xs
xsm
sm
md
lg

พุทธธรรมบำบัด (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทนำ
ถึงแม้ว่าการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันจะได้ผลดีมากแล้วในปัจจุบัน ทำให้คนในยุคนี้มีสุขภาพดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น อายุยืนขึ้น แต่ผลการสำรวจโดยศูนย์การควบคุม และป้องกันโรค (Center for disease control and prevention) ของสหรัฐอเมริกา ยังพบว่า คนอเมริกัน
• 13.5 ล้านคน เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
• 250,000 คน กระดูกสะโพกหัก
• มากกว่า 60 ล้านคน เป็นโรคอ้วน
• 50 ล้านคน เป็นโรคความดันโลหิตสูง
• 107,000 คน ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ทุกปี
ถ้าพิจารณาดูเราจะพบว่า โรคเหล่านี้เป็นโรคที่เกิดเมื่อเรา มีอายุมากขึ้น ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพลง อวัยวะต่างๆจะทำงานมีประสิทธิภาพลดลงเรื่อยๆ จนเราเป็นโรคเรื้อรัง และถึงแก่กรรมไปในที่สุด (Chronic degenerative disease) โรคเหล่านี้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม เป็นสาเหตุของการตายอันดับหนึ่งของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เหมือนกันทั่วโลก
ถ้าเรามาพิจารณาต่อไปอีกว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรคเหล่านี้ เราก็จะพบว่า โรคเหล่านี้เกิดจากสาเหตุหลายประการร่วมๆ กัน เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารเป็นพิษ การติดเชื้อไวรัส การมีภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตนเอง การขาดการออกกำลังกาย ตลอดจนภาวะทางจิตใจที่มีอารมณ์เครียด อารมณ์โกรธ อารมณ์ซึมเศร้า ภาวะของการดำเนินชีวิตที่มีความเครียดตลอดเวลา ปัญหาต่างๆ ในชีวิตที่รุมเร้าเข้ามา (Life Style)
ดังนั้น การรักษาโรคเหล่านี้ตามแบบของแพทย์แผนปัจจุบัน จึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผลการรักษาในปัจจุบันโดยการใช้ยา การผ่าตัด ยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเป็นการรักษาด้านเดียว ยังขาดการบำบัดทางจิตใจ ยังไม่เป็นองค์รวม (Holistic) ปัจจุบันจึงมีแพทย์หลายท่าน ได้ใช้วิธีการต่างๆ ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไข้ (Life Style Modification) ตั้งแต่เปลี่ยนชนิดของอาหาร แบบแผนการ กินอาหาร การออกกำลังกาย เรื่องของความคิด ทัศนคติต่อ โลกและชีวิต เปลี่ยนการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา คือ อยู่อย่างเรียบง่าย มักน้อย สันโดษ ละทิ้งแนวทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องจิตใจ ดังนั้น วิธีการทางศาสนาและปรัชญาจึงได้ถูกนำมาใช้ร่วมกับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งรู้จักกันในนามของการแพทย์ทางกายและจิต (Mind/Body Medicine)
สำหรับเรื่องของจิตใจเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการ เกิดโรค การรักษาโรค การหายของโรคอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่ผู้เขียนต้องการแสดงงานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ทางสุขภาพได้ทำการศึกษาเอาไว้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาวิธีการพุทธศาสนา เช่น การไหว้พระ การสวด มนต์ การแผ่เมตตา การทำสมาธิวิปัสสนามาใช้บำบัดโรค ซึ่งแพทย์ชาวตะวันตกที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้ ล้วนแต่มีความรู้ทางพุทธศาสนาเป็นอย่างดีทั้งในแง่คำสอนและหลักการปฏิบัติ บางท่านนอกจากจะเป็นแพทย์แล้วยังเป็นวิปัสสนาจารย์ผู้สอนกรรมฐานด้วย ได้เขียนตำราการเจริญสติไว้มากมาย เช่น ศาสตราจารย์โจน คาแบค ซิน (Jon K. Zinn) แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมทซาร์ชูเสท ได้ใช้ การเจริญสติรักษาโรคต่างๆ อย่างได้ผลดี ศาสตราจารย์อีเล็น แรงเกอร์ (Ellen J. Langer) แห่งศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับการเจริญสติในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีขึ้น เป็นโรคซึมเศร้าน้อยลง เป็นต้น ซึ่งจะได้แสดงรายละเอียดในตอนต่อๆ ไป
งานวิจัยเหล่านี้ล้วนแต่สนับสนุนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ทำให้เห็นอานุภาพแห่งการปฏิบัติธรรมว่า ทำให้มีสุขภาพดี อายุยืน แม้ว่าจะมาปฏิบัติเมื่อเป็นโรคแล้วก็ตาม ก็ยังช่วยทำให้โรคภัยไข้เจ็บอาการดีขึ้นมาก หรือหายไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่น กรณีการรักษาโรคเรื้อนกวางของ ศ. โจน คาแบค ซิน โดยการเจริญสติร่วมกับการฉายแสง รอยโรคหายเร็วกว่าการรักษาโดยการกินยากดภูมิต้านทานร่วมกับการฉายแสงถึง 4 เท่า
พระพุทธศาสนาถือว่า ปุถุชนทุกคนที่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทุกคนล้วนแต่เป็นคนป่วย เพราะสาเหตุของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกายหรือโรคทางใจที่เราเป็นอยู่นั้น เมื่อสาวลึกลงไปแล้วล้วนแต่เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง ดังที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย โรคสองอย่างนี้ โรคสองอย่างอะไรบ้าง คือ 1.โรคทางกาย 2.โรคทางใจ สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรค ทางกายมาตลอดระยะเวลา 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ปี 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง 30 ปีบ้าง 40 ปีบ้าง 50 ปีบ้าง แม้ยิ่งกว่า 100 ปี ยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้จะอ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางใจตลอดระยะเวลาแม้ครู่เดียว หาได้ยาก ยกเว้น ท่านผู้หมด กิเลสแล้ว”
โรคสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต

ดังนั้น เรื่องของจิตใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการมีสุขภาพดีอายุยืน เพราะท่านถือว่าการไม่มี โรคเป็นลาภอันประเสริฐ ดังที่ท่านกล่าวว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา”ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง
ขุททกนิกาย ธรรมบท

อโรคยะ หรือความไม่มีโรคในที่นี้หมายถึง ความไม่มีโรค ทางใจ หรือสุขภาพจิตดี นั่นเอง (พุทธธรรม/248) และนอกจากนั้น“อโรคยะ” นี้ ใช้เป็นคำเรียกพระนิพพาน คือ สภาวะที่จิตใจปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นเอง
ปัญหาต่อไปก็คือว่าถ้าเราต้องการสุขภาพดี ไม่เป็นโรค อายุยืน พระพุทธศาสนาสอนอย่างไร คำตอบก็คือ ท่านสอน ให้ประพฤติธรรม ดังที่ท่านแสดงไว้ในชาดกดังนี้ คือ อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ถามพราหมณ์บิดาพระโพธิสัตว์ (มหาธรรมปาลกุมาร)ว่า ท่านปฏิบัติตัวอย่างไร คนในครอบครัวถึงไม่ตายแต่หนุ่มๆ มีอายุเกินร้อยกันทุกคน พราหมณ์ตอบว่า
“พวกเราประพฤติธรรม ไม่กล่าวเท็จ งดเว้นกรรมชั่ว ละเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งหมด เพราะเหตุนั้นแล พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่มๆ”
มหาธรรมปาลสูตร ขุททกนิกาย ชาดก

การประพฤติธรรม ในที่นี้ท่านหมายถึง ประพฤติกุศลกรรมบท (ทางแห่งความดี 10) คือ ทางกาย 3 ได้แก่ 1) ละการฆ่าสัตว์ 2)ละการลักทรัพย์ 3) ละการประพฤติผิดในกาม ทางวาจา 4 ได้แก่ 1.ละการพูดเท็จ 2.ละการพูดส่อเสียด 3.ละการพูดคำหยาบ 4.ละการพูดเพ้อเจ้อ ทางใจ 3 ได้แก่ 1.ไม่เพ็งเล็งอยากได้ของผู้อื่น 2.ไม่มีจิตคิดร้ายต่อผู้อื่น 3.มีความเห็นชอบ (ขุ.ชา.อ. 5/93/430)
ในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านสอนว่าเราจะละบาปทาง กายวาจา ต้องละด้วยกำลังที่รักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะละบาปทางใจต้องอาศัยสมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้นบุคคลจะรักษากุศลกรรมบท 10 ประการให้บริสุทธิ์ ต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้นผู้เขียนจะค่อยๆ แสดงให้เห็นอานุภาพของการปฏิบัติธรรมในการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ โดยใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตก ได้ศึกษาไว้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดยนพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น