ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
สองเหตุการณ์ในเรื่องพระคลังข้างที่ซึ่งคล้ายคลึงกัน แต่กลับมีการปฏิบัติตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง และเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กล่าวคือ...
กรณีเงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดมาจากบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กลับถูกรัฐบาลจอมพล ป.ฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อยึดทรัพย์ ทั้งๆที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7ได้ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ในขณะที่ทรงยังดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยรัฐบาลฟ้องร้องว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้นได้อีกทั้งรัฐบาลยังได้มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่งเพื่ออายัดทรัพย์ก่อนมีคำพิพากษาอีกด้วย
ตรงกันข้ามกับกรณีการรุมแย่งซื้อหรือเช่าที่ดินของพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆให้เป็นสมบัติหรือสิทธิส่วนตัวของพวกพ้องของคนในรัฐบาล เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามและอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้วพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีกลับชี้แจงได้เพียงอย่างเดียวว่าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพราะเป็นเรื่องของ“พระกรุณาฯ”ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8ที่รัฐบาลจะก้าวล่วงมิได้ทั้งๆที่เดิมที่ดินในทรัพย์สินพระคลังข้างที่เหล่านี้ไม่ใช่ของพวกตัวเองเลย
องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของสองเหตุการณ์ข้างต้นคือบทบาทของ“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท์มหิดล รัชกาลที่ 8 ที่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ และประทับอยู่ต่างประเทศนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน และสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ก็มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองทั้งสิ้น
โดยในช่วงระหว่างการแสวงหาประโยชน์ต่อเงินและที่ดินพระคลังข้างที่ในยุคของคณะผู้สำเร็จราชการที่ว่านั้น ปรากฏว่ารายชื่อคณะผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ตรงกับคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีมาก่อนหน้านี้เลย
โดยหลักฐานปรากฏเป็นคำแนะนำครั้งแรกในบันทึกลับของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)ราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 30มิถุนายนพ.ศ. 2475ความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้พระยามโนปกรณ์ฯ,พระยาศรีวิสารฯ,พระยาปรีชาชลยุทธ,พระยาพหลฯ,กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเฝ้าที่วังศุโขทัย
ในบันทึกดังกล่าวได้ระบุถึง พระราชดำรัสความตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการประกาศของคณะราษฎรฉบับแรกที่เป็นการเขียนประวัติศาสตร์โจมตีเหยียบย่ำพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรู้สึกว่าจะไม่รับเป็นกษัตริย์ต่อไปในภายภาคหน้า
อย่างไรก็ตามคณะราษฎรได้มีความพยายามคัดค้านมิให้พระองค์สละราชสมบัติ อีกทั้งคณะราษฎรยังสัญญาว่าจะไม่มีการริบทรัพย์ของพระองค์ หรือ ถอดฐานนันดรศักดิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะมิเช่นนั้นจะทรงสละราชสมบัติก่อน [1]
ในการนี้พระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้กระทำล่วงเกินเมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2475โดยมีการกระทำเป็นพิธีโดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯถวายตามประเพณีด้วยซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระราชทานอภัยโทษให้ [2]
ข้อความในบันทึกลับของเจ้าพระยามหิธรได้ระบุถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7โดยความตอนหนึ่งทรงแนะนำสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรพระราชโอรสองค์ที่ 58ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงเลี้ยงดูให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์จะเสด็จขึ้นครองราชย์แทนความตอนหนึ่งในบันทึกว่า
“อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริจะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกันในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติคงทนงานไปไม่ได้นานเมื่อการณ์ปกติแล้วจึงอยากจะลาออกเสียทรงมีพระราชดำริเห็นว่าพระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้าขุนเพชรบูรณ์ก็ถูกข้ามมาแล้วผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปก็ควรจะเป็นโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ตั้งขุนชัยนาทฯ เป็น Regent ก็สมควรจะให้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่เพราะองค์ทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือหรือคณะราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไขประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร”[1]
ส่วนคำแนะนำอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7มีความขัดแย้งกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือจากพระยาราชวังสันอัครราชทูตสยามณกรุงปารีสเมื่อวันที่ 26กันยายนพ.ศ. 2477ซึ่งได้แนบพระราชบันทึกฉบับที่ 2ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวความตอนหนึ่งได้ทรงระบุถึงแนวทางในการสละราชสมบัติว่าจะมีทางเลือกใดได้บ้าง
โดยในทางเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นได้ทรงพระราชทานความเห็นในเรื่องผู้สำเร็จราชการเอาไว้ด้วยคือพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อยู่แล้ว หรือไม่ก็สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา(ป้า)ของพระองค์เจ้าอานันทมหิดลในเวลานั้น ความว่า
“พระองค์เจ้าอานันทมหิดลซึ่งอ้างได้ว่าให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ทางนี้มีผลดีอยู่มากคือเป็นทางที่ตรงตาม legalityแต่เสียที่ยังเป็นเด็กแม้การเป็นเด็กนั้นเองก็อาจจะเป็นของดีเพราะถ้ามีการอะไรผิดพลาดไปก็ไม่กระทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์ไม่มีใครซัดทอดไปถึงซึ่งจะเป็นของดีมาก
ข้อสำคัญอยู่ที่การเลือกผู้สำเร็จราชการซึ่งฉันเห็นว่าถ้าเจ้าฟ้าพระนริศหรือทูลกระหม่อมหญิงวลัยองค์ใดองค์หนึ่งทรงดำรงตำแหน่งนี้แล้วจะเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไปและไม่น่าจะเป็นศูนย์กลางแห่งการแตกร้าวกันระหว่างคณะการเมืองต่างๆด้วย” [3]
วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478สภาผู้แทนราษฎรได้อาศัยอำนาจตามความมาตรา 10แห่งรัฐธรรมนูญลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ตรงกับคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนหน้านั้นเลย ประกอบด้วย
“นายพันเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นประธาน,นายนาวาตรีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาร.น.,เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม)โดยมีข้อตกลงว่าในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้นให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณและในการลงนามในเอกสารราชการนั้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2ท่านเป็นผู้ลงนาม”[4]
ทั้งนี้นายปรีดี พนมยงค์ได้เคยเขียนบันทึกเอาไว้ในหนังสือ“บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” สรุปความสัมพันธ์ของคณะผู้สำเร็จราชการกับผู้นำในฝ่ายรัฐบาลว่า
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีมีความคุ้นเคยกันกับ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เพราะเคยรับราชการเป็นราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมาด้วยกัน [5]
ในขณะที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภานั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าพระองค์ร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี[6]
ส่วน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)นั้นเคยเป็นข้าราชการอาวุโสสูงสุดมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เดิมพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาต้องการให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ทาบทามแต่นายปรีดี พนมยงค์ได้ขอให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ทาบทามแทนเพราะเกรงว่าจะมีคนครหาเพราะเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)นี้ เป็นญาติผู้ใหญ่ของนายปรีดี พนมยงค์เอง [7]
นอกจากนี้ตามบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)ด้วยว่า
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลฟังถึงการรับตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการว่า“จำเป็นต้องรับเพราะท่านมีหนี้สินพ้นกำลังเพราะลงทุนหากินกับลูกๆจนไม่มีทางจะใช้ได้นอกจากจะถูกริบทรัพย์ของหลวงจนหมดตัว”[8]
จากข้อมูลข้างต้นจึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนได้รับหนังสือคำชมเชยจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา[9]-[10]ในขณะที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ก็ไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมากนัก ดังนั้นสถานภาพเสียงสองในสามของคณะผู้สำเร็จราชการจึงย่อมมีความโน้มเอียงไปในแนวทางความต้องการของรัฐบาลอยู่แล้ว จริงหรือไม่?
ต่อมาวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้ และเป็นสัญญาณเร่ิมต้นของความพยายามจะแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นครั้งแรกและกลายเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่คนในรัฐบาลและคณะราษฎรจะวางแผนรุมแย่งซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ และก่อนที่จะมีการวางแผนฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ตามมา
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478ขุนนิรันดรชัย ได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็น ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ [11] โดยที่ขุนนิรันดรชัยนั้นเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดจอมพลป.[12]ซึ่งกลายเป็นบุคคลสำคัญในการเชื่อมโยงและประสานกิจการในราชสำนัก โดยเฉพาะทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับคนในฝ่ายรัฐบาล
หลังจากไม่นานเพียงแค่ 11 วัน นับแต่วันที่ขุนนิรันดรชัยมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ ปรากฏว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการยิงพระแสงปืนเข้าไปในพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์บนที่บรรทม[13]
ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าเหตุใดและแรงกดดันเพียงใดที่จะทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นถึง“ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ”แทนพระมหากษัตริย์ถึงขั้นจะต้องปลงพระชนม์เอง?
