xs
xsm
sm
md
lg

ความอับจนแห่งชาติมองยุทธศาสตร์เชิงวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

วันก่อนมีโอกาสเจอเพื่อนๆเก่าจำนวนหนึ่ง จึงได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน

เพื่อนคนหนึ่งบ่นว่า

“ผมเครียดสุดๆ เมืองไทยคงไปไม่รอดแน่ ท่านหมักเป็นนายก...ท่านเหลิม มหาดไทย ท่านยุทธ ตู้เย็น...เป็นประธานสภา”

ผมบอกเพื่อนว่า

“อย่าไปเครียดเลย นี่เป็นเรื่องดีที่สุดแล้วยิ่งคุณทักษิณกลับมาเมืองไทยเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี ประเทศไทยจะได้มีนายกถึง ๒ คนในเวลาเดียวกัน คนหนึ่งเป็นนายกตัวจริง อีกคนเป็นนายกนอมินีบรรดานักข่าวน่าจะสนุกในการทำข่าวเพราะเวลาบ้านเมืองมีปัญหาก็สามารถถามท่านนายกได้ถึง ๒ คนในเวลาเดียวกัน”

เพื่อนถามเชิงแย้งว่า

“คุณยุคพูดเล่นหรือ”

ผมขยายความต่อว่า

ผมพูดจริงๆ.....การกลับมาของทักษิโณมิคส์ คือ บทพิสูจน์ว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตยล้มเหลว แต่ผมก็ยังสงสัยฝ่ายทักษิโณมิคส์จะมีความสามารถแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองได้แค่ไหน กลัวว่าไม่นานคนไทยก็จะลุกขึ้นมาขับไล่กันอีก

ที่แน่ๆ ผมคิดว่า การเมืองไทยวันนี้สะท้อนถึงภาพความอับจนของชนชั้นนำไทยทุกฝ่าย ราวกับว่าทุกฝ่ายล้มเหลวหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทักษิโณมิคส์ หรือฝ่ายอำมาตยาธิปไตย

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การเมืองไทยกำลังเผชิญทางตัน จึงวิ่งวน ตกอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์ สวิงไปสวิงมาระหว่างขั้ว ทักษิโณมิคส์(ธนาธิปไตย-โกงกิน) กับ อำมาตยาธิไตย(ไร้น้ำยา)

เพื่อนเอ่ยขึ้นว่า

“วิ่งไป วิ่งมา แล้วจะไปไหน หรือว่า...เวลานี้ บ้านเมืองต้องวิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ผมตอบว่า

“เส้นทางอนาคต คือ เส้นทางสู่วิบัติที่ค่อยๆหนักขึ้นเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงได้ยาก

วันนี้ ประวัติศาสตร์ไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคการเมืองไร้ทางออก หลังจากนี้ เราจะก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจวิบัติ(ข้าวยาก หมากแพง) และตามด้วยกลียุค(การปะทะ และการรบราฆ่าฟันกัน)”

คำตอบนี้ ทำให้เพื่อนๆ หันมามองหน้าผมแบบที่ไม่แน่ใจนักว่าผมจะกล้าเสนอภาพอนาคตไทยอย่างนี้

ผมจึงขยายความเพิ่มว่า

ผมไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายนะ ผมจะมองโลกในแง่ดีเสมอ เมื่อวิบัติใหญ่ก่อกำเนิดขึ้น พลังอำนาจเก่าทั้งหมด(ทั้งฝ่ายอำมาตยาธิปไตย และทักษิโณมิคส์ ที่ค้ำยันระบบเก่าก็ต้องล่มสลาย) หายนะใหญ่จะนำสู่การเกิดก่อใหม่ หรือระเบียบใหม่ก็จะเกิดขึ้นเอง

หน้าที่ของพวกเราทุกคนในเวลานี้คือ ต้องอ่านวิบัติ หรือวิกฤติใหญ่ ให้ออก แล้วคิด...คิด....คิดพลิกแผ่นดิน

