xs
xsm
sm
md
lg

ส่องสามโฮมสเตย์ สามเสน่ห์จังหวัดทะเลใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากมี “โฮมสเตย์” มากพร้อมด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ อันเกิดจากวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย และวัฒนธรรมที่งดงามในท้องถิ่น ไร้แสงสียามค่ำคืน แต่มีรอยยิ้มที่จริงใจจากผู้คนในท้องถิ่น คุณจะสนใจไปเยือนหรือไม่...?

ถ้าความสงบทางใจเป็นสิ่งที่ใครหลายๆคนกำลังแสวงหาอยู่ บางทีการท่องเที่ยวในรูปแบบ โฮมสเตย์ อาจเป็นคำตอบให้คุณได้ โฮมสเตย์ ไม่ได้อิงอยู่กับความหรูหรา แต่แนบชิดกับความพอเพียง

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้รับการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ของชุมชนนั้นๆไปด้วย เราจะได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นไปที่แท้จริง เมื่อเราได้ใกล้ชิดผู้คนในชุมชน ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้สัมผัสกับการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ อาจจะทำให้เราได้รับความประทับใจกลับไปได้ อย่างไม่รู้ลืมเลยก็ได้

โฮมสเตย์ดีๆมีมากมายกระจายอยู่ทั่วไทย แต่ครั้งนี้ขอเดินทางลงใต้ไปสัมผัสกับ “สามโฮมเตย์”จากสามถิ่นแดนใต้ รับกลิ่นไอลมทะเลต้อนรับหน้าร้อนกัน

พักลีเล็ด ชมคลอง 100 สาย จ.สุราษฏ์ธานี

วิถีท้องถิ่นที่สัมผัสได้จาก โฮมสเตย์ แห่งแรกคือ “ชุมชนโฮมสเตย์ลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์” ตั้งอยู่ที่ ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่นี่มีรูปแบบของการนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ แก้ไขปัญหาที่รุมเร้าทำลายทรัพยากร ด้วยการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว เพื่อเป็นรายได้เสริมให้คนในชุมชนอีกทางหนึ่ง

ชุมชนลีเล็ดในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปบ้านดอน ทางเรือพระที่นั่ง ทรงเห็นว่าคลองสายนี้เป็นทางลัดที่ใกล้กว่า จึงทรงเสด็จไปตามคลองสายนี้ ที่นี่จึงได้ชื่อว่า “คลองลัด” ชาวบ้านในคลองลัดส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ข้าว จึงมีชาวจีนมาล่องเรือรับซื้อข้าวอยู่ประจำ ชาวจีนจึงเรียนคลองลัดเพี้ยนเป็น “คลองเล็ด” และเป็นลีเล็ดในปัจจุบัน

สำหรับ "โฮมสเตย์บ้านลีเล็ด" ประเสริฐ ชัญจุกรณ์ กำนันตำบลลีเล็ด และประธานกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ กล่าวว่า ก่อนปีพ.ศ.2546ผู้คนในชุมชนใช้ทรัพยากรกันอย่างผิด ใช้อวนลาก อวนรุน ในการจับสัตว์น้ำ ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง

พอมาปีพ.ศ.2547 เริ่มหันมาทำด้านการท่องเที่ยวเพื่อเป็นอาชีพเสริมแก่ชาวบ้าน ปี พ.ศ.2548 จึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูงาน เลิกการใช้อวนลาก อวนรุก ปัจจุบันที่นี่มีอาสาสมัครเฝ้าระวังสัตว์น้ำ มีพื้นที่กรณีศึกษาการจัดการ การท่องเที่ยวในชุมชน ป่าไม้เพิ่มขึ้นเองโดยไม่ต้องปลูกกว่า 2,733 ไร่ มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ชุมชนมีส่วนร่วม ด้านส่วนราชการก็ให้การสนับสนุน ชุมชนลีเล็ดจึงจัดเป็นชุมชนต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จในการใช้คนเป็นเครื่องมือจัดการทรัพยากรชายฝั่ง

