ระยอง - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เรียกร้อง “นายกฯสมัคร” ให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม มากกว่าการลงทุนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างการพัฒนาประเทศอย่างมีสมดุลตามกระแสพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง
เวลา 11.000 น.วันนี้ (25 มี.ค.) ที่โรงแรมเพรสซิเด้นท์ ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดแถลงว่า จากรายการสนทนาประสาสมัคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ได้พูดถึงการทำรายงานศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และหน่วยงานที่พิจารณา (EIA) มีใจความสำคัญว่า “ ขวางการพัฒนาของรัฐ ฉุดการลงทุนของประเทศ ทำให้การลงทุนติดขัดไปหมด เพราะมัวแต่มาดูเรื่องสิ่งแวดล้อมกัน แถมยังมีนอกมีในและมีการติดสินบนกับบริษัทที่มีความคุ้นเคยกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา (EIA ) ด้วย
ทั้งนี้ มีใจความหนึ่งที่นายสมัครพูดถึง ที่ชัดเจนก็คือ “ขอนินทาตรงนี้ว่ามีบริษัทที่จะตั้งและตรวจสอบความเป็นสิ่งแวดล้อม มีบริษัทตั้งไว้เลยถ้าใครไม่รู้ไม่ชี้ ไปเอาบริษัทที่ไม่รู้จัก ก็ไม่ผ่าน แต่ถ้ามีกระซิบข้างหน้าให้บริษัทนี้ทำ เป็น 10 ล้าน 20 ล้าน 30 ล้าน พวกนี้ทำมาหากินถ้าผิดบริษัทก็ไม่ผ่าน จริงไม่จริงก็ไปดูสิ”
ในนามเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก องค์กรภาคประชาชนที่ติดตามปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออกมาโดยตลอด ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมมากกว่าการลงทุนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างการพัฒนาประเทศอย่างมีสมดุลตามกระแสพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง และสมควรดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- เปิดเผยรายชื่อบริษัทที่กล่าวถึงว่า ใครรู้จักก็ได้เงินไป 10 ล้าน 20 ล้าน 30 ล้าน คือบริษัทอะไร..โดยด่วน และสมควรขึ้นบัญชีดำไว้ด้วย ครั้งหน้าจะได้ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง
- ลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็น หรือติดสินบนกับบริษัทที่ทำ EIA ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติท่านใด หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถือว่ามีความผิดฐานคอร์รัปชัน
- สังคายนากระบวนการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ทั้งหมด เร่งสร้างมาตรฐานและพัฒนา EIA ให้สอดคล้อง กับปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและทันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก เพื่อให้เกิดการยอมรับในสากลโลกต่อไปโดยด่วน..
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 1 นายนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศเมื่อรู้เห็นปัญหาต้องเข้ามาแก้ไขให้ดีกว่าเดิม มิใช่พูดเฉยๆ เพราะถ้าไม่มีการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ดีขึ้นหรือหมดไป เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจะเดินหน้าฟ้องร้องนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีโทษฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญา ต่อไป โดยในวันที่ 1 เมษายน 2551 จะเดินทางเข้าไปยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลให้ทราบ ต่อไป
ประเด็นที่ 2 เรียกร้องขอให้รัฐบาล ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพในพื้นที่จังหวัดระยอง อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้จังหวัดระยองเต็มไปด้วยมลพิษ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากอยู่แล้ว จึงสมควรทบทวนการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ สมควรยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนของบริษัท โกล์ว ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินและการขยายอุตสาหกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง ไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ไปยังอำเภอบ้านฉาง ไปยังอำเภอนิคมพัฒนา ไปยังอำเภอบ้านค่าย และไปยังอำเภอปลวกแดง เช่นการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ตำบลแม่น้ำคู้เป็นต้น และอีกหลายโครงการ
จากเหตุผลที่นายสมัครพูดไว้ คือ EIA ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือมีการติดสินบนกับบริษัทมีการรู้เห็นกันระหว่างบริษัทกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงสมควรทบทวนกระบวนการจัดทำ EIA ใหม่ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 และ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ยอมทบทวน หรือหยุดการขยายอุตสาหกรรม เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและองค์กรภาคประชาชน จะนัดชุมนุมใหญ่ปลายเดือนเมษายนปีนี้ เพื่อแสดงประชามติชาวระยอง หยุดการพัฒนาที่ไม่พอเพียง เบียดบังไม่รู้จักจบสิ้นยืดเยื้อ ยาวนาน อย่างแน่นอน
ประเด็นที่ 3 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เข้าร่วมเป็นหนี่ง กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อร่วมยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว สร้างเอกภาพ ความรับรู้ของปัญหาชาติ โดยยึดปฏิญญา คัดค้านกระแสฟื้นระบอบเผด็จการทุนนิยมสามานย์ โดยมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวแทน สร้างกระแสต่อต้านระบอบทุนนิยมสามานย์โดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และภาคประชาชนทั้งประเทศเป็นตัวแทน และขอยืนหยัดต่อสู้ระบอบเผด็จการทุนนิยมสามานย์ รวมถึงพร้อมเคลื่อนไหวทุกรูปแบบด้วยสันติวิธี ภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญ 2550
โดยวันที่ 28 มีนาคม 2551 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจะระดมประชาชนเข้าร่วมเวที ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมในนามเครือข่าย 2,000 คน โดยชูประเด็นจริยธรรมนักการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นประเด็นในภาคตะวันออก สู่เวทีวันที่ 28 มีนาคม