คำว่า พลิกแผ่นดิน หมายถึง การกล้าคิด....กล้าสร้างพลังการเมืองใหม่ และสร้างอารยธรรมใหม่ของฝ่ายประชาชนที่งดงามขึ้นมา

ช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้จึงมีค่าอย่างยิ่ง และถือเป็นเวลาที่ยิ่งใหญ่ในการศึกษาและทำความเข้าใจวิกฤติ และการเปลี่ยนผ่าน

การศึกษาสภาวะวิกฤติไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่ที่จะยากคือ จะสร้างพลังการเมืองใหม่ได้อย่างไร และจะวางยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีในการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาท่ามกลางการพังทลายของสิ่งเก่าๆ ได้อย่างไร

ในการสร้างพลังการเมืองขึ้นใหม่ การคิดในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ และระดับโลก จึงมีความสำคัญยิ่ง

แต่มีสิ่งที่ยุ่งยากคือ คนไทยส่วนใหญ่คิดในเชิงยุทธศาสตร์ไม่เป็น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ เราไม่มีวัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์

ผมพูดต่อว่า

เมื่อคนไทยไม่มีวัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ เวลาเจอวิกฤติ คนส่วนใหญ่มักจะมืดแปดด้าน ไม่กล้าคิดใหม่ และทำใหม่จริงๆ

ผู้คนส่วนใหญ่จะปลง วิ่งหนีปัญหา บางคนก็จะหนีเข้าวัด หรือมุ่งผลนิพพานไปเลย

พูดอีกแบบหนึ่งคือ วัฒนธรรมพื้นฐานของคนไทยคือ วัฒนธรรมทิ้งโลก หนีโลก เข้าใจว่าโลกนี้คือความทุกข์ ก็หันไปนั่งสมาธิ และอยู่กับความเป็นปัจจุบันเท่านั้น

ส่วนวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งคือ วัฒนธรรมคอยแต่พึ่งพาผู้นำ พอเจอวิกฤติ ก็ได้แต่หวังว่า ชนชั้นนำฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะช่วยได้

คนไทยจึงเป็น “โรคติดหลง และบูชาผู้นำ” บางคนติดหลงกันอย่างงมงาย ราวว่าบรรดาผู้นำเป็นเทพหรือเทวดาที่จะดลบันดาลอะไรก็ได้

พอเจ้านายช่วยไม่ได้ ก็สิ้นหวัง....หันกลับมาคาดหวังว่า อภิมหาเศรษฐี (อย่างคุณทักษิณ) จะกลับมาช่วยชาติให้พ้นวิกฤติ อีกไม่นาน ก็คงจะเผชิญหน้าความสิ้นหวังอีก

คราวนี้ พอไม่รู้จะพึ่งใคร ก็อาจต้องร้องวิงวอนเทพยาดาฟ้าดินให้ช่วย

ช่วยลูกน้อย ตาดำๆ ด้วย

คนไทยจึงได้แต่หวัง และคิดที่จะพึ่งผู้นำ พึ่งเทพ เราไม่เคยคิดเลยว่า “ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องพึ่งตัวเอง”

พอไม่รู้จะพึ่งใคร ทุกอย่างก็จบ

นี่คือ วัฒนธรรมไทยแท้แต่โบราณ


...........................................

วัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์แบบไทยๆ

เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้นว่า

“คุณยุคกำลังบอกว่า วัฒนธรรมไทยโบราณไม่มีวัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ คนไทยทั่วไปจึงคิดแก้ปัญหาไม่เป็น...ใช่ไหม”

ผมได้เล่าให้เพื่อนๆฟังว่า

ช่วงนี้ ผมต้องไปสอนวิชาว่าด้วยยุทธศาสตร์(พัฒนา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาว่าด้วยสหวิทยาการของคณะรัฐศาสตร์

ผมบอกบรรดานักศึกษาว่า ดีใจมากๆ ที่ได้มาสอนวิชานี้ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นกันอย่างไร เหตุผลคือ คนไทยโดยทั่วไป รวมทั้งนักวิชาการ ไม่มีฐานความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์มากนัก

