xs
xsm
sm
md
lg

ราชสกุลหรือราชินิกุลที่เกี่ยวกับราชวงศ์จักรีที่สันนิษฐานได้ว่าไม่มีผู้สืบทอดแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ราชสกุลคือเชื้อสายโลหิตสืบทอดโดยตรงในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2325 ได้ทรงสถาปนาพระเชษฐภคิณี (พี่สาว) พระขนิษฐา (น้องสาว) และพระราชอนุชา (น้องชาย) ให้ทรงเป็นเจ้านายด้วย จึงถือว่าเป็นราชสกุลสายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และยังทรงสถาปนาพระภาคิไนย (หลานชาย) ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีด้วยเช่นกันมีพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ

ราชสกุลสายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกจึงถือเป็นราชสกุลสายที่หนึ่ง ประกอบด้วย ราชสกุลนรินทรางกูร เทพหัสดิน มนตรีกุล อิศรางกูร เจษฎางกูร และ นรินทรกุล

ราชสกุลสายที่สองคือราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเอง อันเป็นธรรมเนียมราชประเพณีที่พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาอุปราชจะต้องทรงตั้งราชสกุลใหม่ ราชสกุลในรัชกาลที่ 1 มี 8 ราชสกุล คือ ฉัตรกุล ดวงจักร ดารากร ทัพพะกุล พึ่งบุญ สุทัศน์ สุริยกุลและ อินทรางกูร

ราชสกุลสายที่สามคือราชสกุลสายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ทรงเป็นพระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและทรงเป็นนักรบคู่พระทัย ราชสกุลสายวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ประกอบด้วย ราชสกุลนีรสิงห์ ปัทมสิงห์ สังขทัต และ อสุนี

ราชสกุลสายที่สี่คือ ราชสกุลสายกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ราชสกุลสายวังหลังในรัชกาลที่ 1 ประกอบด้วย 2 ราชสกุลคือ ปาลกะวงศ์ และเสนีวงศ์

ราชสกุลสายที่ห้า คือราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือราชสกุลในรัชกาลที่ 2 ประกอบด้วย 20 ราชสกุลคือ กปิตถา กล้วยไม้ กุญชร กุสุมา ชุมแสง เดชาติวงศ์ ทินกร นิยมิศร นิลรัตน ปราโมช พนมวัน ไพฑูรย์ มรกฎ มหากุล มาลากุล เรณุนันทน์ วัชรีวงศ์ สนิทวงศ์ อรุณวงษ์ และอาภรณ์กุล

ราชสกุลสายที่หก คือราชสกุลสายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ หรือราชสกุลสายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 ประกอบด้วย 10 ราชสกุลคือ บรรยงกะเสนา พยัคฆเสนา ภุมรินทร์ ยุคันธร รองทรง รังสิเสนา รัชนิกร สหาวุธ สีสังข์ และอิศรเสนา

ราชสกุลสายที่เจ็ด คือราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือราชสกุลในรัชกาลที่ 3 ประกอบด้วย 13 ราชสกุลคือ โกเมน คเนจร งอนรถ ชมพูนุท ชุมสาย ปิยากร ลดาวัลย์ ลำยอง ศิริวงศ์ สิงหรา สุบรรณ อรรณพ และอุไรพงศ์

รายสกุลสายที่แปด คือราชสกุลสายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ หรือราชสกุลสายวังหน้าในรัชกาลที่ 3 ประกอบด้วย 5 ราชสกุลคือ กำภู เกสรา อิศรศักดิ อนุชะศักดิ์ และนันทิศักดิ์

ราชสกุลสายที่เก้า คือราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช หรือราชสกุลสายรัชกาลที่ 4 ประกอบด้วย 27 ราชสกุลคือ กมลาศน์ กฤดากร เกษมศรี เกษมสันต์ คัคณางค์ จักรพันธุ์ จันทรทัต จิตรพงศ์ ชยางกูร ชุมพล ไชยันต์ ดิศกุล ทวีวงศ์ ทองแถม ทองใหญ่ เทวกุล นพวงษ์ ภาณุพันธุ์ วรวรรณ วัฒนวงศ์ ศรีธวัช ศุขสวัสดิ โศภางค์ สวัสดิกุล สวัสดิวัตน์ สุประดิษฐ์ และโสณกุล

