ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 มูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้แทนในการถวายปัจจัยจำนวน 1,000,000 บาท แด่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร โดยมีผู้รับมอบคือ พระราชวชิราธิบดี ผู้ช่วยวัดเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะเขตพระนคร เลขานุการเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยพระครูกิตติปัญญารัตน์ มาเป็นผู้แทนในการรับถวาย เพื่อสบทบการช่วยจัดงานงานสมโภชครบรอบ 338 ปีของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารนี้
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 มูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ได้ถวายปัจจัยจำนวน 500,000 บาท ให้แก่วัดเดียวกันนี้เนื่องในวันพุทธาภิเษก “พระสยามพุทธาธิราช”
ดังนั้น รวมในปี 2566 นี้ มูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ได้ถวายปัจจัยแด่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,500,000 บาท
ความสำคัญของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารนี้ เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
โดยรายได้จากปัจจัยต่างๆ ที่จัดในงานสมโภช 338 ครั้งนี้ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และปฐมบรมราชชนก คือพระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 และพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระบวรสถานมงคลหรือ เรียกสั้นๆโดยย่อว่า “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 1ผู้ทรงสถาปนาวัด
ความพิเศษของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่ต้องมากราบสักการะและร่วมบุญครั้งหนึ่งในชีวิต
- เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
- เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์แห่ง 3 ยุค กรุงศรีอยุธยา – กรุงธนบุรี – กรุงรัตนโกสินทร์
- เป็นวัดที่มีสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์
- เป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของไทย และ เป็นวัดที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก
- เป็นวัดที่มีพระอุโบสถใหญ่ที่สุดในพระนคร และกราบสักการะพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 5 องค์
- เป็นวัดที่มีต้นพระศรีมหาโพธิ์อายุกว่า 200 ปีจากหน่อต้นทรงตรัสรู้ที่พุทธคยา
โดยผู้ร่วมบุญ 339 บาท จะได้รับพระสมเด็จอรหัง 1 องค์ ซึ่งเป็นพระสำคัญสุดยอดความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ปลุกเสกโดยพระเถระชั้นผู้ใหญ่และพระสงฆ์แก่พรรษากว่า 68 รูป เข้มขลังและเปี่ยมศรัทธา และมีจำนวนเพียง 60,000 องค์เท่านั้น (ไปรษณีย์ไทยจัดส่งถึงบ้าน) หรือร่วมบุญตามศรัทธา
ธนาคารกรุงเทพ บัญชี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมโภชพระอาราม เลขที่บัญชี905-0-22750-4
สอบถามเพิ่มเติม : โทร. 063-213-5083, 063-213-3960 และส่งหลักฐานการโอนเงินและที่อยู่จัดส่งพระได้ที่ : Line ID : @watmahathatu338
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2565 มูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ได้จัดทำพิธีพุทธาภิเษก เหรียญขรัวพ่อฉิมเทวดา และท้าวเวสสุวรรณ อันเป็นการบูชาครูที่ได้มอบภูมิปัญญาตำรับยาลม 300 จำพวกในตำรายาแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยจัดทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เนื่องจากวันทำบล็อกเพื่อจัดทำเหรียญดังกล่าวเสร็จ ปรากฏว่าเกิดเพลิงไหม้ที่ วัดชัยชนะสงคราม (ซึ่งเป็นวัดที่ขรัวพ่อฉิมเป็นปฐมเจ้าอาวาส) จึงเป็นเหตุที่ต้องทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารแทน และได้นำปัจจัยที่ได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายไปถวายเพื่อการซ่อมแซมพระอุโบสถวัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) จำนวน 4 ล้านบาทอีกด้วย
ซึ่งวัดชัยชนะสงคราม เป็นวัดที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างขึ้น ซึ่งประชาชนได้ร่วมทำบุญผ่านทางมูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ซึ่งนอกจากจะได้ถวายปัจจัยเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดชัยชนะสงครามจากเหตุเพลิงไหม้จำนวน 4 ล้านบาทแล้ว ยังได้มีปัจจัยถวายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารจำนวน 1 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถถวายตามวัดต่างๆทั่วประเทศอีกจำนวนมากกว่า 45 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นการทำบุญกุศลโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
