จากรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์แบบเดิมที่มีศูนย์กลางที่โรงพยาบาล บทบาทของศูนย์สุขภาพชุมชนหรือสถานีอนามัยจึงเป็นเพียงงานบริการด่านหน้าที่คอยคัดกรองผู้ป่วย ให้การรักษาเบื้องต้น แก้ปัญหาสุขภาพง่ายๆ ทำและถูกมองว่าเป็นเพียงการแพทย์สำหรับคนจน...มายาคตินี้ถูกทลายลงเมื่อหมอโรงพยาบาลเดินทางมาสัมผัสชีวิตคนไข้ในหมู่บ้านทางเกวียน ในวันที่หมอไม่ใช่เพียงนักบำบัดโรค งานสุดเสียสละของคนตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจยิ่งใหญ่ ก่อเกิดผลลัพธ์มหาศาลที่เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงทำไม่ได้ ณ ที่แห่งนี้ วารินชำราบ
*** “หมอชุมชน” มากกว่างานด่านหน้า
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ให้ภาพของการทำงานบริการสุขภาพชุมชน ว่า ในวันนี้มุมมองและทัศนคติของคนทำงานบริการสุขภาพได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเข้าใจความหมายของการแพทย์เชิงรุกว่าเป็นงานที่มากกว่าการรักษา แต่เป็นการฟื้นฟูชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ดังนั้น การทำงานแนวใหม่ของเจ้าหน้าที่จึงต้องรู้จักและเข้าใจวิถีของชุมชน สร้างปฏิทินชุมชน ศึกษาระบบสังคมของชาวบ้าน ใบระเบียนประวัติผู้ป่วยจะต้องมีข้อมูลผู้ป่วย แผนผังเครือญาติ พร้อมด้วยข้อมูลด้านการเงิน และประวัติความรุนแรงในครอบครัว
“หมอหรือพยาบาลของศูนย์สุขภาพชุมชนจึงเป็นมากกว่าหมอ เพราะนอกจากจะดูแลสุขภาพคนป่วยรายบุคคลแล้ว ยังต้องดูแลสุขภาพครอบครัว สังเกตความรุนแรงในบ้าน และเป็นผู้ประสานงานกับชุมชน เรียกได้ว่านอกจากจะรู้ว่าใครป่วยเป็นโรคอะไรแล้ว ยังสามารถรู้ได้อีกว่าในครอบครัว ใครเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรม ใครเป็นคนดูแลผู้ป่วย ทำให้ป้องกันโรคได้ทันมิหนำซ้ำยังให้ความรู้แก่คนในครอบครัวผู้ป่วยในการเฝ้าระวัง ทั้งหมดจะเห็นว่าเป็นการดูแลสุขภาพให้ทุกคนในครอบครัว ซึ่งเป็นระบบสุขภาพของไทยที่สมควรจะต้องทำให้เกิดขึ้น”
แน่นอนว่า ในระยะแรกไม่มีคุณหมอหรือพยาบาลคนไหนเห็นว่าระบบนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ทุกคนมุ่งมอง และผินหน้าสู่โรงพยาบาล แต่ทุกอย่างจะต้องมีการเริ่มต้น สิ่งแรกที่จะสร้างคุณค่าในใจให้คนทำงานในพื้นที่เก่าได้ก็คือเปลี่ยนทัศนคติด้วยงานที่ท้าทาย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กลุ่มคนทำงานและเข้าใจหน้าที่ของผู้ให้บริการสุขภาพชุมชนมากขึ้น จากนั้นจึงค่อยดึงแนวร่วมจากโรงพยาบาล
“ถ้าทำงานในชุมชนถ้าไม่คิดให้สนุกและเห็นว่าไร้ความหมายงานก็จะหมดความสนุกและรู้สึกไม่ดีต่ออาชีพได้” นพ.โกมาตร กล่าว
*** มุมมองใหม่ในสายตา “หมอสุธี”
“ก่อนหน้านี้ ผมก็เป็นหมอคนหนึ่งที่ใช้เวลาตรวจคนไข้ไม่ถึง 3 นาที เสร็จแล้วก็เขียนใบจ่ายยา และไม่รู้ว่าชีวิตใต้เสื้อผ้างามที่เขาสวมมาหาหมอนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ เวลา 3 นาทีที่เราตรวจ เขาต้องเดินทางนานแค่ไหน หรือนั่งรอหมอถึง 3 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่หมอไม่เคยรู้”
