธารณะได้รับทราบ ดังนั้น นายกฯควรจะโทษตัวเองที่เป็นคนกุข่าว เพราะระบุว่ามีคนนำเอกสารมาใส่ในการประชุม ครม.ซึ่งคล้ายกับใบปลิว แล้วก็นำออกมาบอกกับสาธารณชน ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงนายกฯควรกลั่นกรองก่อน อยากทราบว่าที่ออกมาพูดนั้นหวังผลอะไร ถ้าต้องการเพียงแค่ออกมาปรามคนที่คิดจะทำปฏิวัตินั้น ตนเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดควรใช้อำนาจที่อยู่ในตำแหน่งนายกฯ มาจัดการมากกว่าที่จะออกมาปรามแบบนี้ ทั้งนี้ หากหวังผลทางการเมืองก็น่าจะรู้ว่าใครเป็นคนเกี่ยวข้อง
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯ นำมาบอกนั้นไม่มีมูลความจริง และนำออกมาเพื่อหวังผลทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของนายกฯ และรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่า 2 เดือน ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีผลงานในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การแก้ปัญหาเหมือนกับการ “พายเรือในอ่าง” ตลอดเวลา การกุข่าวปฏิวัติไม่เป็นผลดี เพราะทันทีที่ข่าวปฏิวัติออกมาจากนายกฯ จะส่งผลกระทบต่อควงามเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งคนไทยและต่างประเทศลดลงเพราะไม่มั่นใจ นอกจากนี้ ยังเกิดความตื่นตระหนกของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของประเทศว่าจะเกิดอะไรขึ้น และยังสะเทือนไปถึงกองทัพด้วย แม้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.จะออกมาปฏิเสธ แต่การที่นายกฯบอกว่าทหารไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เป็นพลเเรือน ตรงนี้ก่อให้เกิดความสงสัยมากยิ่งขึ้น ว่า พลเรือนจะมีกำลังและอาวุธมาก่อรัฐประหารได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นคำถามของสังคมไทย ไปถึงผู้นำประเทศว่าหยิบยกเรื่องการปฎิวัติมาเพื่อประโยชน์อะไร ดังนั้น จึงอยากฝากให้รัฐบาลช่วยพิจารณาด้วย
นายองอาจ กล่าวว่า พรรคไม่เคยตั้งข้อสังเกตถึงการเดินทางไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านของนายกฯ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ร่วมเดินทางไปด้วย เพราะกลัวการปฏิวัติและไม่เคยมองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง แต่กลับมองว่าการเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้าน คงจะมีการหารือ เรื่องความมั่นคง เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกันมากกว่า