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง“ขุนนิรันดรชัย”ซึ่งเป็นคนฝ่ายรัฐบาลแล้วย้ายมาข้ามฟากมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์นั้นมีบทบาทอย่างไรกับกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แต่อุปนิสัยและพฤติกรรมได้ถูกอธิบายเอาไว้ในคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการองค์ต่อมาต่อศาลอาชญากรสงคราม ในคดีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะเป็นจำเลยหลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ได้ให้การสรุปความได้ว่า
“ขุนนิรันดรชัย” นั้นเป็นนอกจากจะเคยเป็นผู้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังเคยมีท่าทีพูดข่มขู่กลายๆต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเมื่อต้องการขอเงินไปให้จอมพล ป.ด้วย[10],[14]
ในขณะที่ “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” มิตรสหายของ“ขุนนิรันดรชัย”อีกท่านหนึ่งได้เขียนอธิบาย“อุปนิสัย” ในขณะที่เคยเป็นทหารมาด้วยกันปรากฏในคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพให้กับ“ขุนนิรันดรชัย”ความตอนหนึ่งว่า
“อุปนิสสัยใจคอของพันตรีสเหวกนิรันดรในขณะนั้นเป็นผู้ที่ร่าเริงแจ่มใสแต่ออกจะมีความคิดเห็นรุนแรงอยู่บ้าง...”[15]
โดยย้อนกลับก่อนหน้านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7เสวยราชย์แล้วกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ได้เข้าสังกัดอยู่ในกรมราชเลขาฯทรงไว้วางพระราชหฤทัยในฐานเป็นผู้ใหญ่และเป็นคนซื่อตรง จึงโปรดให้ดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในเวลาเสด็จไม่อยู่[13]
การที่กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นผู้ที่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และการใช้จ่ายทั้งปวงก่อนหน้านั้นย่อมเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายที่จะริบทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องตามมาด้วย
ตามบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล สรุปว่าการที่รัฐบาลเลือกกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการเพราะฝ่ายรัฐบาลในเวลานั้นเห็นว่าท่านจะเป็นคนที่บอกแล้วจะทำตามอะไรโดยง่ายประการหนึ่งและอีกทั้งยังมีข้อสังเกตุว่าหม่อมเจ้าคัสตาวัส ลูกชายของกรมอนุวัตรจาตุรนต์นั้น เป็นทหารปืนใหญ่ชอบกับหลวงพิบูลสงครามมากเป็นอีกประการหนึ่ง [16]
โดยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลได้บันทึกว่าในช่วงแรกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับโทรเลขด่วนจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เสนาบดีกระทรวงวังได้เรียกให้เข้ามาที่กรุงเทพฯจึงทราบว่าจะต้องไปเป็นผู้สำเร็จราชการฯท่านตอบปฏิเสธไปว่าไม่มีความรู้ความสามารถมากพอ [17]
แต่ปรากฏว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มาวิงวอน ประกอบกับลูกเมียของท่านเห็นดีเห็นงาม จึงจำต้องรับตำแหน่งนี้ด้วยจำใจ [17]
ในประเด็นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามีความไว้วางใจต่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาซึ่งได้รับการทาบทามในการเป็นผู้สำเร็จราชการก่อน อีกทั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ยังให้ความร่วมมือกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในภารกิจในการเจรจาที่สำคัญย่ิงนี้ด้วย
หลังจากนั้นกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้กราบทูลเรื่องราวไปยังสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบกลับมาว่าทรงยินดีที่เขาเลือกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์เพราะจะได้พอรู้เรื่องกับพระองค์ในหลวงได้ดีกว่าคนอื่นๆเหตุนี้ทำให้กรมอนุวัตน์จาตุรนต์แช่มชื่นขึ้นด้วยโล่งว่าไม่เป็นการอกตัญญู [17]
แต่เนื่องจากการที่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์พอรู้เรื่องกับพระองค์ในหลวงได้ดีกว่าคนอื่นๆนี้เองย่อมมีแรงกดดันอันมหาศาลจากผู้ประสงค์ร้ายที่หวังจะเข้าควบคุมและแย่งผลประโยชน์ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์รวมถึงการแสวงหาข้อมูลและหลักฐานเพื่อฟ้องร้องยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย โดยภายหลังต่อมาได้มีตั้งกระทู้และอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรกรณีการนำทรัพย์สินเหล่านั้นบางส่วนมาเป็นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องของรัฐบาลตามมาด้วย
