xs
xsm
sm
md
lg

How to make an American Quilt ถักทอสายใยรัก การถักทอชีวิตผ่านผืนผ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศิลปะการเย็บผ้าอย่างหนึ่งของชาวตะวันตก เรียกว่า “ควิลท” (Quilt) หมายถึง การเย็บผ้านวมหรือผ้าห่ม ด้วยวิธีการนำเอาเศษผ้ามาต่อเป็นลวดลายที่สวยงามกลมกลืนกันทั้งผืน นับเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม เพราะมีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ ก่อนจะเผยแพร่ มาสู่ยุโรป และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอเมริกา กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดกันในครอบครัว จากแม่สู่ลูกสาว และหลานสาว

ศิลปะการต่อผ้านวม เป็นงานที่มีขั้นตอนมากมาย และส่วนใหญ่ต้อง “ทำด้วยมือ” เท่านั้น จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน และบางครั้งต้องใช้คนหลายคน การเย็บผ้านวมแต่ละผืน จึงเต็มไปด้วยความรัก ความตั้งใจ และความผูกพัน ซึ่งถือเป็นคุณค่าและเสน่ห์ของงานชิ้นนี้

เป็นเสน่ห์และคุณค่าชนิดเดียวกับที่หญิงสาวอย่าง “ฟินน์ ด็อดด์” ได้รับจากครอบครัวของคุณยายและเพื่อนบ้าน ในหนังเรื่อง How to make an American Quilt หรือชื่อภาษาไทยว่า ถักทอสายใยรัก หนังสัญชาติอเมริกันที่ลงโรงฉายในบ้านเราเมื่อประมาณกว่า 10 ปีมาแล้ว

How to make an American quilt เป็นหนังเล็กๆ เรียบง่าย ที่เล่าเรื่องของ ฟินน์ ด็อดด์ (รับบทโดย วิโนน่า ไรเดอร์) นักศึกษาปริญญาโทที่กำลังสับสนกับการทำวิทยานิพนธ์ รวมทั้งลังเลกับการตัดสินใจแต่งงาน เธอไม่แน่ใจว่าจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร จนถึงกับทำแล้วทิ้ง แล้วเริ่มเรื่องใหม่หลายครั้ง พอๆกับไม่แน่ใจว่าชีวิตหลังแต่งงานจะสวยงามหรือล้มเหลว จนถึงกับสงสัยว่าเธอควรจะแต่งงานหรือไม่

ฟินน์ตัดสินใจเดินทางไปพักร้อนที่บ้านคุณยายและพี่สาวของคุณยายในชนบท เธอพบว่าคุณยายทั้งสองยังคงใช้ เวลาว่างในการนัดเพื่อนฝูงมาเย็บผ้า เหมือนที่เธอเคยเห็น ในวัยเด็ก แต่สิ่งที่แตกต่างไป คือ ครั้งนี้เธอไม่ได้รับรู้แค่ลวดลายของผ้า แต่เป็นลวดลายและเรื่องราวของชีวิต ทั้งในอดีตและปัจจุบันของผู้หญิงแต่ละคน รวมทั้งความลับที่ สร้างความบาดหมางใจให้คุณยายทั้งสองของเธอเอง

เรื่องราวเหล่านั้น มีทั้งความสวยงาม ความสุข ความเศร้า ความผิดพลาด ความกลัว ความหวาดระแวง และความไม่แน่นอนของชีวิต

บางคนมีความรักที่สวยงามในวัยสาว แต่ต้องพบความ เจ็บปวดในวัยชรา

บางคนอดทนอยู่กับความรักของสามีเจ้าชู้ โดยไม่รู้ความหมายของความรัก

บางคนถูกสามีทิ้งไป ปล่อยให้เธอจมอยู่กับความทุกข์ ตลอดชีวิต

บางคนเผลอนอกใจสามีด้วยเหตุสุดวิสัย

และบางคนมีคนรักมากมาย แต่ไม่เคยพบความปรารถนาที่แท้จริง


การเย็บผ้านวมของหญิงสูงวัย ได้กลายเป็นบทเรียน อันล้ำค่าให้กับชีวิตของสาวน้อยคนหนึ่ง ที่กำลังอยู่ในวัย “แสวงหา” ความฝัน ความหวัง และความสมบูรณ์ของชีวิต

“ทำไมเธอถึงใช้ผ้าสีนี้ล่ะ”

“มันมีความหมายกับฉัน”

“แต่มันไม่เข้ากับสีอื่นๆ”

“มันไม่สวยสำหรับเธอ แต่มันสวยสำหรับฉัน”

หลายๆ บทสนทนาในวงเย็บผ้า สะท้อนวิธีคิดของผู้หญิง แต่ละคน สีสันและลวดลายที่คนหนึ่งว่าสวยงาม อาจไม่น่าชื่นชมในสายตาของอีกคน เช่นเดียวกับมาตรฐานของชีวิตในประสบการณ์เดียวกัน หญิงสาวคนหนึ่งอาจจะคิดว่า “ทำไมฉันต้องเจอกับเรื่องแบบนี้” ในขณะที่หญิงสาวอีก คนอาจคิดว่า “ทำไมฉันโชคดีอย่างนี้นะ”