จนกระทั่งครั้งหนึ่งเมื่อ 6-7 ปีก่อน มีคำสั่งให้ขยายการตรวจมาสู่พื้นที่ชุมชนมากขึ้น ทำให้หมอประจำโรงพยาบาลคนเดิม ได้เห็นว่าความจริงแล้วชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งในโรงพยาบาลหาภาพเหล่านี้ดูไม่ได้ นี่เองเป็นเรื่องที่ทำให้ต้องตัดสินใจมาเป็นแพทย์ประจำศูนย์แพทย์ชุมชน
นพ.สุธี สุดดี แพทย์ประจำศูนย์แพทย์ชุมชนห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนที่ทำให้นายแพทย์ในโรงพยาบาลคนหนึ่ง เดินเข้าสู่สังคมศูนย์แพทย์ชุมชน และเข้าใจในวิถีของแพทย์อย่างแท้จริง การได้สัมผัสคนไข้ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่สัญจรทางเท้า จึงเกิดความคิดที่จะจัดระบบบริการนอกโรงพยาบาลแบบใหม่ โดยเน้นการให้บริการใกล้บ้าน ซึ่งมี นพ.โกมาตร เป็นพี่เลี้ยงข้างเวที เมื่อมาเป็นแพทย์ประจำศูนย์แพทย์ชุมชน และจากการลงพื้นที่ นพ.สุธี พบช่องว่างของระบบการรักษาของโรงพยาบาลที่ไม่สามารถติดตามผลการรักษาได้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ซึ่งกลไกของสถานีอนามัยสามารถช่วยได้อย่างมาก เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างการบริการทางการแพทย์ และการบริการทางสังคม
“แท้จริงแล้วคนไข้ต้องการการพูดคุย” คำพูดสั้นๆ ของ นพ.สุธี หลังมุมมองใหม่ได้เกิดขึ้น
*** ดูแลทุกข์ –สุข วิถีเรียบง่ายแต่ได้ผล
คนไข้ที่ทำให้ผมเห็นความจริงในการรักษา คือ “ตาเสงี่ยม” คนไข้โรคเบาหวานที่เกิดแผลที่เท้าไปหาหมอแนะนำให้ตัดเท้าทิ้ง แต่แกก็ไม่ยอมท่าเดียว กลับบ้านก็พยายามรักษาด้วยหลากหลายวิธีจนเท้าเน่า หมออย่างผมมองว่าแกเป็นคนดื้อ ไม่เชื่อหมอ และมองเหตุผลที่ไม่ยอมตัดเท้าว่าเป็นเรื่องไร้สาระ จนกระทั่งได้คุย และทำความเข้าใจความคิด ความรู้สึก ขีดความสามารถที่คนไข้เคยมี และความหวังในการมีชีวิตอยู่ของเขา ทำให้ผมคิดหาวิธีการอื่นโดยที่ไม่ตัดขาเขาทิ้ง และทำให้วันนี้ลุงเสงี่ยมเหลือเท้าทั้งสองข้าง ทำงานได้ตามปกติ และมีความสุข นี่เองทำให้ผมรู้ว่าการดูแลความหวังคนไข้สำคัญพอๆ กับการรักษาชีวิต”
นพ.สุธี บอกว่า การทำงานที่ผ่านมาแม้จะมีใจช่วยเหลือผู้อื่น แต่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตมากนัก แต่เมื่อวันที่โอกาสนั้นมาถึงเพียงแค่วันเดียวการได้รับรู้เรื่องราวของคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การใช้เครื่องมือบริการชุมชนทำให้หมอได้รู้จักโลกของชาวบ้าน เพียงแค่เวลานั้นหมอได้ถอดหมวกหมอ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถอดคำว่า สุขภาพ หรือความเจ็บป่วยออกไป แล้วตั้งหน้าตั้งตาเรียนรู้วิถีชุมชน คำตอบต่างๆ ก็จะพรั่งพรูออกมาเอง
“วิถีชุมชนมีความซับซ้อน มีชีวิต มีเรื่องราวที่ร้อยเรียง มีเงื่อนไข เหมือนชีวิตคนถ้าเราต้องการทำงานที่เกี่ยวกับสุขทุกข์ของคน ของชุมชนให้ได้เหมาะสมและพอดีมีเหตุมีผล ผมเห็นทางออก ก็คือ ต้องรู้จักคน รู้จักชุมชน เป็นอย่างดีเสียก่อน เราถึงจะค่อยมาคิดวางแผนการทำงานให้เหมาะสมต่อไป”
หมอสุธี สรุปทิ้งท้ายโดยการแจงสาระแห่งความเป็นแพทย์ในมุมของเขาว่า...การดูแลคนหนึ่งคน ในหน้าที่ของหมอ ไม่ใช่เพียงแค่ตรวจโรค จ่ายยาแล้วถือว่าหน้าที่นี้จบ แต่มันจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ลงลึกลงไปในชีวิตของผู้ป่วยนั่นเอง...