xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์ต้านทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล
48 ชั่วโมงก่อนหน้าดีเบตนัดแรกระหว่างทรัมป์และไบเดน; Big Wigs นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐฯ และอังกฤษเขียนจดหมายเปิดผนึกออกมาวิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ว่า จะทำให้เกิดปัญหาสาหัสแก่ประเทศสหรัฐฯ

ผู้ลงนามประกอบด้วย นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ถึง 16 คน นำโดย ศ.โจเซฟ สติกลิตซ์ ผู้ได้รับรางวัลในปี 2001 และเป็นศาสตราจารย์ที่พร่ำสอนเรื่องนโยบายที่จะลดช่องว่างของรายได้ โดยเฉพาะคือผู้ต่อต้านนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะมีแต่จะทำให้ทรัพย์สมบัติของชาติถูกปล้นไปเป็นสมบัติส่วนบุคคลของเหล่ามหาเศรษฐีและนักการเมืองหรือกิจการต่างชาติที่เข้ามาโกยซื้อหุ้นราคาถูก (ขณะแปรรูป) ขณะที่ประชาชนเจ้าของประเทศจะต้องถูกบังคับจำใจให้ต้องใช้บริการที่แพงขึ้น (หลังแปรรูป) และประชาชนไม่มีวันลืมตาอ้าปาก และลดช่องว่างทางรายได้ซึ่งมีแต่จะถ่างกว้างขึ้นทุกวัน

ในรายชื่อเหล่านี้มีชื่อของ ศ.George Akerlof (สามีของรมว.คลัง เจเน็ต เยลเลน), Claudia Goldin, Eric Maskin, Daniel Mcfadden, Paul Milgrom, Roger Myerson, Edmund Phelps, Paul Romer, Alvin Roth, William Sharpe, Robert Shiller, Christopher Sims เป็นต้น (น่าจะกวาดเหล่าผู้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด); และยังมีทั้งศาสตราจารย์นักคณิตศาสตร์ และนักวิชาการชั้นนำจากมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมของโลก ทั้งที่สหรัฐฯ และอังกฤษรวมอยู่ด้วย

ศ.สติกลิตซ์เอง ได้เดินสายให้สัมภาษณ์ทางสื่อด้วย โดยเน้นตามเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกว่า พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่า นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะเกิดอันตรายแก่ประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะคือปัญหาเงินเฟ้อที่จะพุ่งขึ้นสูงอย่างน่าตกใจ เพราะขณะนี้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ กำลังลดลงมาเกือบอยู่ในระดับที่จัดการได้และยั่งยืน (จากฝีมือของไบเดน) ซึ่งก็จะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยได้ถ้าเงินเฟ้ออยู่ตัวมีเสถียรภาพไม่กระโดดขึ้นลงหวือหวา

เพราะเงินเฟ้อได้เคยขึ้นไปช่วงปลายการระบาดของโควิดในต้นปี 2022 นั้น สูงเกือบเลขสองหลักที่ 9 เปอร์เซ็นต์กว่า เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนมีแรงซื้อสินค้าและบริการในช่วงเพิ่งหายจากการระบาดของไวรัส และสินค้าต่างๆ มีปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากได้มีการขาดช่วงของการเดินทางของสินค้าในสายห่วงโซ่อุปทาน (เกิด Supply Disruption) และประชาชนก็เกิดอาการหายจากการอั้นที่ถูกห้ามออกนอกบ้านมานาน

เขาวิพากษ์นโยบายของทรัมป์ที่ได้หาเสียงขณะนี้ว่า จะเดินหน้าลดภาษีรายได้ลงอย่างมาก เช่นที่เขาได้ทำในขณะที่เข้ามาเป็นปธน.สมัยแรก โดยเฉพาะภาษีรายได้ของคนรวย เพื่อให้คนรวยได้นำเงินไปลงทุนในกิจการต่างๆ อันจะสร้างงานมากขึ้น...ทรัมป์ถึงขนาดพูดว่า เขาอาจเลิกเก็บภาษีรายได้ทั้งบุคคลหรือบริษัทห้างร้านทีเดียว ซึ่งฐานเสียงของเขากำลังแอบดีใจได้ปลื้ม

แล้วทรัมป์จะเอาเงินมาใช้จ่ายในงบประมาณได้จากไหน ถ้าไม่เก็บจากภาษีรายได้...ทรัมป์เสนอว่า จะเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะทำแทบหมดทุกรายการสินค้า จะอยู่ในระดับ 10% (ถัวเฉลี่ย)...แต่สำหรับสินค้าจากจีน ต้องพิเศษหน่อยจะอยู่ในระดับ 60-100 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว (นี่เป็นคำตอบที่ปธน.ไบเดนเพิ่งประกาศขึ้นภาษีรถยนต์ EV จากจีนถึง 100% เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าหย่อนยานอ่อนแอกว่าทรัมป์ต่อการบุกของสินค้าจีนมาขึ้นฝั่งที่อเมริกา)

ทรัมป์ประกาศขณะหาเสียงที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ เพื่อเอาใจเหล่าคนงาน และผู้มีรายได้น้อย (ที่ถูกปั่นหัวว่า สินค้าราคาถูกของจีนจะทำให้เขาตกงาน) ว่า สำหรับสินค้าทั้งชิ้นส่วนหรือสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตที่เม็กซิโก และมาจากโรงงานที่ผู้ถือหุ้นลงทุนส่วนใหญ่เป็นจีน ทรัมป์จะคิดภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกถึง 200% (ทั้งๆ ที่มีสัญญาการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา, เม็กซิโก คือ USMCA ที่จะไม่คิดภาษีสินค้านำเข้าจาก 3 ประเทศนี้ก็ตาม!!)

