xs
xsm
sm
md
lg

สภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี หนึ่งเดียวของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี หนึ่งเดียวของไทยแห่งนี้มิใช่สภาสงฆ์ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ แต่เป็นสภาสงฆ์ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 36 ปีเศษแล้ว

พระครูพิพิธกิจจารักษ์(สนัด) รองเจ้าคณะอำเภอบางละมุง เจ้าอาวาสวัดหนองปรือ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ประธานสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี รูปปัจจุบัน เล่าถึงความเป็นมาของสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี ว่า

• อดีตเจ้าคณะจังหวัดชลบุรีผู้ดำริให้มีสภาสงฆ์ฯ
ย้อนหลังไปเมื่อ พ.ศ. 2515 พระธรรมโกศาจารย์(ชอบ อนุจารีมหาเถระ) เจ้าคณะจังหวัดชลบุรีในขณะนั้นได้มีดำริว่าเหตุการณ์ต่างๆในสังคมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พระสงฆ์จึงต้องเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ ต้องช่วยกันระดมความคิดอ่านแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น แต่การระดมความคิด ที่ดีนั้นต้องตั้งเป็นรูปของสภาสงฆ์ให้มาร่วมประชุมเป็นประจำ เพื่อให้คณะพระสังฆาธิการได้มีโอกาสพูดคุยปรึกษาหารือเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะสงฆ์จังหวัดชลบุรี เป็นไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ และจะส่งผลดีแก่การปกครองคณะสงฆ์โดยรวม

จากดำรินี้เองจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2515 โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายคือ

1. เพื่อให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการได้ปรึกษาหารือร่วมกัน ในการบริหารงานพระพุทธศาสนา พร้อมร่วมกันคิดแก้ไขข้อขัดข้องปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
2. เพื่อฟังความคิดเห็นในข้อเสนอที่ดีของสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ
3. เพื่อคัดเลือกตัวบุคคล ผู้จะรับหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์ร่วมกันในโอกาสต่อไป(พระนิเทศก์)
4. เพื่อให้คณะสงฆ์มีความก้าวหน้าทันยุคทันสมัยในเหตุการณ์ต่างๆ
5. เพื่อส่งเสริมเจ้าคณะพระสังฆาธิการที่เป็นสมาชิกสภาสงฆ์ มีความกล้าหาญในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ในที่ประชุมสภาสงฆ์ เป็นการรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีของเจ้าคณะพระสังฆาธิการ เป็นไปเพื่อความรุ่งเรืองในการบริหารงานคณะสงฆ์

ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

เริ่มแรกเจ้าคณะจังหวัดชลบุรีได้แต่งตั้งให้พระครูพิศาลพรหมจรรย์ (มะลิ ปุณฺณสีโล) เจ้าอาวาสวัดชากนิมิตวิทยา เจ้าคณะตำบลบ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นประธานสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี เป็นรูปแรก

• เปิดประชุมครั้งแรกร่างกฎบัตรสภาสงฆ์ฯ
สภาสงฆ์จังหวัดชลบุรีได้เปิดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2515 ณ ศาลาการเปรียญ วัดราษฎร์บำรุง ต.มะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี
โดยมีเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล และเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ เข้าร่วมประชุมในวาระแรก รวม 43 รูป

จากนั้นพระครูพิศาลพรหมจรรย์ ประธานสภาสงฆ์ฯ จึงได้ประชุมร่างกฎระเบียบของการประชุมสภาสงฆ์ขึ้น อันเป็นที่มาของกฎบัตรสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นกฎระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงาน

กฎบัตรนี้ใช้มาจนกระทั่ง พ.ศ. 2546 พระครูอุดมวิสุทธิคุณ(หลุ่ม ฐิตนาโค) เจ้าอาวาส วัดโคกขี้หนอน ประธานสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรีในขณะนั้น พร้อมด้วยสมาชิกสภาต่างเห็นพ้องกันว่า ควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะกับภาวการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้มีการแก้ไขยกร่างกฎบัตรสภาสงฆ์ขึ้นใหม่ เพื่อสนองงานเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี โดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์จังหวัดชลบุรี อนุมัติให้ใช้ตามความในข้อ 15 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535)