หากนักท่องเที่ยวมาที่ลีเล็ด แน่นอนว่าจะได้พบกับกิจกรรมอันหลากหลายที่ชาวชุมชนลีเล็ดจัดเตรียมไว้ให้ทั้งการล่องเรือดูวิถีชีวิต ดูต้นไม้ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ดูหิ่งห้อยยามค่ำคืน ที่นี่มีป่าชายเลนมีพื้นที่กว่า 7,000 ไร่ แม่น้ำลำคลองมากว่า 100 สาย ที่ทะลุเชื่อมต่อกัน มีต้นไม้ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ลำพู โกงกาง แสม ถั่ว ลำพูหิน ตะบูน หลุมพอ ฯลฯ

“คนไทยอาจจะไม่รู้จักมากเท่าไหร่นักแต่สำหรับ นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกแล้ว ลีเล็ดคือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ฝรั่งตะวันตกในกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศใฝ่ฝันอยากจะมา”กำนันกล่าว

เหตุที่ชาวตะวันตกชื่นชอบที่นี่เป็นหนักหนา ก็เพราะว่าลีเล็ดเป็นที่ ซึ่งสหภาพยุโรป 27 ประเทศ กำหนดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยอดเยี่ยม ชาวท้องถิ่นช่วยกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งดีที่สุดในโลก จนสหภาพยุโรปนำแบบอย่างไปใช้ในประเทศของตน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวยุโรปพากันมาที่ลีเล็ดอย่างไม่ขาดสาย โฮมสเตย์ ที่นี่จึงเชื่อมั่นได้ว่าได้มาตรฐานพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเสมอ

สัมผัสวิถีชุมชน ยลทะเลแหวก ที่บ้านเกาะพิทักษ์ จ.ชุมพร

จาก จ.สุราษฎร์ธานี ย้ายมาที่ จ.ชุมพร กันบ้าง ที่ เกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีโฮมสเตย์ริมทะเลรอคอยอยู่ จากถนนอ่าวท้องครกเข้ามาประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือข้ามไปยัง เกาะพิทักษ์ นักท่องเที่ยวจะพบ เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่ข้างหน้าห่างจากท่าเรือเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น

ในบางเวลาที่น้ำลงมากๆจะเห็นสันทรายทอดยาวเชื่อมระหว่างฝั่งกับเกาะ จนหลายๆคนต่างพากันยกให้เป็นทะเลแหวกแห่งเกาะพิทักษ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินไป เกาะพิทักษ์ ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เรือหางยาว โดยใช้เวลาในการเดินไปเพียง 15 นาทีเท่านั้น นับเป็นเกาะที่ใกล้ฝั่งมากที่สุดของ จ.ชุมพร เกาะแห่งนี้มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า

บรรพบุรุษของชาวเกาะพิทักษ์ซึ่งส่วนใหญ่ ล้วนเป็นนักโทษที่หลบล่าคดีของทางราชการ ล่องเรือมาจนถึงบริเวณเกาะพิทักษ์ จะได้ยินเสียงคนเรียกให้เข้าพักบนเกาะ แต่พอขึ้นไปบนเกาะก็ไม่มีคนอยู่ จึงเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะผีทัก” จวบจนปี พ.ศ. 2464 ได้ประกาศเป็นหมู่บ้านและเปลี่ยนชื่อเป็น “เกาะพิทักษ์” มาจนทุกวันนี้ วิถีชีวิตของชุมชนที่นี่ ล้วนแต่ประกอบอาชีพด้านการประมงเป็นหลัก

อำพล ธานีครุฑ ผู้ใหญ่บ้านเกาะพิทักษ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของโฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ว่า เริ่มจากที่มีเพื่อนฝูงคนรู้จัก ได้เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนที่บ้านของตนก่อน จึงเล็งเห็นว่าถ้ามีโฮมสเตย์เกิดขึ้น จะมีส่วนช่วยเป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้านนอกเหนือจากการทำประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักได้

จึงเริ่มจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ.2538 ช่วงแรกๆก็ยังไม่เข้าที่เข้าทางดีนัก เนื่องจากเกิดปัญหา ความหวาดระแวงกันและกันระหว่างชาวบ้านและนักท่องเที่ยว จวบจนปี พ.ศ.2545 คนเริ่มรู้จักมากขึ้น

