xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือ? พระพุทธเจ้า ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน วันเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนื่องในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ นี้ เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา วันสำคัญของพระพุทธศาสนา และวันที่ ๒๗ พฤษภาคมนี้ เป็นวันครบรอบ ๑๐๒ ปี ชาตกาลของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) แห่งวัดสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี

กองบรรณาธิการจึงขอนำธรรมบรรยาย ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้แสดงในวันวิสาขบูชา บนยอดเขาพุทธทอง สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔ มาเผยแพร่เพื่อความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้อง ต่อการศึกษาและปฏิบัติตนในฐานะพุทธศาสนิกชน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันสำคัญนี้ พร้อมกับร่วมน้อมรำลึกและสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาส พระสาวกผู้ประเสริฐ ผู้เป็นปราชญ์ในพุทธศาสนา และผู้ปวารณาตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้าว่า

“ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้แด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึง ชื่อว่า พุทธทาส”

......

...ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาปรารภวิสาขบูชาทั้งมีความมุ่งหมายแต่เพียงเพื่อจะเป็นเครื่องชี้แจงให้กระทำในใจให้แยบคาย ให้ได้รับประโยชน์อานิสงส์จากการทำวิสาขบูชาให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลาย จงตั้งใจฟังโดยแยบคาย ให้สำเร็จประโยชน์เถิด

การที่จะได้รับอานิสงส์ของวิสาขบูชาเต็มที่นั้น จะต้องกระทำในใจให้เป็นอย่างดี ให้เกิดความรู้สึกในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เกิดศรัทธา ให้เกิดปีติ ให้เกิดปราโมทย์ โดยแท้จริงขึ้นมา จึงจะมีผลเต็มที่ตามความมุ่งหมาย ด้วยเหตุฉะนี้เราจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ตามสมควรเป็นลำดับไป

• เข้าใจ ‘วันวิสาขบูชา’ อย่างถูกต้อง

ข้อแรกที่สุด จะต้องระลึกถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งตัวเราด้วยได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อาจจะได้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ได้มากกว่าสัตว์ที่ไม่เคยได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ แต่ที่จะให้ได้มากที่สุดนั้น ก็คือ การปฏิบัติตามคำสั่งสอนให้ได้มากเท่าไร

ส่วนวันนี้นั้น เป็นวันที่กำหนดไว้สำหรับระลึกถึงพระคุณอันนั้นเป็นประจำปี ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีความสำคัญแก่วันเช่นนี้นั้น ดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว ก็คือว่าเป็นวันประสูติ เป็นวันตรัสรู้ และเป็นวันปรินิพพาน กล่าวอย่างปาฏิหาริย์ว่าเป็นวันเดียวกัน คือวันเช่นวันนี้ นี้ก็เป็นการเชื่อถือของพุทธบริษัทกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มของพุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทอย่างประเทศไทยเรา ส่วนพุทธบริษัทฝ่ายอื่น เช่นฝ่ายมหายาน เป็นต้นนั้น หาได้ถือว่าพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกันเช่นวันนี้ไม่

ข้อนี้ เรามีความเข้าใจกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นที่ขัดขวางกัน? ถ้าสมมติว่าคนที่เป็นนักศึกษาแห่งยุคปัจจุบันจะมาพูดขึ้นว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เราจะมีคำอธิบายกันอย่างไร?

ถ้าเราจะยึดถือเอาว่า การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน มีในวันเดียวกัน เช่นในวันนี้นั้น ก็จะกล่าวได้ว่าเป็นการถือในลักษณะที่เป็นปาฏิหาริย์ และถือว่าสิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์นั้นก็มีได้จริง และมีอยู่จริง

แต่ถ้าว่าจะให้เป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนสมัยปัจจุบัน ก็จะต้องแปลความสำคัญของ ๓ คำนี้ ให้เป็นที่ถูกต้อง กล่าวคือคำว่า “ประสูติ” ก็ดี คำว่า “ตรัสูรู้” ก็ดี คำว่า “ปรินิพพาน” ก็ดี แม้จะแตกต่างกันโดยคำพูด แต่ความหมายนั้นเป็นอย่างเดียวกัน ถ้าพูดอย่างภาษาคนธรรมดาประสูติก็คือประสูติ ตรัสรู้ก็คือตรัสรู้ ปรินิพพาน ก็คือปรินิพพาน คือ การเกิด การตรัสรู้ และการตาย

• ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ความหมายในภาษาธรรม

แต่ถ้าจะพูดอย่างภาษาธรรม คือเป็นภาษาที่ลึกซึ้งกว่าธรรมดา ซึ่งเป็นภาษาที่ผู้รู้เขาพูดกันแล้ว การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ก็มีทางที่จะเป็นสิ่งสิ่งเดียวกันได้

