ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ในหนังสือพระราชทานแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ที่พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2478 นั้น กรมศิลปากรได้เลือกเนื้อหาการเผยแพร่เรื่อง “พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1“ ฉบับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระ โดยมีพระประวัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์[1] ไม่มากนักความตอนหนึ่งว่า
“พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ภ.จ.ก; ท.จ.ว: เดิมทรงพระนาม พระองค์เจ้าออศครานุทิศ เป็นพระโอรสสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) กับ หม่อมราชวงศ์สว่าง จักรพันธุ์ มีอุปบัติสืบสายลงมาดั่งนี้
นายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ประสูติที่พระราชวังเดิม ธนบุรี เมื่อ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2426 ทรงศึกษาวิชาทหาร ได้ทรงรับราชการทหาร ดำรงพระยศ นายพันเอก กับทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ ในรัชชสมัยรัชกาลที่ 7
คราวเมื่อเวลาเริ่มรัชชกาลที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2477 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบด้วย นายพันเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์เป็นประธาน สิ้นพระชนม์เมื่อ ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2478 ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระลองกุดั่นน้อยประกอบพระโกศทรงพระศพ ประดิษฐานไว้ที่วังถนนพระอาทิตย์
ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2478 ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระลองกุดั่นใหญ่ประกอบพระโกศทรงพระศพ แห่งด้วยกระบวนทหารกองเฉลิมพระอิสสริยศ พร้อมด้วยกระบวนประจำพระอิสสริยยศ ไปพระราชทานเพลิงที่พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส“[2],[5]
เช่นเดียวกันกับประกาศตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และคณะตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2478 ซึ่งไม่ได้มีการประกาศลง “สาเหตุการสิ้นพระชนม์” ในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน[3],[4]
แต่ความจริงแล้วเหตุผลของการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ มีความขัดแย้งของข้อมูลตั้งแต่ต้น โดยผู้เขียนได้มีการบันทึก เรียบเรียงและวิเคราะหืเอาไว้แล้วอย่างละเอียดในหนังสือศึกชิงพระคลังข้างที่ 2475[1],[4]
โดยก่อนหน้านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสวยราชย์แล้วกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ได้เข้าสังกัดอยู่ในกรมราชเลขาฯ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในฐานเป็นผู้ใหญ่และเป็นคนซื่อตรง จึงโปรดให้ดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในเวลาเสด็จไม่อยู่[1],[4]
โดยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลได้บันทึกว่า ในช่วงแรกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับโทรเลขด่วนจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เสนาบดีกระทรวงวังได้เรียกให้เข้ามาที่กรุงเทพฯจึงทราบว่าจะต้องไปเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ท่านตอบปฏิเสธไปว่าไม่มีความรู้ความสามารถมากพอ [1],[4]
แต่ปรากฏว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มาวิงวอน ประกอบกับลูกเมียของท่านเห็นดีเห็นงาม จึงจำต้องรับตำแหน่งนี้ด้วยจำใจ [1],[4]
หลังจากนั้นกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้กราบทูลเรื่องราวไปยังสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบกลับมาว่าทรงยินดีที่เขาเลือกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์เพราะจะได้พอรู้เรื่องกับพระองค์ในหลวงได้ดีกว่าคนอื่นๆ เหตุนี้ทำให้กรมอนุวัตน์จาตุรนต์แช่มชื่นขึ้นด้วยโล่งว่าไม่เป็นการอกตัญญู [1],[4]
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ได้บันทึกว่าภายหลังจากการที่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลก็ตั้งต้นเจรจาเรื่อง “ริบทรัพย์”ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินี สะสางบัญชีและแยกทรัพย์ส่วนพระองค์กับของบ้านเมือง และซ้ำกลับหาว่าในหลวงโกงทรัพย์อย่างนั้นอย่างนี้มากมาย ต้องสู้ความกันอย่างวกวนด้วยหลักกฎหมายอยู่หลายเดือน[1],[4]
ส่วนสมเด็จพระปกเกล้าฯก็มีพยาน-ลายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและพยานว่าพระราชทานเป็นสิทธิส่วนพระองค์ โดยกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ในฐานะผู้รักษาทรัพย์สมบัติของสมเด็จพระปกเกล้าฯได้เคยเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลฟังแล้วจึงได้จดบันทึกเอาไว้ว่า
“ถูกซักไซ้ไล่เลียงไต่สวนวกวนต่างๆ จนบางครั้งมาเป็นไข้ไปหลายวัน”[1],[4]
นอกจากนั้นในบันทึกหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลยังกล่าวถึงแรงกดดันสำคัญเพิ่มเติมอีกว่าในตอนหลังกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ถูกบังคับให้เรียกตราจักรีคืนจากสมเด็จพระปกเกล้าฯ แต่กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ไม่ยอมทำตามหลังจากนั้นก็ไม่ทรงสบายบ่อยๆมีอาการนอนไม่หลับซูบผอมดำลงทุกทีๆ ลาพักไปตากอากาศทางเรือนถึงสิงคโปร์ แต่พอกลับมาได้สักพักก็ยิงตัวตายในที่นอน
โดยก่อนที่ความจริงจะปรากฏ ได้มี “โทรเลข” ที่น่าสนใจซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความพยายามในการปกปิดเหตุการณ์ครั้งนี้จากฝ่ายการเมืองหรือไม่?
โดยหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิศกุล บุตรีของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ได้ส่งโทรเลขไปยังปีนังเพื่อแจ้งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล โดยแจ้งอย่างไปอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัยว่า
“กรมอนุวัตน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหัวใจพิการ”[1],[4]
ซึ่งความจริงปรากฏต่อภายหลังว่าที่ได้โทรเลขแจ้งไปอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเช่นนั้นเพราะ...
“รัฐบาลต้องการให้เป็นเช่นนั้น”[1],[4]
หลังจากโทรเลขที่ส่งข้อความผิดจากความเป็นจริงด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลต้องการให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิศกุล (บุตรีคนเล็กของกรมอนุวัตน์จาตุรนต์)ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลว่า
ได้เห็นปืนเล็กๆตกข้างเตียงกรมอนุวัตน์จาตุรนต์บรรทมอยู่เหมือนหลับเป็นแต่มีเลือดไหลออกมาจากโอษฐ์มากองอยู่ใต้หมอนเป็นกองโต โดยการไต่สวนของเจ้าพนักงานว่ากรมอนุวัตน์จาตุรนต์ อมปากกระบอกปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย[1],[4]
โดยในขณะนั้นนายปรีดี พนมยงค์อยู่บนเรือเดินทางไปยุโรปเพื่อไปเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาลและทาบทามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค เมื่อได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมพ.ศ. 2478 แล้วนายปรีดี พนมยงค์ได้เขียนในบันทึกความรู้สึกขณะนั้นคือ ไม่เชื่อข่าวนี้เพราะเมื่อก่อนที่นายปรีดีจะได้เดินทางครั้งนี้ได้ไปทูลลาท่าน เพราะ
“ไม่เห็นท่านทรงมีพระอาการอย่างใดที่จะทำให้ท่านปลงพระชนม์” [1],[4],[6]
โดยในขณะนั้น หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) อดีตเป็นผู้ร่วมการก่อการคณะราษฎรสายทหารบก เป็นผู้ใกล้ชิดหลวงพิบูลสงคราม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ได้มาเป็นตำรวจ โดยขณะเกิดเหตุได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ครองยศพันตำรวจเอก และยังเพิ่งจะได้เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2478 อีกด้วย[7]
สำหรับในคดีนี้พันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส เป็นผู้สรุปผลการชันสูตรพระศพเอง
ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ เมื่อได้มาถึงที่กรุงปารีสแล้ว ได้รับรายงานจากพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัสว่า หลวงอดุลฯเองได้เป็นผู้ทำการชันสูตรพระศพเสด็จกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ สรุปความว่า
“พระองค์ทรงใช้อาวุธปืนสั้นปลงพระชนม์เองโดยทรงอมปากกระบอกปืนไว้ที่พระโอษฐ์แล้วใช้นิ้วของพระองค์เองลั่นไกกระสุนเจาะเพดานพระโอษฐ์ทำให้สิ้นพระชนม์”[1],[4],[6]
ซึ่งผู้เขียนได้เคยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบันทึกการลักษณะพระศพจากบันทึก 2 คนจึงไม่เหมือนกัน? คนหนึ่งคือบุตรี กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ซึ่งแตกต่างกจากอีกคนหนึ่งเป็นตำรวจที่ทำการชันสูตรพระศพที่รายงานไปยังต่างประเทศให้นายปรีดี พนมยงค์ทราบ
บันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ระบุการได้ข้อมูลจากบุตรีของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ว่า เจ้าพนักงานไต่สวนระบุว่าการปลงพระชนม์ครั้งนี้ปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์โดย“ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย” [1],[4]
ในขณะที่บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ระบุรายงานของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัส กลับระบุว่า “กระสุนเจาะเพดาน”!?[1],[4],[6]
นอกจากนั้นเหตุผลที่แท้จริงอันเป็นเบื้องหลังการสิ้นพระชนม์ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้
ผ่านไป 7 วันนับจากวันเกิดเหตุวันสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กรมตำรวจในยุคนั้นได้ทำบันทึกรายงานการไต่สวน กรณีกรมหมื่นสิ้นพระชนม์ โดยเห็นว่าเกิดจากแรงบีบคั้นอย่างสำคัญในเรื่องที่พระองค์ทรง
“ประสบกับเหตุลำบากพระทัยในการปฏิบัติงานในฐานที่ทรงเป็นผู้จัดการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระปกเกล้า”[1],[4]
โดยมีข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สิ้นพระชนม์นั้น นับเป็นเวลาได้เพียง 1 วัน ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2479 ประกาศบังคับใช้ จึงเป็น ”กฎหมายฉบับสุดท้าย“ ที่มีการลงพระนามโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ [1]