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ได้บันทึกว่าภายหลังจากการที่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลก็ตั้งต้นเจรจาเรื่อง “ริบทรัพย์”ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินี สะสางบัญชีและแยกทรัพย์ส่วนพระองค์กับของบ้านเมือง และซ้ำกลับหาว่าในหลวงโกงทรัพย์อย่างนั้นอย่างน้ีมากมาย ต้องสู้ความกันอย่างวกวนด้วยหลักกฎหมายอยู่หลายเดือน[17]
ส่วนสมเด็จพระปกเกล้าฯก็มีพยาน-ลายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและพยานว่าพระราชทานเป็นสิทธิส่วนพระองค์โดยกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ในฐานะผู้รักษาทรัพย์สมบัติของสมเด็จพระปกเกล้าฯได้เคยเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลฟังแล้วจึงได้จดบันทึกเอาไว้ว่า
“ถูกซักไซ้ไล่เลียงไต่สวนวกวนต่างๆ จนบางครั้งมาเป็นไข้ไปหลายวัน”[13]
นอกจากนั้นในบันทึกหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลยังกล่าวถึงแรงกดดันสำคัญเพิ่มเติมอีกว่าในตอนหลังกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ถูกบังคับให้เรียกตราจักรีคืนจากสมเด็จพระปกเกล้าฯแต่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์ไม่ยอมทำตามหลังจากนั้นก็ไม่ทรงสบายบ่อยๆมีอาการนอนไม่หลับซูบผอมดำลงทุกทีๆลาพักไปตากอากาศทางเรือนถึงสิงคโปร์แต่พอกลับมาได้สักพักก็ยิงตัวตายในที่นอน
โดยหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล บุตรีคนเล็กของกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลว่าได้เห็นปืนเล็กๆตกข้างเตียงกรมอนุวัฒน์จาตุรนต์บรรทมอยู่เหมือนหลับเป็นแต่มีเลือดไหลออกมาจากโอษฐ์มากองอยู่ใต้หมอนเป็นกองโตโดยการไต่สวนของเจ้าพนักงานว่ากรมอนุวัตน์จาตุรนต์ อมปากกระบอกปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย[13]
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าก่อนที่ความจริงจะปรากฏเช่นนี้หม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล ได้ส่งโทรเลขไปยังปีนังเพื่อแจ้งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล โดยแจ้งอย่างไปอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัยว่า
“กรมอนุวัฒน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหัวใจพิการ”ซึ่งความจริงปรากฏต่อภายหลังว่าที่ได้โทรเลขแจ้งไปอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเช่นนั้นเพราะ...“รัฐบาลต้องการให้เป็นเช่นนั้น”[13]
แต่ข่าวนี้ก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป เพราะหนังสือพิมพ์ในประเทศ ลงข่าวตรงกันว่ากรมอนุวัตน์จาตุรนต์ปลงพระชนม์เอง[18] (มีข้อสังเกตว่าในขณะเขียนบทความนี้หนังสือพิมพ์ข่าวเก่าและไมโครฟิลม์ของหนังสือพิมพ์เก่าที่หอสมุดแห่งชาติไม่ปรากฏหลักฐานในสิงหาคม 2478หลงเหลืออีกต่อไปแล้ว โดยระบุว่าต้นฉบับเสียหายมากจนไม่สามารถบันทึกไมโครฟิลม์ได้ทัน)
โดยในขณะนั้นนายปรีดี พนมยงค์อยู่บนเรือเดินทางไปยุโรปเพื่อไปเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาลและทาบทามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค เมื่อได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 13สิงหาคมพ.ศ. 2478 แล้วนายปรีดี พนมยงค์ได้เขียนในบันทึกความรู้สึกขณะนั้นคือไม่เชื่อข่าวนี้เพราะเมื่อก่อนที่นายปรีดีจะได้เดินทางครั้งนี้ได้ไปทูลลาท่าน เพราะ
“ไม่เห็นท่านทรงมีพระอาการอย่างใดที่จะทำให้ท่านปลงพระชนม์” [18]
ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ เมื่อได้มาถึงที่กรุงปารีสแล้ว ได้รับรายงานจากพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสว่าหลวงอดุลฯเองได้เป็นผู้ทำการชันสูตรพระศพเสด็จกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ สรุปความว่า
“พระองค์ทรงใช้อาวุธปืนสั้นปลงพระชนม์เองโดยทรงอมปากกระบอกปืนไว้ที่พระโอษฐ์แล้วใช้นิ้วของพระองค์เองลั่นไกกระสุนเจาะเพดานพระโอษฐ์ทำให้สิ้นพระชนม์”[18]
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดบันทึกการสิ้นพระชนม์ของ 2 คนจึงไม่เหมือนกัน?
