xs
xsm
sm
md
lg

เติมใจให้กัน:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 86 ผู้มีใจหนักแน่นในบุญ ไม่ท้อถอยง่าย

คราวหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะกับ พระลักขณะลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นอชครเปรตนั้น มีอัตตภาพใหญ่ยาวมาด้วยจักษุทิพย์ เปลวไฟตั้งขึ้นจากศีรษะของเปรตนั้น แล้วลามไปจนถึงหาง เปลวไฟ ตั้งขึ้นแต่หางลามถึงศีรษะ ตั้งขึ้นจากหางและหัว แล้วลาม ไปถึงกลางตัว

พระมหาเถระผู้เลิศทางฤทธิ์เห็นเปรตนั้น แล้วยิ้มแย้ม พระลักขณะจึงถามถึงอาการที่ยิ้ม พระมหาโมคคัลลานะจึงว่า

‘ผู้มีอายุ เวลานี้มิใช่กาลพยากรณ์ปัญหา ท่านค่อยถามข้าพเจ้าในสำนักพระศาสดาเถิด’

พระเถระทั้งสองเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้วฉัน ณ ที่อันสะดวกด้วยน้ำแห่งหนึ่งแล้ว ได้เวลาสมควรจึงพากันไปเฝ้าพระศาสดา ณ ที่นั้น พระลักขณะได้ถามพระมหาโมคคัลลานะขึ้นอีก

พระเถระผู้อัครสาวกฝ่ายซ้ายได้กล่าวว่า

‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าเห็นเปรตตนหนึ่ง อัตตภาพใหญ่ยาวเหลือเกิน มีไฟไหม้ทั่วตัว ข้าพเจ้ายิ้มแย้มเพราะคิดว่าเปรตผู้มีอัตตภาพเห็นปานนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย’

พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงชื่นชมตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย! สาวกของเรา มีจักษุแล้ว ภิกษุทั้งหลาย! เปรตนั้นเราเคยเห็นแล้วที่โพธิมณฑลเมื่อเราตรัสรู้ใหม่ๆ ทีเดียว แต่เราไม่พูด เพราะเกรงว่าเมื่อเราพูดออกไป ผู้ใดไม่เชื่อก็จะเป็นโทษ เป็นภัยแก่ผู้นั้น ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราได้มหาโมคคัลลานะ สาวกของเราเป็นพยานแล้ว’

ดูก่อนผู้แสวงสัจจะ! คำของพระอริยะนั้นใครฟังแล้วไม่เชื่อและติเตียน หรือมีความเห็นเป็นปฏิปักษ์ ย่อมเป็นบาปมาก เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่า ‘ผู้ใดไม่เชื่อคำของเรา พึงเป็นโทษแก่ผู้นั้น’ ดังนี้ การมีความเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อความเห็นของพระอริยะนั้นเป็นมิจฉาทิฐิ ก็โทษอันใดเล่าจะร้ายแรงเท่ามิจฉาทิฐิ

เมื่อพระศาสดาตรัสดังนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

‘พระองค์ผู้เจริญ! เปรตนั้นได้ทำกรรมอะไรไว้จึงต้องมาเสวยผลกรรมอันทารุณแสบเผ็ดเห็นปานนี้?”

‘ภิกษุทั้งหลาย!’ พระศาสดาตรัส “เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจักเล่าให้ฟัง ณ บัดนี้

ในอดีตกาล เมื่อกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เศรษฐีคนหนึ่งชื่อสุมงคลมีจิตเลื่อมใสสร้างวิหารถวายในเนื้อที่ประมาณ 20 อุสภะ (1 อสุภะ มีความยาว 25 วา) วิหารนั้นประณีตมาก พื้นปูด้วยทองคำ (แม้ในปัจจุบันวิหารบางแห่งในอินเดียยังหุ้มทองคำ เช่น สุวรรณวิหารของซิกข์)เศรษฐีบริจาคทรัพย์เป็นอันมาก เมื่อสร้างเสร็จแล้วให้มีการฉลองเป็นการใหญ่

วันหนึ่งท่านสุมงคลเศรษฐีไปเฝ้าพระศาสดาแต่เช้าตรู่ เห็นโจรคนหนึ่งนอนเอาผ้ากาสายะคลุมศีรษะ เท้านั้นเปื้อนโคลนอยู่ ณ ศาลาหลังหนึ่งใกล้ประตูเมือง จึงกล่าวขึ้นว่า ‘เจ้าคนนี้เท้าเปื้อนโคลน คงเป็นคนเที่ยวเตร่กลางคืนแล้วมานอนเป็นแท้’