อาชีพในชุมชนบนเกาะพิทักษ์ที่นักท่องเที่ยวมาแล้วจะได้สัมผัสคือ การลอบปู ดูธรรมชาติ ไดหมึก ดำน้ำที่เกาะครามเกาะที่ห่างจากเกาะพิทักษ์เพียง 1 กิโลเมตร ทุกวันจะมีตำรวจตระเวนชายแดนมาคอยดูแลนักท่องเที่ยว ตำรวจตระเวนชายแดนที่นี่ทำหน้าที่ดูแล “หอยมือเสือ” สัตว์อนุรักษ์ของชาวเกาะพิทักษ์

“เกาะพิทักษ์มีกฎของหมู่บ้าน ว่าหากพบเจอการเสพหรือค้ายาเสพติด ไล่ออกจากเกาะทันทีภายใน 24 ชั่วโมง หากมีเรื่องทะเลาะกัน 3 ครั้ง จะไล่ออกจากเกาะตามข้อบังคับของศาลชุมชนที่นี่”ผู้ใหญ่อำพลเล่าถึงกฎของหมู่บ้านให้ฟัง

ผู้ใหญ่อำพลยังกล่าวต่ออีกว่า เกาะพิทักษ์มีสโลแกนอยู่ว่า "ถนนน้ำข้ามสมุทร น้ำจืดผุดกลางเกาะ หอยเจาะทะเลขาด"หอยเจาะเป็นหอยที่คล้ายหอยนางรม พบได้มากบริเวณเกาะพิทักษ์ และถ้านักท่องเที่ยวมาที่เกาะพิทักษ์ เกิดเรือจมขึ้นมาผู้ใหญ่แนะนำว่า อย่าลนลานว่ายน้ำ แต่ให้ยืน เพราะน้ำตื้นเพียงแค่เข่า

ชาวเกาะพิทักษ์เน้นเศรษฐกิจพอเพียงและไร่นาสวนผสม มีแหล่งน้ำจืดบนเกาะและฝังท่อประปามาจากแผ่นดินใหญ่ ฝังผ่านใต้ทะเล คนบนเกาะจึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เนื่องจากเกาะพิทักษ์ตั้งอยู่ใกล้ฝั่ง บนเกาะพิทักษ์จึงไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถานีอนามัย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจึงต้องข้ามที่ฝั่งแผ่นดินใหญ่

“กิจกรรมโฮมสเตย์เป็นการเสริมรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะฤดูมรสุมที่ไม่ค่อยได้ออกเรือ รายได้ของแต่ละบ้านจะหักเข้ากลุ่ม 5% เพื่อเป็นค่าบริหารกลุ่ม หรือจัดกิจกรรมร่วมกันในชุมชน” ผู้ใหญ่อำพล กล่าว

ที่นี่มีโฮมสเตย์ทั้งหมด 13 หลัง แต่ถ้าเหมารวมบ้านผู้ใหญ่ด้วยก็เป็น 14 หลัง ลักษณะบ้านพักส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ตั้งอยู่ริมทะเล มีชานบ้านกว้างขวางยื่นออกไปในทะเล คนรักน้ำกับฟ้าจะมองได้ไม่รู้เบื่อ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้ที่โฮมสเตย์ทุกหลัง มุ้งกันยุง ที่นอน พัดลม กินข้าวร่วมกับเจ้าของเรือน ใครอยากนอนในในห้องหรือชานเรือนก็ได้แล้วแต่สมัครใจ

บ้านม่วงกลวง อบอุ่นมิตรไมตรีในวิถีมุสลิม จ.ระนอง

ในแดนที่เปิดกว้างมีเสรีจะนับถือศาสนาใดก็ได้อย่างเมืองไทย ห่างจาก อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ราว 6 กิโลเมตร ที่ “ชุมชนม่วงกลวง” ยังมีวิถีแห่งชุมชนมุสลิมของผู้ที่นับถือ “ศาสนาอิสลาม” รอให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสได้ โดยไม่แบ่งแยกศาสนา