การประสูติ ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า มิได้หมายถึงการเกิดขึ้นจากทั้งพระมารดา อย่างนี้ก็ได้ คำว่า “เกิด” ในที่นี้ คือเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เกิดเมื่อไร? เกิดในขณะที่เป็นการตรัสรู้ เกิดที่ไหน? เกิดที่โคนต้นโพธิ์นั่นเอง

แต่ถ้ากล่าวอย่างภาษาธรรมดา ก็เกิดที่สวนลุมพินี ใต้ต้นสาละ อย่างนี้มันก็ต่างกัน แต่ถ้าถือว่า การเกิดเป็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ คือการเกิดอย่าง แท้จริงของพระพุทธเจ้า การเกิดอย่างธรรมดาสามัญมันก็เหมือนๆกันทุกคน ไม่น่าสนใจอะไร การเกิดที่น่าสนใจคือ การเกิดเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้เกิดหรืออุบัติขึ้นในโลกนี้ ในลักษณะที่เป็นโอปปาติกะกำเนิด คือเกิดผลุงขึ้นมา เป็นพระพุทธเจ้า ที่ใต้โคนต้นโพธิ์นั่นเอง

ทีนี้ การตรัสรู้ ก็หมายความว่า มีการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า กับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งเดียวกัน

ทีนี้ก็มาถึง ปรินิพพาน ปรินิพพาน แปลว่า ดับสนิท ดับรอบ นี้หมายถึง การสิ้นไปแห่งกิเลส มิได้หมายถึงการแตกตายทำลายของร่างกาย
ซึ่งมันไม่มีความหมายอะไร ไม่มีประโยชน์อะไร ตรงนี้จะต้องวินิจฉัยกันถึงคำว่า “ปรินิพพาน” สักหน่อย

นิพพาน มีอยู่ ๒ อย่าง ตามที่เข้าใจกัน คือ สอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน ถ้าถือเอาตามคำอธิบายในพระคัมภีร์ไตรปิฎกเอง เช่น คัมภีร์อิติวุตตกนิบาต เป็นต้น นิพพาน ๒ อย่างนี้ มีความหมายเป็นการสิ้นไปแห่งกิเลสในขณะที่ยังเป็นๆ ไม่เกี่ยวกับการตายเลย แต่ที่สอนกันอยู่ในที่บางแห่งหรือที่โรงเรียนสอนกันว่า สอุปาทิเสสนิพพานนั้นหมายถึงสิ้นกิเลส อนุปาทิเสสนิพพานนั้นหมายถึงตายทำลายเบญจขันธ์ อย่างนี้ไม่ถูกต้องตามพระบาลี ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์อิติวุตตกะในพระไตรปิฎก

จะเปรียบความข้อนี้ให้เห็นชัดๆ ก็ต้องเปรียบด้วยนิพพานของวัตถุ เช่นว่า ถ่านไฟแดงๆ เอาน้ำสาดให้ดับเป็นสีดำ ดับสนิทแล้ว แต่ไออุ่นหรือความร้อนยังมีอยู่ ต้องรอไปอีกระยะหนึ่งความอุ่นหรือไอร้อนนั้นจึงจะเย็นสนิท สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง เมื่อแรกดับ ไออุ่นยังเหลืออยู่ คือพระอรหันต์เมื่อแรกปรินิพพานในลักษณะอย่างนี้ ยังมีอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ที่เคย ชินต่อการกระทบตามธรรมดาสามัญมาแต่หนหลัง ดังนั้นเมื่อมีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ย่อมมีความรู้สึกต่อเวทนานั้นบ้าง แต่ถ้า เมื่อใดเป็นพระอรหันต์โดยกาลเวลาล่วง ไปๆแล้ว มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ อายตนะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว แม้จะมีอะไรมากระทบ ก็ไม่มีความรู้สึกที่เป็นความโกลาหล ก็ไม่รู้สึกเป็นเวทนาชนิดที่ทำลายความสงบ

ขอให้สังเกตความแตกต่างอย่างนี้ แล้วก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า สิ่งที่เรียกว่า“นิพพาน” ก็ดี “ปรินิพพาน” ก็ดี หรือ“นิพพานธาตุ” ก็ดี บรรลุได้ในขณะที่ร่างกายยังเป็นๆ ยังไม่ต้องตาย การจะพูดว่า อนุปาทิเสสนิพพาน บรรลุได้เมื่อ ตายนั้น มันจะมีประโยชน์อะไร เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีประโยชน์เต็มที่ คือเย็นสนิทเรื่อยไป จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของเบญจขันธ์ที่จะแตก ทำลายไปตามธรรมดา การตายตามธรรมดา ไม่ใช่นิพพาน