ผมกล่าวกับนักศึกษาว่า

“การคิดในเชิงยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของวัฒนธรรมนะ”

คำกล่าวนี้ทำเอานักศึกษาจำนวนหนึ่งชักสีหน้าออกงงๆ ผมจึงขยายความว่า

คนจีน คนเวียดนาม คนเกาหลี มีวัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ แต่คนไทยกลับไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้เลย

เวลาเผชิญวิกฤติ หรือวิบัติ วัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์จะมีส่วนช่วยให้คนในประเทศเหล่านั้น สามารถคิดหรือค้นหาทางแก้วิกฤติได้อย่างเป็นรูปธรรม

พวกเขาจึงไม่กลัววิกฤติ ทั้งยังสามารถเปลี่ยน “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” ได้
ลองพิจารณาดูง่ายๆ จากบรรดานิยายจีน หนังเกาหลี และละครเวียดนาม เราจะพบเกือบทุกเรื่อง สอนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ตัวอย่างเช่น สามก๊ก รวมทั้งนิยายกำลังภายในทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นนิยายในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ปราชญ์จีนมักจะสอนว่า

ทุกอย่างต้องเริ่มศึกษาจากความจริง เวลาเผชิญวิกฤติใหญ่ ให้ถือเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง ต้องเปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างมาก...คิดสิ่งใหม่ รู้จักคิดวางแผน และทุกอย่างล้วนแก้ไขได้...

ส่วนปราชญ์ไทยกลับสอนว่า

สุดแล้วแต่เวร แต่กรรม

บ้างถึงกับสอนว่า

อย่าไปสนใจอดีต และอนาคต สนใจไปก็แก้อะไรไม่ได้ ยิ่งสนใจ ยิ่งเพิ่มทุกข์ ดังนั้น ต้องทำใจอยู่ในความเป็นปัจจุบัน เท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก นั่งสมาธิหาความสุขสงบไปวันๆ ดีกว่า

วัฒนธรรมไทยกับการแสวงหาความสุขจึงอยู่ด้วยกัน คนไทยชอบหาความสุขมากๆ บ้างก็หาความสุขจากการนั่งสมาธิ บ้างก็ชอบเที่ยวเตร่ จีบสาว ชอบหาความสำราญ กินเหล้าเมายาไปวันๆ

ถ้าศึกษาวัฒนธรรมไทยจากบรรดานิยายไทย รวมทั้งละครไทย และอาจจะรวมไปถึงภาพยนตร์ไทย จะสะท้อนภาพวัฒนธรรมไทยที่ถูกผลิตผ่านหนังและละคร ๓ แบบ

แบบแรก คือ วัฒนธรรมเวรกรรม

แบบที่สอง คือ วัฒนธรรมเสพสุข เที่ยวจีบสาว เล่นการพนัน และมั่วสวาท

แบบที่สาม คือ วัฒนธรรมขำกลิ้ง ตลกกันตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง

ถ้าพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ จะมีเรื่องที่ผลิตในทำนอง How to ทางยุทธวิธีบ้าง ก็พบน้อยมาก

คุณสมบัติพื้นฐานของพระเอก-นางเอกคือ ความโง่ แต่ที่สำคัญต้อง หล่อ กับ สวย และชีวิตทั้งชีวิตต้องทนถูกกลั่นแกล้ง ถูกรังแกตลอด

ตัวร้ายจะฉลาดกว่าพระเอกและนางเอก ทำหน้าที่เป็นตัวอิจฉา แต่เป็นนักคิดในเชิงยุทธวิธีชั้นเลว วางแผนชั่วๆ แบบมั่วๆ เช่น จะหาทางแย่งนางเอก หรือแย่งตัวพระเอกมาครอบครองได้อย่างไร

ละครชีวิตส่วนใหญ่นำเสนอแนวคิดวัฒนธรรมแบบรักๆ ใคร่ๆ อิจฉา ตาร้อน

ยุทธวิธีที่ถูกนำเสนอหลักใหญ่ที่สุดคือ ฉลาดแกมโกง และ รู้จักเอาตัวรอดเป็นยอดดี หรือไม่ก็หนีโลกทิ้งโลกไปบวช