ราชสกุลสายที่สิบ คือราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย 11 ราชสกุลคือ สุธารส วรรัตน์ ภาณุมาศ หัสดินทร์ นวรัตน ยุคนธรานนท์ โตษะณีย์ นันทวัน พรหเมศ จรูญโรจน์ และสายสนั่น

ราชสกุลสายที่สิบเอ็ด คือราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช หรือราชสกุลสายรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย 16 ราชสกุลคือ กิติยากร รพีพัฒน์ ประวิตร จิรประวัติ อาภากร บริพัตร ฉัตรชัย บุรฉัตร เพ็ญพัฒน์ จักรพงษ์ ยุคล วุฒิชัย สุริยง รังสิต มหิดล และจุฑาธุช

ราชสกุลสายที่สิบสอง คือราชสกุลสายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือราชสกุลสายวังหน้าในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย 9 ราชสกุลคือ วิไลยวงศ์ กาญจนะวิชัย กัลยาณะวงศ์ สุทัศนีย์ วรวุฒิ รุจจวิชัย วิบูลยพรรณ รัชนี และวิสุทธิ


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีพระราชโอรสมีเพียงพระราชธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงไม่มีราชสกุลในรัชกาลที่ 6
ราชสกุลสายที่สิบสาม คือราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือราชสกุลในรัชกาลที่ 7 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ไม่ทรงมีพระราชโอรส-ธิดา แต่ทรงมีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ซึ่งทรงพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ ผู้สืบทอดสายพระโลหิตของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ใช้นามสกุล ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ จึงถือเป็นราชสกุลในรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตจึงไม่มีราชสกุลในรัชกาลที่ 8

พระมหาจักรีบรมราชวงศ์จึงมีราชสกุล 13 สาย หรือ 132 ราชสกุล

ราชินิกุลคือสกุลวงศ์ฝ่ายพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์หรือผู้เป็นเชื้อสายโลหิตสืบทอดในสมเด็จพระอัครมเหสีและพระราชินี

ราชินิกุลสายที่หนึ่งคือ ราชินิกุลสายสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (ท่านผู้หญิงนาค) เป็นเอกภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเป็นพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ราชินิกุลสายสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ประกอบด้วยราชินิกุล ณ บางช้าง ชูโต สวัสดิ์-ชูโต แสง-ชูโต และบุนนาค

ราชินิกุลสายที่สองคือ ราชินิกุลสายสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชินิกุลสายสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประกอบด้วยราชินิกุลบุญ-หลงและพลางกูร

ราชินิกุลสายที่สามคือ ราชินิกุลสายสมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมารดาเรียมในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3ราชินิกุลสายสมเด็จพระศรีสุลาลัย ประกอบด้วยราชินิกุลศิริสัมพันธ์ และ ณ พัทลุง

ราชินิกุลสายที่สี่คือ ราชินิกุลสายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (หม่อมเจ้ารำเพย) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีเชื้อสายมอญ ราชินิกุลสายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีคือราชินิกุลสุรคุปต์

ราชินิกุลสายที่ห้าคือ ราชินิกุลสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตามีพระธิดาอีกสององค์ที่ทรงรับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าคือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ราชินิกุลสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงคือราชินิกุลสุจริตกุล

ราชินิกุลมีรวมทั้งสิ้น 11 ราชินิกุล

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับราชสกุลและราชินิกุลสามารถศึกษาได้จากหนังสือราชสกุลวงศ์ ที่เรียบเรียงโดยกรมศิลปากร ในหนังสือราชสกุลวงศ์จะมีรายละเอียดว่าแต่ละราชสกุลมีเจ้านายพระองค์ใดบ้างพร้อมพระประวัติโดยสังเขปไว้ครบถ้วนทั้งหมด สามารถไปดาวน์โหลดได้จาก https://ia802709.us.archive.org/30/items/ThaiKings/Thai%20Kings.pdf

สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้อ่านได้จาก บาญชีมหามกุฎราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สามารถไปดาวน์โหลดได้จาก
https://www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary/view/21195-บาญชีมหามกุฎราชสันตติวงศ์-พุทธศก-2468

สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ให้อ่านได้จาก จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สามารถไปดาวน์โหลดได้จาก
https://archives.orst.go.th/pic/HcPic/royin-temp-0037/2020-04-15_14-07-12_ROYIN-TEMP-0037.pdf

ทั้งนี้ในวันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี ผู้แทนราชสกุลและราชินิกุลทั้งหมดจะไปวางพานพุ่มถวายสักการะ ณ พระปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า มีผู้ประสานงานราชสกุลและราชินิกุลทุกมหาสาขาให้มาร่วมกันถวายสักการะ ในแต่ละปีอาจจะมีราชสกุลและราชินิกุลมาร่วมวางพานพุ่มถวายสักการะไม่เท่ากัน ผู้ประสานงานราชสกุลและราชินิกุลใน พ.ศ. 2567 คือพลโท หม่อมหลวงกุลชาต ดิศกุล และมีราชสกุลและราชินิกุลเข้าร่วมวางพานพุ่มถวายสักการะ 111 มหาสาขา

อย่างไรก็ตามในประวัติศาสตร์ไทยนั้นมีราชสกุลและราชินิกุลที่หามีผู้สืบทอดสายโลหิตแล้วไม่อยู่จำนวนหนึ่ง สาเหตุหลักที่บางราชสกุลไร้ผู้สืบทอดสายโลหิตมักจะเป็นเพราะไม่มีพระโอรส เป็นส่วนใหญ่ จึงมีคำถามว่าราชสกุลหรือราชินิกูลใดบ้างที่ปัจจุบันนี้ไม่เหลือผู้สืบทอดแล้ว

พ.ศ.2552 ได้มีความพยายามในการรวบรวมราชสกุลและราชินิกุลให้ได้มากที่สุด ด้วยทุกวิธีการรวมถึงสื่อสังคม โดยผู้ประสานงานราชสกุลทุกมหาสาขา อ่านได้จากบทความ “ผู้การกวาง” กับผลงานรวมราชสกุล https://mgronline.com/celebonline/detail/9540000158057 พบว่ามีจำนวน 20 ราชสกุลที่ไม่อาจจะหาตัวผู้สืบทอดได้เลย คือ

1. ราชสกุลสังขทัต 2. ราชสกุลนีรสิงห์ 3. ราชสกุลอาภรณ์กุล 4. ราชสกุลนิยมิศร
5. ราชสกุลมหากุล 6. ราชสกุลมรกฏ 7. ราชสกุลสหาวุธ 8. ราชสกุลสีสังข์
9. ราชสกุลรองทรง 10. ราชสกุลโกเมน 11. ราชสกุลปิยากร 12. ราชสกุลลำยอง
13. ราชสกุลอนุชะศักดิ์ 14. ราชสกุลนันทิศักดิ์ 15. ราชสกุลคัคณางค์ 16. ราชสกุลโศภางค์
17. ราชสกุลยุคนธรานนท์ 18. ราชสกุลโตษณีย์ 19. ราชสกุลรุจจวิชัย
และ 20. ราชสกุลวิบูลยพรรณ

เมื่อเราเปรียบเทียบรายชื่อราชสกุลและราชินิกุล 111 มหาสาขาที่มาร่วมวางพานพุ่มถวายสักการะพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ณ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เนื่องในวันจักรี 6 เมษายน พ.ศ. 2567 กับรายชื่อราชสกุลและราชินิกุลทั้งหมดที่ปรากฎในหนังสือราชสกุลวงศ์ของกรมศิลปากร

เราจะพบว่ามีราชสกุลและราชินิกุลที่อาจจะไม่มีผู้สืบทอดสายโลหิตแล้วหรือขาดการติดต่อประสานงานจำนวนทั้งสิ้น 30 สกุล ดังนี้