นิพพาน อยู่ที่ความสิ้นไปแห่งกิเลส ในตอนแรกๆ ยังมีไออุ่นเหลืออยู่ในตอนถัดมาหมดไออุ่นสิ้นเชิง เย็นสนิทแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอนุปาทิเสสนิพพาน โดยข้อความต่างกันนิดเดียวว่า “เวทนาทั้งหลายของเธอนั้น จักเป็นของเย็น” หมายความว่ามี ตา หู จมูก กาย ใจ ชนิดที่อะไรๆ มากระทบแล้ว ทำความวุ่นวายระส่ำระสายไม่ได้ ไม่เหมือนกับเมื่อแรกเป็นพระอรหันต์ตอน นั้นยังมีความเคยชินในการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ววุ่นวายได้ แม้ไม่เกิดกิเลส ก็มีความรู้สึกกระวนกระวายบ้างในบางกรณี

เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีหลักเกณฑ์ที่จะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” นั้น ไม่ใช่หมายถึงการตายทางร่างกาย แต่หมายถึงการตายของกิเลส การตายของสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู เมื่อตัวกู-ของกู ดับไป ก็เรียกว่าปรินิพพาน และ ตัวกู-ของกู หรือกิเลส นี้ดับไปเมื่อไรสำหรับพระพุทธเจ้า? มันก็ดับไปแล้วเมื่อตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ที่ตรงโคนต้นโพธิ์นั้นเอง มีทั้งการประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน

• พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน ในวินาทีเดียวกัน


เมื่อเราอธิบายอย่างนี้ คนที่เป็นนักศึกษา แม้สมัยนี้ก็ค้านไม่ได้ แล้วก็คงรักษาคำพูดเดิมไว้ได้ว่า การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานนั้น มีในวันเดียวกัน ที่พูดว่า มีในวันเดียวกันนั้น ยังจะมาก ไปเสียอีก จะต้องพูดได้ว่า มีในวินาทีเดียวกัน นี่เป็นคำอธิบายสำหรับผู้ที่จะถือเอาตามเหตุผล ตามการศึกษาของเขา เราก็ควรจะอธิบายแก่เขาอย่างนี้

ถ้าในวงทางเราด้วยกันที่ไม่สมัครจะวินิจฉัยวิพากษ์วิจารณ์อะไรกัน พึงถือได้ตามที่ถือมาแต่เดิมๆว่าการประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพานนั้น ก็มีในวันเดียวกัน ถ้าเราจะไปพูดกับพวกอื่นเช่นพวกฝ่ายมหายานเป็นต้น เราก็อย่าไปขัดคอเขา เพราะเขาถือว่าประสูติก็วันหนึ่ง ตรัสรู้ก็อีกวันหนึ่ง ปรินิพพานก็อีกวันหนึ่ง แต่เราก็บอกเขาว่า เราไม่ถืออย่างนั้น เพราะเราไม่ถือเอาการเกิดทางร่างกายเป็นหลัก ไม่ถือเอาการตายทางร่างกายเป็นหลัก เราถือเอาการเกิดทางนามธรรมเป็นพระพุทธเจ้าเป็นหลักเมื่อมีการตรัสรู้นั่นเอง แล้วก็มีการตายไปแห่งกิเลสโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ตรัสรู้นั่นเอง พูดไปอย่างนี้ก็ไม่ทำให้เสียเหลี่ยมคูของเถรวาทแต่อย่างใด ยังจะทำให้เกิดความเลื่อมใสแก่ฝ่ายมหายานได้ด้วย

หวังว่าท่านทั้งหลาย จะได้กระทำในใจให้มีความเข้าใจในข้อนี้ จนมีความ เชื่อลงไปจริงๆ ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน ในวินาทีเดียวกัน โดยนัยดังที่กล่าวมานี้ และการที่กล่าวถ้อยคำวิสาขบูชาของเราในวันนี้ก็จะเป็นจริง คือตรงกันทั้งใจ ตรงกันทั้งปาก ไม่มีอะไรขัดขวางกันเลย นี้เป็นข้อแรก ขอตักเตือนท่านทั้งหลาย ว่าจงได้พยายาม ที่จะทำความเข้าใจ ขจัดสิ่งขัดข้องสงสัยนานาประการให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ไม่มีความสงสัยใดๆ เกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ที่สุดแต่เรื่องที่เป็นปาฏิหาริย์ เช่นว่าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีในวันเดียวกัน ดังนี้

• การตรัสรู้ เป็นทั้งการประสูติ และปรินิพพาน

ทีนี้เราก็จะได้พิจารณากันถึงข้อที่ว่า การตรัสรู้ ซึ่งเป็นทั้งการประสูติ และเป็นทั้งการปรินิพพานนั้นเป็นอย่างไร?