บางทีเราเรียกความฉลาดแบบเกมโกงนี้ว่า วัฒนธรรมศรีธนญชัย หรือ ความฉลาดแบบกระล่อน หรือ ฉลาดเล่นลิ้น

วัฒนธรรมไทยจึงเป็นเพียงวัฒนธรรมเชิงยุทธวิธี ไม่มีวัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ คนไทยทั่วไปจึงไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องใหญ่ (หรือเรื่องทางยุทธศาสตร์) กับเรื่องเล็กๆออกจากกันได้ และถือว่าเรื่องเล็กๆ เรื่องน้อยๆ สำคัญกว่าเรื่องใหญ่ๆ ทุกอย่างกลายเป็นเพียงเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้าด้วยกันทั้งนั้น

กล่าวอย่างสรุปคือ สื่อไทย โทรทัศน์ไทย ละครไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตความโง่แห่งชาติให้คนไทย และเยาวชนไทยทั้งประเทศบริโภค

อีกศูนย์หนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่ไม่ต่างกันคือ ระบบการศึกษาไทย

ที่แปลกคือ หลักสูตรการศึกษาไทยตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงอุดมศึกษามหาวิทยาลัย ไม่มีวิชาว่าด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

แต่ไม่ว่า เราจะชอบหรือไม่ก็ตาม “ความโง่แห่งชาติ” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย และเราก็ช่วยกันเผยแพร่ผลิตซ้ำวัฒนธรรมความโง่แห่งชาตินี้ให้แก่เยาวชนของเรา

ในกรณีของประเทศไทย คนที่ได้เรียนวิชาในเชิงยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีมีเพียงกลุ่มเดียวคือ บรรดาคนที่เรียนวิชาทางด้านการทหาร คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะมีจุดอ่อนเนื่องจากรู้เฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์ในการต่อสู้และสงครามเป็นหลัก แต่มีความเข้าใจพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และระบบโลก อย่างจำกัด

ผลผลิตคือ บรรดานักการทหารพอขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ก็จะเป็นผู้นำซื่อบื้อ คิดแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองไม่เป็น

พอแก้อะไรไม่ได้ ก็ปลง แล้วยกว่าเป็นเรื่อง “เวรกรรม” ของคนไทยเอง


..................................


ยุทธศาสตร์ กับ ปัญหาผลประโยชน์แห่งชาติ

เพื่อนถามขึ้นว่า

“นี่คุณยุค หมายความว่า คนไทยไม่เข้าใจ หรือไม่มีวัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์เลย จึงคิดเรื่องใหญ่ๆ ไม่เป็นหรือ”

ผมตอบว่า

“ใช่ ....ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าเรื่อง ยุทธศาสตร์ โดยทั่วไปคือการคิดในเรื่องใหญ่ๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

การคิดในเชิงยุทธศาสตร์ คือ การศึกษาแยกแยะ และทำความเข้าใจว่าอะไรบ้างที่เป็นหัวใจของปัญหา หรือสำคัญสูงสุด

ปัญหาที่ถือว่าสำคัญสูงสุด เราเรียกว่า ปัญหาทางยุทธศาสตร์”


ผมยกตัวอย่าง เช่น

ประเทศไทยต้องมีเป้าหมายร่วม ว่าจะสร้างชาติ(อนาคต)อย่างไร และ อะไรคือผลประโยชน์ร่วมของคนในชาติ

ผมหันไปถามเพื่อนๆว่า

ตั้งแต่คุณเป็นประชาชาชนไทย คุณรู้หรือไม่ว่า อะไร คือผลประโยชน์ร่วมของประชาชนทั้งชาติ และเราจะสร้างชาติ(ในอนาคต)แบบไหน และด้วยแนวยุทธศาสตร์เช่นไร

เพื่อนคนหนึ่งตอบว่า

“ผมว่าอาจมีบ้างแบบมั่วๆ ความมั่วๆนี้น่าจะสะท้อนความเป็นไทยในเชิงยุทธศาสตร์ และวัฒนธรรมได้ดี”