โจรเปิดหน้าเห็นเศรษฐีแล้วคิดในใจว่า “เอาเถอะเราจะจัดการกับเศรษฐีคนนี้ให้หายแค้น”

ดูเถิด คนเลว คนชั่ว เขาพูดเพียงเท่านี้ก็ผูกอาฆาตทำทารุณกรรมต่างๆ มากมาย

ต่อมาโจรคนนั้นได้ลอบเผานาของเศรษฐีเสีย 7 ครั้ง ลอบตัดเท้าโคในคอก 7 ครั้ง เผาเรือน 7 ครั้ง แม้กระนั้นก็ไม่อาจให้ความแค้นเคืองดับได้ เขาเข้าไปตีสนิทกับคนรับใช้ของเศรษฐีแล้วถามว่าอะไรเป็นสุดที่รักของเศรษฐี ได้ทราบว่าอะไรๆ จะเป็นที่รักยิ่งกว่าวิหารที่สร้างถวายพระกัสสปทศพลเป็นไม่มี

เช้าวันหนึ่ง เมื่อพระศาสดาเสด็จออกไปบิณฑบาต โจรนั้นลอบเข้าไปทุบหม้อน้ำดื่มน้ำใช้เสียสิ้นแล้วจุดไฟเผาพระคันธกุฎี

เศรษฐีได้ทราบข่าวนั้นรีบออกไปดู เห็นพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้หมดแล้ว มิได้เสียใจเลยแม้แต่นิดเดียว กลับแสดงอาการยินดีปรบมือเป็นการใหญ่

ประชาชนผู้ยืนดูอยู่เห็นอาการของเศรษฐีเช่นนั้นสงสัยยิ่งนักจึงถามว่า “ท่านเศรษฐี! ท่านสละทรัพย์เป็นอันมากสร้างพระคันธกุฎี เมื่อพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้เหตุไฉนท่านจึงแสดงความปราโมชยิ่งนักเล่า?”

เศรษฐีตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ฝังทรัพย์ไว้ในพระศาสนาจำนวนมาก เป็นทรัพย์ที่ยั่งยืนมั่งคง ไม่สาธารณะแก่คน ทั้งหลาย อันไฟเป็นต้นทำอันตรายไม่ได้ เมื่อพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าจะได้สละทรัพย์ทำใหม่อีก คงจะได้บุญกุศลเพิ่มขึ้น ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดดังนี้จึงยินดียิ่งนัก

ดูเถิด-ดูคนดี มีจิตฝักใฝ่ในบุญกุศล ถูกทำลายอย่างนี้แล้วก็หาคิดท้อถอยไม่ คิดเห็นเป็นโอกาสได้สร้างบุญใหม่ คนมีใจหนักแน่นเป็นอย่างนี้ ส่วนคนใจไม่มั่นคงท้อถอยง่าย แม้ยังไม่มีใครทำลาย เพียงแต่มีอุปสรรคในการงานเล็กน้อยก็ท้อถอยเสียแล้ว

เศรษฐีได้สละทรัพย์จำนวนมากสร้างพระคันธกุฎีใหม่ สวยงามและประณีตอย่างเดิม โจรเห็นดังนั้นคิดว่า ‘ถ้าเราไม่ฆ่าเศรษฐีนี้เสียก็ไม่อาจยังความแค้นของเราให้ดับได้ เอาเถอะเราจะฆ่ามันเสีย’ ดังนี้แล้วพกกฤชซ่อนไว้เดินเตร่อยู่ในบริเวณวิหารตั้ง 7 วัน ก็ไม่ได้โอกาสฆ่าเศรษฐี

ฝ่ายท่านเศรษฐีถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขตลอด 7 วัน ในวันที่ 7 นั่นเองเขาถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ! บุรุษผู้หนึ่งเผานาของข้าพระองค์ 7 ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก 7 ครั้ง เผาเรือน 7 ครั้ง แม้พระคันธกุฎี ที่ถูกเผาไปแล้วก็คงเป็นเจ้าคนนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์มิได้มีจิตแค้นเคืองในตัวเขา ข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในทานนี้แก่เขาก่อน พระเจ้าข้า”

