ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“กัญชา” ในประเทศไทยยังคงอยู่ในความไม่แน่นอนต่อไป ข้อถกเถียงที่สำคัญก็คืออยู่ที่การ “ชั่งน้ำหนัก” ระหว่างการไม่เข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ของประชาชน เนื่องด้วยแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา ในขณะที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงในเรื่องผลเสียของกัญชาหากอยู่ในมือประชาชน
แต่ความเป็นจริงแล้วในเมื่อกัญชาเป็นสมุนไพรเต็มส่วน คงเป็นเรื่องที่ยากที่จะมีแพทย์แผนปัจจุบันออกใบรับรองแพทย์เพื่อปลูกกัญชา แม้จะเป็นแพทย์แผนไทยก็คงเน้นในเรื่องตำรับยาเป็นสำคัญ ยังไม่นับปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของแพทย์ผู้ไม่จ่ายกัญชา อาจจะมีรายได้ที่สูญเสียไปด้วยเพราะ “ประชาชนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น”
แต่การที่แพทย์จำนวนหนึ่งที่สูญเสีย “ผลประโยชน์” เพราะประชาชนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น แพทย์ที่ต่อต้านกัญชาคงจะต้องปฏิเสธในเหตุผลนี้เพราะไม่มีความชอบธรรมมากพอที่จะให้สังคมเห็นด้วย จึงย่อมต้องเน้นเรื่องอันตรายของกัญชามาเป็นเหตุผลบังหน้าแทนจริงหรือไม่?
เพราะในความเป็นจริงแล้ว “สมุนไพรเต็มส่วนทุกชนิดทั้งโลก” ล้วนทั้งมีประโยชน์และโทษทั้งสิ้น ให้ผิดกับโรคก็เกิดปัญหา ให้ถูกกับโรคแต่เกินขนาดก็เป็นผลเสียทั้งสิ้น แต่ที่ประเทศไทยยอมให้มีการปลูกสมุนไพรในบ้านได้ ก็เพราะสมุนไพรเต็มส่วนมีความหลากหลายของสารสำคัญ ย่อมมีอันตรายน้อยกว่าการสกัดสารสำคัญบางชนิดออกมาด้วยความเข้มข้นสูง และความจริงการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนในการใช้สมุนไพร(ไม่ใช่เพียงแค่กัญชา)ย่อมจะช่วยทำให้เกิดประโยชน์และลดโทษของสมุนไพรอยู่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กัญชาในมิติสมุนไพรเต็มส่วนเพียงอย่างเดียว” งานวิจัยก็ได้ออกมาด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่ามีฤทธิ์ในการเสพติดน้อยกว่าสุราและบุหรี่ แต่สุราและบุหรี่ยังขายได้ตามร้านสะดวกซื้อ
แม้บุหรี่อาจจะเสพติดง่ายกว่าสุราและกัญชาอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายมิติ แต่ข้ออ้างที่บุหรี่ยังขายได้ตามร้านสะดวกซื้อ ก็เพียงเพราะบุหรี่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการมึนเมาแต่ประการใด
แต่หากนำกัญชามาเปรียบเทียบกับสุราแล้ว ก็จะให้เห็นได้ชัดเจนว่านอกจากสุราจะเสพติดง่ายกว่ากัญชาแล้ว สุรายังก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างมากมายมหาศาลอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท หรือความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรมมากกว่ากัญชาอย่างเทียบกันไม่ได้
วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.ภก.ธนภัทร ทรงศักดิ์ คณบดีวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เป็นผู้สนับสนุนการวิจัยในเรื่องกัญชามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาเภสัชสมุนไพรให้ได้มาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสว่าจะกระแสสูง หรือเสื่อมแสลง เพราะงานวิจัยเท่านั้นที่จะพิสูจน์ความจริง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องของสังคมได้
ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาทางการแพทย์ เป็นผู้ที่ริเริ่มวิจัยในเรื่องกัญชามาตั้งแต่ยังไม่มีกระแส หรือคนไทยไม่รู้ว่าคุณค่าของกัญชาในการรักษาโรคนั้นเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล และปัจจุบันก็ยังคงเดินหน้างานวิจัยต่อไปเพื่อพิสูจน์ความจริง
ลองคิดดูว่าเมื่อปี 2553 หรือเมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้วในยามที่กัญชาเป็นยาเสพติดและคนไทยทั่วไปก็ไม่มีใครสนใจ ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ได้วิจัยจนได้รับการตีพิมพ์ค้นพบความจริงในหลอดทดดลองพบว่า สารที่ทำให้เมาที่เรียกว่า “เดลต้าไนน์ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” นั้นสามารถต้านมะเร็งทางเดินน้ำดีได้ในปริมาณที่มีสารเมาในปริมาณต่ำๆ และยังสามารถถึงขั้นทำให้มะเร็งทางเดินน้ำดีฝ่อตายได้ในปริมาณสารเมาที่สูง[1]
มะเร็งทางเดินน้ำดีเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก และโรคนี้พบมากในประเทศไทยและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นหาก ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ไม่ได้วิจัยเอาไว้ นักวิจัยทั่วโลกกก็อาจจะไม่สนใจในเรื่องกัญชาต่อมะเร็งชนิดนี้เช่นกัน
และคนที่เปิดทางให้เกิดงานวิจัยประวัติศาสตร์เรื่องกัญชาเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ก็คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีในขณะนั้น ซึ่งต้องมี “ความกล้าหาญ” และมี “วิสัยทัศน์”มาก เพราะในเวลานั้นสังคมไทยก็ยังมีทัศนคติว่ากัญชาเป็นยาเสพติดเป็นหลัก ในขณะที่โลกตะวันตกกลับเร่งวิจัยและจดสิทธิบัตรยากัญชาจำนวนมาก
ท่ามกลางการถกเถียงในเรื่องกัญชา วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ยังคงได้ทำวิจัยต่อเนื่อง มาจนถึงเมื่อปี 2565 ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ความก้าวหน้าไปอีกขั้นว่าสารเมาที่ชื่อว่า “เดลต้าไนน์ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” และสารแคนนาบินอล (ซึ่งเป็นสารกลายสภาพของเดลต้าไนน์ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล)ในกัญชา ออกฤทธิ์ในการต้านมะเร็งทางเดินน้ำดีใน “สัตว์ทดลอง” ได้เป็นผลสำเร็จ [2]
แต่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้ยังแสดงให้เห็นว่าสารที่ทำให้เมาคือ ”เดลต้าไนน์ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” มีผลต่อการต้านมะเร็งทางเดินน้ำดีได้ดีกว่าสารแคนนาบินอล ซึ่งแปลว่าสารที่ทำให้เมานั้นมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลหากนำมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งทางเดินน้ำดี
แต่จนถึงป่านนี้ก็คงจะยากที่จะมีแพทย์ยอมจ่ายสารกัญชาที่ออกฤทธิ์เมาให้กับผู้ป่วยทางเดินน้ำดี ตราบใดที่งานวิจัยในมนุษย์ยังไม่แล้วเสร็จ แปลว่าในโลกของความเป็นจริงแล้ว แพทย์ก็คงจะไม่จ่ายกัญชาให้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงถึงแก่ชีวิตอยู่ดี
แต่ประชาชนทีป่วยด้วยโรคมะเร็งทางเดินน้ำดี คงไม่มีทางรองานวิจัยในมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายหรือต้องใช้เวลาอีกนาน และนี่คือเหตุผลที่ประชาชนควรจะมีทางเลือกในการพึ่งพาตัวเอง โดยไม่รอใบรับรองแพทย์ หรือใบอนุญาตจากใครเช่นกัน
เพราะคนที่จะออกใบรับรองหรือใบอนุญาตทั้งหลาย ก็คงจะไม่ยอมให้มีการใช้กัญชาตราบใดที่ไม่มีงานวิจัยในมนุษย์ที่เสร็จสิ้นแล้ว จริงหรือไม่?