การตรัสรู้ หมายถึง การรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้กิเลสสิ้นไป โดยไม่มีส่วนเหลือ “รู้”
ข้อนี้เรียกว่า ตรัสรู้ ถ้ากิเลสยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง ก็ยังไม่มีทางที่จะรู้ข้อนี้

ในเวลาที่ตรัสรู้ ที่โคนต้นโพธิ์นั้น เป็นเวลารุ่งอรุณของเวลาเช้า ส่วนตามเรื่องราวที่เป็นตำนาน การประสูติในสวนลุมพินีนั้น มีในเวลากลางวัน ตอนเที่ยง และการปรินิพพานโดยทางร่างกายนั้น มีขึ้นในตอนเย็น ที่อุทยานอีกแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ ๓ แห่ง เป็นเวลา ๓ อย่าง

เดี๋ยวนี้เรามาทำความเข้าใจกันในข้อที่ว่า ทั้ง ๓ อย่างนั้นมารวมอยู่ที่เป็นเวลาตรัสรู้ คือรู้ความที่กิเลสหมดไป รู้ความที่มีผลอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาแทนที่ความที่กิเลสหมดไป คือไปรู้อย่างที่เราพูดกันอยู่ว่า รู้ความที่ตัวกู-ของกู ดับสิ้นไปไม่มีเหลือ คือรู้ว่าเดี๋ยวนี้กิเลสอันเป็นเหตุให้เวียนว่ายในวัฏ-สงสารนั้น ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ถึงที่สุดแห่งการเวียนว่ายในวัฏสงสารแล้ว

การถึงที่สุดแห่งการเวียนว่ายในวัฏสงสารนี้แหละ จะมองดูในฐานะที่เป็นการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็ได้ การตรัสรู้ก็ได้ และปรินิพพานก็ได้

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้หลายอย่างเช่นว่า “ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่รู้อริยสัจจ์ทั้งสี่ ก็ยังไม่ปฏิญญาพระองค์ว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” “ตลอดเวลาที่ยังไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทโดยสิ้นเชิง ก็ยังไม่ปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ดังนี้ เป็นต้น มันมากเรื่องมาก ราว หลายเรื่องหลายราว แต่แล้วทุกเรื่อง เป็นเรื่องเดียวกัน คือความสิ้นไปแห่งกิเลส และไม่มีความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกต่อไป

ในขณะใดมีลักษณะอย่างนั้น ในขณะนั้นเรียกว่าการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อย่างนี้ ก็คือ การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า และการดับสนิทไม่มีส่วนเหลือของสิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน ซึ่งเป็นชื่อแทนกิเลสทั้งหลาย บางทีก็เรียกว่า ตัณหา บางทีก็เรียกว่า อวิชชา แต่ที่เป็นตัวให้เกิดแห่งความทุกข์แล้วก็เรียกว่า อุปาทาน ดังพระบาลีว่า

“สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา-เมื่อกล่าวสรุปโดยย่อแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้น เป็นตัวความทุกข์” บัดนี้ได้ทำลายอุปาทานที่มีการยึดถือในเบญจขันธ์นั้นสูญสิ้นไปแล้ว คือปรินิพพานไปแล้วก็เหลือแต่เบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ แล้วก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายสืบไป

ขอให้พิจารณาให้มีความเข้าใจในสิ่ง ที่เรียกว่า “ตรัสรู้” โดยใจความสำคัญว่า มันเป็นอย่างนี้ แล้วสิ่งนี้ก็ได้มีขึ้นในวันที่เราเรียกว่า วันวิสาขบูชา คือวันเช่นวันนี้ ที่เรียกว่าวันเพ็ญ คือพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ นี้มันเป็นเรื่องของปฏิทินที่นับกันอยู่อย่างจันทรคติ แต่ถ้าพวกอื่นเขาใช้ปฏิทินอย่างสุริยคติ เขาก็นับอย่าง อื่น มันก็กลายเป็นวันที่ หรือเดือนทางสุริยคติไป มันก็จะไม่ตรงกับวันพระจันทร์เพ็ญเหมือนกับวันเช่นวันนี้ แล้วเราจะไปว่าเขาผิดก็ไม่ได้ เพราะเขาถือปฏิทินอย่างสุริยคติเป็นเกณฑ์

พวกเราถือเอาปฏิทินธรรมชาติ คือดวงจันทร์เข้าสู่นักขัตฤกษ์ ชื่อวิสาขะเมื่อไร ก็ถือว่าวันนั้นได้มาถึงเข้าอีกแล้ว แต่แล้วก็อย่ายึดมั่นกันให้มากไป จนถึงกับว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน มันถูกด้วยกันทั้งนั้น แม้ดวงจันทร์ก็ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ แม้ดวงอาทิตย์ก็เปลี่ยนแปลงได้ เราจะถืออย่างสุริยคติก็ได้ อย่างจันทรคติก็ได้ อย่าได้ ทะเลาะกันในเรื่องนี้

