xs
xsm
sm
md
lg

รมต.คลังหญิงคนแรกของอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีคลังหญิงคนแรก
เป็นการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลอย่างรวดเร็วทันที หลังการลงคะแนนเสียง 1 วันเท่านั้น ซึ่งการลงคะแนนทั่วเกาะอังกฤษเกิดขึ้นในวันพฤหัสฯ ที่ 4 กรกฎาคม และเมื่อทราบผลการนับคะแนนในช่วงรุ่งสางของเช้าวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม นายกฯ คนเก่าคือ นายริชี ซูนัค ก็เข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์เพื่อกราบถวายบังคมลาจากตำแหน่ง เนื่องเพราะพรรคอนุรักษ์ของเขาพ่ายแพ้หลุดลุ่ย ได้คะแนนเสียงมาเพียง 121...ทั้งๆ ที่เอ็กซิตโพลคาดว่าพรรคอนุรักษ์จะได้มา 131 เสียง...ส่วนพรรคแรงงานกวาดเก้าอี้มาได้ถึง 413 ที่นั่ง (มากกว่าเอ็กซิตโพลที่คาดว่าพรรคแรงงานจะได้เก้าอี้ 410 เสียง) จากที่นั่งทั้งสภาผู้แทนฯ 650 เก้าอี้ และพรรคแรงงานชนะขาดลอย (หลังจากรอคอยมานาน 14 ปี) สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยพรรคเดียว โดยมีคะแนนเสียงเกินครึ่งมากถึง 87 เสียง

ทันทีที่นายกฯ ริชี ซูนัค กราบถวายบังคมลาออก กษัตริย์ชาร์ลส์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ (หัวหน้าพรรคแรงงาน) เข้าเฝ้า เพื่อขอให้เขาจัดตั้งรัฐบาลในบ่ายวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาฯ นั่นเอง! ช่างรวดเร็วในการเปลี่ยนถ่ายจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ ต่างกับของสหรัฐฯ ที่จะต้องมีช่วงเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลถึงเกือบ 3 เดือน รวมทั้งที่บราซิลก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนถ่ายถึง 3 เดือนทีเดียว

พอวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม ท่านนายกฯ คนใหม่ก็ประกาศรายชื่อครม.ชุดใหม่ของเขาออกมาครบครัน มี 25 ท่านซึ่งเกือบ 100% ก็เป็นรายชื่อที่พรรคแรงงานได้จัดสรร รมต.เงา เพื่อประกบการทำงานกับครม.ของนายกฯ ริชี ซูนัค มาอยู่ก่อนแล้ว

ครม.ใหม่ของนายกฯ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ประกอบด้วยรมต.หญิงเกือบครึ่งหนึ่งและส่วนใหญ่เป็นรมต.ที่มีพื้นเพมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นสมาชิกของพรรคแรงงาน และมาจากครอบครัวที่ไม่ได้เกิดในกองเงินกองทอง ตรงข้าม-มาจากกลุ่มที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนจากระดับคนงานทีเดียว พอๆ กับท่านนายกฯ เองก็มีพ่อเป็นคนงานในโรงงาน และแม่เป็นพยาบาลผู้น้อยที่ป่วยกระเสาะกระแสะ และต้องพึ่งบริการรักษาพยาบาลของรัฐ (แบบบัตรทองของไทย)

รองนายกฯ ของเซอร์ เคียร์ เป็นอดีตหัวหน้าสหภาพแรงงาน เป็นผู้หญิงที่เคยทำงานเป็นผู้ดูแลคนชราในสถานดูแลคนชรา และได้หยุดเรียนหนังสือเมื่ออายุ 16 ปีเพราะตั้งท้อง แต่ต่อมาภายหลังได้พยายามเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาจนสำเร็จ

มีรมตหญิง.รับหน้าที่คุมอยู่หลายกระทรวง ทั้งกระทรวงศึกษา, มหาดไทย เป็นต้น

ที่สำคัญคือ หญิงแกร่งอายุ 45 ปีที่มานั่งเป็นรมต.คลัง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงได้รับหน้าที่นี้ที่อังกฤษ เธอคือ ราเชล รีฟส์ คุณแม่ลูกสองที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์จากออกซฟอร์ด แล้วไปต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ LSE

พ่อแม่ของเธอเป็นสมาชิกพรรคแรงงานอย่างเข้มข้น เขาทั้งสองเป็นครูและบ่มเพาะลูกๆ ตั้งแต่ราเชลอายุ 8 ขวบให้มองการแก้ไขปัญหาของชาติด้วยนโยบายของพรรคแรงงาน

หลังเรียนจบ เธอเริ่มงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ธนาคารกลางของอังกฤษทันที และเมื่อมีลูกสองคนก็ได้ย้ายมาทำงานภาคเอกชนด้านบันเทิงของบริษัท HBO