"มุสลิมโฮมสเตย์" ที่บ้านม่วงกลวง มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีตามแบบฉบับของชาวมุสลิมที่สืบทอดมาแต่ครั้งอดีต คนที่นี่รักสงบและรอคอยที่จะต้อนรับผู้มาเยือนตลอดเวลา

วิทยา หวันร่าหมาน รองประธานชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศม่วงกลวง เล่าว่า " มุสลิมโฮมสเตย์ " เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2545 เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนพบว่า เด็กในชุมชนติดยาเสพติด จึงเริ่มคิดหาวิธีการที่จะให้เด็กๆรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

โดยเริ่มจัดตั้งโฮมสเตย์จากที่ชาวบ้านไม่รู้จักเลย ต้องอธิบายให้ฟังว่าโฮมสเตย์คืออะไร เมื่อชาวบ้านเกิดความเข้าใจแล้ว มุสลิมโฮมสเตย์ จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจาก “กรีน เวย์”กลุ่มอนุรักษ์ต่างชาติที่เข้ามาบริจาคเงินช่วยด้านต่างๆ

ตั้งแต่จัดตั้งมาโฮมสเตย์ที่นี่ได้รับความสนใจจากต่างชาติ และเป็นที่ศึกษาดูงานของ นักเรียน นักศึกษา มานักต่อนัก เนื่องจากที่บ้านม่วงกลวง ยังอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ ภูเขา และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก ทว่าชาวม่วงกลวงก็ไม่ได้หลงใหลในการท่องเที่ยวจนหลงลืมรูปแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม การท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้เสริมจากการทำประมงเน้นการจัดการเชิงอนุรักษ์ด้วยชุมชนเอง

“เราต้องการสร้างความเชื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาว่าเขาเป็นเสมือนญาติ รับประกันว่าไม่มีปัญหาความรุนแรงใดๆในชุมชนของเรา”วิทยากล่าว

ที่นี่เคยได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิ มีชาวบ้านเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตลอดจนชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียเครื่องมือยังชีพและเรือหาปลา ไปพร้อมกับคลื่นยักษ์มหันตภัย แต่ด้วยแรงใจอันสามัคคีของชุมชน ภายในระยะเวลา 2 ปี จึงฟื้นฟูพลิกกลับคืนมาดังเดิม

เมื่อถามถึงปัญหาที่ว่า นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับการปฏิบัติตน เมื่ออยู่กับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามควรทำอย่างไรเมื่อมาพัก วิทยาอธิบายว่า ไม่มีการปฏิบัติที่ยุ่งยาก เพราะเราจะอธิบายถึงข้อห้ามให้ฟังก่อนทุกครั้ง เช่น ห้ามสวมใส่ชุดว่ายน้ำในชุมชน ถ้าต้องการสวมชุดว่ายน้ำต้องรอให้ถึงทะเลก่อน แต่เรื่องที่ห้ามเด็ดขาดคือ การดื่มของมึนเมาและยาเสพติด

บ้านพักโฮมสเตย์ที่นี่มีหลากรูปแบบทั้งสมัยใหม่ก่ออิฐ โบกปูน หรือเรือนไม้แบบศิลปะทางใต้ที่มีอายุเก่าแก่กว่า40 ปี อย่างบ้านของ มะ(แม่)เอียด คงสุด หญิงชราวัยกว่า 60 ปี ที่จัดเป็นโฮมสเตย์พร้อมรองรับเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจัดเป็นบ้านโฮมสเตย์ตัวอย่าง ที่ค่อนข้างพร้อมที่สุดหลังหนึ่งของที่นี่ ส่วนบ้านพักหลังอื่นๆหากมีปัญหาขาดตกบกพร่องไปบ้าง นักท่องเที่ยวสามารถบอกกล่าว แนะนำ หรือร้องขอสิ่งที่ต้องการจากชาวบ้านได้เพื่อที่จะได้ปรับปรุงจัดเตรียมไว้ให้อย่างถูกต้อง