แต่เมื่อเราถือเอาจันทรคติเป็นหลักมานมนานแล้ว ก็คงถือเอาต่อไป ดังนั้นจึงเป็นที่ยุติหรือแน่นอนแก่ใจว่า เมื่อไรพระจันทร์เต็มดวงอยู่ในกลุ่มดาวฤกษ์ที่ชื่อวิสาขะ แล้วเราจะถือโดย สมมติว่า นี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ มีการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า และมีการปรินิพพานไปของกิเลสทั้งหลาย และเรียกว่าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน มีแล้วอย่างแท้จริงในวันเช่นวันนี้ นี้คือเรื่องฝ่ายของพระพุทธเจ้า

• วิสาขบูชา บูชาอย่างไรจึงจะสมค่า

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องฝ่ายพวกเรา เราจะทำอย่างไรกับพระพุทธเจ้าในกรณีนี้? เดี๋ยวนี้ก็เป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่าเราจะบูชาพระองค์ในโอกาสเช่นนี้ ทีนี้ก็มีปัญหาว่าพระพุทธเจ้าโดยส่วนพระองค์ เป็นผู้ทรงคุณสมบัติประเสริฐสุดเหลือที่จะพรรณนาได้ และโดยส่วนที่เกี่ยวกับพวกเรา พระองค์ก็มีบุญคุณ มีหนี้เหนือศีรษะเรา อย่างที่จะพรรณนา ไม่ไหว แล้วเราจะบูชาอย่างไร มันจึงจะสมกัน ไม่เป็นการเล่นตลก

การที่จะจุดธูปเทียนเข้าแล้วก็ถือขึ้นไว้ในมือ แล้วก็เดินเวียนกันสัก ๓ รอบ อย่างนี้มันคุ้มกันไหม? มันชดเชย กันได้ไหมกับพระคุณของพระองค์ซึ่งมีอยู่เหนือเรา? อาตมาคิดว่าถ้าทำกันแต่เพียงเท่านี้ มันก็เป็นการเล่นตลกกันเสียมากกว่า

แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเรื่องเล่นตลก? ก็หมายความว่าต้องทำในใจ ด้วย อย่าทำเพียงแต่ว่าถือดอกไม้ธูปเทียน แล้วเดินเวียน นี้เป็นการสมมติพิธีฝ่ายร่างกาย ส่วนจิตใจนั้นมันมีความหมายว่าเราจะต้องทำอะไรๆ ในจิตใจให้มันเหมือนกันกับดอกไม้ธูปเทียนที่เราจุดขึ้นและถือไว้ในมือเป็นต้น คือจะต้องทำจิตใจให้มีความหมายเป็น ความสะอาด สว่าง สงบ เหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้า โดยหลักที่กล่าวได้ง่ายๆว่า มันเหมือนกัน มันเท่ากันมันจึงจะอยู่ด้วยกันได้

ถ้าเรามีจิตใจแตกต่างไปจากพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะเป็นสาวกของพระ-องค์ได้อย่างไร จะมาเดินเวียนเทียนใน ลักษณะเช่นนี้ มันก็เป็นการเล่นตลก ฉะนั้นขอให้เตรียมจิตใจเป็นการล่วงหน้าเลยแต่เดี๋ยวนี้ ว่าจะมีจิตใจโดยอนุวัตรหรือโดยอนุโลมต่อพระหฤทัย ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ซึ่งมีความสะอาด สว่าง สงบ เป็นส่วนสำคัญ แล้วก็ลืมทุกสิ่งทุกอย่างเสีย ให้คงเหลือแต่จิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ แล้วกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระองค์ด้วยปาก ถือดอกไม้ธูปเทียนด้วยร่างกาย แล้วก็เดินเวียนประทักษิณให้มีความหมายครบทั้งกาย ทั้งวาจา และจิตใจ จึงจะพอกล่าวได้ว่า เป็นการบูชาที่พอเหมาะสมกันกับที่พระองค์ทรงพระคุณอันใหญ่หลวงในพระองค์เอง และที่เกี่ยวมาถึงพวกเราด้วย เพราะว่าเราได้ทำสุดความสามารถทุกอย่างทุกประการแล้วเท่าที่เราจะทำได้ เราได้เสียสละทุกอย่างทุกประการแล้วเท่าที่เราจะทำได้