ผมกล่าวขยายต่อว่า

ที่แท้แล้ว วัฒนธรรมมั่วๆนี้ ไม่ใช่วัฒนธรรมของประชาชนเท่านั้น ยังถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของบรรดาชนชั้นนำไทยเช่นกัน

ที่พูดๆกันบ้างอย่างเช่น เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกันอย่างไรกันแน่ๆ ในเชิงยุทธศาสตร์

เอาแต่เพียงว่า เจ้าว่างาม ก็ว่างามไปตามเจ้า

“พอเพียง” จึงถือเป็นเรื่องทางปรัชญาในการดำเนินชีวิตเท่านั้น ส่วนใครจะ“พอ”แค่ไหน ก็ขึ้นกับความพอของแต่ละบุคคลไป

เมื่อประเทศชาติไม่มีเป้าหมายแน่นอน คนทั้งชาติจึงไม่มีผลประโยชน์ร่วมแห่งชาติ

เมื่อไม่มี บรรดานายทุนไทย นักการเมืองไทย ข้าราชการไทย ก็ล้วนถือเอาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง

ใครมีอำนาจ ก็ใช้อำนาจเพื่อตัวเอง ส่วนของตัวและครอบครัว

ยิ่งกอบได้ โกยได้มาก จะได้รับการยกย่องว่า “สุดยอด”

ข้าราชการไทย(ชั้นล่างๆ ) ก็ทำงานแบบไปวันๆ เช้า-ชาม เย็น-ชาม ขึ้นกับบรรดาเจ้านาย ว่าจะสั่งมาอย่างไร และมีชีวิตอยู่กับการหาประโยชน์เฉพาะหน้า แบบหาเล็กหาน้อยเพื่อตัวเอง เท่าที่ทำได้

เวลาเจ้านายมีคำสั่งมา ก็นั่งประชุม..ประชุม..และประชุม เพื่อที่จะวางแผน ว่าจะประชุมกันกี่ครั้ง

ยิ่งปัจจุบัน โลกวิกฤติ และปัญหามีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งนักการเมืองและข้าราชการก็พลิกวิกฤติเป็นโอกาส คือ “โอกาสแห่งความมั่งคั่งส่วนตัว”

เดินทางไปดูงานต่างประเทศ เพื่อกลับมาวางแผนหา “เงิน” และหา “ประโยชน์ส่วนตัว”

ปัจจุบัน บรรดานักการเมืองก็คิดแปลวิกฤติด้วยการสร้างอภิมหาโครงการ เพราะยิ่งคิดโครงการใหญ่ได้แค่ไหน เงินทองก็จะไหลมาเทมาเท่านั้น

ระบบการเมืองไทย และระบบราชการจึงแก้ปัญหาวิกฤติได้เก่งอย่างมากๆ

การแก้ปัญหาจึง ดูราวคล้ายกับวิ่งอยู่บนเขาวงกต วิ่งไปวิ่งมา ไม่ไปไหน ปัญหาทั้งหลายมีแต่ทับถมเพิ่มพูน

จริงๆแล้ว ไม่มีนักการเมืองและข้าราชการคนใดคิดแก้ปัญหาจริงๆ

ที่สำคัญ ไม่มีใครกลัวว่าปัญหาจะยิ่งเพิ่มพูนและทับถม เพราะปัญหาทั้งหมดสามารถแปรเปลี่ยนเป็นงบประมาณ เป็นรายได้ และผลประโยชน์ส่วนตัว ได้หมด

พอปัญหาทับถมจนแก้ไม่ได้ ก็คิดแบบอำนาจนิยม ใช้ความรุนแรงเข้าแก้ ปัญหากลับยิ่งขยายใหญ่และลุกลาม

แต่นี่ก็จะไปเพิ่มรายได้ให้แก่ ทหาร และตำรวจ อีกเช่นกัน

………………………..