วิทยา กล่าวแนะนำกิจกรรมต่างๆเมื่อเข้าพักโฮมสเตย์มุสลิมว่า กิจกรรมกลางแจ้งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว คือ แรลลี่เรือประมงพื้นบ้าน ชมระบบนิเวศชายเลน ศึกษาวิถีชีวิตชมการหาหอย ดูกรรมวิธีการเลี้ยงปูนิ่ม เลี้ยงปลาในกระชัง

ที่นี่มีการเที่ยวตามรอยสึนามิที่อุทยานแห่งชาติแหลมสนบางเบน ชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมพระอาทิตย์อัสดงลาลับขอบฟ้า ชมพระจันทร์เต็มดวงที่ดอย100 วิว ท่องสวนเกษตรชมการเก็บกาหยูหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์

และพาไปล่องเรือใน “ทะเลสาบระนอง” ที่แม้แต่คนระนองยังไม่รู้จัก ว่าเป็นอ่าวทะเลด้านในของชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอาทิ แปลงปลูกป่าชายเลน ที่มีพื้นที่ราว 400 ไร่

สัมผัสความเป็นอยู่ของเหล่าลิงทะเล ชมดงฝาดดอกแดง ที่มีบรรยากาศชวนน่าท่องเที่ยว เป็นดงไม้ยืนต้นกึ่งบกกึ่งทะเล ลำต้นสูงใหญ่ดอกสีแดงสวยงามที่นี่ยังเป็นทะเลสาหร่าย มีสาหร่ายหลายชนิด อาทิ สาหร่ายลายไหม สาหร่ายใบ สาหร่ายข้อ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ในการชมดงฝาดดอกแดง คือ ช่วง พ.ย.-พ.ค. แต่หากนักท่องเที่ยวสนใจจะมาให้ช่วงเวลาใดควรติดต่อสอบถามล่วงหน้าก่อน

ถึงตอนนี้คุณพร้อมจะไปตีตั๋วล่องใต้ ไปท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนกับการเยือน“โฮมสเตย์” ใน 3 จังหวัดภาคใต้ตอนบนกันบ้างหรือยัง?

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โฮมสเตย์ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี ติดต่อ คุณประเสริฐ ชัญจุกรณ์ 109 หมู่ 5 ต. ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 84130 โทร.0-7749-1081,08-8127-1001

ค่าใช้จ่าย อัตราค่าเข้าพักบ้านพักโฮมสเตย์100บาท/คน/คืน ราคาค่าบริการอาหาร 100บาท/คน ค่าบริการล่องเรือ 800 บาท/ลำ

โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ ติดต่อ ผู้ใหญ่บ้าน อำพล ธานีครุฑ 32 หมู่14 บ้านเกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด จ.ชุมพร โทร. 08-1093-1443, 08-9018-0644

ค่าใช้จ่าย อัตราค่าเข้าพักบนเกาะพิทักษ์ มี 2 ราคา คือ 450 บาท/คน/คืน และ 700 บาท/คน/คืน เป็นค่าที่พัก และอาหาร 3 มื้อ.....หากต้องการนั่งเรือออกไปเที่ยวดำน้ำ มีเรือเหมาในราคา 700 บาท/วัน ค่าอุปกรณ์ดำน้ำคนละ 50 บาท

โฮมสเตย์มุสลิมบ้านม่วงกลวง ติดต่อ คุณวิลาวัลย์ เสบสบาย ชมรมอนุรักษ์และเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จ.ระนอง 288/1 ถ.เรืองราษฎร์ ต.เขานิเวศ อ.เมือง จ.ระนอง 8500 โทร.08-9287-0471

ค่าใช้จ่าย อัตราค่าเข้าพักบ้านพักโฮมสเตย์100/คน/คืน ค่าอาหารมื้อละ 50 บาท/คน/คืน ดำน้ำ 500/คน ค่าเรือคายัค ลำละ 200บาท ค่าเรือนำเที่ยวท่องทะเลสาบ/ดูนก/ชมป่าชายเลน ลำละ 1,800 บาท

กำลังโหลดความคิดเห็น