โดยสรุปกฎหมายดังกล่าวส่งผลทำให้ ”การดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี“
และยังมีข้อที่น่าสังเกตว่าฝ่ายการเมืองได้ส่งคนของพรรคพวกตัวเองเข้าสู่การควบคุมดูแลทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์อย่างเบ็ดเสร็จด้วย
ด้านหนึ่ง ก่อนสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ 12 วัน คือ วันที่ 1 สิงหาคม 2478 ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้ย้ายจากเลขานุการของนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ เป็นการตรึงคนของอดีตผู้ก่อการของคณะราษฎรในการดำเนินการกับ “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”[8]
ในขณะอีกด้านหนึ่ง ก่อนสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ 3 เดือนเศษ คือ วันที่ 1 พฤษภาคม 2478 นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ย้ายจากข้าราชกระทรวงกลาโหมมาทำหน้าที่ “เลขานุการสำนักพระราชวัง” และมาดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ช่วยพระคลังข้างที่ และครองตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพระคลังข้างที่ในปีที่เกิดเหตุระหว่างปี 2479-2480 [8],[9]
โดยภายหลังจากการที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ได้สิ้นพระชนม์ และมีการประกาศซ่อมแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดใหม่แล้ว การซื้อและขายที่ดินพระคลังข้างที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องในหมู่นักการเมืองและข้าราชการ ก็สามารถดำเนินไปอย่างสะดวกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สำหรับพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) ซึ่งเป็นทั้งรัฐมนตรี และเป็นผู้สรุปการชันสูตรพระศพของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ไปแล้วประมาณ 8 เดือน ก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกรมตำรวจ คือ ดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2479[7],[10]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่กันซื้อที่ดินพระคลังข้างที่นั้น ด้วยเพราะนักการเมืองอดีตสมาชิกคณะราษฎรที่ก่อการรัฐประหารปี พ.ศ. 2475 พร้อมด้วยข้าราชการ ได้เร่งซื้อโอนที่ดิน ตัดหน้าก่อนที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับในวันที่ 19 กรกฎาคม 2480
โดยคนที่เกี่ยวข้องต่างรู้ล่วงหน้าแล้วเพราะได้มีการตราไว้โดยคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2480 รอวันเวลาในการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
เพราะการโอนหรือจำหน่ายที่ดินพระคลังข้างที่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้ จะต้องทำโดยพระบรมราชานุมัติ “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือ “เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพวกอดีตผู้ก่อการของคณะราษฎร[8]
ระยะเวลา “ก่อน” ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2480 จึงเป็นเวลาวัดระดับศีลธรรม กับความโลภ ว่าการยับยั้งชั่งใจในการกระทำเอาทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นของตัวเองและพวกพ้อง ของแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไรประการหนึ่ง
ช่วงเวลาสำนึกในการถวายคืนทั้งก่อนและหลังถูกเปิดโปงในการอภิปรายตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 ประการหนึ่ง
และช่วงเวลาในการถวายคืนเพราะจนมุมหลังจาก ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่เป็นอีกประการหนึ่ง
ปรากฏว่าพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส ก็ได้ตัดสินใจเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในช่วงท้ายๆ คือในวันที่ 17 กรกฎาคม 2480 “ตัดหน้า 2 วัน” ก่อนประกาศกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษาของ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ให้มีผลบังคับในวันที่ 19 กรกฎาคม 2480
โดยในรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ได้รายงานผลการสอบสวนเอาไว้วันที่ 26 ตุลาคม 2480 กรณีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ของ พันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัสเอาไว้ในหน้าที่ 20-21 สรุปความได้ว่า
“นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งยังไม่มีโฉนด ริมถนนสุโขทัย ตำบลดุสิต จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 1,416 ตารางวา โดยมีสิ่งปลูกสร้างคือ 2 ชั้น 1 หลัง ห้องแถวสำหรับคนใช้อยู่ 1 หลัง โรงรถ 1 หลัง ห้องน้ำ 1 หลัง