และในปี 2565 ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อีกด้วยว่า สารที่ทำให้เมาคือ “เดลต้าไนน์ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” และสารแคนนาบินอลในกัญชาออกฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลองอีกด้วย[3]
เช่นเดียวกันกับกรณีมะเร็งทางเดินน้ำดี คือผู้ป่วยมะเร็งปอด เมื่อทราบข้อมูลงานวิจัยนี้คงจะไม่รองานวิจัยในมนุษย์ ผู้ป่วยเหล่านี้จะทำอย่างไรถ้าแพทย์ไม่จ่ายกัญชาให้ หรือหากผู้ป่วยไม่สามารถสกัดสารสำคัญได้เอง และยังไม่มีวิธีการนำเข้าสู่ร่างกายฉีดสารสำคัญให้ถึงเซลล์ปอดได้(เพราะแพทย์คงไม่ยอมฉีดให้) ผู้ป่วยเหล่านี้เขาจะทำอย่างไรถ้าไม่ใช้วิธีการสูบ?
นอกจากผลงานวิจัยในเรื่องของสารสำคัญที่มีประโยชน์และคุณค่าของกัญชาต่อมนุษยชาติดังที่กล่าวมาแล้ว วิทยาลัยเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับบริษัท นารีฟาร์มา กรุ๊ป ยังได้เดินหน้าวิจัยในเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นตำรับยาแต่มีความปลอดภัย แต่มีผลงานวิจัยในหลอดทดลองพบว่าออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านมะเร็ง ที่ชื่อว่า “เคลียร์ บีลอง พลัส” [4]
ในขณะอีกด้านหนึ่งผลการสำรวจพบว่าคนไทยจำนวนมากที่ต้องการใช้กัญชานั้น มีสัดส่วนผู้ป่วยที่นอนไม่หลับจำนวนมาก
วิทยาลัยเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม ได้ทำการผลิต “ตำรับยาแคปซูล แก้นอนไม่หลับ“ ขึ้น โดยได้นำตำรับยาเข้ากัญชา โดยเป็นไปตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ในพระคัมภีร์คัมภีร์สรรพคุณ แลมหาพิกัต ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1 ในสมัยรัชกาลที่ 5 รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 128 ซึ่งมีงานสำรวจในประเทศไทยพบว่าตำรับยาดังกล่าวให้ผลดีต่อผู้ป่วยและมีอันตรายน้อย
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดยังคงเป็น “กัญชาทางการแพทย์” ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และยังคงได้รับการสนับสนุนจาก ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ต่อจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณด้วยความน่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง
ตำรับยานี้ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้วว่า เป็น “ยาแคปซูลแก้นอนไม่หลับ” ใบอนุญาตโฆษณาะเลขที่ HB 525/66A
ใครสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 02-791-6000 ต่อ 4982
หรือพบแพทย์เพื่อรับยาในสหคลินิกการแพทย์แผนตะวันออก ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและความงาม วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก โทร. 02-997-2222 ต่อ 4406, 4407
หรือ โทรศัพท์: 089-770-5862
ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Surang Leelawat, et al., The dual effects of delta(9)-tetrahydrocannabinol on cholangiocarcinoma cells: anti-invasion activity at low concentration and apoptosis induction at high concentration, Cancer Invest
actions. 2010 May;28(4):357-63
doi: 10.3109/07357900903405934.
[2] Surang Leelawat, et al, Antitumor Effects of Delta (9)-Tetrahydrocannabinol and Cannabinol on Cholangiocarcinoma Cells and Xenograft Mouse Models, Evid Based Complement Alternat Med, 2022 Nov 21:2022:6477132.
doi: 10.1155/2022/6477132. eCollection 2022.
https://www.hindawi.com/journals/ecam/2022/6477132/
[3] Surang Leelawat, et al., Anticancer activity of Δ9-tetrahydrocannabinol and cannabinol in vitro and in human lung cancer xenograft, Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine 12(8):p 323-332, August 2022. |
DOI: 10.4103/2221-1691.350180
[4] สารรังสิต ออนไลน์, ม.รังสิต จับมือ นารีฟาร์มากรุ๊ป ชูความสำเร็จ “สมุนไพรไทยสูตรผสม” ได้รับการเผยแพร่ลงวารสารวิชาการนานาชาติ (QUARTILE SCORE, Q1), มีนาคม 2566
https://www2.rsu.ac.th/sarnrangsit-online-detail/020323