โดยฤกษ์พุทธาภิเษกเหรียญขรัวพ่อฉิมและท้าวเวสสุวรรณ ตรงกับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 มา “บังเอิญ” ตรงกับวันสวรรคตของสมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น กล่าวคือธรรมะจัดสรรให้ทำบุญเพื่อพิธีสดับปกรณ์ (บังสุกุล, ใช้แก่ศพเจ้านาย) ถวายแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท รวมทั้งบังสุกุลแด่เจ้าพระยาบดินทรเดชา และอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายในช่วงการทำศึกสงครามที่ผ่านมาด้วย
เรื่องที่น่าสนใจและน่าตั้งข้อสังเกตคือ สมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ต่างมีชื่อเป็น “สิงห์”ทั้งคู่ และนักรบเป็นผู้กอบกู้ชาติบ้านเมือง โดยสมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นผู้ร่วมกอบกู้ชาติบ้านเมืองหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพผู้รวมแผ่นดินในทำสงครามกับญวนและเขมรเป็นเวลา 14 ปีจนได้รับชัยชนะ
สมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพผู้ได้รับชัยชนะสงครามทั้งคู่ และได้สร้างวัดแห่งชัยชนะเป็นอนุสรณ์ โดยสมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสร้าง “วัดชนะสงคราม” ในขณะที่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้สร้าง “วัดชัยชนะสงคราม”
มีเรื่องเล่าว่าในขณะที่สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เคยอธิษฐานจิตกับ หลวงพ่อหิน วัดสลัก(ต่อมาเป็นวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน) ว่าถ้ารอดชีวิตในขณะที่คว่ำเรือหลบข้าศึกจากพม่า และช่วยกอบกู้เอกราชสำเร็จจะกลับมาบูรณะปฏิสังขรณ์ที่วัดแห่งนี้
การที่บ้านพระอาทิตย์ จัดทำเหรียญเพื่อทำบุญผ่านการสร้างเหรียญยาลม 300 จำพวกเมื่อปี 2565 นอกจากจะเป็นการทำบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรให้กับผู้ที่เช่าบูชาเหรียญ รายได้ที่นำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาทั้งหมดก็ได้อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรของผู้ป่วยหรือผู้ที่มีสุขภาพดีขึ้นจากยาลม 300 จำพวก รวมทั้งเจ้ากรรมนายเวรของชาติบ้านเมืองทั้งหลายตั้งแต่ช่วงสงครามในอดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นปฐมกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกในรัชกาลที่ 1 หรือเรียกว่าเป็น “วังหน้า”
ในขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) บิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเป็น “สมเด็จเจ้าพระยาแห่งสายวังหน้า” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ส่วนคณะเจ้าภาพที่ทำงาน “บ้านพระอาทิตย์” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการทำบุญในครั้งนั้น ก็มีความสัมพันธ์กับวังหน้าเช่นกัน
โดยแต่เดิมสมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1 ทรงจัดสรรพื้นที่บ้านพระอาทิตย์ให้เป็นบ้านข้าราชการ รวมถึ บ้านพระยาจ่าแสนยากร คุณหญิงแว่นซึ่งเป็นที่นับถือว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทางให้เซ่นสังเวยตามธรรมเนียม
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลำดับที่ 2 ต่อจากพระราชวังบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทที่สวรรคตไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลำดับที่ 3
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล โปรดให้สร้างวังที่ดินบริเวณบ้านพระอาทิตย์พระราชทาน พระราชโอรสพระองค์ที่ 8 คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ ทรงเป็นต้น ราชสกุลอิศรเสนา ณ อยุธยา ทรงเป็นเสนาบดีฝ่ายวังหน้าในรัชกาลที่ 2
ต่อมาที่ดินนี้ตกทอดมาสู่ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ 7
เนื่องจากวังเดิมชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้สร้างวังขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2475 ลักษณะอาคารเป็นตึก 2 ชั้นยกพื้นสูงหลังคามุงกระเบื้องว่าว และต่อเดิมเป็นอาคาร 5 ชั้น มียอดโดมประดับอยู่เป็นหลังคาทรงสูงอยู่ด้านหลัง ประดับชายคาและช่องลมด้วยลวดลายไม้ฉลุ