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากหนังสือติดอันดับขายดีของ นักเขียนหญิงชื่อ “วิทนีย์ ออตโต” เขียนบทโดยผู้หญิง คือ “เจน แอนเดอร์สัน” และกำกับโดยผู้หญิงเช่นกัน คือ “โจเซลีน มัวร์เฮาส์” ทั้งยังได้ “จานุซ คามินสกี” ช่างภาพจากภาพยนตร์โด่งดังเรื่อง Schindler’s List มาถ่ายภาพ ทิวทัศน์ชนบทของหนังเรื่องนี้ได้อย่างงดงาม ให้เราได้ประทับใจกับภาพท้องฟ้า สวนผลไม้ บ้านชนบทหลังเก่า สายน้ำ และสายลมที่ทำให้หลายๆ คนต้องคิดถึงบ้านเกิด และคุณย่าคุณยายที่นั่งเก้าอี้โยกเย็บผ้าอยู่ในแสงแดดอ่อนๆ บรรยากาศของหนังเรียบง่าย ไม่หวือหวา หากแต่ ละเมียดละไมเหมือนเส้นด้ายแต่ละเส้นที่ค่อยๆ เย็บผ้าทีละชิ้นรวมกันเป็นผืนใหญ่

โครงสร้างของหนังคล้ายๆ กับการนำเรื่องสั้นของผู้หญิง หลายๆคนมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ทั้งอดีตและปัจจุบัน ผ่านขั้นตอนของการร่วมกันเย็บผ้านวมหนึ่งผืน แต่ละเรื่องต่างสะท้อนวิธีคิด วิธีตัดสินใจ ความใฝ่ฝัน ความสุข เศร้า เหงา และรัก ในชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน บางเรื่องกลายเป็นบทเรียน บางเรื่องจบลงด้วยความสุข และบางเรื่องกลายเป็นความทุกข์ทรมานในใจ

การตัดสินใจผิดพลาด ไม่ใช่ความล้มเหลวของชีวิต เราเพียงแต่อาจจะเข้าใจตนเองน้อยไป หรือเข้าใจคนอื่น น้อยไป หรือไม่ก็ทำความเข้าใจกันและกันน้อยไป ฟินน์ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราต่อผ้าผิด เราสามารถเลาะออกแล้วเลือกผ้า ชิ้นใหม่อีกครั้ง (หรืออีกหลายครั้ง)

ขณะเดียวกัน ถ้าเราเย็บไม่ดี เย็บเบี้ยว หรือฝีเข็มไม่สวย เราไม่จำเป็นต้องทิ้งผ้าทั้งผืน เพื่อเริ่มต้นกับผ้าผืนใหม่ เราเพียงแต่เลาะด้ายออกอย่างระมัดระวัง แล้วเริ่มต้นอีกครั้งกับผ้าผืนเดิม หากผ้าขาด เราก็ยังสามารถซ่อมแซม ด้วยการหาผ้าที่สีคล้ายคลึงกันมาปะ หรือชุน ทดแทนรอยขาด หรือถ้ากล้าหน่อยก็ใช้เศษผ้าลายอื่นๆ มาดัดแปลงให้ เกิดลวดลายใหม่ที่ทำให้ผ้าผืนนั้นสวยงามแปลกตาขึ้นกว่าเดิม

ช่วงเวลาอันยาวนานของการเย็บผ้านวม ทำให้หญิงต่างวัยแต่ละคน มีโอกาสทบทวนความสุข ความทุกข์ ความสำเร็จ และความล้มเหลวในชีวิตของตน บางคนได้ตระหนักถึงความหมายและความปรารถนาที่แท้จริงของ ชีวิต ในวัยใกล้ฝั่ง

“ผู้หญิงไม่ว่าวัยไหนก็สับสนได้พอๆกัน” แม่ของฟินน์ บอกเมื่อตัดสินใจจะแต่งงานใหม่อีกครั้งกับสามีคนเดิม

สิ่งที่ฟินน์ได้รับ ไม่เพียงแต่ผ้านวมสวยงามผืนใหญ่ บรรจุเรื่องราวในชีวิตของผู้หญิงต่างวัยหลายคน ที่ร่วมกันเย็บให้เธอด้วยความรัก และปรารถนาดีเท่านั้น แต่ยังเป็นทัศนะใหม่ในการมองชีวิต ที่ช่วยดึงเธอออกมาจากความสับสนและอารมณ์ชั่ววูบที่เกือบทำให้ชีวิตผิดพลาด

ช่วงท้ายของเรื่อง “แอนนา” แม่บ้านผิวดำ บอกกับฟินน์ว่า

“การทำผ้านวม เราต้องเลือกทุกชิ้นส่วนอย่างระมัดระวัง เลือกถูกก็จะเพิ่มความงามแก่ผ้า เลือกผิด สีจะไม่กลมกลืน เสียความงาม ไม่มีกฎเกณฑ์ในการทำ ต้องทำโดยสัญชาตญาณ และความกล้าหาญ”

ศิลปะการเย็บผ้า ก็เช่นเดียวกับศิลปะการใช้ชีวิต ที่ต้องการทั้งจินตนาการ ความตั้งใจ ความอดทน ความละเอียดอ่อน กล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ตนเลือก ตลอดจนกล้าที่จะรื้อ ซ่อมแซม หรือตั้งต้นใหม่ ด้วยความตั้งใจและประณีตยิ่งกว่าเดิม

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย เรืองพิลาศ)

กำลังโหลดความคิดเห็น