สำหรับกฎบัตรใหม่ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2546 ลงนามโดยพระราชสุทธิเวที (ปัจจุบันมีสมณศักดิ์ที่ พระเทพชลธารมุนี) เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี มีทั้งหมด 110 ข้อ 15 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1-การปฏิบัติงานสภาสงฆ์ หมวดที่ 2-การเลือกประธานสภาสงฆ์ หมวดที่ 3-หน้าที่ประธาน รองประธาน เลขาธิการและโฆษกสภา หมวดที่ 4-การแต่งตั้ง
พระนิเทศก์ หมวดที่ 5-คุณสมบัติของพระนิเทศก์ หมวดที่ 6-หน้าที่การปฏิบัติของพระนิเทศก์ หมวดที่ 7-การรับรองของพระนิเทศก์ หมวดที่ 8-การประชุมสภาสงฆ์ หมวดที่ 9-การตั้งกระทู้ถาม หมวดที่ 10-การเสนอญัตติ หมวดที่ 11-การอภิปรายของสมาชิก หมวดที่ 12-การลงมติ หมวดที่ 13-คณะกรรมาธิการสภาสงฆ์ หมวดที่ 14-ทรัพย์สินอันเป็น สมบัติของวัด หมวดที่ 15-การบริหารคณะสงฆ์

ในกฎบัตรการประชุมสภาสงฆ์ ระบุว่าการประชุมสภา แบ่งออกเป็นการประชุมสามัญและวิสามัญ โดยการประชุมสามัญ กำหนดปีละ 4 ครั้ง คือ แรม 7 ค่ำ เดือน 3, แรม 7 ค่ำ เดือน 6, แรม 9 ค่ำ เดือน 9 และแรม 7 ค่ำ เดือน 12 ส่วนการประชุมวิสามัญ เป็นการประชุมพิเศษนอกเหนือจาก ที่กำหนดไว้ โดยประธานสภาสงฆ์เห็นสมควรและกำหนดให้นัดประชุมเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น

ประธานสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 3 ปี สมาชิกของสภาสงฆ์แห่งนี้ ประกอบด้วย เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลทุกตำบล รองเจ้าคณะตำบล ที่ปรึกษา เจ้าคณะ เจ้าคณะกิตติมศักดิ์ที่เจ้าคณะจังหวัดชลบุรีแต่งตั้ง และพระนิเทศก์ ซึ่งในกฎบัตรสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรีระบุไว้ว่า เป็นพระสังฆาธิการ พระครูสัญญาบัตร หรือพระภิกษุผู้มีความสามารถ ซึ่งเจ้าคณะอำเภอเสนอขอแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยงานด้านต่างๆของอำเภอ หรือเจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยงานด้านต่างๆของจังหวัด โดยมีประธานสภา 1 รูป รองประธานสภา 2 รูป เลขาธิการ 1 รูป รองเลขาธิการ 2 รูป โฆษกสภา 1 รูป และรองโฆษกสภา 1 รูป

• จัดตั้งสถานที่ประชุมสภาอย่างถาวร
เดิมนั้นการประชุมสภาก็หมุนเวียนไปตามวัดต่างๆที่สมาชิกสภาเห็นว่ามีสถานที่เหมาะสม กระทั่งสมาชิกสภาเห็นร่วมกันว่าควรจะมีสถานที่ในการประชุมสภาที่แน่นอน ดังนั้น ราวปี 2548 จึงได้มีการปรับปรุงศาลาการเปรียญของวัดหนองปรือ ให้เป็นห้องประชุมสภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี เป็นการถาวร

โดยสภาสงฆ์แห่งนี้จะทำหน้าที่ในการพิจารณาและกลั่นกรองเรื่องราวต่างๆ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะสงฆ์จังหวัดซึ่งจะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง โดยมีเจ้าคณะจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน

พระครูพิพิธกิจจารักษ์ ประธานสภาสงฆ์ฯรูปปัจจุบัน กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาเร่งด่วน ที่จำเป็นต้องเปิดประชุมวิสามัญเป็นวาระพิเศษ ว่า