อาคารนี้ได้ตกทอดมาสู่ราชสกุลอิศรเสนาคือ หม่อมหลวงสันธยา อิศรเสนา ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อวังให้เป็น “บ้านพระอาทิตย์” ต่อมาได้ขายให้กับเอกชน เป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งเป็นที่ทำการของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และคณะเจ้าภาพในการจัดทำเหรียญครั้งนั้น
จากการทำยาลม 300 จำพวก ที่รักษาผู้ป่วยให้หายป่วยหรือมีสุขภาพดีขึ้น ได้เป็นชนวนการทำบุญครั้งใหญ่ของสายวังหน้าในการทำเหรียญที่ระลึกยาลม 300 จำพวก เพื่อบูชาครูเชิดชูภูมิปัญญาไทย ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จัดทำพิธีสดัปกรณ์ถวายแด่สมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และบังสุกุลแด่เจ้าพระยาบดินทรเดชาผู้กอบกู้ชาติบ้านเมือง และอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 2566 มูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ได้จัดทำพิธีพุทธาภิเษก “พระสยามพุทธาธิราช” อันมีความหมายเพื่อความมั่นคงสถาพรของสถาบัน ชาติ (สยาม) ศาสนา (พุทธา) พระมหากษัตริย์(อธิราช) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 จึงจัดทำพิธีสดัปกรณ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ถวายแด่สมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร และทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดพระวิสูตรคลุมพระรูป สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
โดยพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร นี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างขึ้นในโอกาสครบ 116 ปีแห่งการสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 4 มกราคม 2553 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ด้วยทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกแห่งพระราชวงศ์จักรี
จากการทำเหรียญและพระพุทธรูป “พระสยามพุทธาธิราช” ได้มีผู้ที่ร่วมทำบุญถวายปัจจัยตามวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ รวมทั้งสิ้น 52 ล้านบาท
นอกจากนั้นปี 2566 นับเป็นปีมงคลอีกปีหนึ่ง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารได้ดำเนินการสมโภชครบรอบ 338 ปีของ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เมื่อได้จัดงานสมโภชแล้วก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์อีกหนึ่งเรื่อง คือ “พระแสงราวเทียน“ อายุกว่า 200 ปีที่สูญหายของ “สมเด็จวังหน้า” กำลังได้ถูกส่งมอบคืนสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
โดยเรื่องรวมของ “พระแสงราวเทียน”นี้ เดิมเป็นพระแสง(ดาบ) ประจำองค์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระแสงเล่มนี้ได้ผ่านศึกสงครามในการกอบกู้ชาติบ้านเมืองมาอย่างยาวนาน สังหารอริราชศัตรูไปเป็นจำนวนมาก เมื่อคราวที่สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระประชวร ได้รับสั่งให้คนหามพระองค์เข้าไปในพระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ทรงเอาเทียนติดพระแสงดาบ แล้วตั้งสัตยาธิษฐานถวายพระแสงดาบเป็นราวเทียน อันเป็นการยุติการทำศึกสงครามสังหารศัตรูทั้งปวง ถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาหน้าพระประธานพระพุทธปฏิมากร อันเป็นพระประธานของอุโบสถสืบไป
ต่อมาเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน ได้ปรากฏว่า พระแสงราวเทียนได้สูญหายไป และไม่สามารถหากลับคืนมาได้ กาลเวลาผ่านไปเกือบ 80 ปี ทำให้ทราบว่ามีผู้ใจบุญได้เป็นผู้ซื้อกลับคืนมาเพื่อถวายคืนแด่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 เพื่อให้ทันงานสมโภชพระอาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ครบ 338 ปี ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 - 2 มกราคม2567
จึงขอเชิญชวนร่วมงานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 27 ธันวาคม 2566 - 2 มกราคม 2567 มีกิจกรรมทำบุญ ปฏิบัติธรรม และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ตั้งแต่เวลา 07.00 – 22.00 น. ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ขอโมทนาสาธุการ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์