กล่าวคือบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ระบุการได้ข้อมูลจากบุตรสาวว่า เจ้าพนักงานไต่สวนระบุว่าการปลงพระชนม์ครั้งนี้ปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์โดย“ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย” [13]ในขณะที่บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ระบุรายงานของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัส กลับระบุว่า “กระสุนเจาะเพดาน”!?[18]
ซึ่งหมายถึงวิถีกระสุนยิงจากปากเข้าไปในทิศทางที่อาจไม่เหมือนกัน และอาจจะมีผลต่อการนำไปสู่ข้อสันนิษฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของการส้ินพระชนม์แตกต่างกันออกไปได้ด้วย
ทั้งนี้ พันเอกหลวงอดุลเดชจรัส ได้รายงานต่อนายปรีดี พนมยงค์เพิ่มเติมว่าได้ทำการสอบสวนพระชายาและคนในวังได้ความว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ เคยรับสั่งว่า
“เวลานี้เราจะทำอะไรแม้แต่กระดิกนิ้วก็มีคนเขาว่า”[18] และได้ความต่อไปว่า“มีเจ้าบางองค์ขอดท่านในการเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการโดยคณะราษฎรสนับสนุนมีคนเขียนบัตรสนเท่ห์ประณามท่านต่างๆ”[18]
ผ่านไป 7 วันนับจากวันเกิดเหตุวันสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นนิวัตจาตุรนต์ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กรมตำรวจในยุคนั้นได้ทำบันทึกรายงานการไต่สวน กรณีกรมหมื่นสิ้นพระชนม์ โดยเห็นว่าเกิดจากแรงบีบคั้นอย่างสำคัญในเรื่องที่พระองค์ทรง“ประสบกับเหตุลำบากพระทัยในการปฏิบัติงานในฐานที่ทรงเป็นผู้จัดการพระราชาทรัพย์ส่วนพระองค์พระปกเกล้า”[19]
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบ บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ว่าด้วยเรื่องการรายงานสอบสวนของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสกับบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลที่ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเรื่องปัจจัยในเรื่องแรงกดดันที่มีต่อกรมอนุวัฒน์จาตุรนต์ เป็นมุมมองที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
โดยบันทึกฝ่ายพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสสรุปในทำนองว่าน่าจะเป็นแรงกดดันมาจากฝ่ายเจ้า ในขณะที่บันทึกของฝ่ายหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล สรุปไปอีกทำนองหนึ่งว่าน่าจะเป็นแรงกดดันมาจากฝ่ายคณะราษฎรที่ต้องการจะริบทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
อย่างไรก็ตามภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์แล้วสภาผู้แทนราษฎรได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10แห่งรัฐธรรมนูญได้ลงมติเมื่อวันที่ 20สิงหาคมพ.ศ.2478ตั้งพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นสมาชิกใหม่ของคณะผู้สำเร็จราชการและลงมติตั้งนายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ร.น. เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่อไป [20]
สำหรับพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)นั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกความสัมพันธ์กับพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรี และคณะราษฎรสรุปความเอาไว้ว่า
“พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินนี้ได้บังเอิญในตอนเช้าวันที่ 24มิถุนายนพ.ศ. 2475ท่านซึ่งออกจากราชการแล้วได้ไปเดินเล่นเวลาเช้าตามปกติเมื่อท่านเดินมาถึงหน้ากำแพงรั้วเหล็กพระที่นั่งอนันตสมาคม
ท่านเห็นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ประกาศยึดอำนาจในนามคณะราษฎรแล้วนั้นกำลังงัดโซ่ที่ล้อมประตูกำแพงรั้วเหล็กใส่กุญแจเหล็กไว้นั้นทั้งนี้เพราะพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามีข้อกำยำแข็งแรงนักเจ้าพระยาพิชเยนทรจึงเดินเข้าไปดูพลางท่านปรารภว่า“พวกนี้มันสามารถ”แล้วท่านก็จากไปต่อมาเวลาคณะราษฎรมีงานบุญท่านก็อุตส่าห์มาร่วมบ่อยๆท่านจึงได้รับความนับถือจากคณะราษฎร” [17]
ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์แล้วหลังจากนั้นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งคณะที่แต่งตั้งเพิ่มเติมภายใต้การนำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับฝ่ายรัฐบาลในสมัยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดแย้งกันเหมือนดังที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว [21]
จนเกิดเหตุการณ์ที่ตามมาเรื่องการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กรณีคนในฝ่ายรัฐบาล ข้าราชการในวัง และข้าราชการสำนักเลขานุการในพระองค์ ได้รวมหัวแห่เข้าไปซื้อหรือเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ส่วนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา แม้เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ก็ได้ถูกอภิปรายพาดพิงในสภาผู้แทนราษฎรว่าได้ขายที่ดินส่วนตัวของตัวเองให้กับกรมพระคลังข้างที่ในราคาแพงกว่าตลาด
หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคณะผู้สำเร็จราชการลงพระนามประกาศพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480แล้วรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็อ้างกฎหมายฉบับนี้เอาผิดย้อนหลังฟ้องร้องอายัดและยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ตามมา
นอกจากนั้น ในบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลได้กล่าวถึง“ความดีใจ”ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาที่ได้รับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เอาไว้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทางสำนักพิมพ์มติชนได้มีการ“เซ็นเซอร์ เว้นว่างข้อความสำคัญ”ไปบางส่วนตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่ 1 ซึ่งท่านผู้อ่านคงต้องใช้จินตนาการเติมข้อความในวงเล็บเหล่านี้เองว่าเป็นอย่างไร ความว่า
“ในเวลาได้เลือกเป็นคณะผู้สำเร็จราชการ,พระองค์อาทิตย์ฯยินดีมากจริงๆยิ่งได้เป็นประธานผู้สำเร็จฯเมื่อกรมอนุวัตรฯสิ้นพระชนม์,ยิ่งแสดงกิริยา (........),ถึงเที่ยวอวดกับญาติวงศ์ว่าเขาจะให้เป็น (........)เลย,และตัวเองก็ออกท่าทางล้อเลียนต่างๆตามที่เห็นมา”[22]
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
อ้างอิง
[1]เจ้าพระยามหิธร,บันทึกลับ 30มิถุนายน 2475,เว็บไซต์สถาบันปรีดีพนมยงค์,บทความเกร็ดประวัติศาสตร์,เผยแพร่วันที่ 16มิถุนายน 2562
https://pridi.or.th/th/content/2020/06/305
[2]ภิญญาสันติพลวุฒิเรียบเรียง,จเรพันธุ์เปรื่องผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ,บันทึกการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของคณะราษฎร,เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=บันทึกการเข้าเฝ้าฯ_พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของคณะราษฎร
[3]บันทึกรายงานการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความเห็นครั้งที่ 2,ญัตติเรื่องพระราชบันทึกของพระมหากษัตริย์,นายไต๋ปาณิกบุตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเสนอญัตติต่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี, ในการประชุมครั้งที่ 16/2477 สมัยสามัญที่สอง, 31 มกราคม พ.ศ. 2478, หน้า 878
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-02.pdf
[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF
[5] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์, หน้า 28-30
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 29
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 30
[8] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 194
[9] สำนักพระราชวัง,นะซีน, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ วัดเมรุวัดเทพศิรินทราวาส หน้า 14-15
[10] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4)มรดก“ขุนนิรันดรชัย”กับความลับของ ”จอมพลป. “ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์, เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 27 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3642316549161621/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000121997
[11] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)
[12] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 226
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf
[13] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 188-189
[14]คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf
[15] พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ , เขียนคำไว้อาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2499, ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (2)
[16] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8, หน้า189-190
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 186
[18] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์, หน้า 31-32
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf
[19] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 70-71
[20] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ก, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๒๖๐
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF
[21] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 398
[22] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 192