1. สายรัชกาลที่ 2 นิยมิศร 2. สายรัชกาลที่ 2 ไพฑูรย์ 3. สายรัชกาลที่ 2 มรกฎ
4. สายรัชกาลที่ 2 มหากุล 5. สายรัชกาลที่ 2 อาภรณ์กุล
6. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 บรรยงกะเสนา 7. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 พยัคฆเสนา
8. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 ภุมรินทร์ 9. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 ยุคันธร
10. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 รัชนิกร 11. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 สหาวุธ
12. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 สีสังข์
13. สายรัชกาลที่ 3 โกเมน 14. สายรัชกาลที่ 3 ปิยากร 15. สายรัชกาลที่ 3 ลำยอง
16. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 3 เกสรา 17. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 3 อนุชะศักดิ์
18. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 3 นันทิศักดิ์
19. สายรัชกาลที่ 4 คัคณางค์ 20. สายรัชกาลที่ 4 วัฒนวงศ์ 21. สายรัชกาลที่ 4 โศภางค์
22. สายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุธารส
23. สายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรัตน์
24. สายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคนธรานนท์
25. สายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โตษะณีย์
26. สายรัชกาลที่ 5 บุรฉัตร 27. สายรัชกาลที่ 5 จักรพงษ์
28. สายรัชกาลที่ 5 สุริยง 29. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 5 วิไลยวงศ์
30. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 5 วิบูลยพรรณ
31. ราชินิกุลสายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สุรคุปต์

เราจะพบว่าในวันที่ 6 เมษายน 2567 มีผู้สืบเชื้อสายจากราชสกุลรองทรง ราชสกุลนีรสิงห์ และราชสกุลรุจจวิชัย เข้าร่วมถวายพานพุ่มสักการะ จึงได้เน้นตัวดำไว้ว่าราชสกุลทั้งสามนี้ยังคงมีผู้สืบทอดสายโลหิต ดังนั้นราชสกุลและราชินิกุลที่ไม่ปรากฎหรือติดต่อไม่ได้เลยทั้งใน พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2567 มีเพียง 17 ราชสกุลที่ได้เน้นตัวเข้มไว้

2. สายรัชกาลที่ 2 ไพฑูรย์ 6. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 บรรยงกะเสนา 8. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 ภุมรินทร 9. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 ยุคันธร เมื่อค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่ายังมีผู้ใช้นามสกุลนี้อยู่

7. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 พยัคฆเสนา พบว่ามีชื่อเสียงได้แก่ หม่อมราชวงศ์เถาะ พยัคฆเสนา ผู้เป็นช่างหุ่นกระบอก และยังมีผู้ใช้นามสกุลนี้เป็นจำนวนมาก

10. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 รัชนิกร สืบค้นในอินเตอร์เน็ตไม่พบผู้ที่ยังใช้นามสกุลนี้อยู่เลย

11. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 สหาวุธ สืบค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่าใน พ.ศ. 2566 มีช่างเครื่องกล กรมชลประทานชื่อนายธวัช สหาวุธ ณ อยุธยา http://ome.rid.go.th/main/th/wp-content/uploads/2023/07/Scan0096.pdf จึงน่าจะยังมีผู้สืบทอดสายโลหิตในราชสกุลนี้อยู่

13. สายรัชกาลที่ 3 โกเมน สืบค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่าใน พ.ศ. 2559 อรุณ โกเมน ณ อยุธยา บริจาคเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ https://www.facebook.com/photo/?fbid=1055931064468687&set=a.1055931004468693 ดังนั้นอาจจะยังมีผู้สืบทอดสายโลหิตจากราชสกุลโกเมนอยู่

16. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 3 เกสรา เมื่อค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่ายังมีผู้ใช้นามสกุลนี้อยู่จำนวนหนึ่ง

