xs
xsm
sm
md
lg

เติมใจให้กัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 71
บุญกุศลควรทำแท้ เพราะมีสุขเป็นอานิสงส์
มีความสำเร็จดังต้องการเป็นผล

เช้าวันหนึ่ง สามเณรติสสะเที่ยวเดินเล่นในวิหาร (บริเวณอาวาส) เห็นภิกษุจำนวนหนึ่งนั่งผิงไฟอยู่ในเรือนไฟเพราะไม่มีผ้ากัมพลห่ม แล้วขอให้ภิกษุทั้งหลายนั้นเดินตามมา

ภิกษุจำนวนมากอาศัยสามเณรผู้มีอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น เข้าไปสู่นครสาวัตถี สามเณรมิได้วิตกเลยว่าเราจักได้ผ้ากัมพลที่ไหนสำหรับภิกษุจำนวนมากอย่างนี้

สามเณรเดินไปตามลำดับเรือนภายนอกนครสาวัตถีได้ผ้ากัมพลถึง 500 ผืน แล้วเข้าไปภายในพระนคร ชาวเมืองนำเอาผ้ากัมพลจำนวนมากจากที่นี่บ้าง ที่โน้นบ้างมาถวาย

ชายคนหนึ่ง เห็นเจ้าของร้านคนหนึ่งกำลังคลี่ผ้ากัมพลอยู่ จึงพูดว่า "ท่านจงรีบซ่อนผ้ากัมพลเสียเถิด สามเณรรูปนหนึ่งกำลังรวบรวมผ้ากัมพลอยู่

คนตระหนี่ มีนิสัยพาล เมื่อคนอื่นกำลังทำความดี มีให้ทานเป็นต้น ก็ขัดขวาง สมดังที่พระศาสดาตรัสว่า

"เมื่อสัตบุรุษ (คนดี) ให้สิ่งที่ให้โดยยากอยู่ ทำสิ่งที่ทำได้โดยยากอยู่ อสัตบุรุษ (คนชั่ว) ทำตามไม่ได้ เพราะธรรมของ สัตบุรุษทำตามได้ยาก ด้วยเหตุนี้คือทางดำเนิน หรืออนาคตของสัตบุรุษและอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษไปนรก ส่วนสัตบุรุษไปสวรรค์ ท้องฟ้ากับแผ่นดิน ฝั่งมหาสมุทรทั้งสองข้างนับว่าห่างกัน แต่ธรรมของสัตบุรุษกับของอสัตบุรุษยังไกลกันยิ่งกว่านั้น

เมื่อชายผู้นั้นจากไปแล้ว เจ้าของร้านจึงคิดว่า บรรดาผ้ากัมพลจำนวนมากของเรานี้ มีอยู่ 2 ผืนที่มีราคาเป็นเรือนแสน ถ้าสามเณรเห็นแล้วเราไม่ให้เราก็ละอาย จึงซ่อนผ้ากัมพล 2 ผืนนั้นเสีย

แต่พอสามเณรพร้อมด้วยภิกษุจำนวนมากมาถึง เขาพอได้เห็นสามเณรเท่านั้น ความรักเพียงดังบุตรก็เกิดขึ้น สรีระทั้งสิ้นเอิบอาบไปด้วยความรัก เขาคิดว่า อย่าว่าแต่ผ้ากัมพลเลย สำหรับสามเณรนี้ แม้ดวงใจเราก็ให้ได้ ดังนี้แล้วจึงนำผ้ากัมพล 2 ผืนที่มีราคาแสนนั้นมาวางไว้แทบเท้าของสามเณร พร้อมกล่าวว่า ขอข้าพเจ้าได้เห็นธรรมที่ท่านเห็นแล้วด้วยเถิด

สามเณรอนุโมทนาว่า ขอให้ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จดังประสงค์

สามเณรได้ผ้ากัมพลภายในพระนครอีก 500 ผืน วันเดียวเท่านั้นเธอได้ผ้ากัมพลถึง 1,000 ผืน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุทั้งหลายได้ขนานนามเธอว่า กัมพลกายกติสสะ-ติสสะผู้ให้ผ้ากัมพล ด้วยประการฉะนี้

ทานที่บุคคลทำไว้ดีแล้วมีอานุภาพมากอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าบุญกุศลควรทำแท้ เพราะมีสุขเป็นอานิสงส์ มีความสำเร็จดังต้องการเป็นผล

พระพุทธศาสนาย่อมทำให้ของน้อยที่บุคคลให้แล้วมีผลมาก ของมากย่อมมีผลมากยิ่งขึ้น เพราะบุคคลทำแล้วในทักขิไณยบุคคล ผู้อุดมด้วยคุณธรรมดุจหว่านพืชเพียงเล็กน้อยในเนื้อดินดี