โจรได้ยินคำนั้นแล้วเกิดความทุกข์ขึ้นในใจว่า 'โอเราทำกรรมหนักเสียแล้วหนอ เศรษฐีนี้มิได้มีความแค้นเคืองในเราเลย กลับให้ส่วนบุญแก่เราก่อนคนอื่นเสียอีก เราคิดประทุษร้ายในท่านผู้ไม่ประทุษร้ายเสียแล้ว กรรมของเราหนัก ไม่สมควรเลย ถ้าเราไม่ขอขมาต่อบุคคลผู้เช่นนี้ เทวทัณฑ (การลงโทษของเทวดา) พึงตกลงบนกระหม่อมของเราเป็นแน่แท้' ดังนี้แล้ว หมอบลงแทบเท้าของเศรษฐี พลางกล่าวว่า

“ท่าน ขอท่านได้โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

“อะไรกันนี่?” เศรษฐีถามมีอาการพิศวงเป็นอันมาก

โจรได้เล่าความทั้งปวงให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีระลึกได้ถึงเรื่องที่ตนเคยพูดเช้าวันหนึ่ง จึงขอร้องให้โจรอภัยโทษให้แก่ตนด้วย

“ลุกขึ้นเถิดท่าน เราอดโทษคือให้อภัยท่านแล้ว โทษอันใดของเรามีอยู่ ขอท่านจงอดโทษนั้นแก่เราด้วย”

“ข้าแต่นาย” โจรกล่าว “ถ้าท่านอดโทษแก่ข้าพเจ้าจริงดังว่าแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบุตรและภรรยาเป็นทาสรับใช้ในเรือนของท่านด้วยเถิด”

เศรษฐีนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า “เรากล่าวคำเพียงเท่านั้น เจ้ายังทำกับเราได้ถึงเพียงนี้ ถ้าเจ้าไปอยู่ในเรือนของเรา เราจะพึงว่ากล่าวอะไรแก่เจ้าได้ ไปเถิด เราอดโทษให้เจ้าแล้ว เราไม่มีการงานอะไรที่จะใช้เจ้าในเรือนของเรา”

โจรนั้น ทำกรรมหนักถึงป่านนั้นแล้ว เมื่อสิ้นชีวิตไปบังเกิดในอเวจีมหานรกหมกไหม้อยู่ในอเวจีสิ้นกาลนาน ในกาลบัดนี้เกิดเป็น อชครเปรต (เปรตซึ่งมีร่างเป็นงู) ถูกไฟไหม้อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏด้วยเศษวิบากกรรมของมันเอง

พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า

“คนพาลทำกรรมชั่วอยู่ ย่อมไม่รู้สึกว่าตนกำลังทำกรรมชั่ว เข้าใจว่าเป็นกรรมดีเด่น คนเขลานั้นย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมชั่วของตนดุจถูกไฟไหม้”

ดูก่อนผู้แสวงบุญ! คนชั่วเมื่อขณะทำชั่วอยู่ และกรรมชั่วยังไม่ให้ผล เขากระหยิ่มยินดีว่า เขาเก่งกล้าสามารถทำอย่างนั้นได้ทำ อย่างนี้ได้ ไม่มีใครว่าอะไร ไม่มีใครกล้าทักท้วง เขายิ่งเหิมเกริมทำชั่วต่อไปอย่างเมามัน แม้ผู้หวังดีจะตักเตือน ท้วงติงก็ดูหมิ่น ผู้ตักเตือนนั้นว่า เป็นผู้เยาว์กว่าบ้าง มีศักดิ์น้อยกว่าตนบ้าง เขาหลงตนหลงอำนาจวาสนาอันเป็นของชั่วคราว แต่เมื่อใดกรรมชั่วอันเขาสั่งสมวันละน้อยเพิ่มพูนมากขึ้น และวิบากแห่งกรรมดีแล้วเก่าก่อนก็ร่อยหรอลงวันละน้อยจนหมดสิ้น ไม่มีแรงต้านทานอีกแล้ว เมื่อนั้นเขาต้องเสวยผลกรรมอันทารุณแสบเผ็ดและไม่มีสิ่งใดทัดทานได้ เมื่อนั้นแหละเขาย่อมรู้สึกตัว แต่แก้ไขอะไรไม่ได้เสียแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น