รากแห่งความโง่งมแห่งชาติ

เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้นว่า

“เมื่อยุทธศาสตร์เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมด้วย แต่คำว่า วัฒนธรรม มีความเป็นมายาวนาน คุณยุคกำลังบอกว่า ความโง่แห่งชาติ มีความเป็นมาทางวัฒนธรรมที่ยาวนานหรือ”

ผมตอบว่า

“นี่เป็นคำถามที่ดี เพราะวัฒนธรรมมีรากความเป็นมาที่ลึก และยาวนานมาก”

วัฒนธรรมไทยโบราณ มีรากมาจากวัฒนธรรมไพร่ ทาส และวัฒนธรรมเจ้านาย

วัฒนธรรมไพร่ นี้คือคอกขังจิตวิญญาณคนไทยในอดีต คอกนี้มีอิทธิพลครอบเหนือปรัชญาความเชื่อ แบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คน

หรือกล่าวได้ว่า วัฒนธรรม คือ คอกที่สามารถขังจิตวิญญาณของมนุษย์ไว้ภายใต้อำนาจของมัน

วัฒนธรรมไพร่ทาส สามารถแยกแยะออกได้ ดังนี้

แบบแรก เรียกว่า วัฒนธรรมสวามิภักดิ์ หรือ จงรักภักดี ชีวิตของไพร่และทาสต้องแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดชีวิตจิตใจ

แบบที่สอง เรียกว่า วัฒนธรรมการประจบสอพลอ ใครสามารถประจบสอพลอเจ้านายจนทำให้นายรัก คนนั้นจะได้ดี

แบบที่สาม เรียกว่า วัฒนธรรมซุบซิบ-นินทา วัฒนธรรมนี้เกิดจากความไม่สามารถแสดงออกได้ตรงๆของบรรดาไพร่และทาส เมื่อแสดงออกตรงๆไม่ได้ ก็ใช้วิธีซุบซิบนินทาเจ้านาย

แบบที่สี่ เรียกว่า วัฒนธรรมอิจฉาตาร้อน ใครได้ดี ใครที่เจ้านายรักมาก จะถูกอิจฉาและถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนๆ

บางท่านอาจจะเคยได้ยินบทกวีโบราณที่ว่า

คนเขาอยากให้เราดี
แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีแต่อย่างเด่นจะเป็นภัย
ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน


แบบที่ห้า เรียกว่า วัฒนธรรมตลบตะแลง หรือแบบศรีธนญชัย ถือว่าเป็นการแสดงความฉลาดแบบไทยๆ

แบบที่หก คือ วัฒนธรรมรู้มากยากนาน เพราะไพร่ที่ชอบแสดงว่าตัวฉลาดรู้เยอะ เจ้านายก็จะใช้งานหนักกว่าคนอื่นๆ ดังนั้น ถ้าทำตัวโง่ๆ ก็ไม่ต้องเหนื่อย และไม่ต้องทำงานหนักรับใช้เจ้านาย

แบบที่เจ็ด คือ วัฒนธรรมหนีทุกข์ เมื่อไม่พอใจเจ้านาย ก็จะหาทางหนีไปอยู่ที่อื่นๆ หรือ หนีด้วยการออกบวช

แบบที่แปด คือวัฒนธรรมรู้เอาตัวรอดเป็นยอดดี วัฒนธรรมนี้คล้ายกับวัฒนธรรมตลบตะแลง แต่มุ่งที่การทำเพื่อเอาตัวเองให้รอดปลอดภัยก่อน ใครจะเป็นอะไร ช่างหัวมัน

แบบที่เก้า คือ วัฒนธรรมเสพสุข เสพเหล้า เสพสาว และเล่นการพนัน
นี่คือ แบบต่างๆของวัฒนธรรมไพร่และทาสในยุคโบราณ ถ้าสังเกตให้ดี คนไทยจะไม่สนใจเรื่องความรู้ และไม่มีวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ เพราะทั้งชีวิตขึ้นต่อเจ้านายเป็นสำคัญ