ทรัมป์ได้เสนอจะยกเลิกนโยบายสีเขียวที่จะลดโลกร้อน เพราะมองว่าทำให้คนงานต้องตกงาน โดยโจมตีแผนงานของไบเดนอย่างเต็มที่ เพื่อเอาใจคนงานอเมริกัน แต่จะทำให้โลกมีภูมิอากาศวิปริต โดยเฉพาะขณะนี้สหรัฐฯ เผชิญกับความร้อนแสนสาหัสผิดปกติมาก และยอดการใช้รถยนต์ EV ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างจริงจังแบบที่เกิดที่จีนและยุโรป

อีกเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าเหล่านี้เป็นห่วงคือ ทรัมป์จะชอบให้ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ ซึ่งได้เคยกดดันประธานเฟดในยุคของทรัมป์คือ นางเจเน็ต เยลเลน โดยทั้งกดและดัน ทั้งถากถาง (Bully) ให้ผู้ว่า Fed คือนางเยลเลนลดดอกเบี้ยในช่วงเงินเฟ้อสมัยของทรัมป์อยู่ในระดับสูง และทรัมป์ไม่ยอมต่ออายุประธานเฟดให้แก่นางเยลเลน โดยหันไปเสนอนายเจอโรม พาวเวลล์ (รองประธานเฟด) ให้เข้ามาแทน

นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ไม่เห็นด้วยที่ทรัมป์จะกดดันเฟดให้ดอกเบี้ยลดลง ในยามที่เงินเฟ้อเบ่งบาน เพียงเพราะทรัมป์จะเอาใจฐานเสียงคนระดับล่างที่จ่ายดอกเบี้ยของเครดิตการ์ด, ดอกเบี้ยผ่อนซื้อรถ, ผ่อนซื้อบ้าน ซึ่งทำให้เกิดฟองสบู่ที่น่ากลัวยิ่ง...และความเป็นอิสระของผู้ว่าธนาคารกลาง...ที่ทรัมป์ไม่แยแส

นอกจากนั้น ในการประชุม (ปิดห้อง) โต๊ะกลมทางธุรกิจ (Business Roundtable) ที่จัดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน จัดโดยกลุ่มธุรกิจชั้นนำได้เชิญทั้งไบเดนและทรัมป์ให้มาพบกับนักธุรกิจเช่น ซีอีโอของธนาคารยักษ์ และของบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ท่านรองคณบดีของคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยเยล ได้เข้าร่วม และนำมาเปิดเผยในรายการซีเอ็นบีซีว่า พอทรัมป์เดินขึ้นเวที (วันนั้นไบเดนเผอิญติดไปประชุม G7 ที่อิตาลี ได้ส่งตัวแทนมาร่วมอภิปราย) ปรากฏมีซีอีโอหลายคนได้ลุกขึ้นเดินออกจากห้องไปเลย และจากบรรดาซีอีโอ 100 คนแรกของฟอร์จูน (ซึ่ง 75% เป็นรีพับลิกัน) ได้แอบบอกกับรองคณบดีผู้นี้ว่า เป็นกังวลต่อการจะกลับมารอบ 2 ของทรัมป์ เพราะนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะทำให้สหรัฐฯ มีปัญหาเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว!! พวกเขาส่วนใหญ่จะไม่ลงคะแนนให้ทรัมป์ โดยจะไม่ออกจากบ้านในวันลงคะแนน (เพราะเขาก็ไม่ชอบหลักการของเดโมแครตเช่นกัน)

ผู้จัดการหาเสียงของทรัมป์ออกมาตอบโต้ต่อจดหมายเปิดผนึกของนักเศรษฐศาสตร์ว่า เป็นเหล่าคนแก่ที่คร่ำครึ...ตามโลกไม่ทัน...และอะไรก็ไม่สำคัญเท่าเงินในกระเป๋าของผู้คนส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ…ซึ่งชอบนโยบายของทรัมป์ขณะนี้ทรัมป์นำไบเดนอยู่ในแทบทุกโพล แต่คะแนนที่เคยห่างกัน 4-5% นั้น ขณะนี้ได้แคบลงมาอยู่ที่ 39 ต่อ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทรัมป์ยังนำอยู่

สติกลิตซ์เน้นว่า ไบเดนมาถูกทางแล้ว ที่สามารถทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เคยเกือบเป็น 10% ลดลงมาเหลือแค่ 3% กว่า โดยเขาทำให้น้ำมันราคาลดลงมามาก โดยนำเอาน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ออกมาถึงกว่า 200 ล้านปอนด์ทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น