• บูชาด้วยการปฏิบัติบูชา

ในวันนี้ เราได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกรุ่งอรุณ ว่าจะทำการบูชาพระพุทธองค์ด้วยปฏิบัติบูชา จึงได้พยายามที่จะให้ทาน พยายามที่จะรักษาศีล พยายามที่จะเจริญเมตตาภาวนา กระทำจิตใจให้ดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ แล้วจะอุทิศเวลาทั้งหลายวันหนึ่งคืนหนึ่งนี้ เพื่อเป็นการบูชาจริงๆ เราจึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีว่า คืนนี้จะไม่นอน แม้จะต้องใช้ความอดทนมาก ก็เป็นการบูชาแด่พระองค์ทั้งนั้น เรามีความลำบากเท่าไรในวันนี้ ทั้งหมดนั้นเป็นการบูชาต่อพระองค์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นขอให้กระทำให้สุดความสามารถ สุดชีวิตจิตใจจริงๆ ก็จะได้ชื่อว่า เราไม่เล่นตลก เรามีการบูชาด้วยจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ

เดี๋ยวนี้ ก็ยังมีสิ่งที่เป็นเบ็ดเตล็ดเล็กๆน้อยๆอีก เช่น เราอุตส่าห์พยายาม เดินขึ้นมาจนถึงยอดภูเขานี้ มันก็ต้องลำบากกว่าที่เราอยู่ที่เชิงเขา การอุตส่าห์ ถือร่างขึ้นมาจนถึงยอดภูเขาก็เพื่อว่าจะให้เกิดความเสียสละเป็นเครื่องบูชาคุณของพระองค์ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นๆ แล้วบางทีเราจะมานึกว่า พระพุทธเจ้าท่านมีความเป็นอยู่อย่างไร เราก็จะมีการเป็นอยู่ให้คล้ายพระองค์มากยิ่งขึ้นไป ให้มากยิ่งขึ้นเท่าที่เราจะกระทำได้ เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยใช้รองเท้าเลย ตลอดชีวิตของพระองค์ เดี๋ยวนี้เราจะทำการบูชาพระองค์ด้วยการไม่สวมรองเท้าอยู่ที่เท้าจะเป็นอย่างไรบ้าง

จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายว่า ถ้าจะบูชาให้ถึงที่สุดแล้ว ก็ควรจะถอดรองเท้า ออก อย่างน้อยก็เป็นที่ระลึกต่อพระองค์สักเวลาหนึ่ง ว่าพระองค์ไม่เคยสวม รองเท้าเลยตลอดชีวิต มีความรู้สึกต่อการไม่สวมรองเท้านั้นเป็นอย่างไร แล้วเราก็ไม่เคยรู้ เพราะว่าเราสวมรองเท้ากันเสียเรื่อย ถ้าอย่างไรก็ลองคิดถึงข้อนี้ แล้วเสียสละทุกอย่างทุกประการ จะไม่ สวมรองเท้าในขณะกระทำการบูชาต่อพระองค์ ในโอกาลสำคัญที่สุด คือในโอกาสแห่งวิสาขบูชานี้ เป็นต้น

ความยากสำบากของพระองค์ ในการที่ท่องเที่ยวไปเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ มีมากเท่าไร ถ้าเรารู้สึกในข้อนี้แล้ว เราคงจะนอนไม่หลับในคืนนี้ เราอาจจะอยู่สว่างได้ เพราะว่าในจิตใจเราระลึกนึก ถึงพระคุณของพระองค์ ที่ท่วมท้นอยู่เหนือศีรษะของเรา ทำไมเราเล่นไพ่สว่างได้ แต่ทีจะบูชาพระพุทธองค์ให้สว่างบ้าง เราว่าทนไม่ไหว ถ้าสมมติว่าบุตรภรรยาสามีเจ็บไข้จะตายลงเดี๋ยวนี้แล้ว เราก็อยู่เฝ้าจนสว่างได้ เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันเช่นวันนี้โดยแน่นอน ทำไมเราจะนั่งเฝ้าดูพระพุทธเจ้าตรัสรู้ตลอดคืน สักคืนหนึ่งจะไม่ได้หรืออย่างไร

ข้อนี้มันขึ้นอยู่ที่ว่า เรามีความเสียสละในจิตใจมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าท่านผู้ใดมีการบูชาให้มากยิ่งขึ้นไป ก็จงยินดีรับเอาความลำบากซึ่งจะต้องมีบ้างเป็นธรรมดา สำหรับทำการ บูชาให้ถึงที่สุดตลอดวันตลอดคืนในวันเช่นวันนี้ ซึ่งเราได้เคยกระทำกันมาแล้วแต่หนหลัง มันก็เป็นการพิสูจน์ได้ดี ว่าเราทำได้และไม่เหลือวิสัยเลย ดังนั้นเชื่อได้ว่าในวันนี้ก็ต้องทำได้ เช่นเดียว กันกับที่ทำมาแล้วอย่างเคยในปีก่อนๆ ขอให้เตรียมทั้งกายทั้งวาจาและจิตใจ พร้อมทั้งสติปัญญาความคิดเห็น ให้พร้อมที่จะทำวิสาขบูชาในโอกาสนี้ด้วยกันจงทุกๆ ท่านเถิด

• ความหมายของการเดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบ

ท่านผู้ใดกระทำก็ย่อมเป็นส่วนดี หรือเป็นส่วนกุศลของท่านผู้นั้น เพราะฉะนั้นใครทำได้มาก ทำได้สูงสุดอย่างไร ก็เป็นอานิสงส์ที่มากและสูงสุดแก่บุคคล นั้นเท่านั้น นี้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ขอตักเตือนอยู่เสมอว่า ส่วนสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่จิตใจ จงทำจิตใจให้ถูกต้อง แล้วส่วนที่เป็นร่างกาย เป็นวาจาก็จะถูกต้องไปเอง

จงทำในใจถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ดังที่ได้วิสัชนามาแล้วนี้ ให้อยู่ในใจตลอดเวลา แล้วปากที่ว่า อิติปิโส ภควา ฯลฯ นั้น ก็จะมีความหมาย ไม่เป็นการกล่าวอย่างนกแก้วนกขุนทอง หรือกล่าวพอเป็นเพียงพิธีรีตอง แต่ประการใด แม้การเดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบ นั้นก็จะมีความหมายว่ารอบหนึ่งจะบูชาพระคุณหนึ่งๆ พระองค์มีพระคุณสาม คือความสะอาด ความสว่าง และความสงบ เราก็ถือเอานิมิตนี้ ทำการประทักษิณ ๓ รอบ ก็พอดีกันกับพระคุณของพระพุทธองค์ที่มีอยู่ ๓ ชนิด

และที่ว่าเราจะเดินเวียนไปทางขวานั้น ไม่ใช่เดินอย่างละเมอๆ ด้วยยึดถือความหมายของมือขวา คำว่า “ขวา” หรือ “ประทักษิณ” นี้ หมายความว่า ถูกต้อง คำว่า “ซ้าย” นั้นหมายความว่า ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นประทักษิณาก็แปลว่าถูกต้อง กัมมะที่เป็นประทักษิณา คือกรรมที่ถูกต้อง เป็นกุศล

เดี๋ยวนี้ เราถือว่า เวียนขวานี้เป็นกรรมที่เป็นกุศล คือเป็นความถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะได้มีปีติปราโมทย์อิ่มเอิบอยู่ในจิตใจ ในขณะที่เดินเวียนประทักษิณสิ้น ๓ รอบ ในโอกาสนี้

• แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์

ทั้งหมดนี้เป็นการตักเตือน เป็นการซ้อมความจำแก่ท่านทั้งหลาย ผู้จะทำวิสาขบูชาให้สมกับที่อุตส่าห์ถือร่างมาจากจังหวัดไกล แล้วยังลำบากปีนขึ้นมา บนภูเขานี้ แล้วก็เดินเวียนประทักษิณตรงพื้นดินอันขรุขระอยู่ตามธรรมชาติเหมือนกับฝ่าพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้เคยกระทบแล้วโดยปราศจากรองเท้าจนตลอดชีวิตของพระองค์

หวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความเข้าใจ ในคำอธิบายนี้อย่างละเอียดละออถูกต้องถึงที่สุด และให้มันแจ่มแจ้งอยู่ในใจถึงที่สุด แล้วทำการเวียนประทักษิณให้เป็นการบูชาอย่างยิ่ง สมกับที่วันนี้เป็นวันที่จะต้องทำการบูชาอย่างสูงสุดใน พระพุทธศาสนาคือวิสาขบูชา ในโอกาสที่เป็นการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่ พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อเหตุอะไร? ทั้งนี้เพื่อเหตุว่า นอกจากจะเป็นการย้ำถึงศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือความก้าวหน้าของจิตใจในทางธรรมนี้แล้ว ยังเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที คนมักจะมองข้าม สิ่งที่เรียกว่า “กตัญญูกตเวที” เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไป

เรื่องกตัญญูกตเวทีไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องที่จะช่วยให้โลกนี้อยู่รอดได้ เดี๋ยวนี้สัตว์ทั้งหลายเนรคุณพระศาสดาของตนๆ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสอน โลกนี้จึงมีความโกลาหลวุ่นวาย ไม่มีสันติภาพ มีแต่วิกฤตการณ์