โดยที่ดินรายนี้เป็นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ซื้อไว้เมื่อคราวสร้างพระราชวังดุสิต รวมกับที่อื่นๆในบริเวณสวนดุสิต โดยมูลค่าเท่าใดไม่ปรากฏ
ที่ดินแปลงนี้เดิมสำนักพระคลังข้างที่ให้เช่าอยู่เดือนละ 40 บาท โดยพระคลังข้างที่ตีราคาไว้ 27,960 บาท แต่นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส ได้ซื้อไว้ได้ในราคาเพียง 18,650 บาทเท่านั้น หรือลดราคาไปร้อยละ 33.62 ของราคาที่พระคลังข้างที่ตีราคาเอาไว้ โดยนายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปก่อนแต่สามารถผ่อนจ่ายภายหลัง ปีละไม่น้อยกว่า 1,800 บาท
หมายความว่านอกจากนายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัสจะซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆแล้ว ยังสามารถผ่อนจ่ายระยะยาวได้ถึง 10 ปีขึ้นไปด้วย”[11]
อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาการจัดซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ได้รายงานเอาไว้ในหน้าที่ 21 ว่าในระหว่างการสอบสวน
“ผู้ซื้อได้ถวายคืนแล้ว”[11]
โดยภายหลังจากการที่นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัสได้ถวายที่ดินคืนแล้ว ในปลายปีนั้นเอง หลวงอดุลเดชจรัส ได้เข้าสู่ตำแหน่งใหม่เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480[7]
หลังจากนั้นได้เป็นบุคคลสำคัญซึ่งเป็นที่ไว้วางใจต่อหลวงพิบูลสงคราม และภายหลังต่อมาพลิกข้างมาอยู่ร่วมขบวนการเสรีไทยกับนายปรีดี พนมยงค์ โดยเป็นรองหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเคยมีบทบาทและดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ทั้งผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 9
บันทึกโดย
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
10 เมษายน 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/957028392457528/?
อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ศึกชิงพระคลังข้างที่ 2445, สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์ครั้งที่ 3 :บุ๊ค ด็อท คอม, 2565, 576 หน้า ISBN 978-616-536-211-5 หน้า 225-207
[2] เรื่องเดียวกัน (เพิ่งอ้าง) หน้า 232-233
[3] เรื่องเดียวกัน(เพิ่งอ้าง), หน้า 230
[4] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 6) เปิดบันทึกความทรงจำ “ก่อน”ประธานผู้สำเร็จราชการจะยิงตัวตาย, ผู้จัดการออนไลน์, 11 ธันวาคม 2563
https://mgronline.com/daily/detail/9630000126808
[5] กรมศิลปากร, หนังสือพระราชทานแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ที่พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส, โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร, 16 พฤศจิกายน 2478 (เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Login?ADlogin=0&url=https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:48116
[6] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์, หน้า 28-30
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf
[7] หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอกอดุล อดุลเดชจรัส ณ เมรุหน้า
พลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 18 เมษายน 2513 (เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Login?ADlogin=0&url=https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2474
[8] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดผลสอบปล้นพระคลังข้างที่ 87 ปีที่แล้ว (ตอนที่ 2): ปริศนาหลวงพิบูลสงครามซื้อที่ดินพระคลังข้างที่สำเร็จ แต่ถวายคืนเพราะอะไร?, เว็บไซต์แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 4 เมษายน 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/953969649430069/?
[9] หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เรือเอกวัน รุยาพร ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2515 (เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Login?ADlogin=0&url=https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2073
[10] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศย้ายรองอธิบดีกรมตำรวจไปรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ, เล่ม 53 หน้า 136-137
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/D/136_1.PDF
[11] รายงานกรรมการพิจารณาการจัดซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่, 26 ตุลาคม 2480, หน้า 20-21