20. สายรัชกาลที่ 4 วัฒนวงศ์ อาจจะไม่มีผู้สืบทอดสายโลหิตแล้วเพราะพันโทหม่อมเจ้าวัฒนานุวัฒน์ วัฒนวงศ์ (พ.ศ. 2464-2547) ไม่ทรงมีบุตร-ธิดา (ตามที่ปรากฎในพระประวัติในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ) และหม่อมเจ้าในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ (ต้นราชสกุล) แทบทั้งหมดเป็นหม่อมเจ้าหญิงหรือสิ้นชีพิตักษัยตั้งแต่อายุยังเยาว์ อีกทั้งหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๕๐๘) พระธิดาเมื่อสิ้นชีพิตักษัยทรงบริจาคทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งหมดราว 40 ล้านบาทให้แก่สภากาชาดไทย ดังที่มีตึกจงกลนีในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยในปัจจุบัน

21. สายรัชกาลที่ 4 โศภางค์ ค้นพบว่ามี นายวิวัฒน์พล โศภางค์ ณ อยธยา อยู่บ้านเลขที่17/832 ม.4 บ้านเอื้ออาทรระยะที่3/2 ต.คลอง. สอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 จาก
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER5/DRAWER025/GENERAL/DATA0001/00001342.PDF

และมีผู้ชนะได้รับรางวัลที่สามในการประกวดรถโบราณของสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทยใน ค.ศ. 2019 ชื่อสุชัญญ์ญา โศภางค์ ณ อยุธยา https://vintagecarclub.or.th/news/307 ดังนั้นอาจจะยังมีผู้สืบทอดสายโลหิตจากราชสกุลโศภางค์อยู่

22. สายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุธารส มีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุธารสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นราชสกุล และมีพระธิดาเพียงพระองค์เดียวคือหม่อมเจ้าหญิงเว็น สุธารส ซึ่งได้สิ้นชีพิตักษัยไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 จึงไม่มีผู้สืบทอดสายโลหิต

23. สายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรัตน์ เมื่อค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่ายังมีผู้ใช้นามสกุลนี้อยู่

26. สายรัชกาลที่ 5 บุรฉัตร ยังคงมีทายาทของหม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง

27. สายรัชกาลที่ 5 จักรพงษ์ หากนับตามบิดา ก็จะสิ้นสุดที่ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ซึ่งก็ยังมีชีวิตอยู่ และยังมีทายาทคือจุลจักร จักรพงษ์ หรือฮิวโก้ น่าจะเพียงขาดการติดต่อประสานงานหรือคุณหญิงนริศราอาจจะอยู่ต่างประเทศ

28. สายรัชกาลที่ 5 สุริยง ยังมีผู้สืบทอดสายโลหิต ต้นราชสกุลคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส และคนมีชื่อเสียงในราชสกุลนี้คือหม่อมหลวงสุรีย์วัล สุริยง ดาราที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน

29. สายวังหน้าในรัชกาลที่ 5 วิไลยวงศ์ เมื่อค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่ายังมีผู้ใช้นามสกุลนี้อยู่

สำหรับ 30. ราชินิกุลสายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สุรคุปต์ เมื่อค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่ายังมีผู้ใช้นามสกุลนี้อยู่เช่นกัน

ดังนั้นราชสกุลที่น่าจะไม่มีผู้สืบทอดแล้วอีกสามราชสกุลคือ ราชสกุลรัชนิกรสายวังหน้าในรัชกาลที่ 2 ราชสกุลวัฒนวงศ์ สายรัชกาลที่ 4 และราชสกุลสุธารส สายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากการตรวจสอบนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีราชสกุล 17 ราชสกุลที่น่าจะไม่เหลือผู้สืบทอดสายโลหิตแล้วคือ สังขทัต อาภรณ์กุล นิยมิศร มหากุล มรกฎ สีสังข์ ปิยากร ลำยอง รัชนิกร อนุชะศักดิ์ นันทิศักดิ์ คัคณางค์ ยุคนธรานนท์ โตษณีย์ วิบูลยพรรณ วัฒนวงศ์ และสุธารส

ส่วน 11 ราชินิกุลทั้งหมดยังมีผู้สืบทอดสายโลหิตอยู่

ถ้ามีใครที่รู้จักทายาทหรือผู้ที่ใช้นามสกุลเหล่านี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ช่วยให้ข้อมูลด้วยจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย










กำลังโหลดความคิดเห็น