ถ้าเราเป็นผู้กตัญญูอย่างแท้จริงต่อพระศาสดา หรือต่อศาสนา ต่อสิ่งที่มีคุณแล้ว โลกนี้ไม่เป็นอย่างนี้ พวกที่ถือศาสนาอื่นก็เป็นอย่างนี้ พวกที่ถือศาสนาพุทธก็กำลังจะเป็นอย่างนี้ แม้โดยไม่เจตนา คือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วก็ละเลยเสีย มันก็มีผลเท่ากับไม่รู้คุณด้วยเหมือนกัน เมื่อไม่รู้คุณแล้ว มันก็ไม่มีการทำอะไรที่เหมาะสมกัน มันก็มีแต่การเสื่อมลงๆ เราก็มีความเสื่อมครอบงำ ทำอะไรผิดๆพลาดๆ ไปหลายอย่าง เดี๋ยวนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แก่ใจแล้วว่า ในหมู่พุทธบริษัทนี้มีการเปลี่ยนแปลง ตกไปสู่วงของไสยศาสตร์ หรือของสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องกตัญญูกตเวที ไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนานั้นมากขึ้น เพราะว่าเราเป็นคนมักง่าย อวดดี ไม่มีความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แล้วมันสมน้ำหน้าใคร

ลองคิดดูว่าใครเป็นผู้ได้รับความเสียหายที่สุด? ก็คือผู้ที่ไม่รู้จักกตัญญูกตเวทีนั่นเอง นี้เป็นเรื่องที่หยาบคาย เป็นเรื่องที่มันต่ำมากเกินไป แต่จะไม่เอามาพูดเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะกลัวว่ามันจะเผลอพลัดตกลงไปในหลุมในเหวอันนั้น แล้วก็จะสูญเสียความเป็นพุทธบริษัทอย่างน่าใจหาย อย่างน่าเวทนาสงสาร ดังนั้น จึงขอให้มีจิตใจที่เต็มอยู่ด้วยความกตัญญูกตเวที รู้คุณของพระพุทธ รู้คุณของพระธรรม รู้คุณของพระสงฆ์ แล้วจงมีการเสียสละอย่าง สุดความสามารถ เพื่อใช้หนี้บุญคุณเหล่า นี้อย่างเป็นลูกหนี้ที่ดี เป็นลูกหนี้ที่ซื่อสัตย์ เป็นลูกหนี้ที่ไม่บิดพลิ้ว ใครๆก็ต้องการอย่างนี้ และเราก็ควรจะต้องการอย่างนี้ จึงได้ทำตนเป็นผู้เสียและทุกอย่างทุกประการ จะลำบากมากมายเท่าไร ก็จะต้องยอมกระทำ เพื่อใช้หนี้บุญคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

• ต้องทำตนให้รู้ ตื่น และเบิกบาน

เมื่อพูดว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่า รวมพระธรรม และรวมพระสงฆ์อยู่ด้วย หรือแม้จะพูดว่าพระธรรม ก็รวมพระพุทธ พระสงฆ์อยู่ด้วย พูดว่าพระสงฆ์ ก็ต้องรวมพระพุทธ พระธรรมอยู่ด้วย เพราะว่าพระพุทธนั้น คือผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน พระธรรมนั้นคือความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน พระสงฆ์ ก็คือผู้ที่มีความรู้ ความตื่น ความเบิกบานตามพระพุทธเจ้าไป อะไรๆก็มีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า มีความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน มีความรู้ คือไม่โง่ มีความตื่น คือไม่หลับ มีความเบิกบาน คือไม่มีความทุกข์เลย

เราจะต้องทำตนให้เป็นเหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระธรรม เหมือนพระสงฆ์ คือมีความรู้ ความตื่น และเบิกบาน มีจิตใจที่สะอาด ที่สว่าง และสงบ มันจึงเป็นความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน เดี๋ยวนี้ต้องมีจิตใจเป็นอย่างนี้ จึงจะทำการบูชาวิสาขบูชานี้ ได้เต็มตามความหมาย

ขอให้ท่านทั้งหลายจงกระทำในใจโดยแยบคาย อย่าได้มีความประมาทมักง่ายแต่ประการใด จงสำรวมจิตใจให้ถึงที่สุด สำรวมกายวาจาให้ถึงที่สุด แล้วกระทำวิสาขบูชาให้ถึงที่สุด ก็จะได้ ชื่อว่า เป็นการได้ที่ดี เป็นการกระทำที่ดี เป็นการพยายามใช้หนี้อย่างสุดความสามารถของเราซึ่งเป็นสัตว์ที่ตกอยู่ในกองทุกข์

นี้คือข้อที่ว่า เป็นการฟื้นเตือน ผู้ที่เคยฟังมาแล้วจะลืมเสียแล้วก็เป็นการบอกแก่ผู้มาใหม่ที่ยังไม่ทราบ ขอจงได้มีความรู้สึกอย่างนั้นในจิตใจ แล้วกระทำการบูชาที่เรียกว่า “วิสาขบูชา” ให้เต็มตามความหมาย มีความเจริญในพระพุทธศาสนาของพระบรมศาสดาอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น