“เรื่องที่ต้องประชุมเร่งด่วน คือปัญหาทางคณะสงฆ์ เช่น พระสงฆ์ในจังหวัดต้องอธิกรณ์ มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น หรือในกรณีที่ส่วนรวมของคณะสงฆ์ก็ดี หรือญาติโยมก็ดี ไม่ใช่แต่เฉพาะในจังหวัดนะ แต่ที่เขาได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ เช่น วาตภัย อุทกภัย หรือกรณีสึนามิ เราก็นำเรื่องเหล่านี้เข้าในสภาสงฆ์อย่างเร่งด่วน เพื่อหารือว่าคณะสงฆ์ของเราจะไปช่วยได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ช่วยกันอย่างจริงจัง ทั้งคณะสงฆ์และญาติโยม นำปัจจัยและสิ่งของไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ที่เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ หรือผู้ประสบภัยจากสึนามิ”

• รมว.สำนักนายกฯทึ่งรูปแบบสภาสงฆ์ มอบให้ พศ.นำไปเผยแพร่ต่อ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลงานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พร้อมด้วยนางจุฬารัตน์ บุณยากร ผอ.พศ. ซึ่งได้เดินทางตรวจเยี่ยมวัดหนองปรือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า

ตนไม่เคยเห็นที่วัดอื่นมีการจัดประชุมสภาสงฆ์ในรูปแบบ เช่นนี้ คือมีที่ประชุมที่คล้ายห้องประชุมสภาผู้แทน มีประธานสภาคณะสงฆ์ มีรองประธานอะไรต่างๆ ถือเป็นเรื่อง ที่ดีมาก ซึ่งการที่พระสงฆ์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในจังหวัดมาประชุมกัน เพื่อหารือเรื่องทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น โดยมีกำหนดเป็นวาระ เรียกว่าเป็นการประชุมนอกรอบ เพื่อกลั่นกรองเรื่องที่จำเป็นต้องใช้อำนาจหน้าที่ต่างๆตามกฎหมาย ส่งไปยังส่วนที่เกี่ยวข้อง

“ผมคิดว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติน่าจะลองนำ เรื่องนี้ไปเผยแพร่ ให้จังหวัดต่างๆได้เห็นแบบอย่าง เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้คณะสงฆ์ในจังหวัดได้มาพูดจาหารือกัน เหมือนกับประชาพิจารณ์ทางสงฆ์ย่อยๆ เมื่อได้เรื่องยุติอย่างไรก็แจ้งให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่อไป”

เจ้าอาวาสวัดหนองปรือ ประธานสภาสงฆ์ฯรูปปัจจุบัน กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้นำงบประมาณของแต่ละวัดมาใช้ในสภาสงฆ์ พระสังฆาธิการที่มาทำงานตรงนี้ท่านทุ่มเทและเสียสละกันจริงๆ ทั้งปัจจัยที่ต้องเสียสละจากนิตยภัตมาสมทบกองทุนวัดช่วยวัดทั้งในส่วนกลางและในส่วนของจังหวัด เพื่อช่วยเหลือพระและวัดที่ได้รับความเดือดร้อน เรียกว่าเรามาทำงานกันด้วยใจ เพื่อให้คณะสงฆ์ของเรามีความสามัคคีและเสียสละร่วมกัน”
..........
กล่าวได้ว่า สภาสงฆ์จังหวัดชลบุรี ได้ประพฤติปฏิบัติสมดังพุทธภาษิตที่เขียนไว้บนกฎบัตรว่า สพฺเพสํ สงฺฆภิกฺขุนํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา-ความพร้อมเพรียงของหมู่สงฆ์ ยังความเจริญให้สำเร็จ เพราะความพร้อมเพรียง ร่วมมือร่วมใจ กัน หรือความสามัคคีนี้เป็นคุณธรรมสำคัญที่ช่วยพัฒนาหมู่ชนให้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เพราะหากหมู่คณะมี ความสามัคคีกันแล้ว ก็สามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จ ความสงบสุข และความเจริญ แก่สังคมนั้นๆในที่สุด

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดยกองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น