เมื่อสามเณรติสสะพักอาศัยอยู่ที่เชตวันวิหาร พวกเด็กๆ ที่เป็นมิตรสหายมาพูดจาปราศรัยด้วยอยู่เนืองๆ สามเณรคิดว่า เมื่อเราอยู่ที่นี่พวกเด็กที่เป็นญาติบ้างเป็นสหายบ้างมาหา สนทนาปราศรัยอยู่เสมอๆ จะไม่พูดด้วยก็ไม่สมควร เราควรปลีกตนไปอยู่ที่อื่น เราควรเรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดาแล้วเข้าสู่ป่า

สามเณรเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลขอร้องให้พระพุทธองค์ตรัสบอกกรรมฐานให้จนถึงอรหัตตผล ลาอุปฌายะ (พระสารีบุตร) แล้วถือบาตรและจีวรออกไปจากวิหาร คิดว่า ถ้าไปพักอยู่ที่ใกล้พวกญาติหรือเด็กๆ ที่เป็นสหายคงรบกวนอีก จึงได้เดินทางเข้าไปในป่า สิ้นระยะทางประมาณ 120 โยชน์ พบอุบาสกคนหนึ่งในหมู่บ้านป่าจึงถามว่า ในแถบนี้ที่อยู่อาศัยของภิกษุมีอยู่บ้างหรือไม่ เมื่ออุบาสกบอกว่ามี จึงขอให้เขาชี้ทางให้

เพียงได้เห็นและได้พูดกับสามเณรเล็กน้อยเท่านั้นความรักเกิดขึ้นแก่พราหมณ์ประดุจสามเณรเป็นบุตรของตน แทนการบอกทาง เขากล่าวว่า มาเถิดสามเณร ข้าพเจ้าจักพาท่านไป

อุบาสกพาสามเณรไปผ่านสถานที่อันน่ารื่นรมย์ต่างๆ จนถึงวิหารอันตั้งอยู่ในป่า จึงบอกแก่สามเณรว่า ที่นี่เป็นที่สบาย ขอท่านอยู่ ตามอัธยาศัยเถิด ถามชื่อของสามเณรแล้ว ขอร้องให้สามเณรไปบิณฑบาตที่บ้านของพวกตนในวันรุ่งขึ้น เที่ยวป่าวประกาศแก่เพื่อนบ้านว่า สามเณรชื่อวนวาสีติสสะมาพักอยู่ ณ วิหารในป่า ขอท่านทั้งหลายจงจัดแจงอาหารมีข้าวต้มหรือข้าวสวยเป็นต้นด้วยเถิด

เดิมทีเดียว สามเณรชื่อติสสะเฉยๆ ต่อมาได้นามว่า ปิณฑปาทายกติสสะ เพราะแบ่งปันอาหารบิณฑบาตให้แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่เนืองนิตย์ ต่อมาได้ชื่อว่ากัมพลทายกติสสะ เพราะถวายผ้ากัมพลแก่ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้สามเณรได้นามว่า วนวาสีติสสะ เพราะมีปกติอยู่ในป่าเพียงอายุ 7 ขวบเท่านั้น มีชื่อตามคุณสมบัติถึง 3 ชื่อ รวมชื่อเดิมอีก 1 เป็น 4 ชื่อ

รุ่งขึ้นสามเณรไปบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ พวกมนุษย์ถวายภิกษาแล้วไหว้ สามเณรกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงพ้นทุกข์ มีความสุขเถิด

ทุกคนที่ถวายภิกษาแก่สามเณรแล้วไม่มีใครกลับ ต่างยืนมองสามเณรด้วยความชื่นชมโสมนัส แล้วหมอบลงแทบเท้าของสามเณร หมอบลงด้วยอก คืออกราบกับพื้นแบบเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวว่า ขอนิมนต์ท่านอยู่จำพรรษาที่นี้เถิด ตลอดไตรมาสนี้ พวกข้าพเจ้าจะถึงสรณะสามและตั้งอยู่ในศีลห้า จักรักษาอุโบสถกรรมเดือนละ 8 ครั้ง คือทุกๆ 7 ค่ำ 8 ค่ำ และ 14-15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม ขอท่านได้โปรดให้ปฏิญญาแก่พวกข้าพเจ้าด้วยเถิด

สามเณรคำนึงถึงอุปการคุณของมนุษย์เหล่านั้นแล้วให้ปฏิญญาแก่พวกเขาไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้นเป็นประจำ ขณะที่ชาวบ้านไหว้ สามเณรพูดอยู่ 2 บทเท่านั้นว่า ขอท่านทั้งหลายจงพ้นจากทุกข์ จงมีความสุขเถิด

สามเณรบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ เสนาสนะป่านั้น บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายในเดือนที่ 3 นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น