วัฒนธรรมเจ้านาย ก็ไม่ได้ดีกว่าวัฒนธรรมไพร่ทาสนัก บางอย่างก็เป็นเหมือนกับวัฒนธรรมไพร่ ต่างกันแต่ว่ามีระดับที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น

แบบแรก คือ วัฒนธรรมเสพสุข เสพเหล้า ยา การพนัน และสาวงาม เพื่อบำรุงบำเรอความสุขของตนเอง

แบบที่สอง คือ วัฒนธรรมอำนาจนิยม ชอบใช้อำนาจ หรือใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ต่างๆ เพราะนี่คือวิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ไข

แบบที่สาม คือ วัฒนธรรมเสพติดความมั่งคั่ง ชอบเพชรนิลจินดาและของชั้นดีราคาแพงๆ

แบบที่สี่ คือ วัฒนธรรมเทวดา ที่เรียกร้องการบูชาจากคนทั่วไป ถือตัวเองว่าคือเทพ ไม่ใช่มนุษย์เดินดินทั่วไป

แบบที่ห้า คือ วัฒนธรรมเชิงยุทธวิธีแบบเอาตัวรอดเป็นยอดดี เป็นวัฒนธรรมอย่างเดียวกันกับวัฒนธรรมไพร่

แบบที่หก คือ วัฒนธรรมปัดสวะ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่นๆ

จนถึงวันนี้ วัฒนธรรมไพร่ทาส และ วัฒนธรรมเจ้านาย ของไทยโบราณไม่เคยถูกรื้อถอนเลย แม้ว่าประเทศไทยได้ยกเลิกระบบไพร่และทาส และระบบเจ้านายไปนานแล้วก็ตาม

ดังนั้น วัฒนธรรมโบราณแบบนี้จึงยังคงถูกผลิตซ้ำในปัจจุบันในรูปแบบที่หลากหลายและแตกต่างออกไป

ตัวอย่างเช่น

นักการเมืองจะเรียกคุณทักษิณว่า ‘นาย’ ทุกคำ ทุกอย่างต้องขึ้นกับนายเท่านั้น

ใครสามารถแสดงความจงรักภักดี และประจบสอพลอนายมากเท่าไหร่ นายก็หลงรัก และให้ประโยชน์ตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น เรื่องใหญ่ๆ หรือเรื่องผลประโยชน์ขนาดใหญ่ จะต้องรอนายตัดสิน และถือว่าเป็นเรื่องของนายเท่านั้น บรรดาพวกไพร่ทาสไม่เกี่ยว นายสั่งมาอย่างไร ก็ว่าตามๆกัน

ถ้านายไม่สั่ง ทุกอย่างก็จบ เพราะไม่รู้ว่าเจ้านายจะเอาอย่างไร

ยิ่งถ้านายหญิงสั่งมาอย่างหนึ่ง นายผู้ชายสั่งอีกอย่างหนึ่ง ลูกน้องก็มึน และไม่รู่ว่าจะทำอย่างไร

ดังนั้น วัฒนธรรมการเมืองไทยปัจจุบัน กับ วัฒนธรรมการเมืองไทยโบราณ มีพัฒนาที่สืบทอดกันมาตลอด และมีการนำเอาวัฒนธรรมการเมืองโบราณแบบเจ้ากับไพร่มาผลิตซ้ำ

เจ้านายบางคน(ในยุคปัจจุบัน) ถึงได้แอบอ้างความเป็นเจ้านายในอดีตเพื่อมารับใช้ ความเป็นเจ้านายในยุคปัจจุบันให้มีฐานะมีบารมีที่สูงสุด เช่น บางท่านแอบอ้างว่า ตัวเอง คือพระเจ้าตากสินกลับชาติมาเกิด

นี่คือ การสร้างศรัทธาและเรียกร้องความจงรักภักดีแบบข้ามชาติข้ามภพ

...................................