เธอเล่าเสมอว่า ขณะที่เธอสมัครหางานนั้น ทางวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ ได้ตอบรับเธอให้เข้าทำงาน แต่เธอได้ตอบปฏิเสธไป (แสดงว่า เธอมิได้หวังรับเงินเดือนแพงๆ จากการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน-เป็นมนุษย์ทองคำ)

ต่อมาได้ลงสมัครแข่งเป็น สส.ให้แก่พรรคแรงงาน ซึ่งก็แพ้เลือกตั้งถึงสองครั้ง ก่อนที่จะสมัครลงในเขตที่เธอเติบโตมา จนได้เข้ามาเป็น สส.และได้เป็นทีมงานของทั้งอดีตนายกฯ โทนี แบลร์ และกอร์ดอน บราวน์...จนมาถึงสมัยหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีมานี้คือ เซอร์ เคียร์ ซึ่งเธอก็รับหน้าที่เป็นรมต.เงาของกระทรวงการคลังนั่นเอง

ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เธอก็จบจากโรงเรียนประถมและมัธยม เฉกเช่นชาวบ้านคนธรรมดาเดินดิน แต่ที่เด่นก็คือ เธอเป็นแชมเปี้ยนเล่นหมากรุกขนาดชนะการแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับชาติสำหรับเด็กหญิงอายุไม่เกิน 14 ปี ซึ่งต่างกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ที่แข่งกันแต่งตัวสวย (แบบหลายคนในโรงเรียนชั้นนำของไทยที่แข่งขันกันซื้อกระเป๋า รองเท้านอกราคาของใครจะแพงกว่ากัน!!)

นายกฯ ท่านเซอร์ เคียร์ ประชุมครม.นัดแรกในเช้าวันเสาร์ทันที (ทำไมถึงรวดเร็วขนาดนั้น) เพราะเขาบอกว่า ประเทศที่ต้องการฟื้นฟู (National Revival) จะมัวมานั่งรอเวลาไม่ได้เด็ดขาด…แต่เพราะมีรมต.เงาที่รู้งานอย่างดีพร้อมทำงานทันทีตามคำสัญญา (Manifesto) ที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน

รมต.คลังราเชล ก็ออกแถลงงานด่วน Big Win ที่จะทำในทันทีที่ไม่มีการเสียเวลา (ตามที่ได้หาเสียงไว้)

นโยบายของเธอ (ของรัฐบาลนี้) คือ การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (Pro-Growth, Pro-Business) ไม่ใช่อย่างที่อดีตนายกฯ ลิซ ทรัสส์ (ของพรรคอนุรักษ์) ที่เพิ่งสอบตกไปในคราวนี้ ได้ปรามาสว่า พรรคแรงงานเข้ามาจะมีแต่นโยบายต่อต้านการเติบโต

จะสร้างบ้านที่อยู่อาศัยที่ขาดแคลนอย่างหนัก พลาดเป้าเป็นหลายแสนห้อง และราคาแพงมาก ซึ่งก็จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการลงทุน (จากภาคเอกชน) ถึง 1 ล้าน 5 แสนยูนิตตลอดอายุของรัฐบาลนี้ โดยลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่างๆ จนการลงทุนแห้งเหือดในรัฐบาลก่อนหน้า

จะมีการลงทุน (ภาคเอกชน) กังหันลมผลิตพลังงาน ซึ่งถูกคว่ำทิ้งในรัฐบาลก่อนเช่นกัน ซึ่งเป็นพลังงานสีเขียวลดโลกเดือด

โครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่หยุดชะงักไปก็จะมีการเดินหน้าอย่างจริงจังเช่น ทางรถไฟหลายสายและหลายสายจะต้องกลับมาเป็นของประชาชน (จากที่แปรรูปไปสมัยของรัฐบาลอนุรักษ์ แทตเชอร์ จนรถไฟมาไม่ตรงเวลา หรือรถไฟชนกันเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก เพราะมีการลดต้นทุนสูงสุดจนขาดพนักงานควบคุม)

จะเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์นับหมื่นคน รวมทั้งรถพยาบาลซึ่งไม่พอเพียงในโรงพยาบาลรัฐ เป็นต้น

รายได้จะไม่ใช่มาจากการขึ้นภาษี (รายได้, VAT) แต่จะมาจากภาษีที่ต้องปรับขึ้นสำหรับโรงเรียนเอกชน (ที่นักเรียนมีฐานะมั่งคั่ง) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่คนต่างชาติมาซื้อตึกเป็นหลังๆ ก็ต้องคิดภาษีแพงกว่าชาวอังกฤษ

เป็นความพร้อมของพรรคแรงงานที่เข้ามาทำงานได้ทันที ต่างกับของไทยที่มะงุมมะงาหราก่อนจะลงมือทำงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น