บทสรุป

คนไทยมักจะหลงภาคภูมิในวัฒนธรรมไทยว่า ดีสุดยอด และ ไม่มีตำหนิเลย เราจึงเข้าใจว่า วัฒนธรรมไทยโบราณมีเฉพาะด้านที่ดีงามเท่านั้น

ผมคงไม่ปฏิเสธว่า เรามีวัฒนธรรมเก่าที่งดงาม และมีของดีมากมาย แต่ในขณะที่วัฒนธรรมไทยมีของดี ก็มีของเสียหรือของเน่าดำรงอยู่ด้วย

อย่างเช่น วัฒนธรรมที่ไม่สนใจศึกษาหาความรู้ หนีโลก หาแต่ความสุข หรือเสพสุข กระล่อนไปวันๆ หวังพึ่งพาแต่เทพและเจ้านาย รวมทั้งวัฒนธรรมที่ไร้ยุทธศาสตร์ วัฒนธรรมเหล่านี้ คือ จุดอ่อนที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย

ที่สำคัญกว่ากันคือ ระบบสื่อสารและการศึกษาไทยในปัจจุบันได้ช่วยกันผลิตซ้ำวัฒนธรรมที่เน่าเฟะ ซึ่งหมายความว่า เราผลิตซ้ำความโง่แห่งชาติกันทุกวัน

เราผลิตกันจนความโง่แห่งชาตินี้ได้ซ่อนตัวอยู่ใจกลางวัฒนธรรมเยาวชนไทยยุคปัจจุบัน
นี่คือ ปัญหาใหญ่ทางยุทธศาสตร์ เพราะถ้าเรายังหลงผลิตกันอยู่ วันหนึ่งประเทศไทยก็จะพบหายนะ

ปัจจุบัน ความโง่แห่งชาติ นี้ได้กลายเป็น “คอก” ที่ขังชนชั้นนำไทย คนไทยทั่วไป และเยาวชนไทย ให้คิดเฉพาะเรื่องใกล้ๆ ตัว เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว เรื่องความสุข และความสวยความงาม

วันนี้ เราต้องกล้าประณามความโง่แห่งชาติ ต้องกล้ารื้อถอน และสร้างวัฒนธรรมไทยใหม่
วันนี้ ถ้าเราจะคิดสร้างชาติขึ้นใหม่ ก่อนอื่นเราต้องคิดสร้างชาติทางวัฒนธรรมขึ้นมาก่อน

นี่คือ ปัญหาของชาติที่สำคัญอย่างยิ่ง

สำคัญยิ่งกว่าปัญหาเศรษฐกิจ และการเมือง

ชนชาติไหนที่สามารถผลิตวัฒนธรรมที่งดงามและยิ่งใหญ่ได้ ชนชาตินั้นก็จะดำรงความยิ่งใหญ่ และความรุ่งเรืองได้

เราต้องกล้าคิด กล้ารื้อทิ้ง “คอก” ที่ครอบจิตวิญญาณของเราในอดีตทิ้ง และต้องคิดสร้างวัฒนธรรมไทยใหม่ที่มีฐานอยู่กับโลกกว้าง และมีฐานอยู่กับการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
มีนักศึกษาคนหนึ่งถามผมว่า

“เราจะเอาอะไรเป็นฐานในการสร้างวัฒนธรรมไทยขึ้นมาใหม่”

ผมตอบว่า

เราน่าจะถือเอาวัฒนธรรมตะวันออกเป็นฐาน

แต่เราต้องพิจารณาวัฒนธรรมตะวันออกอย่างแยกแยะ และต้องกล้ารื้อวัฒนธรรมเก่าที่ไร้ค่า และงมงาย

กล่าวเป็นรูปธรรมคือ ถึงเวลาแล้วที่ต้องอภิวัฒน์วัฒนธรรมไทยทั้งระบบ โดยสร้าง ศูนย์ หรือ สถาบันขึ้นมาทำหน้าที่เลือกสรร แยกแยะ ส่งเสริม และผลิตซ้ำวัฒนธรรมไทยขึ้นมาใหม่

เลือกเอาสิ่งที่ดีงามและงดงามในอดีต เข้ามาประสานกับวัฒนธรรมใหม่ของโลกที่งดงามในปัจจุบัน

กำลังโหลดความคิดเห็น